คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 144

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 533 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17522/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องคัดค้านคำสั่งบังคับคดีซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.ม.144 หากเป็นประเด็นเดิมที่เคยถูกวินิจฉัยแล้ว
คำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 18 มกราคม 2553 ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว เป็นการคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่ดำเนินการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4692 ของจำเลยเช่นเดียวกับคำร้องนี้ แม้จะเป็นการคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีคนละคราวกัน แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงเดียวกันโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่าทรัพย์จำนองไม่เพียงพอชำระหนี้โจทก์ ซึ่งคำร้องฉบับหลังโจทก์อ้างเพียงว่ามีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นอันมีผลสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนอง โดยความรับผิดในส่วนดอกเบี้ยของจำเลยนี้มีมาแต่เดิมและมีอยู่แล้วในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 18 มกราคม 2553 คำร้องของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15308/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีซ้ำในประเด็นที่ศาลเคยวินิจฉัยแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และผลของการวินิจฉัยถึงที่สุด
คดีเดิมของศาลชั้นต้น เรื่องขอจัดการมรดก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ร. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ร. เมื่อ ร. ถึงแก่ความตายและมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก จึงมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า ว. ผู้คัดค้านที่ 1 ในคดีดังกล่าวเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์ บิดาของโจทก์และ ว. คือ ม. เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ร. เจ้ามรดก ร. หย่ากับสามีและไม่มีบุตร ม. ถึงแก่ความตายก่อน ร. ส่วน ธ. บุตรบุญธรรมของ ร. ขอสละมรดก ว. และโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ม. ทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 3 จึงมีสิทธิรับมรดกของ ร. ถือว่า ว. และโจทก์อยู่ในฐานะเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ในคดีดังกล่าวแล้วว่า ร. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้เป็นผู้จัดการมรดก อันเป็นการวินิจฉัยว่าพินัยกรรมดังกล่าวมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย มิใช่พินัยกรรมปลอมหรือเกิดจากการถูกหลอกลวง การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกโดยอ้างว่า ร. ไม่มีเจตนาทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้จำเลย แต่เกิดจากจำเลยกับพวกใช้อุบายหลอกลวง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้ว อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13141/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในคดีสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง: ผลของคำพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้อง
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดชำระเงินค่างวดงานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านพิพาท ส่วนคดีผู้บริโภคหมายเลขแดงที่ ผบ.480/2553 ของศาลแพ่งธนบุรี จำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องเรียกให้โจทก์ในคดีนี้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านพิพาท ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยในประเด็นอย่างเดียวกันว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านพิพาท เมื่อศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยแล้ว ฟ้องโจทก์ในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 แต่เมื่อคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด หากในชั้นที่สุดศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นประการใด ผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันทั้งโจทก์และจำเลยในคดีนี้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทำให้คดีนี้ยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยต้องชำระค่าก่อสร้างแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ดังนั้น หากรอฟังผลคดีผู้บริโภคหมายเลขแดงที่ ผบ.480/2553 ของศาลแพ่งธนบุรีให้ถึงที่สุดเสียก่อนแล้วพิพากษาคดีต่อไปย่อมทำให้ความยุติธรรมในคดีนี้ดำเนินไปด้วยดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10879-10880/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่และการไม่เป็นฟ้องซ้อน กรณีจำเลยเป็นบริวารและบุคคลอื่น
จำเลยทั้งสองและบริวารอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ ย่อมเป็นการทำละเมิดโจทก์ด้วยกันทุกคน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารทั้งหมดให้ออกไปจากที่ดินได้ ไม่ว่าจะฟ้องรวมมาในคดีเดียวกันหรือแยกฟ้องเป็นรายบุคคล โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 สำนวนหลัง ซึ่งเป็นจำเลยคนละคนกับสำนวนแรกจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ประเด็นในคดีก่อนตามคำพิพากษาศาลฎีกามีว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ ส่วนคดีนี้ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคำฟ้องเกี่ยวกับเรื่องละเมิด ซึ่งมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ประเด็นแห่งคดีจึงแตกต่างกัน ถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกันไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8925/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด: ศาลมีอำนาจพิจารณาเข้าสู่กระบวนการ แม้มีปริมาณยาเสพติดน้อยกว่าเกณฑ์
แม้ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 จะกำหนดการกระทำความผิดที่จะได้รับการพิจารณาเข้าสู่กระบวนพิจารณาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไว้ ได้แก่ 1. เสพยาเสพติด 2. เสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครอง 3. เสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 4. เสพและจำหน่ายยาเสพติด โดยไม่มีความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายแต่เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวแสดงถึงเจตนารมณ์ของบทบัญญัติในอันที่จะให้โอกาสผู้ที่เสพยาเสพติดให้โทษซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษฐานอื่นที่มีปริมาณยาเสพติดเล็กน้อยไม่เกินจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด เข้ากระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยต้องมีปริมาณเมทแอมเฟตามีนไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือมีน้ำหนักไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ดังนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหาว่าเสพเมทแอมเฟตามีนและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายที่มีปริมาณเมทแอมเฟตามีนไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ตามที่กฎกระทรวงกำหนด จึงถือได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดฐานเสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือฐานเสพและจำหน่ายยาเสพติด ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการฟื้นฟูตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งแล้ว
อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาว่าผู้กระทำผิดอยู่ในเงื่อนไข หรือหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการฟื้นฟูตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 หรือไม่นั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของศาล ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะโต้แย้งคัดค้านหรือวินิจฉัย ผู้คัดค้านมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ถูกส่งมาให้สามารถกลับตัวเป็นพลเมืองดีตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเท่านั้น
บทบัญญัติห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 เป็นกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับกระบวนพิจารณาในชั้นศาล เมื่อผู้คัดค้านปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล การที่ศาลมีคำสั่งยืนยันคำสั่งเดิมให้ผู้คัดค้านซึ่งไม่ใช่ศาลปฏิบัติตามคำสั่งต่อไป จึงมิใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ไม่เป็นการยื่นซ้ำ หากครั้งหลังบรรยายเหตุผลครบถ้วนตามกฎหมาย
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในครั้งแรกมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอไปแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เป็นครั้งที่สองโดยบรรยายข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา กำหนดไว้ จึงไม่เป็นการร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 หรือ มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7035/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอลดค่าปรับ การอุทธรณ์และฎีกาจึงไม่รับ
ผู้ประกันขอลดค่าปรับและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของผู้ประกัน เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง ผู้ประกันไม่อาจจะฎีกาต่อมาอีกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4013/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ แม้เหตุแห่งสิทธิจะเปลี่ยนแปลง
กรณีที่จะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำนั้น ต้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือฟ้องอันเกี่ยวกับประเด็นข้อเดียวกันที่ศาลได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว หากประเด็นในเรื่องแรกที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกันกับประเด็นในเรื่องหลัง ก็ไม่ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือฟ้องคดีอันเกี่ยวเนื่องกับคดีหรือประเด็นที่ได้มีคำวินิจฉัยแล้ว
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องฉบับแรกมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ผู้สวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมหรือไม่ ส่วนคำร้องฉบับที่สอง ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ท. จึงเป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับคดีแก่จำเลยทั้งห้า ถือว่าการร้องขอเข้าสวมสิทธิของผู้ร้องในฉบับที่สองนี้เป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิโดยอาศัยเหตุที่มาคนละเหตุกัน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องฉบับที่สองจึงอาศัยเหตุที่ต้องวินิจฉัยแตกต่างกับคำร้องฉบับแรก การยื่นคำร้องฉบับที่สองของผู้ร้องจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำกับคำร้องฉบับแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19938/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีฟ้องซ้อน: การฟ้องคดีเดิมซ้ำ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยผิดพลาด ศาลฎีกาแก้
ปรากฏตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสองว่า ผู้ร้องสอดทั้งสองต่างมีหน้าที่ร่วมกันและช่วยกันในการคุ้มครองดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ป่าช้าหัวนาหว้า ทรัพย์สินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน มิให้ผู้ใดกีดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว การดำเนินการตามหน้าที่ดังกล่าวของผู้ร้องสอดคนใดคนหนึ่งย่อมผูกพันผู้ร้องสอดอีกคนหนึ่งตามที่มีหน้าที่ร่วมกัน ผลแห่งคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 หมายเลขแดงที่ 1288/2549 ของศาลชั้นต้น ที่แม้จะปรากฏว่าผู้ร้องสอดที่ 2 เพียงผู้เดียวเป็นโจทก์ฟ้องคดีก็ตาม แต่ย่อมมีผลผูกพันถึงผู้ร้องสอดที่ 1 ด้วยเช่นกัน
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์และเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การ ก่อนศาลจังหวัดอุดรธานีมีคำพิพากษา ผู้ร้องสอดทั้งสองยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องอีกต่อไป ศาลจังหวัดอุดรธานียกคำร้องขอของผู้ร้องสอดทั้งสอง ผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์ ขณะที่คดีที่ผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ศาลจังหวัดอุดรธานีรับคำร้องขอของผู้ร้องสอดทั้งสองไว้พิจารณาอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินและขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 6329 ซึ่งเห็นได้ว่าคดีนี้ที่ผู้ร้องสอดทั้งสองร้องสอดเข้ามา และคดีที่ผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยดังกล่าวนั้น มีประเด็นพิพาทเป็นอย่างเดียวกันว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ จึงเป็นคดีเรื่องเดียวกัน การที่ผู้ร้องสอดที่ 2 ยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ตามมาตรา 57 (1) ถือได้ว่าผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยแล้ว แม้ศาลจังหวัดอุดรธานีจะสั่งยกคำร้องขอ แต่ผู้ร้องสอดที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์และคดียังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณา การที่ผู้ร้องสอดที่ 2 นำคดีเรื่องเดียวกันมายื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 ของศาลชั้นต้นอีก จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคดีดังกล่าวของผู้ร้องสอดที่ 2 ไว้พิจารณาจึงเป็นการไม่ชอบ และส่งผลพลอยทำให้กระบวนพิจารณาที่ดำเนินต่อมาในภายหลังจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1288/2549 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามให้ยกฟ้องของผู้ร้องสอดที่ 2 และคดีถึงที่สุดไปแล้วนั้น พลอยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เสมือนหนึ่งไม่เคยมีการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีดังกล่าวมาก่อนเลย ดังนั้น การดำเนินคดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวของผู้ร้องสอดที่ 2 อันจักต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15791/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องซ้ำเพื่อเพิกถอนการบังคับคดี: เหตุต้องห้ามตามกฎหมาย
เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีโดยอ้างเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งการยึดทรัพย์และไม่แจ้งการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบ ทั้งการขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่พอใจก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีซ้ำอีก แม้จะอ้างเหตุใหม่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาและบังคับคดีตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยกขึ้นว่ากล่าวในคำร้องฉบับแรกได้อยู่แล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้ กรณีจึงถือว่าคำร้องฉบับหลังเป็นเรื่องเดียวกับคำร้องฉบับแรกที่ขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีรายเดียวกันซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มายื่นคำร้องขึ้นอีกภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องฉบับแรกแล้วนั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
of 54