คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เฉลิมชัย ศรีเลิศชัยพานิช

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 39 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.บริษัทฯ และความผิดทางแพ่ง การฟ้องที่ไม่ชัดเจนและข้อเท็จจริงที่ไม่ครบถ้วน
จำเลยที่ 6 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท น. จำเลยที่ 6 ย่อมมีสิทธิเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ได้เสมอไม่ว่าจะเป็นประชุมชนิดใดคราวใด แต่หากจำเลยที่ 6 มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติแล้ว จำเลยที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนด้วยในข้อนั้น ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1176 และ 1185 แห่ง ป.พ.พ. ดังนั้น การที่จำเลยที่ 6 ได้ออกเสียงลงคะแนนในกรณีดังกล่าว จึงมีผลเพียงทำให้มีข้อพิจารณาว่ามติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นมติพิเศษชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่หาได้เป็นการลวงว่าตนเป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 47
การกระทำความผิดตามมาตรา 42 และมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 ผู้กระทำความผิดจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้มีส่วนได้เสียในบริษัทขาดประโยชน์อันควรได้ แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดมิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้อย่างไรบ้าง จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลง หรือตัดทอนหลักประกันของบริษัทตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (1) นั้น หมายถึงหลักประกันที่บริษัทได้รับเข้ามา หาใช่ทรัพย์สินของบริษัทที่นำไปใช้เป็นหลักประกันแก่เจ้าหนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตามฟ้องข้อนี้จึงไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3531/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญาต้องระบุเจตนาพิเศษในการหลอกลวงเพื่อประโยชน์ทางการเงิน หากคำฟ้องขาดองค์ประกอบนี้ ศาลยกฟ้อง
ตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำเพื่อลวงให้ห้างหุ้นส่วน บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ ต้องระวางโทษ... ดังนั้น การกระทำความผิดฐานดังกล่าวผู้กระทำจะต้องมีมูลเหตุจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษ เพื่อลวงให้ห้างหุ้นส่วน บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ แต่โจทก์บรรยายคำฟ้องเพียงว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำหรือยินยอมให้กระทำในการจัดทำเอกสารเท็จหรือลงข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารของมูลนิธิเพื่อลวงให้กรรมการมูลนิธิและประชาชนเชื่อว่ามีการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิตามวันเวลา สถานที่ และรายละเอียดการประชุมจริง เพื่อแสดงให้เชื่อว่ามูลนิธิเป็นเจ้าของกิจการบ้านลุงสนิทของโจทก์ อันเป็นการทำให้โจทก์ในฐานะส่วนตัวและเป็นกรรมการของมูลนิธิได้รับความเสียหาย โดยคำฟ้องมิได้บรรยายว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษเพื่อลวงให้ห้างหุ้นส่วน บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้แต่ประการใด คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิด ตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 วรรคสอง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2308/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผูกพันตามบันทึกเรื่องทรัพย์สินหลังหย่า และอายุความของคดีเรียกร้องสิทธิ
บันทึกเรื่องทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่าระหว่าง ก. และโจทก์ระบุเรื่องทรัพย์สินชัดเจนว่า ข้อ 3.2 แมนชั่น เลขที่ 246/18 ฝ่ายหญิงยินยอมให้เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายชาย แต่มีเงื่อนไขข้อ 3.2.1. ว่าฝ่ายชายจะต้องจ่ายเงินจากรายได้ค่าเช่าให้ฝ่ายหญิงทุกวันที่ 5 ของเดือน ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไปตลอดชีวิตของฝ่ายหญิง และข้อ 3.2.2. ถ้าฝ่ายชายขายแมนชั่นต้องแบ่งเงินให้แก่ฝ่ายหญิงครึ่งหนึ่ง ข้อ 3.3 ฝ่ายชายจะแบ่งรายได้จากค่าเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 819 ปีละ 40,000 บาท โดยชำระ 2 งวด งวดละ 20,000 บาท ข้อ 3.4 ถ้าฝ่ายชายขายที่ดินได้จะแบ่งเงินให้ฝ่ายหญิงร้อยละ 10 ของรายได้สุทธิที่ได้จากการขายที่ดิน ข้อตกลงดังกล่าวทำให้เห็นว่าหาก ก. ต้องการให้โจทก์มีรายได้จากทรัพย์สินจนกว่า ก. จะถึงแก่ความตาย ย่อมสามารถระบุให้ชัดเจนได้ว่า ตลอดชีวิตของฝ่ายชาย การที่ ก. ระบุว่า จะต้องจ่ายเงินจากรายได้ค่าเช่าให้ฝ่ายหญิงตลอดชีวิตของฝ่ายหญิง แสดงให้เห็นว่า ก. ต้องการให้โจทก์มีรายได้เลี้ยงตัวเอง และหากมีการขายทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องแบ่งเงินให้ฝ่ายหญิง บันทึกเรื่องทรัพย์สินเป็นข้อตกลงที่ผูกพันทรัพย์สิน เมื่อจำเลยที่ 1 บุตร ก. เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทั้งสองรายการจาก ก. จึงต้องผูกพันตามบันทึกเรื่องทรัพย์สินดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามบันทึกเรื่องทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่า จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
ก. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนที่ ก. ถึงแก่ความตาย การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ก. ซึ่งเป็นบิดา เพื่อให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามบันทึกเรื่องทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่า มิได้ฟ้องคดีโดยใช้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ต่อเจ้ามรดกอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1151-1153/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลักทรัพย์โดยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์, ยักยอกทรัพย์, และการใช้บัตรโดยมิชอบ, ความผิดหลายกรรมต่างกัน
การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 26 ครั้ง แม้มีความมุ่งหมายเดียวคือเพื่อลักเอาเงินของโจทก์ร่วมไปจากบัญชี แต่เนื่องจากเงินในบัญชีมีจำนวนมาก ไม่อาจลักเอาไปเสียทีเดียวในครั้งเดียวได้ และการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 26 ครั้ง ได้กระทำต่างวันต่างเวลาและต่างสถานที่กัน มิได้กระทำต่อเนื่องกัน ทั้งยังมีโอกาสที่จะยับยั้งในแต่ละครั้งได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8659-8660/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟอกเงิน: ผู้รับโอนทรัพย์สินจากผู้กระทำผิด มีความเกี่ยวข้อง และไม่สามารถพิสูจน์ความสุจริต ศาลพิพากษาว่าทรัพย์สินนั้นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
ผู้คัดค้านที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้คัดค้านที่ 1 ในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยเหตุจากพฤติการณ์อันมีลักษณะที่เป็นการกระทำความผิดมูลฐานฉ้อโกงฐานเดียวกับที่กระทำมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2542 ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ก็เป็นผู้ไปดำเนินการขอปล่อยชั่วคราวผู้คัดค้านที่ 1 หลายครั้ง โดยเดินทางมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อขอประกันตัวผู้คัดค้านที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้คัดค้านที่ 3 มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นอย่างมาก ซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ารับโอนที่ดินมาโดยไม่สุจริตตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4320/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดิน: กรรมสิทธิ์ร่วม, ผู้รับโอนไม่มีสิทธิเกินผู้โอน, การคืนค่าขึ้นศาลเกิน
โจทก์ฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 7,925,895.90 บาท เมื่อที่ดินที่พิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกันและผลของการเพิกถอนก็เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แต่ในชั้นยื่นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองกลับยื่นอุทธรณ์แยกกัน โดยโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาประเมินคิดเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 6,793,625 บาท แต่จำเลยทั้งสองต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาตามทุนทรัพย์คนละ 7,925,895.90 บาท ดังนั้น ค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยทั้งสองเสียมาเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องชำระในกรณีที่ยื่นอุทธรณ์ร่วมกัน จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสองตามส่วนของค่าขึ้นศาลที่จำเลยแต่ละคนได้ชำระไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกหนี้จากการส่งมอบสินค้าชำรุดบกพร่อง ทำให้สินค้าสำเร็จรูปเสียหาย ศาลลดค่าเสียหายตามส่วน
การที่จำเลยส่งสินค้าประเภทกระป๋องและฝากระป๋องไม่เหมาะสมแก่การใช้บรรจุอาหารตามความมุ่งหมายของโจทก์ เป็นเหตุให้สินค้าประเภทอาหารทะเลบรรจุกระป๋องของโจทก์ที่ผลิตโดยใช้สินค้าประเภทกระป๋องและฝากระป๋องของจำเลยเกิดความเสียหายจากการกัดกร่อนของสนิมแลคเกอร์เคลือบพองและอื่น ๆ ย่อมถือได้ว่า จำเลยในฐานะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแต่การนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 ซึ่งการเรียกเอาค่าเสียหายนั้นได้แก่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ และเรียกค่าสินไหมทดแทนได้แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 เงินค่าเสียหายซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ของจำเลย ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์จ้างผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยปฏิเสธความรับผิด และค่าจัดเก็บสินค้าระหว่างที่มีข้อพิพาทระหว่างกัน เป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยในฐานะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้าและโอกาสสับสนของผู้บริโภคเป็นเหตุต้องห้ามการจดทะเบียน
ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าที่โอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด ได้จดทะเบียนไว้แล้วคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของเครื่องหมายการค้า ลักษณะเด่น และสำเนียงเรียกขานในเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนพิจารณาว่ารายการสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ทั้งต้องคำนึงถึงช่องทางการจำหน่ายสินค้าและกลุ่มผู้บริโภคสินค้านั้น ๆ เป็นสำคัญว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถแยกแยะเจ้าของสินค้า หรือแสดงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับเจ้าของสินค้าได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า OASIS ที่โอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น ต่างก็มีคำว่า OASIS เป็นสาระสำคัญหรือลักษณะเด่นเช่นเดียวกัน แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีรูปต้นมะพร้าวประดิษฐ์ประกอบอยู่ที่ด้านหลังด้วย แต่ก็เป็นเพียงภาคส่วนประกอบเท่านั้น สำหรับเสียงเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจเรียกขานได้ว่า โอเอซิส หรือโอเอซิส ต้นมะพร้าว ส่วนเครื่องหมายการค้าของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด อาจเรียกขานได้ว่า โอเอซิส นับได้ว่ามีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานคล้ายกันอย่างมาก ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งในส่วนนี้ แต่ความคล้ายกันดังกล่าวจะถึงขนาดทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาจากรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียน ช่องทางการจำหน่ายสินค้า และกลุ่มสาธารณชนผู้บริโภคสินค้าของโจทก์และผู้บริโภคสินค้าของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด เป็นสำคัญด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 25 รายการสินค้า เสื้อ (ยกเว้นเสื้อชั้นใน) เสื้อกีฬา กางเกง (ยกเว้นกางเกงกีฬา) กางเกงชั้นใน เข็มขัด รองเท้า (ยกเว้นรองเท้ากีฬา) เสื้อสำหรับเด็ก หมวก ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 790118 ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเครื่องแต่งกาย ส่วนเครื่องหมายการค้าของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วนั้นใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 18 รายการสินค้า หนังฟอกและหนังเทียม หีบเดินทางและกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าเดินทางขนาดเล็ก กระเป๋าสะพายนักเรียน กระเป๋าหนังใส่ชุดเครื่องใช้เดินทาง กระเป๋าใส่เครื่องสำอาง ถุงใส่ของทำด้วยหนัง กระเป๋าสะพาย กระเป๋าที่เปิดออกสองข้างที่มีสายรัด เครื่องสะพายหลัง กระเป๋าจ่ายของ กระเป๋าใส่ของใช้ชายหาด กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เอกสาร กระเป๋าใส่เงิน กระเป๋าใส่กุญแจ กระเป๋าใส่บัตรเครดิต กระเป๋าใส่บัตรธุรกิจ กระเป๋าใส่สตางค์ ร่มและร่มกันแดด ไม้เท้า ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค205612 ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้โดยการพกพาติดตัวหรือใช้เป็นส่วนประกอบเสริมกับเครื่องแต่งกาย จึงมีลักษณะการใช้ควบคู่หรืออยู่เคียงกับเครื่องแต่งกายของผู้บริโภคโดยทั่วไป แม้จะเป็นการจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าต่างจำพวกกัน แต่สินค้ามีลักษณะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันดังกล่าว ผู้บริโภคสินค้าก็เป็นกลุ่มเดียวกัน หากไม่ได้พิจารณาเครื่องหมายการค้าโดยละเอียดหรือไม่ได้นำเครื่องหมายการค้ามาพิจารณาเปรียบเทียบกัน หรือใช้แต่เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าในการเลือกซื้อสินค้า โดยไม่ได้สังเกตลักษณะของเครื่องหมายการค้าโดยตรงแล้ว ก็มีโอกาสที่จะสับสนในการเลือกสินค้าหรือแยกแยะเจ้าของสินค้าได้ ถือได้ว่าสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า OASIS ของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า อันต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงใหม่นอกคำฟ้อง และการไม่รับวินิจฉัยประเด็นใหม่ที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น
ฎีกาของโจทก์เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่มิได้ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ มีลักษณะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่เป็นไปโดยมุ่งประสงค์ให้นำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นข้อฎีกาที่มิชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะโจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2443/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดก คำฟ้องไม่สมบูรณ์
ท. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์มาแล้วประมาณ 18 ปี ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ท. และไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องครอบครองแทนทายาทคนอื่น โจทก์จึงไม่สามารถขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบได้
ท. ยกที่ดินให้จำเลยโดยมิได้จดทะเบียนการยกให้ แต่เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ ท. ยกที่ดินพิพาทให้ด้วยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แม้จำเลยครอบครองโดยเข้าใจผิดว่าที่ดินเป็นของจำเลยก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น
จำเลยไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ เนื่องจากเข้าใจว่ามารดาจำเลยเป็นทายาทแต่เพียงผู้เดียวและถึงแก่ความตายแล้ว ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องว่าโจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิในที่ดินดีกว่าจำเลย เมื่อที่ดินมิใช่ทรัพย์มรดกของ ท. ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่สุจริต
จำเลยให้การว่า ท. ยกที่ดินพิพาทให้และจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและสามารถอ่านเข้าใจเจตนาของจำเลย ไม่ใช่การบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนเองหรือขัดกันเอง ดังนั้น คำให้การจึงชัดแจ้ง
การวินิจฉัยคดีเมื่อศาลเห็นสมควรจะหยิบยกประเด็นข้อพิพาทข้อใดขึ้นวินิจฉัยก่อน ย่อมกระทำได้
เมื่อวินิจฉัยประเด็นข้อใดแล้วมีผลให้คดีเสร็จไปแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่าศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำฟ้องทั้งหมด
แม้คำฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อความว่าผู้เรียงพิมพ์และลายมือชื่อผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งดังกล่าวและได้ดำเนินกระบวนพิจารณากันมาจนเสร็จสิ้นถึงศาลฎีกาแล้ว ตามสำนวนปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้ง ด. เป็นทนายความ และ ด. ได้ลงชื่อเป็นผู้เรียงและพิมพ์ในคำแถลงขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง จึงพอที่จะฟังได้ว่า ด. เป็นผู้เรียงและพิมพ์คำฟ้อง
of 4