พบผลลัพธ์ทั้งหมด 302 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5868/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยอมความระหว่างดำเนินคดีอาญา ส่งผลให้คดีความผิดต่อส่วนตัวระงับตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 341 ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 เป็นบทหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้อง ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ระหว่างพิจารณาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอ้างว่า จำเลยได้บรรเทาผลร้ายให้แก่โจทก์แล้ว คณะกรรมการโจทก์มีมติให้ถอนฟ้องจำเลยและไม่ติดใจว่ากล่าวคดีนี้อีก จำเลยไม่คัดค้านและท้ายคำร้องลงลายมือชื่อจำเลยไว้ด้วย คำร้องขอถอนฟ้องโจทก์เป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญาในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5865/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องของนิติบุคคล: คณะกรรมการต้องมอบหมายผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทน
กรณีความผิดอาญาซึ่งกระทำต่อนิติบุคคล ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 และมาตรา 5 (3) สำหรับโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 51 บัญญัติว่า "ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้" ประกอบกับข้อบังคับของโจทก์ ข้อ 58 (16) ระบุให้คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มีอำนาจและหน้าที่ให้ฟ้อง ต่อสู้คดี หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์ฯ ดังนี้ คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ที่เป็นเสียงข้างมาก จึงเป็นผู้แทนโจทก์ที่มีอำนาจฟ้องคดีด้วยตนเองหรือจะมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องคดีแทนก็ได้ เมื่อการฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ได้มอบหมายให้ ช. และ ก. ดำเนินคดีแทน แม้ ช. และ ก. จะเป็นกรรมการของโจทก์หรือสมาชิกโจทก์ก็ไม่อาจฟ้องคดีแทนโจทก์และไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ แม้กรรมการของโจทก์คนใดคนหนึ่งจะได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยลำพัง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5677/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การวินิจฉัยคดีอาญาต้องใช้ดุลพินิจตามพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ยึดข้อเท็จจริงจากคดีก่อน และความผิดฐานเบิกความเท็จ
ในการพิพากษาคดีอาญาหาได้มีบทบัญญัติของกฎหมาย ให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในคดีอื่นดังเช่นที่บัญญัติไว้สำหรับคดีแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ไม่ แม้โจทก์ทั้งสามกับบริษัท ส. ซึ่งมีจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ จะเป็นคู่ความเดียวกันและพยานหลักฐานของจำเลยจะเป็นชุดเดียวกันกับจำเลยเคยอ้างและนำสืบในคดีอาญาก่อนมาแล้วก็ตาม เพราะในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง จะไม่พิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีนี้โดยฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาก่อนซึ่งถึงที่สุด โดยมิได้วินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ เป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (5) และมาตรา 227 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5567/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาแสวงหาผลประโยชน์จากคดีความของผู้อื่น เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
สัญญาว่าจ้างที่โจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าให้โจทก์เป็นผู้จัดการผลประโยชน์ของจำเลยในคดีความทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาโดยให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ค่าทนายความ และค่าขึ้นศาล ทำขึ้นโดยหวังจะได้ส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ที่ได้จากการที่ผู้อื่นเป็นความกันโดยที่โจทก์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดี วัตถุประสงค์แห่งสัญญาว่าจ้างดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับมานั้นเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกหรือไม่ โจทก์จึงไม่อาจนำสัญญาว่าจ้างดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยชำระส่วนแบ่งให้แก่ตนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5118/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันในคดียาเสพติด: การลงโทษและจำนวนกรรม
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ (ก) เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2552 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 98 เม็ด (หน่วยการใช้) โดย 8 เม็ด (หน่วยการใช้) น้ำหนักสุทธิ 0.71 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์จำนวนเท่าใดไม่ปรากฏชัดและ 90 เม็ด (หน่วยการใช้) น้ำหนักสุทธิ 7.99 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.206 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย (ข) วันที่ 18 มีนาคม 2552 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 8 เม็ด (หน่วยการใช้) ดังกล่าวให้แก่ ช. ในราคา 1,600 บาทและ (ค) วันที่ 18 มีนาคม 2552 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 90 เม็ด (หน่วยการใช้) ดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 18,000 บาท ดังนี้ฟ้องโจทก์แสดงโดยชัดเจนแล้วว่า จำเลยกระทำความผิดสามกรรมต่างวาระกัน ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้อง เท่ากับจำเลยยอมรับแล้วว่า ได้กระทำความผิดสามกรรมต่างกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
โกงเจ้าหนี้: การโอนทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงชำระหนี้ แม้คดีแพ่งยังไม่ถึงที่สุด ถือเป็นความผิด
แม้ขณะจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน คดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตาม แต่ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 มิได้บัญญัติให้เจ้าหนี้หมายถึงบุคคลผู้ชนะคดีและคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น หากหมายถึงเจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาล การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อว่าเมื่อโจทก์ชนะคดีแพ่งแล้ว โจทก์อาจไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4772/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องอาญาฐานพาอาวุธ: ฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิด ศาลพิพากษายกฟ้องได้
โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานพาอาวุธว่า จำเลยพาอาวุธมีดปลายแหลม ความยาวพร้อมด้ามประมาณ 1 ฟุต 1 เล่ม ติดตัวไปบริเวณสามแยกบ้านชมน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลชมเจริญ อำเภอปากชม จังหวัดเลย อันเป็นในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธติดตัวจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานและไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย แม้คำขอท้ายฟ้องโจทก์จะระบุอ้าง ป.อ. มาตรา 371 ไว้ด้วยก็ตาม แต่ถ้อยคำที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า "โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธติดตัวจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานและไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย" มิใช่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ทั้งไม่อาจแปลว่าถ้อยคำนั้นมีความหมายว่าไม่มีเหตุสมควรตามที่โจทก์ฎีกาได้ เพราะคำฟ้องต้องบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อโจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดดังกล่าวว่าเป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงบรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิด แม้จำเลยให้การรับสารภาพศาลก็จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 371 มิได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4174/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองอาวุธปืนจากการจำนำเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน แม้เป็นการครอบครองแทนผู้อื่น
ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่" และมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ความหมายของคำว่า "มี" ไว้ว่า มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง เมื่อการจำนำนั้นผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์ที่จำนำให้อยู่ในการครอบครองของผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วนตาม ป.พ.พ.มาตรา 747 และมาตรา 758 การที่จำเลยที่ 3 รับจำนำอาวุธปืนของกลางจึงมีเจตนายึดถืออาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว มิใช่เพียงแต่ยึดถือไว้แทนจำเลยที่ 1 ชั่วขณะ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4093/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบของกลางในความผิด พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ การกระทำความผิดคือการประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต แผ่นภาพยนตร์ไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด
ความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 82 สาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่จำเลยประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้น แผ่นวีซีดีภาพยนต์ แผ่นดีวีดีภาพยนต์ และแผ่นวีดิทัศน์ (วีซีดีคาราโอเกะ) ของกลางดังกล่าว จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยมีไว้เป็นความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด อันจะพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และ 33 และให้คืนแก่เจ้าของ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3665/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องคดีอาญาด้วยวาจา การแจ้งฐานความผิด และการพิพากษาเกินคำฟ้อง
บันทึกการฟ้องคดีด้วยวาจาของโจทก์เป็นเพียงหลักฐานการฟ้องคดีด้วยวาจาเพื่อความสะดวกที่ศาลจะบันทึกการฟ้องด้วยวาจาลงในแบบพิมพ์ของศาลได้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น หาใช่การฟ้องคดีด้วยวาจาไม่ การฟ้องด้วยวาจาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 บัญญัติให้โจทก์แจ้งต่อศาลถึงชื่อโจทก์ ชื่อ ที่อยู่และสัญชาติของจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดและอื่น ๆ อีกหลายประการ การที่บันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพและคำพิพากษาในคดีนี้ระบุว่าจำเลยกระทำความผิดฐานจัดตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตและโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ ถือว่าโจทก์แจ้งต่อศาลถึงฐานความผิดและการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดแล้ว โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นความพลั้งเผลอของเจ้าหน้าที่ศาล เมื่อบันทึกของศาลระบุว่าจำเลยกระทำความผิดฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต แสดงว่าโจทก์ประสงค์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวเพียงสถานเดียว ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายสุราเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดซึ่งไม่ได้กล่าวในบันทึกคำฟ้องของศาลได้ แม้ศาลชั้นต้นจะลงโทษจำเลยในฐานความผิดฐานตั้งสถานบริการโดยฝ่าฝืนกฎหมายอีกฐานหนึ่งก็เป็นการพิพากษาเกินจากที่โจทก์ได้กล่าวในบันทึกคำฟ้องของศาลต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4 มิใช่ศาลชั้นต้นปรับบทผิดตามที่โจทก์ฎีกา