คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วินัย เรืองศรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 45 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6543/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายเป็นโมฆียะจากกลฉ้อฉล การคืนมัดจำและดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยไม่ได้บัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ แตกต่างกับกรณีกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองรับเงินของโจทก์ไว้ย่อมเป็นหนี้เงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยทั้งสองจะตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้บอกกล่าวทวงถาม แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5914/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิใช้ทางในที่ดินนิคมสร้างตนเอง การกระทำละเมิดต่อสิทธิสมาชิกนิคม
ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งทางพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) ที่ทางราชการออกให้แก่โจทก์ จึงเป็นที่ดินของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ซึ่งแม้จำเลยจะมีสิทธิครอบครองแต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งกำหนดให้รัฐจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นมาเพื่อให้ราษฎรมีที่ดินทำการเกษตรและตั้งเคหสถานบ้านเรือน โดยรัฐจะเข้าไปจัดแบ่งที่ดินเป็นแปลง ๆ และช่วยเหลือส่งเสริมให้ทำการเกษตรในแปลงที่ดินที่จัดให้มีประสิทธิภาพ การที่จำเลยซึ่งครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินส่วนที่เป็นที่ตั้งทางพิพาทไม่ยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อไปทำการเกษตรในที่ดินที่ทางราชการจัดให้แก่โจทก์ เป็นการกระทำที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง และการจัดแปลงที่ดินในเขตนิคมที่ประสงค์จะให้สมาชิกของนิคมได้ใช้ประโยชน์ในแปลงที่ดินที่ทางนิคมจัดให้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางกับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5721/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกจำเลยร่วมในคดีแพ่ง: เหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและการรับผิดร่วมกันทางพาณิชย์
การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันค้าขายพืชไร่โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า "ท่าข้าว ก." สั่งซื้อข้าวโพดจากโจทก์แล้วไม่ชำระราคา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย แล้วจำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับซื้อและจำหน่ายพืชไร่ใช้ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจว่า ท่าข้าว ก. ซึ่งจดทะเบียนพาณิชย์ในนามของจำเลยร่วมตามใบทะเบียนพาณิชย์ โดยจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายข้าวโพดตามฟ้อง แต่เป็นบุคคลอื่นที่ซื้อข้าวโพดจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องชำระค่าข้าวโพดให้แก่โจทก์นั้น กรณีจึงยังมีข้อโต้แย้งว่าผู้ใดเป็นผู้ประกอบกิจการท่าข้าว ก. ที่แท้จริง แม้โจทก์ไม่อาจขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามมาตรา 57 (3) (ก) แต่การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการ แต่จดทะเบียนพาณิชย์ในชื่อของจำเลยร่วมและยังมีบุคคลอื่นที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ามาซื้อข้าวโพดจากโจทก์ในท่าข้าว ก. อีก ตามคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีจึงเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็น และศาลย่อมมีอำนาจที่จะเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5009/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผ่าตัดรักษาเนื้องอกมดลูกโดยได้รับความยินยอมของผู้ป่วย การแพทย์และมาตรฐานการรักษา
แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังว่าจำเลยที่ 2 วินิจฉัยอาการผิดพลาดเนื่องจากโจทก์มิได้ตั้งครรภ์นอกมดลูก แต่เป็นการตั้งครรภ์ภายในมดลูกและเป็นภาวะที่แท้งบุตรไม่ครบ ซึ่งอาจจะใช้วิธีการรักษาด้วยการขูดมดลูกหรือวิธีการอื่นโดยไม่จำต้องผ่าตัดตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่กรณีจะถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ นอกจากต้องพิจารณาจากมาตรฐานการรักษาตามวิชาชีพของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวิธีปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยทางด้านสูตินรีเวชแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดีและเหตุผลประการอื่นประกอบด้วย เนื่องจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นอาจมีความแตกต่างกันได้ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยของแพทย์และนำไปสู่วิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกันได้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าแพทย์ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยโดยปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางนั้นด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์จำเป็นที่ต้องให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยเร็วเพื่อให้พ้นจากความเสี่ยงภัยอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายด้วยแล้ว แม้ผลการรักษาจะไม่เป็นไปตามข้อวินิจฉัยของแพทย์ที่ให้ไว้ก็ตาม กรณีย่อมไม่อาจถือว่าแพทย์ผู้นั้นกระทำประมาทเลินเล่อ เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ของโจทก์ตามความรู้ความสามารถโดยปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและเหมาะสมกับสภาวการณ์ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4548/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจทนายความในการอุทธรณ์ต้องมีมอบอำนาจชัดเจน หากไม่มี ศาลต้องสั่งแก้ไขก่อน
การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาและกระบวนพิจารณาที่เป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ ทนายความต้องได้รับมอบอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง ว. ทนายโจทก์ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์โดยใบแต่งทนายความมิได้ระบุให้ ว. มีอำนาจยื่นอุทธรณ์แทนโจทก์ จึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีข้อบกพร่อง เท่ากับคำฟ้องอุทธรณ์ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ศาลชั้นต้นต้องสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้องก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์มาโดยไม่สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงชอบที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการแก้ไขข้อบกพร่องโดยให้โจทก์ลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องแล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียทีเดียว เป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยความยุติธรรม แต่เมื่อตามใบแต่งทนายความฉบับหลังโจทก์ได้แต่งตั้ง ว. เป็นทนายความให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ได้ในชั้นฎีกานี้แล้วจึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องในชั้นยื่นคำฟ้องอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมศาลที่ต้องวางพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หมายถึงค่าธรรมเนียมตามคำพิพากษาเดิมเท่านั้น ไม่รวมค่าใช้จ่ายภายหลัง
เงินค่าธรรมเนียมที่ผู้อุทธรณ์ต้องนำมาวางต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หมายถึงเฉพาะค่าธรรมเนียมตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาล หารวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมอื่นที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีแล้ว ค่าใช้จ่ายในการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยทั้งสองจึงหาใช่ค่าธรรมเนียมที่ต้องนำมาวางพร้อมกับอุทธรณ์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3131/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนในคดีอาญา: การฟ้องคดีเดียวกันซ้ำซ้อนที่ศาลต่างกันเป็นเหตุให้ฟ้องเป็นอันตกตามกฎหมาย
เมื่อพิจารณาสาระสำคัญแห่งคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่กับพวกอีก 2 คน ในคดีก่อนเปรียบเทียบกับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่ในคดีนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ กระทำความผิดทั้งสองคดีในช่วงวันเวลาเดียวกัน อีกทั้งมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดทั้งสองคดีก็เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ นำเอาข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลอันเป็นความลับที่ปรากฏในรายงานการตรวจสอบสืบสวนเรื่องการทุจริตในมหาวิทยาลัย ว. ที่จำเลยจัดทำขึ้นไปเปิดเผยหรือแจ้งข่าวแก่สื่อมวลชนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบสี่ แม้คดีก่อน โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะบุคคลธรรมดาในฐานความผิดที่ยอมความได้ และคดีนี้โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิด ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานในความผิดที่ยอมความไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีนี้และการกระทำความผิดที่มีการฟ้องร้องทั้งสองคดีเกิดขึ้นจากมูลเหตุเรื่องเดียวกันในช่วงวันเวลาเดียวกัน การวินิจฉัยความผิดทั้งสองคดีจึงต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปพร้อมกันในคราวเดียวกัน ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนที่ศาลอาญาและหลังจากนั้นได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ที่ศาลชั้นต้น โดยคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่นำคำฟ้องเรื่องเดียวกันมายื่นฟ้องจำเลยคนเดียวกันเป็นสองคดีซ้อนกัน ซึ่งเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2417/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าระวางเรือ และความรับผิดของผู้ว่าจ้างทำของ
แม้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเรือ แต่บุคคลที่จะรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลจะต้องเป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลซึ่งหมายถึงผู้ใช้ยานพาหนะนั้นในฐานะเป็นผู้ยึดถือในขณะเกิดความเสียหายเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 437จำเลยที่ 2 เพียงแต่มีชื่อในทางทะเบียนเรือเป็นผู้ควบคุมเครื่องยนต์เรือเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวนานแล้วเพราะได้ให้ ธ. บุตรชายนำเรือยนต์นั้นไปใช้ในกิจการส่วนตัวของ ธ. หลังจากที่ ก. ผู้เป็นบิดาเสียชีวิตไปนานแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เพราะไม่ใช่บุคคลผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องร่วมกับ ธ. ในฐานะผู้ควบคุมเครื่องยนต์เรือลากจูงขบวนเรือเกิดเหตุการบรรทุกน้ำหนักของเรือลำเลียงทั้งสามลำที่เกินระวางบรรทุกของเรือเป็นการฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายอันเป็นกฎหมายที่มีประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า ผู้ควบคุมเรือทุกลำในขบวนเรือ รวมทั้งจำเลยที่ 4 ผู้กระทำการฝ่าฝืนเป็นฝ่ายผิดอีกด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 422จำเลยที่ 3 ประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าทางน้ำโดยนำเรือลำเลียงของตนออกให้ผู้อื่นเช่าใช้งานและรู้เห็นยินยอมให้มีการบรรทุกสินค้าน้ำหนักเกินระวางบรรทุกของเรือตามใบอนุญาตใช้เรือที่โจทก์ที่ 1 กำหนดไว้เยี่ยงนี้เป็นประจำต่อเนื่องตลอดมาทั้ง ๆ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงเป็นการกระทำโดยประมาทด้วยการจงใจฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายอันเป็นกฎหมายที่มีประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ โดยชัดแจ้ง กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเช่นนี้เป็นผู้ผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 422การที่จำเลยที่ 4 รับเงินสินจ้างจากจำเลยที่ 3 โดยตรง เพื่อตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่สรั่งเรือในขณะที่จำเลยที่ 3 นำเรือออกให้เช่าอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง แล้วเกิดเหตุละเมิด จำเลยที่ 3 ผู้เป็นนายจ้างยังต้องรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 4 ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นอีกฐานะหนึ่งด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425ขณะเกิดเหตุเรือ บ. จมนั้น น้ำตาลทรายดิบจำนวนมากละลายและเจือปนกับน้ำในแม่น้ำและส่งผลต่อคุณภาพของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้น้ำเน่าเสียและทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำเสื่อมโทรมลงจนเกิดภาวะมลพิษทางน้ำขึ้น อันเนื่องมาจากน้ำตาลซึ่งเป็นสารอินทรีย์และเป็นอาหารที่ดีที่สุดของจุลินทรีย์สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในน้ำ จุลินทรีย์บริโภคน้ำตาลหรือสารอินทรีย์อื่นเป็นอาหารโดยใช้ออกชิเจนเผาผลาญให้เกิดพลังงานเพื่อแบ่งเซลล์ขยายจำนวน ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงจนถึงขั้นวิกฤต และเป็นผลให้สิ่งมีชีวิตหรือสัตว์น้ำขนาดใหญ่ อาทิเช่น ปลาหรือกุ้งไม่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำได้ต้องลอยตายเป็นจำนวนมาก แม้น้ำตาลหรือน้ำตาลทรายดิบจะไม่ใช่ทรัพย์หรือสารอันตรายโดยสภาพก็ตาม แต่หากถูกปล่อยทิ้งให้ละลายลงในแม่น้ำเป็นจำนวนมาก ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือเกิดภาวะที่เป็นพิษได้ โดยเฉพาะภาวะมลพิษทางน้ำดังกล่าวข้างต้น ในสภาวการณ์เช่นนี้จึงต้องถือว่าน้ำตาลทรายดิบเป็นมลพิษชนิดหนึ่ง ตามความหมายของบทนิยามในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และไม่ใช่แหล่งอันเป็นที่มาของมลพิษอันจะถือได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษจำเลยที่ 14 รู้อยู่แล้วว่าเรือลำเลียงทั้งสามลำที่รับจ้างช่วงนั้น บรรทุกน้ำตาลทรายดิบเกินกว่าอัตราระวางบรรทุกที่กำหนดไว้ในใบทะเบียนเรือหรือใบอนุญาตใช้เรือซึ่งได้มีการทักท้วงแล้ว แต่จำเลยที่ 14 กลับเพิกเฉยมิได้สั่งห้ามหรือสั่งให้แก้ไขเพื่อป้องกันอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จำเลยที่ 14 ผู้ว่าจ้างทำของจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างนั้นอีกฐานะหนึ่งด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 428

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2373/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษจำคุกในคดีต่างๆ แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด และผลของการพิพากษาให้ยกฟ้องในบางคดีต่อการนับโทษ
จำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558 ของศาลชั้นต้น และเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ของศาลชั้นต้น ซึ่งในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 993/2558 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 เดือน 20 วัน และในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 9 เดือน แม้คดีทั้งสองจะยังไม่ถึงที่สุดเพราะอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ฎีกา แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังต้องถูกบังคับตามผลของคำพิพากษาในคดีทั้งสองอยู่ ศาลฎีกาชอบที่จะนำโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีทั้งสองมานับต่อจากโทษจำคุกคดีนี้ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 821/2560 ของศาลชั้นต้น จึงไม่มีโทษจำคุกในคดีดังกล่าวที่จะนำมานับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ได้
of 5