พบผลลัพธ์ทั้งหมด 119 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6850/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เหตุสมควรยื่นคำร้องริบทรัพย์หลังศาลตัดสิน: ความล่าช้าในการตรวจสอบทรัพย์สินเป็นเหตุสมควรได้
เหตุอันสมควรที่แสดงได้ว่าผู้ร้องไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27 นั้น มิใช่เหตุที่เกิดจากผู้ร้องฝ่ายเดียว หากมีเหตุอันสมควรเกิดจากความยุ่งยากและความซับซ้อนในการตรวจสอบทรัพย์สินของพนักงานเจ้าหน้าที่ก็นับว่ามีเหตุอันสมควรเช่นกัน การที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสี่ไว้ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2546 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้มีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2546 แต่เพิ่งมีหนังสือถึงผู้ร้องให้ยื่นคำร้องขอริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสี่เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2548 ทั้ง ๆ ที่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่ถูกตรวจสอบมีจำนวนไม่มาก ส่วนมากเป็นสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างมูลค่าไม่สูงมากหรือมีความซับซ้อนยากแก่การตรวจสอบและอยู่ในราชอาณาจักรสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย กระบวนการตรวจสอบนับตั้งแต่ที่มีการยึดทรัพย์จนถึงวันที่แจ้งให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลใช้เวลากว่าสองปี นับว่าเป็นเวลานานเกินสมควร จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุอันสมควรที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6360/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฎีกาในคดีเยาวชน: หลักเกณฑ์การพิจารณาคำร้องขอให้ฎีกาเมื่อศาลล่างมีคำสั่งห้ามฎีกา
หลักเกณฑ์การฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 (2) ประกอบมาตรา 183 ต้องแยกพิจารณาว่าเป็นการฎีกาเฉพาะส่วนเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กหรือฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานว่าไม่ได้กระทำผิด หากฎีกาเฉพาะส่วนเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต้องห้ามฎีกาเว้นแต่กำหนดเวลาฝึกอบรมเกินกว่าสามปี หรือกำหนดเวลาฝึกอบรมเป็นขั้นต่ำขั้นสูงและขั้นสูงเกินกว่าสามปี หากฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิด ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.อ. ซึ่งในกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงกำหนดให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมซึ่งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิเคราะห์ว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาได้ตามมาตรา 221 ซึ่งผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดหรือไม่เท่านั้น การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและยกคำร้อง จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยยกคำสั่งของศาลชั้นต้น และมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4713/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีอาญาแทนผู้เสียหาย: ผู้สืบสันดานและผู้แทนโดยชอบธรรม
โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบโดยชัดแจ้งว่า บ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ว. ผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน คือ ค. ผู้เยาว์ ดังนั้น ค. บุตรของ ว. ผู้ที่ถูกทำร้ายถึงตายถือเป็นผู้สืบสันดาน เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนผู้ตายได้ ไม่ว่าบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสหรือไม่ก็ตาม และเห็นว่า คดีนี้ ค. ผู้เยาว์ เป็นผู้มีมารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมตามกฎหมาย บ. มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมจึงมีอำนาจจัดการแทน ค. ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังนั้น บ. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของ ค. ผู้เยาว์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องเพิกถอนคำพิพากษาบุตรชอบด้วยกฎหมาย - สิทธิมรดก - การโต้แย้งสิทธิ
คำพิพากษาในคดีก่อนที่พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547, 1557 (3) เดิม เมื่อไม่มีบทกฎหมายสารบัญญัติให้สิทธิแก่บุคคลภายนอกที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และไม่เข้าข้อยกเว้นกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ผูกพันบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผลของการที่ไม่อาจเพิกถอนคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทำให้จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับแรกมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทลำดับถัดลงไปย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคแรก จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3089/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงโดยร่วมกระทำความผิด มีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กนั้นไม่ยินยอม
การที่ บ. ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แล้วเรียกจำเลยเข้าไปในห้อง ส่วน บ. ออกจากห้องไปรอที่รถ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา จำเลยก็เรียกให้ บ. เข้าไปช่วยจับหัวไหล่ผู้เสียหายที่ 2 ไว้เพื่อข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ได้นั้น เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยกับ บ. คบคิดหรือนัดแนะกันมาแต่ต้น ถือว่าได้กระทำชำเราโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กนั้นไม่ยินยอมแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 762/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การปรับบทลงโทษตาม พ.ร.บ.สถานบริการและการกำหนดโทษที่เหมาะสมตามบทกฎหมายอื่น
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดโทษปรับแก่จำเลยก่อนลดโทษเป็นเงิน 4,000 บาท เป็นการวางโทษต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของความผิดตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 28/2 วรรคสอง เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 28/2 โดยไม่ระบุวรรคให้ชัดเจน แต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 อ้างว่าเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ย่อมแสดงว่าศาลชั้นต้นลงโทษตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 28/2 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะอาวุธที่จำเลยพาติดตัวไปเป็นอาวุธปืน เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 28/2 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด โดยให้ยกโทษจำคุกตาม ป.อ. มาตรา 55 และให้ปรับ 4,000 บาท ก่อนลดโทษนั้น เป็นเพียงการปรับบทลงโทษตามมาตรา 28/2 วรรคสอง ให้ถูกต้องเท่านั้น แต่มิได้แก้ไขโทษให้สูงขึ้นด้วย เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในส่วนที่พิพากษาให้ยกโทษจำคุก และให้ปรับ 2,000 บาท จึงเป็นการกำหนดโทษให้เหมาะสมสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่ายังไม่สมควรลงโทษจำคุกจำเลยเท่านั้น หาใช่ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดโทษเช่นว่านั้นสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 28/2 วรรคสอง ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 215/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: พฤติการณ์ต้องแสดงถึงเจตนาและพฤติการณ์ร่วมกัน
ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของสายลับโทรถึงจำเลยที่ 2 ให้นำ 3,4-เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน 4 เม็ด มาส่งให้จำเลยที่ 1 เพื่อจำหน่ายแก่สายลับ จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบ 3,4-เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้สายลับและรับเงินจากสายลับก็เพื่อหักเอากำไรไว้ก่อน ก่อนที่จะชำระแก่จำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 มี 3,4-เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน 8 เม็ด และส่งให้จำเลยที่ 1 เพื่อจำหน่ายแก่สายลับ 4 เม็ด แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยมีพฤติการณ์ร่วมกันจำหน่าย 3,4-เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนมาก่อน จึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ครอบครอง 3,4-เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน 8 เม็ด เพื่อจำหน่ายอีกฐานหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15087/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การส่งมอบยาเสพติดระหว่างผู้ร่วมกระทำผิด และอำนาจศาลในการลงโทษฐานครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้ฟ้องไม่ตรง
จำเลยมอบเมทแอมเฟตามีนให้ อ. นำไปจำหน่ายเป็นการส่งมอบระหว่างผู้กระทำผิดด้วยกันไม่ถือเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ อ. แต่การที่จำเลยมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ อ. เพื่อนำไปจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นไม่ใช่การมอบให้ในลักษณะเด็ดขาดแต่เป็นการมอบให้ในลักษณะที่จำเลยกับ อ. ยังคงร่วมกันครอบครองเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวอยู่ แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวมา แต่เมื่อพิจารณาได้ความเช่นนั้น จึงต้องถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้องในรายละเอียด ทั้งจำเลยนำสืบอ้างฐานที่อยู่จึงไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่ได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นพิจารณาเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง