คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 144

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 533 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5991/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรื้อฟื้นคดีอาญาซ้ำหลังคำสั่งถึงที่สุด และการไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยคำร้องซ้ำ
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ยกคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของผู้ร้องถึงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาให้ผู้ร้องฟัง ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 วรรคสอง, 18 และ ป.วิ.พ. มาตรา 147 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่ผู้ร้องยังคงยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่เป็นครั้งที่สอง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำร้อง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มาตรา 18 ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 40 (7) ก็เพื่อให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ที่ผู้ร้องยื่นครั้งที่สองและส่งสำนวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อให้วินิจฉัยคำร้องดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องเพราะคดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ไม่มีอำนาจที่จะรับวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4768/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและผลผูกพันตามคำพิพากษาในคดีเกี่ยวพันกัน
คดีนี้และคดีก่อนมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกันว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา เมื่อคดีก่อนศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้แล้ว คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 แต่คดีก่อนยังไม่ถึงที่สุด หากในชั้นที่สุดศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยคดีนี้เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา ผลของคำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันทั้งโจทก์และจำเลยในคดีนี้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทำให้คดีนี้ยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องชำระค่าก่อสร้างงวดที่ 7 ถึง 9 แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด จึงควรรอฟังผลคดีดังกล่าวให้ถึงที่สุดเสียก่อนแล้วพิพากษาคดีนี้ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3123/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำหรือไม่: ประเด็นกรรมสิทธิ์ที่ดินต่างกัน แม้คู่ความเกี่ยวเนื่องกัน ไม่ถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
คดีก่อน จำเลยฟ้อง ว. เป็นจำเลย อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ว. ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของ ว. โดยครอบครองต่อจาก ตา ยาย และบิดาของ ว. คือโจทก์ในคดีนี้ ประเด็นข้อพิพาทในคดีดังกล่าวจึงมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือไม่ แต่ในคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าที่ดินเป็นของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน ทั้งคู่ความในคดีก่อนกับคดีนี้เป็นคนละคนกัน ว. เป็นผู้สืบสิทธิจากโจทก์ คำพิพากษาในคดีก่อนย่อมไม่ผูกพันโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการซ้ำ: ศาลฎีกาวินิจฉัยการยื่นคำร้องซ้ำเดิมเป็นกระบวนการซ้ำ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติในเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 144 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.52/2553 ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สิน และอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (7) และ (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนช่องทางในการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้อ้างว่าจะดำเนินการโดยการปรับโครงสร้างหนี้ และหาผู้ร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการ "จูเมร่า ไพรเวท ไอส์แลนด์ ภูเก็ต" ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานที่ลูกหนี้นำสืบมาไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและกรณีมีเหตุอันสมควรและมีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เนื่องจากพยานหลักฐานของลูกหนี้ไม่น่าเชื่อถือว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สิน ในขณะที่ช่องทางหลักในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ศาลล้มละลายกลาง เห็นว่า ปัญหาในการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนาโครงการ "จูเมร่า ไพรเวท ไอส์แลนด์ ภูเก็ต" ของลูกหนี้ไม่ได้มีแต่ปัญหาการไม่ชำระหนี้หรือปัญหาในการรวบรวมและจัดการบริหารทรัพย์สินของลูกหนี้ แต่ปัญหาสำคัญจริง ๆ เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจของลูกหนี้และกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องการโอนหุ้นของบริษัทลูกหนี้และบริษัทในเครือที่มีเรื่องฟ้องร้องกันหลายคดี และข้อพิพาทเหล่านี้เป็นข้อพิพาทที่อยู่นอกเหนือกระบวนการของกฎหมายล้มละลาย จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอ ส่วนคดีนี้ผู้ร้องขอทั้งสองนำเสนองบดุลของลูกหนี้ที่อ้างว่าจัดทำโดยผู้สอบบัญชี และอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (7) และ (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเสนอช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ ด้วยวิธีการอาจปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นโดยการเพิ่มทุน หาผู้ร่วมลงทุนใหม่ กู้เงิน ปรับรูปแบบโครงการโดยจะเข้าเจรจากับโรงแรมจูเมร่า เกี่ยวกับสัญญาบริหารงานโรงแรม เพื่อปรับเปลี่ยนขั้นตอนการก่อสร้างและขนาดของโรงแรม ยื่นขออนุญาตส่งเสริมการลงทุน หาคนกลางมาเป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารชั่วคราวเพื่อดูแลกิจการของลูกหนี้แทนกรรมการลูกหนี้ที่มีข้อขัดแย้งกันอยู่โดยเสนอบริษัท น. เป็นผู้ทำแผน ซึ่งในการพิจารณาคดีนี้ศาลยังคงต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สินหรือไม่ ทั้งการพิจารณานอกจากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายแล้วก็ยังต้องพิจารณางบดุลและพิจารณาการประเมินราคาทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อเทียบกับหนี้สินเหมือนในคดีก่อน ส่วนช่องทางในการฟื้นฟูกิจการที่ผู้ร้องขอที่ 2 เสนอมาก็เป็นช่องทางที่สาระสำคัญหรือหลักการไม่ได้แตกต่างไปจากที่ศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัย ไว้แล้วในคดีก่อนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจของลูกหนี้ ปัญหาเรื่องโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจของลูกหนี้ ข้อขัดแย้งของกรรมการและผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.52/2553 ตาม ป.วิ.พ. 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2046/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีจัดการมรดก: อำนาจศาลในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายและการดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำ
ป.วิ.พ. มาตรา 24 มิใช่บทบังคับให้ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำขอของคู่ความทุกเรื่อง ถ้าเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอหรือคดีจำเป็นต้องดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นมีอำนาจใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งให้รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษาได้
ในการพิจารณาคำร้องขอของผู้ร้องครั้งแรกในศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีและประเด็นในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นครั้งแรกเป็นเรื่องผู้ร้องเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนประเด็นครั้งหลังเป็นเรื่องสมควรถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ว่า เมื่อมีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ เมื่อผู้คัดค้านร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอ้างว่าพินัยกรรมปลอมแต่ผู้ร้องคัดค้านคำร้องขอของผู้คัดค้าน ดังนี้ คำร้องขอของผู้คัดค้านและคำคัดค้านของผู้ร้อง จึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ซึ่งแตกต่างจากประเด็นในการพิจารณาครั้งแรก จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1634-1635/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน-กรรมสิทธิ์ที่ดิน: คำร้องสอดเป็นฟ้องซ้อนหากประเด็นพิพาทซ้ำกับคดีเดิม และการพิจารณาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องพิจารณาจากสัญญา
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงที่พิพาท และมีคำขอให้โจทก์โอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวคืนให้ผู้ร้องสอด เป็นการร้องสอดเข้ามาเพื่อเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) เพื่อต่อสู้คดีกับโจทก์ ในทำนองเดียวกับที่ผู้ร้องสอดได้ฟ้องโจทก์กับพวกไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 48/2554 ของศาลชั้นต้น แม้ในคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่ แต่ก็มีประเด็นพิพาทเช่นเดียวกับที่ผู้ร้องสอดได้ฟ้องโจทก์กับพวกไว้ในคดีดังกล่าวว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่พิพาทหรือไม่ คำร้องสอดของผู้ร้องสอดถือเป็นคำฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องในเรื่องเดียวกัน ผู้ร้องสอดจะยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ไม่ได้ เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ในคดีที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟ้องขอให้บังคับโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงที่พิพาทคืนแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 282/2545 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยมิได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องความเป็นเจ้าของของที่ดินที่พิพาท จำเลยทั้งสี่จึงสามารถสืบพยานตามคำให้การและฟ้องแย้งในคดีนี้ได้ ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา, การละเมิด, อายุความ และการยกข้อต่อสู้ที่ไม่ชัดเจน
ศาลชั้นต้นในคดีก่อนพิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้อง เพราะโจทก์บรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เท่ากับว่าศาลยังมิได้วินิจฉัยประเด็นว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในคดีนี้ จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงและผลคดีอาญาดังกล่าวมาผูกพันข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์มิได้เป็นเจ้าของรถพ่วงคันเกิดเหตุ และวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ต้องถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำของจำเลยทั้งสามซึ่งทำให้ปรากฏว่ารถพ่วงคันเกิดเหตุเป็นของโจทก์ พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการจงใจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์อันเป็นการทำละเมิด จำเลยทั้งสามไม่อาจปฏิเสธความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมิใช่เป็นการฟังข้อเท็จจริงฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 46 แต่อย่างใด
จำเลยทั้งสามมิได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 26 ตุลาคม 2544 จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยให้ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามก็มีความหมายชัดแจ้งว่า โจทก์จะต้องรู้ถึง เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ซึ่งขัดแย้งกับที่จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 กรณีไม่อาจนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันที่จำเลยทั้งสามอ้างในอุทธรณ์มารับฟัง โดยถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าโจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ตามที่จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลาภมิควรได้จากการถมดินในที่ดินที่เพิกถอนการขายทอดตลาด สิทธิของเจ้าของเดิมได้รับการคุ้มครอง
แม้คดีที่จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และโจทก์มิได้ฎีกาทำให้คดีถึงที่สุด แต่ภายหลังพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 (1) ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบ ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวเปิดช่องให้สามารถทำได้ไม่ต้องห้าม เพราะเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดี และหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบตามที่โจทก์ยื่นคำร้อง ย่อมมีผลทำให้โจทก์ไม่จำต้องฟ้องเรียกดินที่ถมเป็นคดีนี้ แม้ต่อมาศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ว่าการยื่นคำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ใช้สิทธิตามช่องทางที่มีกฎหมายรองรับ จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายหาใช่เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต เมื่อคดีที่โจทก์ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 30 มีนาคม 2553 การที่โจทก์ฟ้องเรียกดินที่ถมในที่ดินพิพาทคืนเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 จึงยังไม่พ้นอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 แม้ต่อมาจำเลยจะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท แต่ตราบใดคดีที่จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดโจทก์ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่จะใช้สอยที่ดินพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ถมดินในที่ดินพิพาทก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดจึงย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ และกรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่โจทก์สมัครใจถมดินในที่ดินพิพาทตามอำเภอใจตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โดยรู้อยู่ว่าอาจมีการเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทภายหลังได้ ส่วนข้อสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยหาอาจนำมาอ้างให้เสื่อมสิทธิของโจทก์และเป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ เพราะเป็นข้อตกลงที่โจทก์มีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี หาได้เกี่ยวและมีผลผูกพันจำเลย แต่เมื่อจำเลยได้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยได้ดินที่โจทก์ถมไว้โดยสุจริตในที่ดินพิพาทไปด้วย อันทำให้มูลค่าที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สิ่งใดที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยต้องคืนดินที่ถมในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ปรับปรุงถมดินเต็มเนื้อที่ในที่ดินพิพาทเพื่อจะปลูกสร้างบ้านเป็นเวลาล่วงเลยมานานถึง 12 ปี ดินที่โจทก์นำมาถมย่อมเปลี่ยนแปลงสภาพเกลื่อนกลืนกับที่ดินพิพาทของจำเลยไปตามกาลเวลากลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนดินที่ถมหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนก็ตาม ก็ไม่อาจคืนดินที่ถมไปแล้วให้แก่โจทก์ได้ แต่การที่โจทก์ขอให้ใช้ราคาแทนดินที่ถม ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาสูงขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์เรียกจากจำเลยได้ก็เพียงเท่าราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 38 ตารางวา และโจทก์ถมดินไป 3,000 คิว ประกอบกับสภาพสถานที่ตั้งของที่ดิน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีแล้วเห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 510,000 บาท
ตราบใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้มีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุด การที่โจทก์ถมที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน และมีการตัดต้นไม้ในที่ดินพิพาทเพื่อถมดิน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎหมายในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ หาเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยไม่ และแม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ถึงที่สุดดังกล่าวจะมีผลเท่ากับว่าไม่มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทมาแต่แรก ทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ล.5 ไม่มีผลบังคับ แต่ก่อนที่ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะถึงที่สุด สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 อยู่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19776/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องร้องซ้ำ: ข้อพิพาทสัญญาจ้างเหมาช่วงที่ศาลพิจารณาต่างกัน ไม่ถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
มูลเหตุของการฟ้องคดีนี้มาจากนิติสัมพันธ์ตามที่โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารพักอาศัย แล้วจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาช่วงให้จำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารแทน โดยโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญา ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเหมาช่วงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมา ให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงต้องร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 1 กับพวก อ้างว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างเหมาช่วงได้ก่อสร้างอาคารและส่งมอบงานให้แก่โจทก์เสร็จตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ผิดสัญญาที่ไม่ชำระค่าจ้างและคืนเงินประกันผลงานให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องโดยอาศัยสัญญาจ้างเหมาช่วง ประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทในคดีนี้และในคดีก่อนจึงเป็นคนละเรื่องกัน ทั้งโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อน เป็นแต่ในคดีก่อนเคยถูกจำเลยที่ 2 ฟ้องเป็นจำเลยด้วยกันเท่านั้น การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมา จึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18368/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเพิกถนิติกรรมซื้อขายที่ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ แม้มีการฟ้องคดีปล่อยทรัพย์พิพาทมาก่อน
แม้ชั้นบังคับคดีในคดีก่อน จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่ยึด โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) ไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง โดยอ้างเหตุแห่งการนั้นเช่นเดียวกับคำฟ้องคดีนี้ก็ตาม ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) ฟ้องจำเลยที่ 3 (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ต่อศาลแขวงนครราชสีมาและศาลมีคำพิพากษาให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) แล้ว ถือว่าผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) เป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน การทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) กับจำเลยที่ 3 (จำเลยที่ 1 คดีนี้) จะทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใดไม่มีประเด็นพิจารณาในคดีก่อน ดังนี้ คดีก่อนศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะและการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการสมคบกันทำการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสี่คดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีในประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกันอันจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
of 54