คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อภิรัตน์ ลัดพลี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 302 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10215/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: ข้อผิดพลาดวันเวลาในฟ้องไม่ถึงสาระสำคัญ หากจำเลยเข้าใจข้อหาและให้การรับสารภาพ
บันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์และคำฟ้องด้วยวาจาที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ แม้จะระบุว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 ก็ตาม แต่บันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ระบุว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมยึดของกลางปรากฏตามบัญชีของกลางท้ายฟ้อง ซึ่งบัญชีของกลางคดีอาญาท้ายบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ระบุวันเดือนปีที่ยึดของกลางว่า ยึดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่าเป็นการพิมพ์รายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดผิดพลาดไป มิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยทั้งสามย่อมจะเข้าใจได้ดีว่าเหตุเกิดวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 และมีการยึดของกลางในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 มิได้หลงต่อสู้ จึงให้การรับสารภาพ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 ภายในกำหนดเวลา 48 ชั่งโมง นับแต่เวลาที่จำเลยทั้งสามถูกจับ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9829/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่ออนาจาร ความยินยอม เหตุสมควร และการลงโทษ
การกระทำที่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 นั้น ไม่ถึงขนาดต้องควบคุมตัวเด็กนั้นไว้ เพระการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก คำว่า "พราก" มีความหมายว่า จากไปหรือแยกออกจากกัน สาระสำคัญจึงอยู่ที่การพาไปหรือการแยกเด็กไปนั้น ได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9677/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้นต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับบริษัท ผู้ถือหุ้นต้องแจ้งการโอนเพื่อมีสิทธิฟ้องร้อง
ใบหุ้นเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อและข้อบังคับของบริษัท ม. ระบุว่า การโอนหุ้นจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน โดยมีพยานสองคนลงชื่อรับรอง และจะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ ต่อเมื่อบริษัทจดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว แม้โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาซื้อขายหุ้นดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อข้อบังคับของบริษัทมิได้กำหนดเกี่ยวกับการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง และข้อบังคับของบริษัทดังกล่าว เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังมิได้ทำการโอนให้ถูกต้องตามบทบัญญัติและข้อบังคับดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ม. ดังนั้น โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา แม้เกินอำนาจพิจารณาคดีแพ่ง
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายทดแทนแก่ตนก็ได้" การที่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยและต้องไปดำเนินคดีในส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน ดำเนินคดีในส่วนแพ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องกันไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีในส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว ดังเช่นกรณีที่พนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหาย กรณีจึงไม่ต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย และผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวง และโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นก็ตาม ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8437/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาจำกัดสิทธิการฎีกาในข้อเท็จจริง และการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง รวมถึงการคืนค่าธรรมเนียม
โจทก์ร่วมสามารถยื่นอุทธรณ์ขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ขาดได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง จึงให้คืนค่าธรรมเนียมที่โจทก์ร่วมเสียมาในชั้นอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8342/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา: ศาลมีอำนาจคืนค่าธรรมเนียมหากเรียกค่าสินไหมสูงเกินควร หรือขาดสุจริต
ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำขอของผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมิให้เรียกค่าธรรมเนียม เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้เสียหายเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้เสียหายชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่เฉพาะบางส่วนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความชั้นฎีกาจากโจทก์ร่วมทั้งสอง ซึ่งยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8337/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของผู้เสียหายทางอาญา: การมีส่วนประมาทของผู้ตายทำให้ภริยาไม่มีอำนาจเรียกร้อง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า น. มีส่วนประมาท จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของ น. ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทน น. ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 กับยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ด้วย
ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "...คำขอของผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมิให้เรียกค่าธรรมเนียม" ให้หมายรวมถึงกรณีจำเลยยื่นฎีกาด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8020/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งไม่รับอุทธรณ์เป็นที่สุด ห้ามฎีกา
เมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องนั้น แล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ เท่ากับว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7942/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิดจากการชำระหนี้หลังถูกพิทักษ์ทรัพย์: เริ่มนับเมื่อคืนเงินกองทรัพย์สิน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดที่เปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ หลังจากจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดที่อำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมาย จำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีอำนาจดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย แต่กลับเปิดบัญชีกระแสรายวันและเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้โจทก์ชำระเงินที่จำเลยชำระหนี้โจทก์ คืนแก่กองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลาย ถือว่า ณ วันที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้แก่โจทก์ยังมิใช่เป็นวันละเมิด อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ยังไม่เริ่มนับ เพราะการกระทำของจำเลยกรณีนี้ จะถือเป็นการละเมิดโจทก์ต่อเมื่อโจทก์ต้องคืนเงินให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เมื่อโจทก์จำต้องคืนเงินให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยตามคำสั่งศาล ซึ่งศาลมีคำสั่งในวันที่ 14 ธันวาคม 2549 จึงถือว่า โจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว โจทก์ฟ้อง วันที่ 7 มิถุนายน 2550 ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7746/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดี: เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายในการขายทอดตลาด แม้จะไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะเจาะจง
จำเลยที่ 1 ไม่นำสืบให้เห็นว่าตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ.2522 ซึ่งมิใช่กฎหมาย ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้อย่างไร ทั้ง ป.วิ.พ. มาตรา 306 กำหนดเพียงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศขายทอดตลาด ณ ที่ตั้งทรัพย์แล้ว ทั้งยังปิดประกาศขายทอดตลาดไว้ที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองแล้ว ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงดำเนินการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว
of 31