คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 289 (3)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 742/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการไม่ดำเนินการตามข้อตกลงยกเว้นการบังคับคดี - ความรับผิดทางแพ่ง - ค่าเสียหาย - ค่าฤชาธรรมเนียม
การที่โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อผ่อนปรนการชำระหนี้กันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายกล่าวคือ โจทก์ได้รับการผ่อนเวลาชำระหนี้และไม่ต้องกังวลว่าจำเลยจะดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ส่วนจำเลยก็มีทางได้รับชำระหนี้โดยไม่จำต้องดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้จำเลยงดการบังคับแก่โจทก์ไว้ก่อนนั่นเอง จำเลยจึงต้องดำเนินการงดการบังคับคดี และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการบังคับคดีสำหรับกรณีที่พิพาทนี้ได้ ย่อมต้องบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (3) กล่าวคือ จำเลยต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ไว้ โดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ทำหนังสือยินยอมให้งดการขายทอดตลาดมอบไว้แก่พนักงานของจำเลยแล้ว การที่จำเลยไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจนเป็นเหตุให้มีการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไป เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการทำละเมิดและต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีจะไปดูแลการขายทอดตลาดหรือไม่นั้น เป็นสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 (1) การที่โจทก์ไม่ไปดูแลการขายทอดตลาดหาได้เป็นผลโดยตรงต่อความเสียหาย หรือจะถือว่าโจทก์มีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหาย อันจะทำให้จำเลยพ้นความรับผิด เมื่อการทำละเมิดของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ต้องสูญเสียที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยต้องถูกขายทอดตลาดไปจำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวรวมทั้งความเสียหายอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง
เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์มีภาระจำนองกับธนาคาร อ. และถูกขายทอดตลาดโดยจำนองติดไปย่อมเป็นเหตุให้โจทก์หลุดพ้นภาระหนี้ไปตามจำนวนดังกล่าวและต้องนำมาคิดหักจากราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในวันทำละเมิด
ศาลจะมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 ได้นั้น ต้องเป็นกรณีการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ซึ่งการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจที่ว่านี้หมายถึง การกระทำเกี่ยวกับสินค้าที่ขายหรือผลิต หรือการให้บริการที่ก่อให้เกิดผลหรือมีลักษณะตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีการฟ้องร้องเป็นคดีกันด้วยข้อพิพาทที่เกิดจากสินค้าที่ขาย หรือผลิต หรือการให้บริการ อันเป็นการประกอบกิจการของผู้ประกอบธุรกิจนั้นเอง แต่การกระทำที่จำเลยถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ที่ยึดไว้ตามที่โจทก์กับจำเลยตกลงกัน เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไป ไม่ใช่ความเสียหายโดยตรงที่เกิดจากตัวสินค้าและบริการที่ศาลจะมีอำนาจสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นโดยตรง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7