คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 8 (9)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 53 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 540/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลายจากหนี้ที่เกิดจากสัญญาซื้อขายไม้ยางพารา การพิสูจน์หนี้และการสันนิษฐานเรื่องหนี้สินล้นพ้นตัว
จำเลยเบิกเงินจากโจทก์เพื่อนำไปซื้อไม้ยางพาราจากเจ้าของสวนแล้วนำมาขายให้แก่โจทก์ จากนั้นจึงหักทอนบัญชีกัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่มิได้กำหนดแยกประเภทเป็นเอกเทศสัญญาไว้ใน ป.พ.พ. แต่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยให้ต้องชำระหนี้ต่อกันตามสัญญาดังกล่าว แม้โจทก์ฟ้องคดีตั้งรูปเรื่องมาว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืม แต่ก็ได้บรรยายฟ้องและนำสืบเข้าลักษณะสัญญาประเภทหนึ่งที่บังคับกันได้ดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น ซึ่งในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายที่ถูกต้องมาปรับแก่คดีได้
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 (3) บัญญัติเพียงว่า เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตามเท่านั้น หาได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลต้องพิพากษากำหนดจำนวนแน่นอนเสียก่อนไม่ โจทก์จึงไม่จำต้องนำหนี้ดังกล่าวไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งก่อนที่จะฟ้องคดีล้มละลาย เมื่อรายการตัดทอนบัญชีระบุว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โจทก์ย่อมมีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17210/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาล้มละลายจากหนี้ค้างชำระสัญญาเช่าซื้อและคำบังคับทวงหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อโจทก์เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้จึงดำเนินการทวงหนี้ จนศาลล้มละลายกลางออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ โดยจำเลยทั้งสามมิได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งความ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปเป็นการเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 วรรคสอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างแต่เพียงว่าไม่ทราบเรื่องการทวงถามหนี้โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมิได้ปฏิเสธ แต่ก็มิได้โต้แย้งหรือขอให้ศาลเพิกถอนคำบังคับ คำบังคับดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยทั้งสาม โจทก์ไม่จำต้องนำสืบอ้างส่งพยานหลักฐานสัญญาเช่าซื้อ สัญญาค้ำประกัน รายการคำนวณยอดหนี้และรายการค่าเสียหาย ภาระหนี้หลังการขายทอดตลาดแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าหนี้ที่ทวงถามโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขาดอายุความ
ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ครั้งที่สองวันที่ 18 สิงหาคม 2551 โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้การส่งครั้งแรกพนักงานไปรษณีย์จะแจ้งเหตุขัดข้องในการนำส่งว่า "ไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า" แต่ก็ปรากฏตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรท้ายคำแถลงขอจัดส่งคำคู่ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่ตามสถานที่โจทก์นำส่งหนังสือทวงถามจริง และในการนำส่งหนังสือทวงถามครั้งที่สอง ก็ปรากฏว่ามีผู้เกี่ยวพันเป็นหลานสาวคือ ส. ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่รับหมายเรียกคดีล้มละลายคดีนี้แทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อรับหนังสือไว้แทน พฤติการณ์แสดงชัดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 หลีกเลี่ยงไม่ยอมรับหนังสือทวงถาม ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับหนังสือและทราบการทวงถามโดยชอบแล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7994/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาให้ล้มละลาย: การส่งหนังสือทวงหนี้ตามภูมิลำเนาและการสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว
ก่อนฟ้องคดีล้มละลายโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือลงวันที่ 5 กันยายน 2548 เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้นำหนังสือดังกล่าวไปส่งให้จำเลยที่บ้านเลขที่ 5/619 อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย แต่ไม่พบจำเลยและไม่มีผู้ใดรับไว้ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงมีหนังสือให้จำเลยไปรับหนังสือดังกล่าว แต่จำเลยไม่ไปรับหนังสือภายในกำหนด เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงส่งหนังสือคืนแก่โจทก์ หลังจากนั้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้อีกครั้งหนึ่งโดยส่งให้แก่จำเลยตามภูมิลำเนาดังกล่าว ปรากฏว่ามี อ. ซึ่งระบุว่าเป็นย่าของจำเลยเป็นผู้รับไว้แทน ดังนั้นจากพฤติการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรอันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เหตุที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไม่สามารถส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยได้ในครั้งแรกเกิดจากการที่จำเลยหลีกเลี่ยงไม่ไปรับหนังสือดังกล่าวภายในกำหนด จึงถือว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งแรกด้วยแล้ว เมื่อในการส่งหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งที่ 2 มีผู้รับไว้แทน จึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4619/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลายซ้ำ และการพิสูจน์ความสามารถในการชำระหนี้เพื่อล้มล้างข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว
คดีก่อนโจทก์เคยฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายอ้างเหตุจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลง มีราคามากกว่าหนี้ คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์นำหนี้เดียวกันมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายอีกโดยอ้างเหตุจำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี และที่ดินในคดีก่อนจำเลยได้โอนขายไปแล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) แม้มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจะเป็นหนี้เดียวกันและคดีมีประเด็นเดียวกันว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ก็ตาม แต่เหตุที่อ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นคนละเหตุกัน ทั้งเหตุในคดีนี้เป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6117/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีล้มละลายต้องพิสูจน์ราคาทรัพย์หลักประกันและหนี้สินของจำเลยให้ชัดเจนตามกฎหมาย
การฟ้องคดีส่วนจำเลยที่ 1 โจทก์ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 10 โจทก์กล่าวในฟ้องอ้างราคาทรัพย์หลักประกันซึ่งมีการตีราคาโดยเจ้าหนี้เดิมก่อนฟ้องคดีล้มละลายประมาณ 7 ปี เป็นเงิน 1,472,000 บาท ขณะเดียวกันก็ได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์หลักประกันดังกล่าวเมื่อโจทก์นำยึดห่างจากวันฟ้องคดีล้มละลายคดีนี้ประมาณ 4 เดือน เป็นเงิน 1,950,750 บาท โดยโจทก์รับรองว่าถูกต้องและเห็นชอบด้วย จึงน่าเชื่อว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นราคาทรัพย์หลักประกันขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลาย และเมื่อนำราคาหลักประกันดังกล่าวมาหักกับหนี้โจทก์ที่คงค้าง 2,706,332.85 บาท จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ไม่ถึง 1,000,000 บาท โจทก์ไม่อาจนำมูลหนี้ส่วนนี้มาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีล้มละลายได้
การนำสืบข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่นั้น โจทก์อาจจะนำสืบถึงทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 2 ที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรืออาจจะนำสืบถึงข้อเท็จจริงอันใดอันหนึ่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 อันเป็นข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งนี้การพิจารณาถึงฐานะหรือข้อเท็จจริงอันเป็นข้อสันนิษฐานนั้นจะต้องปรากฏว่าเป็นข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีล้มละลาย คดีนี้โจทก์นำสืบถึงมูลหนี้ของโจทก์และการดำเนินการของโจทก์เท่านั้น มิได้แสดงให้เห็นถึงทรัพย์สินและหนี้สินของจำเลยที่ 2 จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนที่โจทก์อ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (9) นั้น การทวงถามให้ชำระหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องเป็นการทวงถามในมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งที่โจทก์นำมาฟ้องให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย คดีนี้มีการทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงครั้งเดียว การทวงถามบอกกล่าวบังคับจำนองในมูลหนี้ก่อนที่จะฟ้องคดีแพ่งหาใช่เป็นการทวงถามให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์นำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 แล้ว ไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้นั้น โจทก์ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลายแล้ว จึงหาใช่ข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วในเวลาเริ่มต้นการฟ้องคดีล้มละลายไม่ กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังมิได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5142/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักล้างข้อสันนิษฐานสถานะล้มละลายด้วยหลักฐานสิทธิเรียกร้องและการชำระหนี้
จำเลยต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9) จำเลยมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวซึ่งจำเลยนำสืบฟังได้เป็นที่แน่นอนว่าจำเลยมีสิทธิที่จะรับเงินจากการที่บริษัท ส. ได้นำมาวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยในคดีแพ่ง และสิทธิดังกล่าวมีจำนวนมากกว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย เมื่อโจทก์ได้ขออายัดเงินดังกล่าวและได้รับเงินตามที่อายัดในคดีแพ่งแล้ว โจทก์ก็ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรค้างเป็นการครบถ้วนและจะมีเงินเหลือคืนจำเลยอีกจำนวนหนึ่ง พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาจึงหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
ส่วนที่โจทก์ได้กล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่า จำเลยยังเป็นหนี้เจ้าหนี้อื่นอีกโดยได้แนบหลักฐานการตรวจคำขอรับชำระหนี้ นั้น โจทก์เพิ่งยกข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยยังเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกขึ้นมาอ้างในชั้นอุทธรณ์ ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในชั้นพิจารณาของศาลล้มละลายกลางแต่อย่างใด ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสโต้แย้งหรืออธิบายถึงหนี้ต่างๆ มาก่อน ทั้งปรากฏว่าการตรวจคำขอรับชำระหนี้นั้นก็สืบเนื่องจากศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ซึ่งต่อมาศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่จึงทำให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดรวมถึงกระบวนพิจารณาต่างๆ เป็นอันต้องเพิกถอนไปในตัว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2190/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล้มละลาย: การพิสูจน์หนี้สินล้นพ้นตัวและข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดนราธิวาส โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้รับแล้ว แต่ไม่ยอมชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ข้อเท็จริงฟังได้ว่าโจทก์ส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกตามเอกสารหมาย จ.31 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 และครั้งที่สองตามเอกสารหมาย จ.33 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2545 ซึ่งปรากฎว่าตามเอกสารหมาย จ.31 โจทก์ทวงถามโดยระบุว่า เป็นหนี้ตามสัญญากู้เงินและเป็นการทวงถามก่อนมีการฟ้องคดีแพ่งอันเป็นมูลเหตุที่โจทก์นำเอาคำพิพากษาคดีแพ่งมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายคดีนี้ จึงเป็นการทวงถามคนละมูลหนี้กับมูลหนี้ตามฟ้องคดีนี้ ถือไม่ได้ว่าการทวงถามครั้งแรกเป็นการทวงถามในมูลหนี้ตามคำฟ้องคดีล้มละลาย ดังนั้น จึงฟังได้ว่าคดีนี้โจทก์ทวงถามเพียงครั้งเดียว กรณีไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9) ที่จะถือว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามความเป็นจริง ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 7 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (5) แล้ว ศาลย่อมมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เด็ดขาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653-655/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ล้มละลาย: การอุทธรณ์คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด - เหตุหนี้สินล้นพ้นตัว - อำนาจฟ้อง - อายุความ - การส่งหมายเรียก
จำเลยโต้แย้งว่า ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม, 33 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 8 (4) (9) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ ขอให้ศาลล้มละลายกลางส่งคำร้องของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ มาตรา 264 การที่ศาลล้มละลายกลางสั่งในคำร้องของจำเลยเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226, 247 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28
จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้มาใช้บังคับ อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะอุทธรณ์ได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ทั้งไม่มีกรณีจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามมาตรา 26 วรรคสี่ จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณา
ปัญหาที่ว่าหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 หรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้น จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 จำเลยอุทธรณ์การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยโดยวิธีปิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2539 ซึ่งถือว่าจำเลยได้รับแล้วในวันปิดนั้นเองตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง และวรรคสาม จำเลยมิได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อโต้แย้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หนี้ภาษีอากรตามคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงเด็ดขาดและเป็นหนี้ภาษีอากรค้างตามกฎหมาย ระยะเวลาที่โจทก์มีอำนาจใช้วิธีการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยผู้ค้างชำระหนี้ภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 271 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 เริ่มตั้งแต่วันถัดจากวันที่จำเลยได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์คือวันที่ 23 มีนาคม 2539 นับถึงวันฟ้องคดีนี้คือวันที่ 21 มีนาคม 2546 ยังไม่พ้น 10 ปี หนี้ตามฟ้องไม่ใช่หนี้ที่โจทก์หมดสิทธิบังคับคดี
เจ้าพนักงานของโจทก์ได้ปิดหมายเรียก ณ ที่อยู่หรือสำนักงานของจำเลยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง และถือว่าจำเลยได้รับหมายโดยชอบแล้วตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงไม่นำหลักการนับระยะเวลาปิดหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง มาใช้บังคับ เจ้าพนักงานของโจทก์ปิดหมายเรียกวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 หมายเรียกกำหนดให้จำเลยไปพบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2538 เป็นการให้เวลาจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 32 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5391/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องในคดีล้มละลาย: การมอบหมายผู้รับชำระหนี้เดิมและการเข้าสวมสิทธิเรียกร้องโดยชอบ
บริษัทบริหารสินทรัพย์โจทก์มอบหมายให้ธนาคาร ก. ผู้รับชำระหนึ้เดิมเป็นผู้เรียกเก็บเงินและรับชำระหนี้ จึงเป็นการที่โจทก์ได้มอบหมายให้ผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นตัวแทนในการเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้น การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ว่าธนาคาร ก. หรือโจทก์จะไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองทราบตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 การโอนสิทธิเรียกร้องนี้ก็ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิเข้าสวมสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งในอันที่จะบังคับชำระหนี้แก่จำเลยต่อไปตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ มาตรา 7
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2536 โดยให้ชำระเงินจำนวน 1,951,461.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี และชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิของโจทก์จะบังคับคดีกับจำเลยได้จะต้องล่วงเลยระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อน ดังนั้น สิทธิของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2537 เมื่อโจทก์คดีนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 สิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมจึงไม่สิ้นระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายได้
การที่โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามหมายบังคับคดีและได้ขายทอดตลาดทรัพย์แล้ว แต่ยังมีหนี้ที่ค้างชำระโจทก์อยู่อีก กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (5) โดยโจทก์มิต้องอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (9) ดังที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใดอีก ทั้งในการขอให้ล้มละลายโจทก์จะอ้างข้อสันนิษฐานใดอนุมาตราใดมาตราหนึ่งของมาตรา 8 ก็ได้ และในการฟ้องให้ล้มละลายก็ไม่จำเป็นต้องมีการทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7062/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาล้มละลาย: การรับฟังเอกสารสำเนาและภาระการนำสืบของลูกหนี้
แม้หนังสือมอบอำนาจ หนังสือมอบอำนาจช่วง และสัญญาโอนสินทรัพย์ เป็นสำเนาเอกสาร แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งบันทึกเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีในช่วงเวลาที่โจทก์นำสืบอ้างสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน จำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการนำสืบสำเนาเอกสารว่าไม่ถูกต้อง ศาลไม่ควรรับเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 คงมีแต่เพียงคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาเอกสารใช่หรือไม่เท่านั้น ถือว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (1) ส่วนหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องเป็นต้นฉบับเอกสาร การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นการโอนหนี้ด้อยคุณภาพตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ มาตรา 9 ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ หรือบอกกล่าวการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 โจทก์จึงเข้าสวมสิทธิของธนาคาร ท เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองได้ หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ตามคำพิพากษามีจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้น การฟ้องคดีของโจทก์ฟ้องโดยอาศัยข้อสันนิษฐานอื่นไม่ใช่ข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9) เรื่องการทวงถาม จึงไม่ต้องทวงถามก่อนฟ้อง โจทก์มีอำนาจฟ้อง
of 6