คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อภิรัตน์ ลัดพลี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 302 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8706/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนองและการรับผิดในฐานะผู้รับโอนมรดก ผู้รับโอนต้องรับผิดตามสัญญาเดิม
จำเลยทั้งห้าเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จำนองมาจากนาย ก. สืบเนื่องมาจากการรับมรดก จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของนาย ก. กล่าวคือต้องรับผิดตามสัญญาจำนองแทนนาย ก. หาใช่เป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองแต่อย่างใด กรณีของจำเลยทั้งห้าจึงมิต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 735 ที่โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองจะต้องมีจดหมายบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7939/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบใน พ.ร.บ.เลือกตั้ง ต้องกระทำในอำนาจหน้าที่โดยตรงเท่านั้น
องค์ประกอบสำคัญในความผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 47 นั้น ผู้กระทำจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการเฉพาะที่เกี่ยวกับงานในอำนาจหน้าที่ของตนโดยตรงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ตามระเบียบราชการหรือตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้มีหน้าที่นั้น ๆ เท่านั้น ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นโดยตรง แต่กระทำไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบหรือที่ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจหน้าที่ให้กระทำย่อมไม่เป็นความผิดตามบัญญัติดังกล่าว แม้จำเลยทั้งสิบจะระบุตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านลงในหนังสือร้องเรียนก็หาเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสิบมีอำนาจหน้าที่ใด ๆ ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรงไม่ ทั้งการทำหนังสือร้องเรียนนั้น จำเลยทั้งสิบสามารถกระทำได้โดยไม่จำต้องอาศัยการมีตำแหน่งหน้าที่ราชการใด จึงไม่ใช่การกระทำที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน การกระทำของจำเลยกับพวกจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 47

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6396/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์เจตนาสมคบร่วมกันในคดีค้ายาเสพติด: ฎีกาไม่ชอบเมื่อขาดหลักฐานชัดเจนเชื่อมโยงจำเลยกับขบวนการ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนของ หจก. ค. ในการติดต่อขอเช่าตู้คอนเทนเนอร์ ว่าจ้างรถบรรทุกขนย้าย ดำเนินการพิธีการศุลกากร ไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับการบรรจุสินค้า ดำเนินการทางพิธีการทางศุลกากรตามปกติ ไม่ทราบว่าเอกสารที่ยื่นปลอม จำเลยทั้งสองอาจไม่ทราบเรื่องกัญชาของกลาง โจทก์ฎีกาว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นการสมคบกันกระทำความผิดโดยมีเจตนาร่วมกันมาตั้งแต่ต้นที่จะกระทำความผิด เป็นการกระทำความผิดที่เป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำตามความเหมาะสม ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ การรู้พื้นที่ที่จะกระทำความผิด แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ต้องถือว่าการกระทำความผิดดังกล่าวทั้งหมดเป็นการกระทำของผู้ร่วมขบวนการในการกระทำความผิดทุกคน รวมทั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดในฐานะตัวการ ฎีกาดังกล่าวของโจทก์มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ทั้งเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งว่าขบวนการค้ายาเสพติดมีขั้นตอนอย่างไร จำเลยทั้งสองเข้าไปยุ่งเกี่ยวอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์ส่วนใดที่ชี้ชัดว่าจำเลยทั้งสองร่วมขบวนการค้ายาเสพติด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6112/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อการกระทำของตัวแทน และอายุความฟ้องละเมิด
เอกสารที่จำเลยที่ 3 ใช้ติดต่อกับโจทก์เป็นเอกสารที่ติดต่อกันในนามของจำเลยที่ 1 แม้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า โจทก์ได้เข้าทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ดำเนินคดีให้โจทก์หรือโจทก์ได้เข้าตกลงทำสัญญากับผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 เป็นทนายความประจำบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้สถานที่ของจำเลยที่ 1 เป็นที่ทำการของจำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้เอกสารติดต่อกับโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 รวมตลอดถึงการที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้ ว. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำงานฟ้องคดี จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้ว ยอมให้จำเลยที่ 3 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสมือนว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 เมื่อจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อดำเนินการให้ ว. ฟ้องคดีให้โจทก์ล่าช้าจนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีของโจทก์เพราะเหตุขาดอายุความ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 เพราะเหตุละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 การอ่านคำพิพากษาในคดีแพ่ง ถ้าคู่ความทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลตามกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 140 (3) ศาลจะงดการอ่านคำพิพากษาก็ได้ โดยให้ศาลจดแจ้งไว้ในรายงานและให้ถือว่าคำพิพากษานั้นได้อ่านตามกฎหมายแล้ว กรณีดังกล่าวเป็นการกำหนดขั้นตอนตามกฎหมายให้กระบวนพิจารณาในคดีแพ่งสามารถดำเนินการต่อไปได้จนเสร็จสิ้นแม้กฎหมายให้ถือว่าได้มีการอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้วโดยชอบตั้งแต่วันนัดฟังคำพิพากษาก็ตาม แต่คดีได้ความว่าโจทก์นำเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ยืนฟ้อง ส. ไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนวันที่คดีดังกล่าวจะขาดอายุความ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้รายงานผลการดำเนินงานให้โจทก์ทราบเพียงครั้งเดียว และไม่ได้แจ้งวันที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าวให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงไม่ได้ไปฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามกำหนดนัด ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่ทราบว่าคดีดังกล่าวขาดอายุความด้วยเหตุใด และผู้ใดเป็นผู้กระทำให้คดีดังกล่าวขาดอายุความ จนกระทั่งวันที่ 27 กันยายน 2544 จำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกรับสภาพความรับผิดให้แก่โจทก์โดยยอมรับความผิดพลาดในการดำเนินคดีดังกล่าวว่าเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงเพิ่งทราบถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมในวันดังกล่าว ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2545 จึงยังไม่พ้น 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3465/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสนับสนุนการจำหน่ายยาเสพติด: การยินยอมให้ใช้บ้านเป็นสถานที่กระทำผิด
ในการซื้อเมทแอมเฟตามีน อ.ตกลงกับจำเลยที่ 2 โดยนำแหวนเงินไปแลกเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ตีราคาแลกเปลี่ยนแหวนเป็นเมทแอมเฟตามีน 9 เม็ด และหยิบเมทแอมเฟตามีนซึ่งวางอยู่บนหน้าตักของจำเลยที่ 2 ให้แก่ อ. ในขณะที่ อ. เจรจาแลกแหวนกับเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เดินออกไปนอกบ้าน ไม่ได้อยู่ด้วย การตีราคาแหวนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ตัดสินใจแต่เพียงลำพัง น่าเชื่อว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นของจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ใช้บ้านเป็นสถานที่ติดต่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายของจำเลยที่ 2 แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องในข้อหานี้ ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2021/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฆ่าจากการทำร้ายด้วยอาวุธมีด ศาลพิจารณาจากลักษณะบาดแผลและพฤติการณ์
จำเลยใช้มีดขนาดยาวประมาณ 1 ช่วงแขนฟันผู้เสียหายที่ไหล่ขวาขณะหันหลังวิ่งหนี และฟันอย่างแรงจนเกิดบาดแผลยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ลึกประมาณ 4 เซนติเมตร ลักษณะการฟันลงเช่นนี้ส่อว่าจำเลยเลือกจะฟันศีรษะแต่พลาดไปโดนไหล่ขวาแทน จำเลยย่อมต้องเล็งเห็นแล้วว่าหากฟันถูกศีรษะหรือลำคอที่เป็นอวัยวะสำคัญจะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1832/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายด้วยอาวุธร้ายแรงจนอาจถึงแก่ชีวิต ศาลพิจารณาจากคำให้การพยานหลักฐานและเจตนาของผู้กระทำผิด
ผู้เสียหายและ ส. ร่วมดื่มสุราด้วยกันที่บ้านของจำเลยก่อน แล้วจึงชวนกันมาดื่มสุราต่อที่บ้าน อ. จึงเป็นไปไม่ได้ที่บุคคลทั้งสองจะจดจำจำเลยที่มีเรื่องวิวาทชกต่อยและใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้เสียหายไม่ได้ บุคคลทั้งสองจึงให้การต่อพนักงานสอบสวนยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ชกต่อยและให้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้เสียหายคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายและ ส. จึงรับฟังได้ดีกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาที่ส่อแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายและ ส. พยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือจำเลยซึ่งเป็นเพื่อนกัน และภายหลังผู้เสียหายอาจเปลี่ยนใจไม่ประสงค์ให้จำเลยต้องได้รับโทษและให้พ้นผิด จำเลยต่อสู้ว่าผู้เสียหายมิได้ให้การและลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ แต่กลับไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายหรือจำเลยดำเนินการอย่างใดกับข้ออ้างดังกล่าว จึงเป็นพิรุธ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าเป็นคนร้ายชกต่อยและใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้เสียหาย
จำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์ซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงแทงผู้เสียหายที่สะบักจนทะลุเข้าช่องอกขวามีลมและเลือดออก การทำงานของปอดลดลง แพทย์มีความเห็นว่าหากรักษาไม่ทันอาจถึงแก่ความตายได้ แสดงว่าจำเลยแทงอย่างแรงในขณะที่ผู้เสียหายหันหลังให้เป็นการเลือกแทงในตำแหน่งที่มีอวัยวะสำคัญคือปอด เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์จากผู้ลักทรัพย์: ความผิดฐานลักทรัพย์ยังคงมีอยู่ แม้ทรัพย์สินจะมาจากการกระทำผิด
ความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 และ 335 นั้น เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในทางอาญา และเป็นละเมิดในทางแพ่ง ผู้ที่ลักทรัพย์ไปต้องคืนหรือต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คือราคาทรัพย์สินและค่าเสียหาย ผู้ที่ลักทรัพย์ไปจึงมีสิทธิครอบครองดูแลทรัพย์สินที่ลักไปไว้เพื่อคืนแก่ผู้เสียหาย
การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจาก ส. โดยทุจริต แม้ ส. จะเป็นผู้ที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้แย่งการครอบครองไปจาก ส. การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานรับของโจรไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2554 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การป้องกันตัวต้องไม่เป็นผู้เริ่มวิวาท หากเริ่มวิวาทเอง แม้ถูกยิงก่อน ก็เป็นการสมัครใจวิวาท ไม่สามารถอ้างป้องกันตนเองได้
ในวันเกิดเหตุตอนเช้าเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยที่ 1 มีเหตุชกต่อยกับผู้ตายมาก่อน มีอาจารย์เข้ามาห้ามแต่จำเลยที่ 1 กับพวกก็ยังคงไม่ยุติ ออกติดตามหากลุ่มของผู้ตายต่อไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กับพวก ยังต้องการพบผู้ตายด้วยสาเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด มิฉะนั้นคงไม่ออกติดตามจนกระทั่งมาพบผู้ตายตอนเย็นจำเลยที่ 1 ก็เดินเข้าไปหาผู้ตายทั้งๆ ที่ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 กับผู้ตายมีเหตุทะเลาะวิวาทกันในตอนเช้า การเดินเข้าไปหาผู้ตายในลักษณะดังกล่าวนั้น ย่อมเล็งเห็นผลแล้วจะต้องเกิดเหตุทะเลาะวิวาทอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างแน่นอน ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ควรเข้าไปหาผู้ตายก่อน เพราะผู้ตายก็ยังมิได้ทำอะไรจำเลยที่ 1 ส่วนเหตุการณ์ในตอนเช้ายุติไปแล้วไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ที่จำเลยที่ 1 จะต้องเดินเข้าไปหาผู้ตายอีกการที่จำเลยที่ 1 เดินเข้าไปหาผู้ตายโดยมีอาวุธปืนติดตัวเตรียมพร้อมมาด้วยจึงไม่มีทางฟังเป็นอย่างอื่น นอกจากต้องการมีเรื่องกับผู้ตายอีก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาทกับผู้ตาย และเมื่อเป็นการสมัครใจวิวาทซึ่งกันและกันแล้ว การที่ผู้ตายยิงจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็ยิงผู้ตายเช่นเดียวกัน จึงหาอาจอ้างว่าเป็นการป้องกันตัวได้ไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
อย่างไรก็ตามการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 หยิบอาวุธปืนจากจำเลยที่ 1 แล้ววิ่งออกจากที่เกิดเหตุไป จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยและพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ย่อมเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาและความผิดดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาเกินคำขอในความผิดฐานมีอาวุธปืน และอำนาจศาลฎีกาในการแก้ไขเพื่อความสงบเรียบร้อย
โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำของจำเลยที่ 2 ว่า ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 มีและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะตามฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อไปว่า ภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 หยิบอาวุธปืนจากจำเลยที่ 1 แล้ววิ่งออกจากที่เกิดเหตุไป จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้นเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามฟ้องโจทก์จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยและพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ย่อมเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา และความผิดดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 31