คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ภัทรศักดิ์ วรรณแสง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 74 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9857/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย: ลูกจ้างในทางการจ้างไม่ใช่บุคคลภายนอก
อนุญาโตตุลาการสืบพยานของคู่พิพาทเสร็จแล้ว รับฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของ ช. มีหน้าที่ขนไก่ขึ้นลงจากรถ วันเกิดเหตุหลังจากส่งไก่เสร็จแล้ว ช. จะไปซื้อหญ้าที่อำเภอองครักษ์มาปลูกที่บ้าน ผู้ตายขอไปด้วยเพราะรู้จักสถานที่ จึงโดยสารมาในรถ ระหว่างที่ ช. ขับรถยนต์พาผู้ตายกลับบ้าน เกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระหว่างทางการที่จ้าง ผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ตายเดินทางไปกับ ช. หลังจากเสร็จสิ้นการส่งไก่ ไม่ใช่ทางการที่จ้าง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยข้อเท็จจริง ไม่ใช่กรณีที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (1) (2) วรรคสาม ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชอบแล้ว ส่วนอุทธรณ์ของผู้ร้องอีกข้อหนึ่งว่า ตามเงื่อนไขท้ายกรมธรรม์ หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านไม่อาจยกความไม่สมบูรณ์ของกรมธรรม์หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก เพื่อปฏิเสธความรับผิดนั้น แต่เงื่อนไขท้ายกรมธรรม์หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 1.1 วรรคท้าย ระบุว่า บุคคลภายนอกไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้างของผู้ขับขี่ ผู้ตายจึงไม่ใช่บุคคลภายนอกตามความหมายในเงื่อนไขกรมธรรม์ข้อนี้ ผู้คัดค้านย่อมไม่ถูกห้ามปฏิเสธความรับผิดตามเงื่อนไขข้อ 8 ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงไม่ขัดต่อข้อสัญญา การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำสั่งของศาลชั้นต้นก็ไม่ได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) (2) วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9375/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเจ้าหนี้ซ้ำ ศาลวินิจฉัยเป็นกระบวนการซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องย่อมมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนตามคำร้องในวันนัดไต่สวน อันเป็นการสืบพยานเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี มิใช่การสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีที่โจทก์และจำเลยพิพาทกัน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดที่ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 มาใช้บังคับดังที่ผู้ร้องฎีกา เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้อง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่มีพยานมาไต่สวนให้ได้ความตามคำร้อง ให้ยกคำร้อง ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิฉบับนี้โดยอ้างเหตุว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาจากผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ อันเป็นเหตุเดียวกันกับคำร้องฉบับก่อนที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้ว คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8904/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ซื้อประมูลห้องชุดต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนกลางค้างชำระของเจ้าของเดิม หากทราบก่อนประมูลและประกาศขายทอดตลาดระบุไว้
โจทก์รู้ตั้งแต่ก่อนประมูลซื้อห้องชุดว่า เจ้าของร่วมเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ทั้งตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่ค้างชำระด้วย การที่โจทก์เข้าร่วมประมูลซื้อห้องชุดรายนี้เท่ากับโจทก์ตกลงยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดดังกล่าวกับเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า หากโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อห้องชุดได้และมีหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางที่ค้างชำระอยู่โจทก์ยินยอมเป็นผู้รับผิดชำระหนี้รายนี้ เมื่อปรากฏว่าเจ้าของร่วมเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มให้แก่จำเลยที่ 1 ที่โจทก์อ้าง ป.วิ.พ. มาตรา 309 จัตวา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2558 มาตรา 3 ที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบอกกล่าวให้นิติบุคคลอาคารชุดแจ้งรายการหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเพื่อออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว เมื่อขายทอดตลาดแล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจนถึงวันขายทอดตลาดแก่นิติบุคคลอาคารชุดก่อนเจ้าหนี้จำนอง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้นั้น มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป แต่การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 309 จัตวา มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ เมื่อโจทก์ไม่ยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่เจ้าของร่วมเดิมค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์
of 8