คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 271

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,756 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6081/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีชดใช้ค่าเสียหายในคดีอาญา: การรับมอบสินค้าคืนไม่เป็นเงื่อนไขการชำระหนี้
คำพิพากษาในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 ฐานจำเลยหลอกลวงขายสินค้าเครื่องพิมพ์ดีดแก่โจทก์ และขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 55,440 บาท โดยให้จำเลยรับมอบเครื่องพิมพ์ดีดคืนไปซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ลงโทษปรับจำเลย และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 55,440 บาท แก่โจทก์ โดยรับมอบเครื่องพิมพ์ดีด 12 เครื่องคืนไปทั้งหมด เป็นคำพิพากษาที่พิพากษาไปตามสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นคดีอาญาและมีคำขอในส่วนแพ่งให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์อันเนื่องมาจากการกระทำผิดทางอาญาที่ทำให้โจทก์เสียหายอันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินค่าเสียหายในมูลละเมิด โดยบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 55,440 บาท เป็นสำคัญ แม้จะมีคำพิพากษาให้จำเลยรับมอบเครื่องพิมพ์ดีดจำนวน 12 เครื่อง คืนไปด้วยก็ตาม แต่ก็มิได้พิพากษากำหนดให้เป็นเงื่อนไขว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเครื่องพิมพ์ดีดแก่จำเลยในลักษณะการชำระหนี้ต่างตอบแทนเสียก่อนจึงจะมีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาในส่วนที่บังคับให้จำเลยชำระเงิน โจทก์ชอบที่จะขอให้บังคับคดีจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน โดยไม่ต้องคำนึงถึงกรณีการรับมอบคืนเครื่องพิมพ์ดีดแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6081/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีชำระหนี้ค่าเสียหายจากการหลอกลวงขายสินค้า แม้มีการรับมอบทรัพย์คืนก็ไม่เป็นอุปสรรค
คดีนี้เป็นคดีอาญาที่โจทก์ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 ฐานหลอกลวงขายสินค้าเครื่องพิมพ์ดีดแก่โจทก์และมีคำขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 55,440 บาท โดยให้จำเลยรับมอบเครื่องพิมพ์ดีดคืนไป ซึ่งในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ลงโทษปรับจำเลยและให้จำเลยชำระเงินจำนวน 55,440 บาทแก่โจทก์ โดยรับมอบเครื่องพิมพ์ดีด 12 เครื่องคืนไปทั้งหมด เห็นได้ว่าเป็นคำพิพากษาที่พิพากษาไปตามสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นคดีอาญาและมีคำขอในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดทางอาญาที่ทำให้โจทก์เสียหายอันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินเป็นค่าเสียหายในมูลละเมิด ประกอบกับตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าวก็พิพากษาบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 55,440 บาท แก่โจทก์เป็นสำคัญ โดยแม้จะมีคำพิพากษาให้จำเลยรับมอบเครื่องพิมพ์ดีด 12 เครื่องคืนไปด้วยก็ตาม แต่ก็มิได้พิพากษากำหนดให้เป็นเงื่อนไขว่า โจทก์มีหน้าที่ในอันที่จะต้องคืนเครื่องพิมพ์ดีดแก่จำเลยในลักษณะการชำระหนี้ต่างตอบแทนเสียก่อนจึงจะมีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ ดังนี้ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาในส่วนที่บังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 55,440 บาท แก่โจทก์โจทก์ชอบที่จะขอให้มีการบังคับคดีจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงกรณีการรับคืนเครื่องพิมพ์ดีดของจำเลยแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5478/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: การจำกัดสิทธิเรียกร้องเมื่อบังคับคดีเฉพาะทรัพย์จำนอง
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมกำหนดไว้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ หนี้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้เงินกู้รวม 36,130,856.01 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ตกลงร่วมรับผิดในหนี้ 27,265,664.86 บาท โจทก์ตกลงลดยอดหนี้ให้จำเลยทั้งสามเหลือจำนวน 19,152,000 บาท โดยให้ผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์บังคับคดีในยอดหนี้เต็มจำนวนและยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องได้ทันที โดยไม่มีข้อความว่า หากบังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ด้วย แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนองเท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามได้อีก และไม่อาจนำหนี้ที่เหลือมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3700/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษาที่ขัดแย้งกับคำพิพากษาฎีกา ศาลมีอำนาจสั่งให้ถอนการบังคับคดี
การบังคับคดีย่อมอาศัยคำพิพากษาเป็นหลัก และการแปลคำพิพากษาต้องพิเคราะห์เกี่ยวกับข้อวินิจฉัยในคำพิพากษา เมื่อคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทยังคงเป็นของโจทก์ จำเลยไม่อาจขอให้ขับไล่โจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายได้ จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีขับไล่โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทพร้อมยึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด ก็เพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาบังคับไปตามฟ้องแย้งจำเลย เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องแย้งจำเลยเท่ากับคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องถอนการบังคับคดี และเมื่อศาลยังไม่ส่งคำสั่งถอนการบังคับคดีให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) โจทก์ผู้ถูกบังคับย่อมร้องขอต่อศาลเพื่อให้ส่งคำสั่งดังกล่าวได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงเป็นการส่งคำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการถอนการบังคับคดีโดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีเกินกำหนด 10 ปี และสิทธิการขอให้พิจารณาใหม่หลังขาดนัด
ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติให้คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงวันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นที่สุดและมาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้นถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง
คดีนี้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ซึ่งหากจำเลยทั้งสองจะขอให้พิจารณาใหม่ย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับตามตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง คือคำขอให้พิจารณาใหม่นั้นให้ยื่นต่อศาลใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย แต่คดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายังมิได้มีการออกคำบังคับมาก่อน ระยะเวลา 15 วันดังกล่าวจึงยังไม่เริ่มนับ
ศาลชั้นต้นเพิ่งออกคำบังคับเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 และได้ส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2550 และส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 2 โดยการปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2550 การส่งคำบังคับโดยการปิดดังกล่าวมีผลเมื่อกำหนดเวลา 15 วันได้ล่วงพ้นไปแล้วตามมาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีผลในวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 20 พฤษภาคม 2550 ตามลำดับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ตามลำดับ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนดดังกล่าว คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 และคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 4 มิถุนายน 2550 การที่โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีในวันที่ 13 กันยายน 2550 จึงเป็นการร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3082/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดระยะเวลาบังคับคดี: คำพิพากษาถึงที่สุดหลังขาดนัดยื่นคำขอพิจารณาใหม่
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลจึงพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จำเลยทั้งสองซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาอาจขอให้พิจารณาใหม่ภายใต้บังคับตามมาตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) แต่เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในคดีนี้เป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้สิ้นสุดลง เมื่อจำเลยทั้งสองได้รับคำบังคับโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2540 การส่งคำบังคับดังกล่าวจึงมีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันได้ล่วงพ้นไปแล้วตามมาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำบังคับในวันที่ 24 มีนาคม 2540 เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในสิบห้าวันนับจากวันดังกล่าว ดังนั้น คดีของจำเลยทั้งสองจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 8 เมษายน 2540 การที่โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีในวันที่ 14 กันยายน 2549 จึงเป็นกรณีที่โจทก์บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ระยะเวลาบังคับคดี 10 ปีนับจากคดีถึงที่สุด แม้จำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับคดีได้
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 สำหรับคดีนี้เป็นคดีที่อาจขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้เนื่องจากจำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำพิพากษาให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 (เดิม) คดีย่อมถึงที่สุดเมื่อระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้สิ้นสุดลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบมาตรา 147 วรรคสอง ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นส่งคำบังคับให้แก่จำเลยทั้งสอง โดยวิธีปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2540 และวันที่ 16 พฤศจิกายน 2540 ตามลำดับจำเลยทั้งสองไม่ได้ขอให้พิจารณาคดีใหม่ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงถึงที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 15 ธันวาคม 2540 และสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 16 ธันวาคม 2540 โจทก์แถลงขอให้บังคับยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2550 จึงยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่คดีนี้ถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงนอกศาลมีผลผูกพัน แม้ศาลยังมิได้นำมาพิจารณา การบังคับคดีจึงไม่ชอบหากจำเลยยังไม่ผิดนัด
หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว โจทก์และจำเลยเจรจาตกลงกันในส่วนค่าเสียหายว่า จำเลยยินยอมชดใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท โดยจำเลยจะผ่อนชำระให้แก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 12 ฉบับ มอบให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา และภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดี แต่ได้นำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายไปเรียกเก็บเงินได้ทุกฉบับ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ยอมรับเอาเงื่อนไขตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาเป็นข้อตกลงกันระหว่างโจทก์และจำเลยโดยปริยายแล้ว ส่วนที่โจทก์และจำเลยได้ทำบันทึกในลักษณะเดียวกันมีข้อความเพิ่มเติมจากที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ข้อตกลงให้มีผลผูกพันต่อคู่กรณีไปแม้ว่าจะมีผลของคำพิพากษาคดีนี้ออกมาเช่นไรคู่กรณีตกลงสละสิทธิที่จะเรียกร้องตามผลของคำพิพากษาดังกล่าว ...หากจำเลยผิดนัดตามข้อตกลง โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับในส่วนที่เสียผลประโยชน์ได้โดยชอบต่อไปตามคำพิพากษานั้น ก็เป็นเพียงการยืนยันเจตนาของโจทก์กับจำเลยให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการสละสิทธิเพียงชั่วคราว โจทก์ยังมีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาได้นั้น ก็เป็นกรณีที่จำเลยจะต้องผิดนัดตามข้อตกลงนั้นเสียก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์อ้างในคำขอออกหมายบังคับคดี การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ และโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยตามหมายบังคับคดีดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7732/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้มีประกันหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์และหมดอายุการบังคับคดีตามคำพิพากษา ยังมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจำนอง
เมื่อผู้ร้องฟ้องต่อศาลแพ่งขอให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมและบังคับจำนองจนศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ผู้ร้องมีสิทธิบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ส่วนที่ว่าในขณะที่ผู้ร้องยังมีสิทธิบังคับคดี ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 22 นั้น แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 110 วรรคสาม เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีจนล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ สิทธิในการบังคับคดีในมูลหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นหนี้ประธานนั้นเป็นอันสิ้นไป แต่ผู้ร้องก็ยังมีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 ในหนี้จำนองพร้อมด้วยดอกเบี้ยที่ค้างชำระเป็นเวลา 5 ปี เช่นนี้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องในจำนวนดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 95

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7732/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้มีประกันหลังล้มละลาย: หมดอายุบังคับคดี แต่ยังมีสิทธิจำนอง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันในการที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคสาม การที่ผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีจนล่วงเลยระยะเวลาที่ ป.วิ.พ. มาตรา 271 กำหนดไว้ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิในการบังคับคดีในมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแต่ผู้ร้องก็ยังมีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 ในหนี้จำนองพร้อมด้วยดอกเบี้ยที่ค้างชำระเป็นเวลา 5 ปี ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องได้
of 176