คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 728

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 173 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2489/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้จำนองและเจ้าหนี้สามัญ การบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองและทรัพย์สินอื่น
จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์โดยจำนองทรัพย์สินของตนเป็นประกันการชำระหนี้ สัญญาจำนองมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า ถ้าโจทก์บังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด จำเลยยอมรับผิดใช้เงินที่ยังขาดจำนวนนั้นให้แก่โจทก์จนครบถ้วน โจทก์จึงเป็นทั้งเจ้าหนี้สามัญผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้และเป็นเจ้าหนี้จำนองผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำนองด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องโดยใช้สิทธิทั้งสองประการดังกล่าวและมีคำขอท้ายฟ้องว่า ถ้าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยและทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินสุทธิมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน อันเป็นการฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องเต็มตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ ซึ่งแม้ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามคำขอท้ายฟ้อง แต่การบังคับคดีโจทก์ก็ยังต้องอยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 284 ที่ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ตามคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้โจทก์จนครบถ้วน ซึ่งมีผลเป็นการกำหนดขั้นตอนในการบังคับชำระหนี้โดยให้โจทก์ต้องบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อน เมื่อไม่พอจึงจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลย อันเป็นการพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิในการบังคับชำระหนี้น้อยกว่าสิทธิที่มีอยู่ ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องมาแล้ว จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกกล่าวบังคับจำนองโดยทนายความ แม้ไม่มีหนังสือมอบอำนาจ แต่ตัวการให้สัตยาบันแล้ว ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาว่าโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้จะมิใช่ประเด็นข้อพิพาทเนื่องจากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ก็เป็นประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์ ซึ่งโจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบและจำเลยถามค้านพยานโจทก์ในปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 มิได้บัญญัติว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือ กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 798 วรรคหนึ่งที่กำหนดให้การตั้งตัวแทนเพื่อกิจกรรมนั้นต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด และแม้การมอบอำนาจจะมิได้ทำเป็นหนังสือแต่ทนายโจทก์ก็ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์ และเมื่อจำเลยได้รับหนังสือแล้วไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงมอบอำนาจให้ ธ. ดำเนินคดีนี้แก่จำเลย แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของทนายโจทก์เป็นการบอกกล่าวในนามของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของทนายโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนที่บอกกล่าวบังคับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 วรรคหนึ่ง ย่อมถือได้ว่าโจทก์ผู้รับจำนองมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยผู้จำนองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 728 โดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8075/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนอง: ข้อผิดพลาดในการระบุหมายเลขห้องชุดในหนังสือบอกกล่าว ไม่ทำให้การบังคับจำนองเป็นโมฆะ
จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ โดยจำนองห้องชุดเลขที่ 181/289 ตำบลบางแค อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นประกันหนี้ แต่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองภายใน 30 วัน ย่อมมีความหมายชัดแจ้งว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และจัดการไถ่ถอนจำนองภายในเวลาที่กำหนด เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยทำสัญญาจำนองทรัพย์สินรายอื่นเป็นประกัน ทรัพย์ที่โจทก์จะบังคับจำนองย่อมหมายถึงห้องชุดเลขที่ 181/289 การที่หนังสือบอกกล่าวของโจทก์ระบุหมายเลขห้องชุดเป็นห้องชุดเลขที่ 0289 ตำบลบางแค อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร น่าจะเป็นเพียงการพิมพ์หมายเลขคลาดเคลื่อนเท่านั้น หามีผลทำให้หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด คำบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ชอบด้วยมาตรา 728 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3506/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ วิกฤตเศรษฐกิจไม่ใช่เหตุให้หลุดพ้นจากหนี้ที่มีประกันจำนอง การชำระหนี้ยังอยู่ในวิสัยที่พึงปฏิบัติได้
การเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจมีผลกระทบต่อลูกหนี้บางคนทำให้ไม่สามารถชำระหนี้สินที่ตนมีต่อสถาบันการเงินได้เหมือนเช่นปกติแต่จะถือเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 วรรคหนึ่ง เสียทีเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป โดยเฉพาะจำเลยที่ 1ได้จำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ยืมไว้กับโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้บังคับชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213,728 การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในวิสัยที่พึงปฏิบัติได้ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ต่อไปจะอ้างวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศมาปลดเปลื้องเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากการบังคับคดีไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3698/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญา: การคิดดอกเบี้ยสูงสุดต้องเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและข้อตกลงในสัญญา
สัญญาทรัสต์รีซีทที่ระบุข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 จะชำระค่าสินค้าโดยคำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารโจทก์ต้องชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 หรือตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้ หรือในอัตราแลกเปลี่ยนของโจทก์ ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีท หรือในอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามทรัสต์รีซีท โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์เป็นผู้เลือกที่จะใช้อัตราใดแล้วแต่จะเห็นสมควรเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินชิลลิงออสเตรียเป็นเงินไทยในวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา ศาลจึงไม่มีอำนาจบังคับโจทก์ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินชิลลิงออสเตรียเป็นเงินไทยในวันอื่นที่โจทก์ไม่ได้เลือก จำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจอ้างว่าโจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินชิลลิงออสเตรียเป็นเงินไทยโดยไม่เป็นธรรมได้
บทบัญญัติมาตรา 728 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิได้บัญญัติว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือกรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 798 วรรคหนึ่ง
โจทก์มอบให้ อ. พนักงานธนาคารโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อ อ. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้รับแล้วไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของ อ. ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของ อ. ซึ่งเป็นตัวแทนที่บอกกล่าวบังคับจำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 ดังนั้นเมื่อ อ. ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 ผู้จำนอง ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังผู้จำนองตามมาตรา 728 แล้ว
จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับและไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เลยนับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาฉบับสุดท้ายถึงวันที่โจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองเกิน 1 ปี แล้ว และหลังจากโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2541 โจทก์ก็มิได้ดำเนินการฟ้องร้องจำเลยทั้งสี่ในทันทีเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน ตามจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่มาฟ้องเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2542 แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ถือกำหนดเวลา 15 วัน ตามจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นสาระสำคัญ ถือไม่ได้ว่าจดหมายบอกกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรจึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
หนังสือสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ค้ำประกันระบุว่าเป็นการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 อันเกิดจากนิติกรรมใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไว้แล้วในขณะทำสัญญาค้ำประกัน และหนี้เกิดจากนิติกรรมใด ๆ ต่อไป ในภายหน้าด้วย การฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้รับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารแสดง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เมื่อโจทก์อ้างส่งหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นพยานเอกสาร การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์ว่ามีข้อความเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 ศาลย่อมไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นแตกต่างจากข้อความในหนังสือสัญญาค้ำประกันได้
การที่ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์ซีท ซึ่งจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
คำแปลเอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยไม่ถือว่าเป็นเอกสารที่คู่ความอ้างส่งในคดี จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการอ้างเอกสารเป็นพยาน และถือเป็นหน้าที่ของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่จะต้องร่วมกันสื่อความหมายของข้อความนั้นให้ศาลได้เข้าใจได้ตรงหรือใกล้เคียงกับความหมายที่แท้จริงของข้อความภาษาต่างประเทศนั้นให้มากที่สุด ดังนั้นหากคำแปลเป็นภาษาไทยไม่ถูกต้อง คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมขอแก้ไขเมื่อใดก็ได้ก่อนศาลมีคำพิพากษา
การคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีท ต้องปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์และตามสัญญาทรัสต์รีซีท เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1ผิดนัดได้ตามอัตราที่ระบุในสัญญาข้อ 4 และข้อความในสัญญาข้อ 4 ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภายในกำหนดเวลาตามสัญญาอันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดซึ่งแม้สัญญาข้อ 4 จะระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ไม่ผิดนัดเท่านั้น ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เพียงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ ไม่ใช่อัตราสูงสุดในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา เพราะตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดข้อ 3(4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยในอัตราสำหรับลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้เฉพาะกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3698/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนอง, สัญญาค้ำประกัน, อายุความ และการให้สัตยาบันต่อการกระทำของตัวแทน
ป.พ.พ. มาตรา 728 บัญญัติว่า "เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้น?" และมาตรา 798 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแต่งตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย" บทบัญญัติมาตรา 728 มิได้บัญญัติว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือ กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 798 วรรคหนึ่งดังกล่าว
โจทก์มอบหมายให้ อ. บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือ อ. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้รับแล้วไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของ อ. ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของ อ. ซึ่งเป็นตัวแทนที่บอกกล่าวบังคับจำนองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 ดังนั้น เมื่อ อ. ตัวแทนโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 ผู้จำนองย่อมถือได้ว่าโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังผู้จำนองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 728 แล้ว
หนังสือสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่แก่โจทก์ มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 อันเกิดจากนิติกรรมใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไว้แล้วในขณะทำสัญญาค้ำประกันนี้ และหนี้เกิดจากนิติกรรมใด ๆ ต่อไปในภายหน้าด้วย การฟ้องร้องจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ให้รับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 94 เมื่อโจทก์อ้างส่งหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นพยานเอกสารโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้มีพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบ ศาลย่อมไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นแตกต่างจากข้อความในหนังสือสัญญาค้ำประกันได้
การที่โจทก์มาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท ซึ่งเป็นสัญญาที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3171-3172/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแทนและดอกเบี้ยผิดนัดในสัญญาทรัสต์รีซีท: การพิจารณาความชอบธรรมของอัตราดอกเบี้ยและขอบเขตอำนาจตัวแทน
แม้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเป็นตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไปเกี่ยวกับกิจการในสำนักงานสาขาชลบุรีของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 วรรคหนึ่ง แต่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็ไม่ถูกจำกัดอำนาจในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 801 วรรคสอง (5) เพราะหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุให้อำนาจแก่ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ฟ้องคดีไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีสำหรับคดีต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นที่สาขาชลบุรีของโจทก์ ไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจแต่เฉพาะการตามมาตรา 800 โจทก์จึงไม่ต้องกล่าวในหนังสือมอบอำนาจโดยระบุชื่อนิติบุคคลหรือบุคคลที่จะต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องมาด้วย และการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีดังกล่าวย่อมหมายถึงให้ดำเนินคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสาขาชลบุรีของโจทก์ ไม่ว่าคดีนั้นจะได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ดังนั้น ป. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์โดยสมบูรณ์ในขณะยื่นฟ้องจึงมีอำนาจแต่งตั้ง น. ทนายความยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ได้
ตามคำฟ้องของโจทก์ แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับเงินไทยเท่าใดในวันที่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระมาโดยชัดแจ้ง แต่โจทก์ก็ได้แนบสำเนาใบแจ้งการครบกำหนดชำระหนี้และสำเนาบัญชีแสดงยอดหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับมาท้ายคำฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องโดยระบุถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันครบกำหนดชำระหนี้แต่ละจำนวนไว้โดยชัดแจ้ง จำเลยที่ 1 สามารถตรวจดูเพื่อสู้คดีให้ถูกต้องได้ คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าระยะเวลาที่กำหนดให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นมากน้อยเพียงใดจึงจะเป็นเวลาอันสมควร จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป โจทก์ได้มอบหมายให้ น. ทนายความบอกกล่าวบังคับจำนอง ไปยังจำเลยที่ 1 โดยกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว แม้จำนวนหนี้จำนองที่โจทก์เรียกร้องทวงถามจะสูงถึง 376,479,799.79 บาท แต่หนี้จำนวนดังกล่าวจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าจะต้องชำระแก่โจทก์ ณ วันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับก่อนหน้าที่ทนายโจทก์จะมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว และหลังจากนั้นอีก 1 ปีเศษ โจทก์จึงมอบหมายให้ทนายโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองส่งไปให้จำเลยที่ 1 โดยให้เวลาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้อันเป็นการไถ่ถอนจำนองได้อีก 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว ตามพฤติการณ์ถือได้ว่ากำหนดเวลาบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นพอสมควรและชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้
ตามสัญญาระบุไว้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บได้ตามประกาศของโจทก์นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ดอกเบี้ยตามข้อสัญญาดังกล่าวย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญากับโจทก์ โดยดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าที่ไม่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขอัตราสูงสุดได้แก่ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั่วไปของธนาคาร (จีแอลอาร์) และตามสัญญาได้ระบุไว้ด้วยว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ค้างชำระในอัตราตามที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายว่าโจทก์จะคิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดจากจำเลยที่ 1 ได้ในอัตราเดียว คือ อัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั่วไปของธนาคาร (จีแอลอาร์) เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อสูงสุดของโจทก์ที่เรียกจากลูกค้าซึ่งปฏิบัติผิดเงื่อนไข (ซีแอลอาร์) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3081/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บอกกล่าวบังคับจำนองโดยไม่เป็นหนังสือ & การคิดดอกเบี้ยผิดสัญญา: ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษา
การบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 ไม่ได้กำหนดว่าต้องทำตามแบบอย่างใดบ้าง ผู้รับจำนองเพียงแต่มีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันควร ก็ถือได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบด้วยบทมาตราดังกล่าวแล้ว ดังนั้น แม้โจทก์จะมอบอำนาจให้ ส. เป็นตัวแทนบอกกล่าวบังคับจำนองโดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือมอบอำนาจก็ไม่เป็นโมฆะ นอกจากนี้เมื่อโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ ส. ได้กระทำการไปในนามของโจทก์โดยการฟ้องคดีนี้ ย่อมถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่ลูกหนี้โดยถูกต้องตามกฎหมาย
สัญญาค้ำประกันมีข้อความให้สัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ก็มีความหมายว่าจำเลยที่ 3 ยอมค้ำประกันการชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 เมื่อหนี้รายนี้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2541 จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนการนำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว โจทก์จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ภายในกำหนดอายุความ
สัญญาทรัสต์รีซีทระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเกินได้ตามประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งตามประกาศธนาคารโจทก์ก็คืออัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ได้ผิดนัด เท่ากับอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีมีกำหนดเวลา (MLR) บวกส่วนต่าง (Margin) แต่ปรากฏว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขหรือผิดนัดชำระหนี้ซึ่งสูงกว่าอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ได้ผิดนัด จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง, การมอบอำนาจ, การบอกกล่าวบังคับจำนอง, พยานเอกสาร, ดุลพินิจศาล: ข้อวินิจฉัยสำคัญในคดีบังคับจำนอง
การมอบอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง มิได้บังคับว่าผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจหรือพยานผู้รู้เห็น จะต้องลงชื่อเมื่อใด ดังนั้น แม้ผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจหรือพยานผู้รู้เห็นจะลงลายมือชื่อภายหลังที่ได้มี การมอบอำนาจกัน ก็ไม่ทำให้การมอบอำนาจเสียไป
ช. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองก่อนที่จะได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ได้ยอมรับเอาการ บอกกล่าวบังคับจำนองโดยได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแล้ว ย่อมถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 วรรคหนึ่ง
โจทก์เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ในเอกสารตามที่กฎหมายบังคับให้ปิด ตาม พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป. รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และเป็นสิ่งที่ศาลรู้เองโจทก์ไม่ต้องนำสืบ
คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุทิ้งฟ้อง เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้น มิได้สั่งจำหน่ายคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป จึงเป็นดุลพินิจที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 809/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินจำนองแม้คดีขาดอายุความ และการรับผิดของทายาท
แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของ ท. ให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ ท. ได้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้หลังจากที่ ท. ถึงแก่ความตายไปแล้วเกิน1 ปี ซึ่งทำให้คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่โจทก์ผู้รับจำนองยังสามารถใช้สิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้โจทก์เอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27
แม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ทนายโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนอง แต่เมื่อทนายโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์และโจทก์ยอมรับเอาการบังคับจำนองที่ทนายโจทก์ได้บอกกล่าวในนามของโจทก์แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 และถือว่าได้มีการบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยทั้งสามแล้ว
ท. เป็นหนี้โจทก์อยู่และถึงแก่ความตายลง จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ท. ย่อมรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมได้เท่าที่ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1601 ส่วนการที่จำเลยทั้งสามจะได้รับมรดกของ ท. และท. จะมีทรัพย์มรดกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันในชั้นบังคับคดี
of 18