คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 144

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 533 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14113/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ: คำพิพากษาตามยอมผูกพันคู่ความ แม้ไม่ได้ถูกฟ้องในคดีก่อน
ในคดีก่อน จำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 2 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาซื้อขายที่ดิน อันเป็นเอกสารฉบับเดียวกันกับที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องขอให้เพิกถอน ต่อมาโจทก์ที่ 2 และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับที่ดินพิพาท โดยในสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ภายใน 3 เดือน หากโจทก์ที่ 2 ประสงค์จะซื้อที่ดินคืน จำเลยยินยอมขายคืนให้ หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ที่ 2 และบริวารยินยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท สัญญาประนีประนอมได้กล่าวถึงที่ดินพิพาทแปลงเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี ต้องถือว่ามีการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทฉบับเดิมซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน แม้โจทก์ที่ 1 จะมิได้ถูกฟ้องในคดีก่อน แต่ไม่ว่าโจทก์ที่ 1 จะอยู่ในฐานะเป็นสามีของโจทก์ที่ 2 หรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา148
ในคดีก่อน จำเลยขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้โจทก์ที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 สามีของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอกันส่วนอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเพียงบริวารของโจทก์ที่ 2 ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบริวารของโจทก์ที่ 2 จึงมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ 1 คำร้องขอกันส่วนของโจทก์ที่ 1 ในคดีก่อนและคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ร่วมกับโจทก์ที่ 2 คดีนี้ มีประเด็นแห่งคดีทั้งสองเป็นประเด็นเดียวกัน คือ ให้วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทหรือไม่ เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นรายเดียวกันและศาลเคยวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีก่อนไปแล้ว คำฟ้องของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11691/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้สินสมรส: การฟ้องซ้ำในประเด็นที่เคยมีคำวินิจฉัยแล้ว
หนี้ระหว่างสมรสที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยร่วมรับผิดคดีนี้เป็นหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถว 3 ชั้น เมื่อปี 2532 เพื่อให้จำเลยและบุตรอยู่อาศัยซึ่งระหว่างนั้นโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า ต่อมาเดือนตุลาคม 2543 โจทก์ยืมเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ตราด จำกัด และเดือนตุลาคม 2546 ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ระยอง จำกัด เพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าว ดังนั้น ที่ดินพร้อมตึกแถวจึงเป็นสินสมรสและหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมดังกล่าวถือว่าเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสที่โจทก์และจำเลยเป็นลูกหนี้ร่วมกันและต้องรับผิดร่วมกัน ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องแย้งให้จำเลยร่วมรับผิดในคดีก่อนได้อยู่แล้ว เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องในเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งสินสมรสในคดีก่อนที่โจทก์อาจดำเนินคดีได้ไปในคราวเดียวกัน การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5568/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำหรือไม่: คดีสัญญาจ้างทำของ แม้มีมูลเหตุเดียวกัน แต่ประเด็นต่างกัน ไม่ถือเป็นฟ้องซ้ำ
คดีก่อนจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยว่าผิดสัญญาโดยเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 สูญเสียโอกาสที่จะได้รับเงินจากการทำบุญในการจัดงานทอดผ้าป่าสามัคคี และค่าเสียโอกาสที่จะได้รับเงินจากการทำบุญในช่วงเข้าพรรษาออกพรรษา ทอดผ้าป่าสามัคคี ทอดกฐิน กับให้รื้อถอนห้างร้านก่อสร้างออกจากศาลาที่ก่อสร้าง โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยคดีก่อนให้การต่อสู้ว่า ไม่ได้ผิดสัญญา ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ฟ้องมาเป็นค่าเสียหายในอนาคต จำเลยที่ 1 ไม่ได้เสียหายจริง จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยคดีก่อนจึงมีเพียงว่า โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยคดีก่อนผิดสัญญาจ้างหรือไม่ และจำเลยที่ 1 มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุที่โจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาหรือไม่เพียงใด ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยคดีก่อนยังไม่ได้ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย แล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือ และค่าเสียโอกาสจากการนำเงินค่าจ้างไปลงทุน คดีนี้จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือ และค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด แม้มูลเหตุที่ฟ้องในคดีนี้กับคดีก่อนจะสืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างทำของอันเดียวกันก็ตาม แต่คำฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่ใช่ประเด็นเดียวกันกับประเด็นในคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1499/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องขอให้กำหนดโทษใหม่ซ้ำหลังศาลอุทธรณ์ตัดสินถึงที่สุดแล้ว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้าม
จำเลยเคยยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยใหม่โดยไม่เพิ่มโทษ อ้างว่ามี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยได้รับการล้างมลทินโดยถือว่าการกระทำความผิดในคดีก่อนถูกลบล้างไปแล้ว พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด การที่จำเลยมายื่นคำร้องครั้งใหม่โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกันกับในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดและคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประกันและการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้าม
ผู้ประกันทั้งสองยื่นคำร้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 ว่า ผู้ประกันทั้งสองไม่ได้ผิดสัญญาประกันเพราะไม่ได้รับหมายนัดให้ส่งตัวจำเลย ขอให้ไต่สวนคำร้องในการส่งหมายนัดและงดปรับผู้ประกันทั้งสองศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน คดีถึงที่สุด การที่ผู้ประกันทั้งสองมายื่นคำร้องครั้งใหม่นี้อ้างว่า คำสั่งปรับผู้ประกันทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะอ้างเหตุใหม่ก็ตามแต่ก็เป็นเหตุที่สามารถอ้างได้ตั้งแต่ยื่นคำร้องครั้งแรกและประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก็เป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคำสั่งปรับผู้ประกันทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และถึงที่สุดไปแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 เมื่อศาลมีคำสั่งบังคับตามสัญญาประกันแล้ว ถ้าผู้ประกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ถือว่าผู้ประกันเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกัน จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมที่จะต้องดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญา แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติวิธีการบังคับผู้ประกันไว้ ทั้งไม่มีกฎหมายอื่นใดบัญญัติไว้เป็นพิเศษ กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 271 แห่ง ป.วิ.พ. ผู้ที่จะบังคับคดีชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งศาลได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่ง ไม่ใช่ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่จำเลยถูกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ประกันทั้งสองชำระค่าปรับภายใน 30 วัน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2548 โดยแจ้งคำสั่งทางไปรษณีย์ตอบรับให้ผู้ประกันทั้งสองทราบแล้ว วันที่ 27 พฤษภาคม 2548 ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลจังหวัดอุบลราชธานีได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีผู้ประกันทั้งสอง ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2552 ป. ผู้รับมอบอำนาจจากหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องของผู้ประกันทั้งสอง ถือได้ว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้บังคับคดีผู้ประกันทั้งสองตามคำสั่งศาลภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1388/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องขอปรับบทลงโทษซ้ำหลังจากศาลตัดสินถึงที่สุดแล้ว ถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำที่กฎหมายห้าม
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษใหม่ โดยอ้างว่าได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดโทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2522 มาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ขอให้นำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 ศาลชั้นต้นยกคำร้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน คดีถึงที่สุด จำเลยที่ 1 มายื่นคำร้องครั้งใหม่โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกันในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยชี้ขาดและถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเหนือพื้นดิน, การบอกเลิกสิทธิ, การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง, และการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากละเมิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารกับให้รื้อถอนโครงหลังคาเหล็กและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากที่ดินของโจทก์ พร้อมทั้งให้ชำระค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้วว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า เมื่อโจทก์ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิใดตามกฎหมายที่จะอยู่หรือใช้สอยประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ต่อไป คำฟ้องของโจทก์จึงบรรยายครบถ้วนแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ส่วนที่ว่าโครงหลังคาเหล็กปลูกสร้างตั้งแต่เมื่อใด โจทก์เสียหายอย่างไรและคำนวณค่าเสียหายจากฐานข้อมูลใด รวมทั้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาระผูกพันของเจ้าของที่ดินเดิมนั้นล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
คดีก่อนจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้อง โจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินคดีนี้และเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องอ้างว่า เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและเรียกค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น ทรัพย์ที่อ้างเพื่อเรียกร้องสิทธิแห่งตนจึงเป็นทรัพย์คนละอย่างต่างกันเพราะคดีก่อนโต้เถียงกันว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินและเรียกค่าเสียหายจากการรบกวนการครอบครองสิ่งปลูกสร้าง ส่วนคดีนี้โจทก์รับว่าสิ่งปลูกสร้างเป็นของจำเลยทั้งสองแต่ที่ดินเป็นของโจทก์ ขอให้รื้อถอนออกไปและเรียกค่าเสียหายที่ยังคงอยู่บนที่ดิน คดีทั้งสองนี้จึงมีประเด็นพิพาทไม่เหมือนกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) และมาตรา 144
โจทก์ฟ้องอ้างว่า เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและเรียกค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสองสร้างสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินได้โดยชอบเพราะมีสิทธิเหนือพื้นดิน ตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่อ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดิน คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่คดีมีทุนทรัพย์ แต่เป็นคำฟ้องที่ขอปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) (2) และ (4)
จำเลยทั้งสองได้สิทธิเหนือพื้นดินจากเจ้าของที่ดินโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่บริบูรณ์ ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1298 ประกอบมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ต่อมาเจ้าของที่ดินจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างสิทธิเหนือพื้นดินนี้ต่อสู้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752-780/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลา-การทำงานนอกเวลาปกติ-การบังคับคดี-สิทธิเรียกร้องค่าเช่า: ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
คดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยไปครั้งหนึ่งแล้วว่าลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้ง 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหานี้ย่อมเป็นอันยุติ จำเลยจะรื้อฟื้นในประเด็นข้อกฎหมายนี้มาให้วินิจฉัยอีกไม่ได้ อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบมาตรา 246 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ป.วิ.พ. มาตรา 104 ซึ่งอนุโลมใช้แก่คดีแรงงานด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบพยานมาก่อนมีคำพิพากษานั้นเพียงพอให้ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นยุติและพอวินิจฉัยได้แล้วจึงวินิจฉัยคดีโดยไม่อนุญาตให้จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติม ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานในการรับฟังข้อเท็จจริงแล้ว
จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาในวันปกติและในวันหยุดในวันและเวลาแน่นอน โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาตามคำสั่งครบถ้วนหรือไม่มีเอกสารลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานแน่ชัดอยู่แล้วซึ่งเป็นไปตามระเบียบการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ดังนั้น ในบางวันบางเดือนโจทก์บางคนอาจจะต้องเข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยรวมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ได้ตามที่ปรากฏจริง อันเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ เมื่อโจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยแล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ทั้ง 29 คน เต็มตามระยะเวลาที่เข้าเวรเพื่อทำงานล่วงเวลา
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้บังคับแก่ทุกรัฐวิสาหกิจ คำสั่งทั้งสามฉบับของจำเลยที่กำหนดอัตราค่าล่วงเวลาของพนักงาน จำเลยจึงต้องอยู่ในบังคับของระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว เมื่อลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้ง 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้ง 29 คน
สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 ดังนั้นสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าของจำเลยซึ่งเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าอย่างหนึ่งจึงเป็นทรัพย์สินของจำเลย แม้จะยังไม่เป็นรายได้ของรัฐตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 39 แต่ก็เป็นรายได้อันเป็นทรัพย์สินของจำเลย จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 125/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีค้ำประกัน, มูลหนี้ต่างกัน, สัญญาจำนองครอบคลุมหนี้ทุกประเภท
หนี้เงินลีร์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทครบกำหนดในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 และบริษัทลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี เมื่อโจทก์เพิ่งนำคดีเกี่ยวกับหนี้ส่วนนี้มาฟ้องในวันที่ 24 ตุลาคม 2549 ทั้งที่สิทธิเรียกร้องต่อผู้ค้ำประกันในหนี้เงินลีร์เกิดตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 เกินกำหนดเวลา 10 ปี สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ มาตรา 193/30
มูลหนี้ตามฟ้องคดีนี้เป็นมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งต่างจากมูลหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีประเด็นแห่งคดีในมูลหนี้ทั้งสองย่อมต่างกัน คดีนี้จึงไม่อาจเป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ไม่ว่าดอกเบี้ยจะค้างอยู่นานเท่าใด ในกรณีที่จำเลยให้การต่อสู้เรื่องอายุความคิดดอกเบี้ยไว้ โจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องย้อนหลังไปได้เพียง 5 ปี เท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเป็นที่สุด ผลบังคับใช้ แม้มีการชี้ขาดซ้ำโดยอนุญาโตตุลาการชุดใหม่
คณะอนุญาโตตุลาการชุดก่อนได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกันผู้คัดค้านว่า การที่ผู้คัดค้านในฐานะผู้ได้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 เรียกเก็บค่าผ่านทางเพิ่มเติมตามประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้น เป็นการไม่สอดคล้องกับสัญญาสัมปทาน ต่อมาผู้ร้องได้เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการขอให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าผ่านทางเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยที่ได้รับจากประชาชนผู้ใช้ทางให้แก่ผู้ร้องซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังมีคำชี้ขาดว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับเงินค่าผ่านทางระหว่างการปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านทาง เพราะชอบด้วยสัญญาและกฎหมาย และให้ผู้ร้องใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลัง แต่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยในคดีที่ผู้คัดค้านเป็นผู้ร้องยื่นฟ้องผู้ร้องเป็นผู้คัดค้านโดยมูลคดีเดียวกับคดีนี้ขอให้พิพากษาบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งวินิจฉัยว่า ผู้ร้องในคดีนี้ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินส่วนแบ่งค่าผ่านทางอัตราที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่มีการปรับอัตราค่าผ่านทางเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยจากผู้คัดค้านในคดีนี้ และให้ผู้ร้องในคดีนี้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้านในคดีนี้ตามคำเรียกร้องแย้ง โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดก่อนย่อมเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณี พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ฯ มาตรา 22 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 21 วรรคสี่ ไม่อาจนำข้อโต้แย้งขึ้นสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการได้อีก การที่ผู้คัดค้านนำข้อพิพาทเรื่องเดียวกันมายื่นเรียกร้องแย้งต่อคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลัง เพื่อให้ชี้ขาดซ้ำอีก ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะทำลายหลักการสำคัญของมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำชี้ขาดเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีโดยสิ้นเชิงไร้ประสิทธิผลโดยปริยาย การที่คณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังมีคำชี้ขาดข้อพิพาทเดียวกันใหม่จึงไม่ชอบตามบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งใช้บังคับอยู่ขณะชี้ขาดและศาลฎีกาในคดีดังกล่าวพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านในคดีนี้ และเมื่อคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดก่อนย่อมเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ฯ มาตรา 22 วรรคหนึ่งและคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ฯ มาตรา 23 วรรคหนึ่ง กรณีหาจำต้องมีคำสั่งศาลฎีกาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังอีกไม่ ทั้ง ป.วิ.พ. มาตรา 144 มีบทบัญญัติห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกรณีจึงไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชุดหลังตามคำขอของผู้ร้องอีกการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องเป็นการชอบแล้ว คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคำวินิจฉัยทั้งมวลในคดีนี้เปลี่ยนแปลงไป
of 54