คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พงษ์ศักดิ์ กิติสมเกียรติ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 28 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำโดยบันดาลโทสะต้องต่อเนื่องกับเหตุข่มเหง หากขาดตอนหรือไม่ต่อเนื่อง จะไม่ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ
การกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 เป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นคือ ในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่
เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 และ ท. ทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้าน เชื่อว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้านและก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออกจากบ้านไปร้านที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 สามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 ตามจำเลยที่ 2 ไปร้านที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 หลังจากจำเลยที่ 2 พูดสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจำเลยที่ 1 จากโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 1 มีท่าทางเกรี้ยวกราดมากขึ้นและชี้หน้าพร้อมพูดว่า กูรู้ว่าใครร้องเรียน แล้วทำท่าทางลักษณะคล้ายล้วงอาวุธปืนออกมาจากกระเป๋าสะพายสีน้ำตาล เชื่อได้ว่าเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันที หาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 แต่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 666/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิดฟอกเงิน สิทธิของผู้ให้เช่าซื้อและทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน
ร. เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากผู้คัดค้าน แต่ชำระค่าเช่าซื้อยังไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทจึงยังคงเป็นของผู้คัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านให้ ร. เช่าซื้อรถยนต์พิพาทและรับเงินตามสัญญาเช่าซื้อโดยสุจริตไม่ทราบว่า ร. นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาชำระค่างวดเช่าซื้อบางส่วน ผู้คัดค้านจึงชอบที่จะขอคืนรถยนต์พิพาทได้ แต่รถยนต์พิพาทคงมีส่วนที่เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดินรวมอยู่ด้วย โดยเมื่อ ร. ชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้คัดค้านยังไม่ครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อ จึงเหลือเงินลงทุนของผู้คัดค้านที่ยังขาดอยู่ ซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะได้รับ จึงให้คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทแก่ผู้คัดค้านตามจำนวนเงินลงทุนที่ยังขาดพร้อมดอกผล
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้คัดค้านชำระไปก่อนแล้ว ผู้คัดค้านเรียกเก็บจาก ร. เมื่อชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านแล้วบางส่วน ส่วนที่ยังขาดอยู่ผู้คัดค้านมีสิทธิรับคืนได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 384/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความมรดก, การครอบครองทรัพย์มรดก, ผู้จัดการมรดก, สิทธิในการแบ่งมรดก
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของ ส. ในส่วนที่ตกทอดได้แก่ ค. บิดาของโจทก์ และของ ห. แทนที่ ค. บิดาของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อน ห. เจ้ามรดก จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห. จดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกของ ห. ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ 4 ขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. ระหว่างจำเลยทั้งสี่ และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห. จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของ ห. เฉพาะส่วนให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. ให้แก่โจทก์ อันถือได้ว่าเป็นคดีมรดก หาใช่เป็นการฟ้องเรียกให้ผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด ทั้งเรื่องนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ให้การต่อสู้ไว้ด้วยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้ว
โจทก์ทำงานและพักอาศัยอยู่กรุงเทพมหานคร ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. เลย จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. มาโดยตลอดนับแต่ ห. ถึงแก่ความตายโดยโจทก์และทายาทอื่นไม่เคยครอบครองหรือร่วมครอบครองทำประโยชน์ด้วย เมื่อ ห. ถึงแก่ความตายวันที่ 6 ธันวาคม 2532 โจทก์มาร่วมงานศพ ห. ถือได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงความตายของ ห. เจ้ามรดก แต่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 จึงเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ฉะนั้นสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แบ่งทรัพย์มรดก จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามมาตรา 1754 สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. จึงเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยสมบูรณ์ แม้จำเลยที่ 1 จะยื่นขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. และศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2550 ก็เป็นเวลาภายหลังจากที่ ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้วถึง 24 ปี นับจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และเป็นเวลาภายหลังจากสิทธิของโจทก์ขาดอายุความมรดกไปแล้ว ทั้งการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 สืบเนื่องมาจากการจัดการมรดกของ ห. มีเหตุขัดข้อง เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกไม่ยินยอมให้จัดการมรดก แจ้งว่าต้องมีคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกไปแสดงเสียก่อน ซึ่งก็ปรากฏว่าต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกของ ส. และของ ห. ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ 4 อันถือได้ว่าเป็นการดำเนินการเพื่อให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนเพื่อให้ได้สิทธิสมบูรณ์ในที่ดินทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เป็นการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น และผู้จัดการมรดกครอบครองที่ดินมรดกไว้แทนทายาทอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3091/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กโดยการใช้ปาก การพิจารณาหลักฐานพยาน และการใช้กฎหมายที่ใช้บังคับ ณ ขณะกระทำความผิด
แม้ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ตามคำฟ้องว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการสอดใส่อวัยวะเพศของตนเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 2 แต่ได้ความว่าจำเลยนำอวัยวะเพศของตนใส่เข้าไปในปากของผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของจำเลยโดยการใช้อวัยวะเพศของตนล่วงลํ้าช่องปากของผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2714/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การในคดีอาญาต้องมีเหตุสมควร และความผิดพรากเด็กกับกระทำชำเราเป็นคนละกรรม
จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควร ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่ตามอำเภอใจของจำเลย อีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาลที่เห็นสมควรจึงอนุญาตให้แก้ไขได้ การที่ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพ โดยขอให้การใหม่เป็นให้การปฏิเสธว่าได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จริง โดยสำคัญผิดในเรื่องอายุของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกิน 15 ปี คำให้การดังกล่าวของจำเลยหาทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด อีกทั้งในวันสืบพยานโจทก์เมื่อโจทก์นำผู้เสียหายที่ 2 เข้าเบิกความต่อหน้าจำเลยในช่วงเช้า ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบศาลว่าผู้เสียหายที่ 2 อายุ 13 ปี จำเลยย่อมต้องทราบแล้วว่า ผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกิน 15 ปี ก่อนเริ่มสืบพยานโจทก์ต่อในช่วงบ่าย จำเลยขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ซึ่งแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาในความผิดฐานดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 2 ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำเลยมีเจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ดังนั้น เจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
of 3