คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ทวีศักดิ์ ทองภักดี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 119 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6856/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษปรับในความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร: การตีความบทบัญญัติและขอบเขตการลงโทษปรับต่อความผิด
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ซึ่งแม้มาตรา 27 ทวิ จะมิได้บัญญัติความเจาะจงลงไปว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับ มาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ดังนั้น ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ นั่นเอง ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตัวคนละสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว จึงเป็นการปรับจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เกินกว่าสี่เท่า ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5868/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำเนาอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่งผลให้การพิจารณาคดีไม่ชอบ
การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง อันมีมาตรา 198 บัญญัติว่า การยื่นอุทธรณ์ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น มาตรา 200 บัญญัติว่า ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ และมาตรา 201 บัญญัติว่า เมื่อศาลส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ หรือได้รับแก้อุทธรณ์แล้ว หรือพ้นกำหนดแก้อุทธรณ์แล้ว ให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยนั้น พนักงานเดินหมายได้นำสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ไปส่งให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยซึ่งตรงตามภูมิลำเนาของจำเลยในคำฟ้องแต่ปรากฏจากรายงานการเดินหมายว่าไม่สามารถส่งหมายให้แก่จำเลยได้เนื่องจากไม่พบบ้านของจำเลย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ปิดประกาศหน้าศาล กรณีเป็นเรื่องศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ปิดประกาศหน้าศาลก็เป็นคำสั่งที่เกินเลยไม่เป็นผลให้การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยเป็นไปโดยชอบ โดยปรากฏต่อมาว่าพนักงานเดินหมายนำหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไปส่งให้แก่จำเลยกลับปรากฏจากรายงานเจ้าหน้าที่ว่าพบบ้านของจำเลยตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในฟ้องและส่งได้โดยมีผู้รับหมายนัดไว้แทน ดังนั้น การส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยไม่ได้เนื่องจากหาบ้านของจำเลยไม่พบดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 201 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาคดีโดยมิได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยเพื่อแก้นั้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง: เสนอผลประโยชน์-ใส่ร้ายคู่แข่งเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำเลยซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุ และ ส. ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุ จำเลยได้ปราศรัยหาเสียงว่า "จะตั้งทนายประจำทีมและจะดำเนินการช่วยเหลือโดยการประกันตัวให้กับทุกคนตลอด 24 ชั่วโมง" คำปราศรัยของจำเลยมุ่งประสงค์จะช่วยเหลือในการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาล เพื่อให้ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกควบคุมหรือขังได้รับการปล่อยชั่วคราว นอกจากที่ตามปกติผู้ขอประกันจะต้องนำหลักทรัพย์ ซึ่งอาจต้องเสียเงินเช่าหลักทรัพย์หรือจัดซื้อกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ ดังนั้น การเสนอว่าจะใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุหรือตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับจำเลยเป็นหลักประกันในการยื่นคำร้องปล่อยชั่วคราว ทั้งที่มิใช่งานในหน้าที่ตามกฎหมายของนายกเทศมนตรี จึงมีลักษณะเป็นการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย หาใช่เป็นเพียงนโยบายของกลุ่มของจำเลยที่จะให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 57 (1) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 การปราศรัยหาเสียงของจำเลยว่า "นายกมีหน้าที่อะไร มีหน้าที่อย่าให้ใครมาซื้อซองเพราะซื้อซองฮั้วไม่ได้ ซอย 5 บ้านคลองปอมไม่ได้ทำเพราะไม่มีฮั้ว" คำปราศรัยของจำเลยเป็นการมุ่งประสงค์ให้ผู้ฟังเข้าใจว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุ แม้จะไม่ได้ระบุชื่อ แต่พอเข้าใจได้ว่าคือ ส. ผู้สมัครรับเลือกตั้งแข่งกับจำเลย ไม่ดำเนินการให้มีการก่อสร้างถนนมุสลิมซอย 5 บ้านคลองปอม เพราะไม่มีการฮั้ว มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต จึงมีลักษณะเป็นการใส่ร้ายหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องการประมูลก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กถนนมุสลิม ซอย 5 เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย อันเป็นความผิดตามมาตรา 57 (5) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 และการปราศรัยของจำเลยที่ว่า "เรื่องส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรม ถ้าผมได้จัดงานมั่นใจไหมครับ ถ้าผมจัดงานหรอยไม่หรอย (ดีไม่ดี) ชัวร์ไหมครับ เวทีผมไม่คิดเบี้ยเลย (ไม่คิดเงินเลย) ถ้าผมไปจัดงานให้ถ้ามีโอกาสก็จะจัดให้อลังการ 5 วัน 5 คืน 10 วัน 10 คืน โดยที่ทางวัดไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายไหร (อะไร) เลย" คำปราศรัยของจำเลยมีความหมายว่า จำเลยซึ่งมีอาชีพในการจัดเวทีและเครื่องเสียง ถ้าจำเลยเป็นผู้จัดงานส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรม จำเลยจะจัดงานให้ยิ่งใหญ่ โดยจำเลยไม่คิดค่าเวที จึงเป็นการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่วัดที่เป็นเจ้าภาพจัดงานส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรม เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5585/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อไม่ใช่การอำพรางการกู้เงิน แม้ผู้เช่าซื้อต้องการเงินสด
ส. และ ว. ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อและรับสร้อยคอทองคำรูปพรรณด้วยความสมัครใจ แม้ความประสงค์เดิมของ ส. และ ว. คือต้องการกู้ยืมเงิน แต่เมื่อ ส. และ ว. ยินยอมทำสัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นวิธีทางการค้าของบริษัท จ. ย่อมถือว่า ส. และ ว. เปลี่ยนเจตนาเดิมที่ต้องการกู้ยืมเงินมายินยอมผูกพันตนตามสัญญาเช่าซื้อโดยสมัครใจ นอกจากนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส. และ ว. ต่างนำสร้อยคอทองคำรูปพรรณไปขายได้เงินไม่เท่ากัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ทราบล่วงหน้าว่า ส. และ ว. จะขายสร้อยคอทองคำรูปพรรณหรือไม่ หรือหากขายจะได้เงินเพียงใด พฤติการณ์จึงฟังได้เพียงว่า จำเลยทั้งสองชักจูง ส. และ ว. ทำสัญญาเช่าซื้อสร้อยคอทองคำรูปพรรณจริง เพราะหากเป็นการให้กู้ยืมย่อมต้องทราบจำนวนเงินกู้ยืมที่แน่นอนขณะทำสัญญา นอกจากนี้หากจำเลยทั้งสองต้องการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางการกู้เงิน ก็ย่อมสามารถมอบเงินกู้ให้ ส. และ ว. ได้ทันที โดยไม่จำต้องส่งมอบสร้อยคอทองคำรูปพรรณให้ ส. และ ว. เพื่อนำไปขายอีก พฤติการณ์แห่งคดีไม่อาจฟังว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับพวกให้กู้เงินโดยทำสัญญาเช่าซื้ออันเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินเพื่อเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5111/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดประกอบวิชาชีพเวชกรรมและสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดฐานขายยา
จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตมีเจตนาบำบัดรักษาโรคให้แก่ น. ผู้ทำแท้ง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์เป็นเงินค่ายาและค่าบริการทำแท้งจาก น. การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมีเจตนาจัดสถานที่เพื่อการตรวจรักษาโรคโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมีเจตนาเพื่อขายยาแผนปัจจุบัน และร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันจำพวกแอนติโปรเจสเตอโรนที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยามีเจตนาขายยาแผนปัจจุบันที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดทั้งสี่ฐานนี้ จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาแยกต่างหากจากกัน มิได้มีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลที่จะขายยาให้แก่ น. การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม การร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับการร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันจำพวกแอนติโปรเจสเตอโรนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยานั้น ปรากฏว่ายาแผนปัจจุบันจำพวกแอนติโปรเจสเตอโรนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นจำนวนเดียวกันยาแผนปัจจุบันที่จำเลยทั้งสองร่วมกันขายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันจำพวกแอนติโปรเจสเตอโรนที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จึงเป็นกรรมเดียวกัน ซึ่งต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดรวมสามกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5025/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีถึงที่สุดหลังศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีคำฟ้องอุทธรณ์ไม่ชอบ
การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 215 ประกอบมาตรา 158 (7) การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีศาลฎีกาได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 แล้ว แม้จะไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายอันศาลฎีกาจะพึงรับวินิจฉัยหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4395/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีอาญาขาดอายุความไม่กระทบอำนาจฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่อง และคำฟ้องไม่เคลือบคลุม
ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้คดีอาญายังไม่ขาดอายุความ แต่เมื่อศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องมีคำสั่งว่าคดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดี และได้ตัวจำเลยมาพิจารณา ปรากฏว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ในกรณีเช่นนี้ แม้คดีขาดอายุความจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ก็ตาม แต่ก็หามีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องคดีส่วนแพ่งของโจทก์ไม่ คดีส่วนแพ่งจึงยังต้องดำเนินคดีต่อไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้วพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งต่อไปนั้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4283/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบสวนที่ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
ตามหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มีหลักการว่า ผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่ง มิใช่อาชญากรปกติ พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงกำหนดให้มีกระบวนการคัดแยกผู้เสพยาเสพติดไปดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพแทนการที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนเสนอพนักงานอัยการฟ้องศาลเพื่อลงโทษผู้นั้นเหมือนอย่างผู้กระทำความผิดอื่น ๆ และเมื่อผู้เสพยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูสมรรถภาพ และผลการฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นที่พอใจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพแล้ว มาตรา 33 บัญญัติว่า "...ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 และให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพมีคำสั่งปล่อยตัวผู้นั้นไป..." แต่ถ้าผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพยังไม่เป็นที่พอใจ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไป โดยมีมาตรา 19 กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ซึ่งจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่า ต้องเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด จึงเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ได้บังคับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 22 โดยให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ตรวจวินิจฉัย ขั้นตอนดังกล่าวจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แต่ความปรากฏตามฎีกาของโจทก์โดยจำเลยไม่ได้แก้ฎีกาให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าพฤติการณ์เป็นภัยร้ายแรง ไม่อนุญาต ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า คดีนี้ไม่ได้มีการส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดเพื่อให้จำเลยได้รับประโยชน์ในการที่จะได้รับการพิจารณาเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อนย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3865/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบถามการรับสารภาพฐานความผิด: จำเป็นต้องระบุฐานความผิดที่จำเลยรับสารภาพเพื่อความถูกต้องของกระบวนการยุติธรรม
คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องคดีโจทก์ไว้พิจารณา ศาลชั้นต้นมีหน้าที่อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและถามว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้างตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่ง ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นก็ต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยในฐานความผิดนั้น แต่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามให้ชัดแจ้งกลับพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยให้การรับสารภาพในฐานความผิดดังกล่าว การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบ และมีผลให้กระบวนพิจารณาถัดมาตลอดจนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่ชอบไปด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สอบคำให้การจำเลยใหม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: กลุ่มออมทรัพย์มิได้จดทะเบียน ไม่เป็นนิติบุคคล/บุคคลธรรมดา จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ผู้เป็นคู่ความในคดีต้องเป็นบุคคลซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล ได้แก่ (1) พนักงานอัยการ (2) ผู้เสียหาย และคำว่าบุคคลนั้น ตาม ป.พ.พ. ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์มีวัตถุประสงค์เก็บรวบรวมเงินจากสมาชิก และให้สมาชิกกู้ยืมจากกลุ่มออมทรัพย์ อันมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ เมื่อมิได้จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1015 โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคล และตามคำฟ้องที่ระบุว่าคณะกรรมการและสมาชิก โจทก์มีมติให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว โจทก์ย่อมมิใช่บุคคลธรรมดาเช่นกัน ไม่อาจเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องทั้งในคดีส่วนอาญา และคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
of 12