พบผลลัพธ์ทั้งหมด 119 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4083/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสละหลักทรัพย์ในคดีล้มละลาย และหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์เมื่อไม่มีการขายทอดตลาด
การที่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อย่างเจ้าหนี้มีประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) คือ ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ซึ่งผู้ร้องก็ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์หลักประกันคือที่ดินโฉนดเลขที่ 10576 ไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 12/2542 ของศาลจังหวัดชลบุรี อันเป็นไปตามความประสงค์ในคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้แล้ว การที่ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอสละหลักทรัพย์คือที่ดินแปลงดังกล่าวก็เป็นเพราะที่ดินมีสภาพเป็นถนน ประกาศขายทอดตลาดหลายครั้งแต่ขายทอดตลาดไม่ได้ เห็นได้ถึงความประสงค์ที่แท้จริงของผู้ร้องว่าต้องการที่จะไม่ดำเนินการกับที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป ซึ่งก็หมายถึงถอนการยึดทรัพย์หลักประกันนั่นเอง ประกอบกับที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแล้วเห็นว่าการจะรวบรวมที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วนำออกขายทอดตลาดย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแก่กองทรัพย์สิน มีแต่จะก่อภาระแก่กองทรัพย์สินจึงไม่ประสงค์จะดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าว กล่าวคือบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 145 (1) และ (3) โดยการสละสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้ร้องย่อมต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี หาใช่เป็นภาระของกองทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3520/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิ่มโทษทางอาญา: การรับสารภาพเฉพาะความผิดตามฟ้อง ไม่ครอบคลุมประวัติโทษเดิม โจทก์ต้องนำสืบประวัติโทษเอง
ข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลจังหวัดระยอง เป็นข้อเท็จจริงต่างหากจากข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏ คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกข้อกล่าวหาตามบันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพ คำพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 20 ฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นการรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องเท่านั้น มิได้ให้การรับด้วยว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การรับในประเด็นดังกล่าว และที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีดังกล่าวขึ้นมา ก็เป็นการหยิบยกขึ้นมาเพื่อประกอบดุลพินิจในการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่เท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยรับในเรื่องการเพิ่มโทษ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏเช่นนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษตามคดีอาญาข้างต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3148/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบโทรศัพท์มือถือที่ใช้ในการติดต่อส่งมอบยาเสพติด แม้เป็นพยานบอกเล่า แต่มีเหตุผลเชื่อได้ว่าใช้ในการกระทำผิด
ดาบตำรวจ ศ. ผู้ร่วมจับกุมเบิกความว่า จำเลยรับว่าใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อในการขนส่งเมทแอมเฟตามีน และจำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่า ชายที่ให้จำเลยขนเมทแอมเฟตามีนเป็นคนมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางให้จำเลยใช้โดยให้รับสายอย่างเดียว แม้คำรับและคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมที่จำเลยมีหน้าที่ขับรถนำเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากไปส่งให้แก่ผู้รับ เชื่อว่าผู้ว่าจ้างต้องมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางให้จำเลยไว้ใช้ติดต่อในการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางในการติดต่อส่งมอบเมทแอมเฟตามีน จึงต้องริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2507/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา/ละเมิดที่ไม่สามารถกำหนดจำนวนแน่นอน ไม่เป็นเหตุฟ้องล้มละลาย
การกระทำของจำเลยจะเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือตัวแทนและกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่าตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กำหนดค่าเสียหายกรณีจำเลยกระทำการเช่นนี้ไว้เป็นจำนวนที่แน่นอน และการกระทำละเมิดของจำเลยต่อโจทก์ โจทก์ก็มิได้ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด แม้โจทก์จะดำเนินการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาซื้อขายจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. และหุ้นส่วนผู้จัดการ ลูกค้าของโจทก์ที่ซื้อสินค้าไปเกินวงเงินสินเชื่อตามที่จำเลยได้อนุมัติและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้บุคคลดังกล่าวชำระเงินแก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้ถูกฟ้องในคดีแพ่งดังกล่าวด้วย จะนำจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาเป็นฐานคำนวณให้จำเลยรับผิดหาได้ไม่ เพราะกรณียังไม่แน่นอนว่าโจทก์จะบังคับคดีแก่ลูกค้าของโจทก์ภายใน 10 ปี ได้เงินชำระหนี้เพียงใดหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือตัวแทนและมูลละเมิด อันเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1964/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คดีถึงที่สุดเมื่อศาลฎีกายกข้อฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้มีการยื่นฎีกา
คดีนี้จำเลยยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยแล้วเห็นว่าฎีกาของจำเลยไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยนั้นเป็นการไม่ชอบ และมีคำพิพากษายกฎีกาของจำเลย ถือได้ว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยแล้วว่าเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง การที่ศาลฎีกายกฎีกาของจำเลยจึงมิใช่เป็นเพียงแบบของการจัดทำคำพิพากษาของศาล เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 คดีของจำเลยจึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมสิทธิ์ที่ดินก่อนสมรส: สินส่วนตัว/มรดก, การจัดการมรดก, การปิดบังทรัพย์มรดก
การนำสืบพยานบุคคลถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าเพราะเหตุใดจึงมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน ไม่ใช่การนำสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง
ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้ระบุที่ดินอีก 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง
ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้ระบุที่ดินอีก 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแบ่งมรดก สินส่วนตัว สินสมรส การปิดบังทรัพย์มรดก และสิทธิในการได้รับส่วนแบ่ง
การนำสืบพยานบุคคลถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าเพราะเหตุใดจึงมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน ไม่ใช่การนำสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
การที่ผู้ตายและจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 พร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายและจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของผู้ตายและจำเลยมีอยู่ก่อนสมรสจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายและจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายและจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายและจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายและจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง
ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้ระบุที่ดินอีก 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกจำกัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
การที่ผู้ตายและจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 พร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายและจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของผู้ตายและจำเลยมีอยู่ก่อนสมรสจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายและจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายและจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายและจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายและจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง
ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้ระบุที่ดินอีก 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกจำกัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1194/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ภาระจำยอมสิ้นผลเพราะมิได้ใช้สิทธิเกิน 10 ปี และโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง บัญญัติว่า "...สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว"นั้น หมายความถึงกรณีที่บุคคลได้มาโดยสุจริตซึ่งทรัพยสิทธิอันเดียวกับทรัพยสิทธิที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น กรณีตามที่โจทก์อ้างเป็นการได้สิทธิประเภทกรรมสิทธิ์ในที่ดินสามยทรัพย์ ส่วนภาระจำยอมเป็นสิทธิในประเภทรอนสิทธิจึงมิใช่การโต้เถียงกันในเรื่องการได้สิทธิในทรัพยสิทธิประเภทเดียวกับสิทธิของบุคคลภายนอกที่ยังไม่จดทะเบียน แต่เป็นกรณีที่มีนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของผู้ขายเดิมอันเป็นสามยทรัพย์ เมื่อผู้ขายเดิมได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นสามยทรัพย์แก่โจทก์แล้ว ภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ ตามป.พ.พ. มาตรา 1393 วรรคหนึ่ง ซึ่งภาระจำยอมจะสิ้นไปก็แต่เมื่อภาระจำยอมหรือสามยทรัพย์สลายไปทั้งหมดหรือมิได้ใช้สิบปี ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1397 และ 1399 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าภาระจำยอมได้สิ้นไปแล้วเพราะมิได้ใช้สิบปี จำเลยจึงมีสิทธิฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินอันเป็นสามยทรัพย์ จดทะเบียนปลอดภาระจำยอมในที่ดินพิพาทได้ และโจทก์จะยกการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต เป็นข้อต่อสู้เพื่อไม่ให้ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทสิ้นไปหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1186/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การส่งหมายเรียกคดีมโนสาเร่ด้วยวิธีปิดหมายต้องรอ 15 วันก่อนมีคำสั่งขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยยื่นคำร้องว่า การส่งหมายของพนักงานเดินหมายด้วยวิธีปิดหมาย กฎหมายกำหนดให้ระยะเวลามากขึ้นเพิ่มเติมออกไปอีก 15 วัน เมื่อเจ้าพนักงานส่งหมายเรียกคดีมโนสาเร่ให้แก่จำเลยโดยวิธีการปิดหมายวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 กรณีจึงต้องให้ระยะเวลาแก่จำเลยสามารถยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 ตามที่ระบุในหมายเรียก ศาลมีคำสั่งให้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยให้โจทก์นำพยานเข้าสืบไปฝ่ายเดียว และรอฟังคำพิพากษาในวันดังกล่าว เท่ากับจำเลยอ้างว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการส่งคำคู่ความ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 มิใช่คำร้องเพื่อขอใช้สิทธิ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี จัตวา และเบญจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1034/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรง การลงมติไม่มีอำนาจหน้าที่ ไม่เป็นความผิด ม.157
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบด้วยเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต ถ้าไม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว ขณะเกิดเหตุอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรี เป็นอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 30 จำเลยทั้งหกมีอำนาจตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมิได้กำหนดให้จำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง การที่จำเลยทั้งหกมีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรีแล้วมีมติว่า ให้ส่งตัวโจทก์คืนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและให้แต่งตั้งหัวหน้างานสืบสวนสอบสวนคนใหม่แทนโจทก์ จำเลยทั้งหกกระทำไปโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ ทั้งไม่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ทำหนังสือขอส่งตัวโจทก์คืนไปยังเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการมีคำสั่งเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าวอย่างไร การที่โจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็เป็นเวลาตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2548 ก่อนที่จะมีมติดังกล่าว ส่วนที่โจทก์ได้รับคำสั่งให้ช่วยราชการต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ตามคำสั่งของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยไม่ปรากฏว่าการมีคำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการลงมติของจำเลยทั้งหกที่ให้ส่งตัวโจทก์คืน การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงหาใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 แต่อย่างใด