คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เฉลิมชัย ศรีเลิศชัยพานิช

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 39 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1993/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดี, อำนาจฟ้องราชการส่วนท้องถิ่น, การจ้างทนายความ, ค่าเสียหายจากการเลือกตั้ง
วันที่ 11 ธันวาคม 2556 เป็นวันที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอุทธรณ์ภาค 3 ส่งสำเนาคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้โจทก์ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ และยังไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายจึงยังไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุละเมิดจึงยังไม่เกิดขึ้นในอันที่จะถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน อายุความจึงยังไม่เริ่มนับในวันที่ 11 ธันวาคม 2556 เมื่อจำเลยกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคสอง (2) และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานและสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ โจทก์จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 26 มกราคม 2557 ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตอบข้อหารือแนวทางปฏิบัติกรณีการเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอำนาจเจริญ เนื่องจากสำนักงานเทศบาลตำบลชานุมานได้ขอทราบแนวทางการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ ในประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับการกำหนดสัดส่วนจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่จะเรียกให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมาน เช่น ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เป็นต้น และต้องชดใช้ค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในส่วนอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกันระหว่างการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมานจำนวนกึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วย ในส่วนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ ในส่วนที่เหลือกึ่งหนึ่งนั้น ถึงแม้จะไม่สามารถฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ได้ก็ตาม แต่เทศบาลตำบลชานุมานก็ย่อมสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 420 แห่ง ป.พ.พ. ได้ และวันที่ 13 มีนาคม 2558 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเห็นชอบให้กำหนดจำนวนค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานใหม่แทนจำเลยเป็นเงิน 183,587.50 บาท ดังนั้น ในส่วนค่าเสียหายที่เกิดจากการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 เป็นเงิน 183,779.50 บาท คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอำนาจเจริญจึงส่งหนังสือแจ้งโจทก์ โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 30 มิถุนายน 2558 จึงถือได้ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้วันที่ 2 มิถุนายน 2559 จึงยังอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยกับให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมาน ดังนั้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 661/2559 เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานเป็นเงิน 183,587.50 บาท เนื่องจากจำเลยกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคสอง (2) และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 99 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว แต่คดีนี้เป็นส่วนค่าเสียหายในส่วนที่เกิดจากการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ เป็นเงิน 183,779.50 บาท เพราะไม่สามารถฟ้องจำเลยตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 ได้ แต่โจทก์สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ได้ คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 661/2559 ของศาลชั้นต้นเมื่อพิจารณาแนวทางในการดำเนินคดีแพ่ง ซึ่งตัวความเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ให้พนักงานอัยการนำความเห็นของตัวความประกอบการพิจารณาสั่งคดี หากยังเห็นว่าคดีนั้นตัวความอยู่ในฐานะเสียเปรียบไม่สามารถชนะคดีได้และดำเนินคดีไม่เกิดประโยชน์ ให้พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจสั่งไม่รับว่าต่างหรือแก้ต่างให้ กรณีพนักงานอัยการสั่งไม่รับว่าต่างหรือแก้ต่างให้ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีสิทธิว่าจ้างให้ทนายความดำเนินคดีในศาลได้ ตามหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2549 และความเห็นฉบับย่อของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จ 549/2550 ให้ความเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจกระทำการใด ๆ ภายในขอบอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือตามที่มีกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น รวมถึงการจ้างทนายความว่าต่างหรือแก้ต่าง แต่การใช้จ่ายเงินจะต้องมีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ เมื่อยังไม่มีกฎหมายกำหนดค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความไว้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่สามารถจ่ายจากเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความได้ การที่โจทก์จ้างทนายความฟ้องจำเลยโดยไม่สามารถเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณได้ก็ย่อมเป็นเรื่องภายในของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้เอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณและการเพิกถอนการโอนฉ้อฉล ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่าง
กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) เป็นการเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณด้วยการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรงนั้น มีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องระบุมาในคำฟ้องให้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับกล่าวถ้อยคำอย่างไร เมื่อใด ต่อใคร เพื่อเป็นข้อที่จะให้ศาลพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้หรือไม่ ลำพังแต่การบรรยายว่าจำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคายอีกหลายครั้ง โดยไม่มีรายละเอียดว่า ด่าว่าอย่างไร เหตุเกิดเมื่อใด ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ให้การต่อสู้ว่า ฟ้องในส่วนนี้เคลือบคลุม แม้โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์ว่า "อีเหี้ย" และกล่าวว่า "มึงเอาน้ำกูไปใช้กี่ครั้งแล้ว" แต่ตามคำเบิกความของโจทก์ก็ปรากฏว่า โจทก์จำวันเวลาเกิดเหตุไม่ได้ ดังนี้ คำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่แจ้งชัด และไม่ใช่เรื่องที่โจทก์จะไปนำสืบในรายละเอียดได้ ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเคลือบคลุม และเมื่อฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ว่า "อีเหี้ย" คำนี้จึงไม่เป็นประเด็นพิพาทที่โจทก์จะนำสืบได้ จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามมิให้รับฟัง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1621/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการยึดหน่วงชำระหนี้ค่าแฟรนไชส์เมื่อเครื่องจักรชำรุด และการพิพากษาฟ้องแย้ง
เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้รับฎีกาโจทก์เฉพาะประเด็นว่า จำเลยไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าแฟรนไชส์ส่วนที่เหลือตามฟ้องแย้ง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติได้ต่อไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า โจทก์ไม่อาจอาศัยเหตุที่ว่า จำเลยส่งมอบเครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะมือสองให้แก่โจทก์และไม่ส่งแผ่นพับและธงญี่ปุ่นให้โจทก์มาบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้ และถือไม่ได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลย แม้โจทก์และจำเลยยังคงมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ในฐานะลูกหนี้มีหน้าที่ปฏิบัติการชำระหนี้ค่าแฟรนไชส์ที่เหลือจำนวน 175,000 บาท ให้แก่จำเลย ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะของจำเลยเกิดการขัดข้องในการใช้งาน เนื่องจากมีความชำรุดบกพร่องเกี่ยวกับการเซ็ทระบบและภูมิอากาศในประเทศไทย โจทก์จึงชอบที่จะยึดหน่วงไม่ชำระหนี้ค่าแฟรนไชส์ที่เหลืออยู่จำนวน 175,000 บาท ได้จนกว่าจำเลยจะแก้ไขความชำรุดบกพร่องของเครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะดังกล่าว หรือหาประกันที่สมควรให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 488

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8898/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ - ที่ดินสาธารณประโยชน์: ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีมีประเด็นซ้ำกับคดีก่อนหน้า
เดิมจำเลยฟ้องโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นคดีนี้ คดีนี้กับคดีดังกล่าวจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่ แล้วในคดีนี้จึงวินิจฉัยต่อไปได้ว่าจำเลยบุกรุกและทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เมื่อคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงต้องห้ามมิให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นดังกล่าวซ้ำอีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์ในคดีนี้และการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้แล้วมีคำพิพากษา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว และเมื่อตามประเด็นข้อพิพาทเป็นกรณีที่เห็นได้ว่าการชี้ขาดตัดสินคดีนี้จำต้องอาศัยคำชี้ขาดตัดสินคดีดังกล่าวซึ่งจะต้องกระทำเสียก่อน ดังนั้น ถ้าศาลชั้นต้นได้เลื่อนการพิจารณาคดีนี้ไปจนกว่าคดีดังกล่าวจะถึงที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 39 วรรคหนึ่ง ก็ย่อมทำให้ความยุติธรรมดำเนินไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม แม้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้มา แต่เมื่อปรากฏว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน คำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยจะยกเรื่องที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ขึ้นต่อสู้โจทก์อีกไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6413/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลยาเสพติดที่จำเลยให้ไม่เป็นประโยชน์ต่อการขยายผลจับกุมผู้กระทำผิด และการยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์
ร้อยตำรวจโท ส. และร้อยตำรวจเอก ว. ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองเบิกความเป็นพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองว่า ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับเมทแอมเฟตามีนมาจาก ว. แล้วได้แจ้งหมายเลขโทรศัพท์ไว้ แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้แจ้งที่อยู่ ว. และไม่ได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุม ว. แต่อย่างใด ดังนั้น ข้อมูลที่จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นข้อมูลที่มีการขยายผลจนสามารถยึดเมทแอมเฟตามีนหรือจับกุมผู้กระทำความผิดได้ ทั้งยังไม่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
ตามสำเนาบันทึกการจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ท. พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 5,967 เม็ด เป็นของกลางโดยการใช้สายลับล่อซื้อภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว ทั้งข้อเท็จจริงในการจับกุม ท. ก็ไม่ปรากฏในทางนำสืบของพยานโจทก์และคำให้การของจำเลยที่ 1 ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 เพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้อ้างในชั้นอุทธรณ์จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและการโอนกรรมสิทธิ์: การคุ้มครองผู้เช่าเมื่อเจ้าของที่ดินเปลี่ยนมือ
จำเลยที่ 3 เช่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 633 และ 23993 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร บางส่วนจากบริษัท อ. ทำนาปลูกข้าวเป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปี ก่อนที่โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 บริษัท อ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย และวันที่ 5 ตุลาคม 2555 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 28 เรื่องการเช่านาย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์นาที่เช่า ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านา และแม้ตามมาตรา 30 (4) เรื่องการเช่านาอาจสิ้นสุดก่อนกำหนดระยะเวลาการเช่านากรณีเมื่อนาที่เช่าถูกเวนคืนตามกฎหมายหรือโอนไปเป็นของรัฐด้วยประการอื่น แต่โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐที่รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ มิใช่รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของหน่วยงานของรัฐเพื่อเป็นผู้ให้เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 4 จึงไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมายดังกล่าว สิทธิการเช่านาของจำเลยที่ 3 ยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 30 (4) เมื่อก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายโดยการบอกเลิกการเช่านา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2438/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ต้องมีข้อมูลให้การช่วยเหลือตั้งแต่ชั้นจับกุม-สอบสวน หากยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ถือเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้ว
แม้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ที่ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีการนำสืบกันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประเด็นแห่งคดี เมื่อได้ความว่า โจทก์จำเลยไม่เคยนำสืบถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไว้แล้วในศาลชั้นต้น แต่เป็นข้อที่จำเลยพึ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงนี้ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1688/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังรัฐประหาร และผลกระทบต่อความรับผิดทางอาญา
สภาพความเป็นรัฐของรัฐใดรัฐหนึ่งนั้นจะต้องประกอบไปด้วยดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน และมีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนนั้นโดยมีรัฐบาลปกครอง และมีอธิปไตยเป็นของตนเอง ประการสำคัญการตีความกฎหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ และต้องเป็นการตีความในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเจตนารมณ์แห่งความธำรงอยู่ของความเป็นรัฐหรือชาติบ้านเมืองด้วย มิฉะนั้นสถานะความเป็นรัฐหรือความเป็นชาติบ้านเมืองจะถูกกระทบให้เสียหายไปเพราะไม่มีอธิปไตยอยู่ครบถ้วน เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลรักษาการได้อย่างเบ็ดเสร็จ และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยพุทธศักราช 2550 คณะรัฐมนตรี และวุฒิสภาสิ้นสุดลง ประเทศไทยในขณะนั้นจึงไม่มีหน่วยงานใดที่จะทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ แต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์แทน ซึ่งแม้การได้มาซึ่งอำนาจนั้นจะเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และจะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ก็เป็นกรณีที่ต้องไปว่ากล่าวกันในด้านอื่น แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ยังมีอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงว่าเป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติโดยควบคุมกลไกและหน่วยงานของรัฐได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่บัญญัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีสภาพเป็นกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินทำประโยชน์ทางมรดก การฟ้องขับไล่ผู้บุกรุก และค่าเสียหายจากการครอบครอง
ร. ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามที่กฎหมายกำหนด หาก ร. ทำผิดเงื่อนไข รัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐ เมื่อ ร. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ร. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ร. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ร. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนรับมรดกกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ร. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ร. ตาม ป.พ.พ. มาตรา1599 และมาตรา 1600 เมื่อมีผู้บุกรุกที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8345/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์สินจากการฟอกเงิน: สันนิษฐานความผิดและภาระการพิสูจน์
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในกรณีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลและศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน แม้ว่าการร้องขอดังกล่าวจะสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญามูลฐาน กล่าวคือ ต้องเกิดการกระทำความผิดมูลฐานขึ้น แต่มาตรการทางแพ่งก็ไม่ผูกติดกับคดีอาญา แยกออกจากกันต่างหาก โดยความผิดและโทษทางอาญามุ่งบังคับแก่ตัวบุคคล ส่วนมาตรการทางแพ่งมุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐานเพราะถึงอย่างไรทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ไม่เป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ใด เพื่อตัดวงจรการกระทำความผิดมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ดังนั้น แม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์ไม่ได้ร่วมกระทำความผิด ไม่ได้ถูกฟ้องและได้ทรัพย์สินนั้นมาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน (ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดอยู่ก่อนแล้ว) ก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ใช้มาตรการให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ และมาตรการดังกล่าวก็มิใช่โทษทางอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้
มาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติให้มีคณะกรรมการธุรกรรมประกอบด้วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นประธานกรรมการและผู้ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแต่งตั้งจำนวน 4 คน เป็นกรรมการ และมาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งมาตรา 33 บัญญัติให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมกับการประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมด้วย บัญญัติว่า ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม หากรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ดังนั้น เมื่อองค์ประกอบของคณะกรรมการธุรกรรมตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง มีเพียงประธานกรรมการและกรรมการ หาได้มีรองประธานกรรมการด้วยไม่ ทั้งไม่มีบทบัญญัติว่าในกรณีที่ประธานกรรมการหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ให้รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นประธานที่ประชุมแทนแต่อย่างใด การที่พลตำรวจตรี พ. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการธุรกรรมหมดวาระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ และกรรมการซึ่งมาประชุมมีมติเลือก จ. กรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม จึงเป็นการปฏิบัติชอบด้วยมาตรา 29 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว การประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมและมติที่ประชุมครั้งที่ 32/2548 รวมทั้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งออกตามมติดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ในคำคัดค้านเพิ่มเติมของผู้คัดค้านทั้งสามปรากฏข้อต่อสู้เพียงว่า คำร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และผู้คัดค้านที่ 3 มิได้รับโอนทรัพย์สินใดมาจากจำเลยในคดีอาญา ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นเจ้าของที่แท้จริง ซึ่งได้มาโดยสุจริต มิได้ต่อสู้เลยว่าในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามไว้ชั่วคราวตามที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติและคำสั่งไม่มีการพิจารณาว่าทรัพย์สินใดเกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างไร และไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินนั้น คณะกรรมการธุรกรรมจึงไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว และผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอคดีนี้ ที่ผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบจึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นในคำคัดค้าน และการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 85, 142 วรรคหนึ่ง, 185 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ส่วนข้อต่อสู้ตามคำคัดค้านเพิ่มเติมข้างต้น ผู้ร้องได้บรรยายมาในคำร้องแล้วว่า กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินฝากในบัญชีเงินฝากของธนาคารต่าง ๆ ของผู้คัดค้านทั้งสามเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะได้วินิจฉัยในปัญหาประการต่อไปว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามที่ถูกคณะกรรมการธุรกรรมหรือศาลสั่งยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราว เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดมูลฐาน ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นภริยา ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตร ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 51 วรรคสอง (เดิม) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับในขณะยื่นคำร้อง ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาทรัพย์สินตามคำร้อง ซึ่งประกอบด้วยทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ในลำดับที่ 3 ถึงที่ 7 และที่ 16 ถึงที่ 18 ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของรวม ในลำดับที่ 2 ที่ 8 และที่ 19 และทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ในลำดับที่ 9 ถึงที่ 14 ที่ 20 ถึงที่ 26 ที่ 28 และที่ 29 พร้อมดอกผล เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) (2)
of 4