คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 271

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,756 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10078/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แม้คำพิพากษาไม่ได้ระบุชัดเจน
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดต่อโจทก์โดยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน และโจทก์ประสงค์บังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้อง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติ และเป็นคดีมีข้อพิพาท ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีเข้าสู่ศาล ศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติในการที่จะวินิจฉัยและพิพากษาคดี โดยหากวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมายสารบัญญัติ ก็ย่อมพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ตามสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งห้าในทางแพ่ง สำหรับคดีนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ รวมทั้งให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองผู้ทรงทรัพยสิทธิจำนองเหนือที่ดินตามฟ้องตามกฎหมายสารบัญญัติด้วย ความรับผิดดังกล่าวของจำเลยทั้งห้าก็คือ หนี้ตามคำพิพากษา หากจำเลยทั้งห้าในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ย่อมมีสิทธิบังคับคดี และในกรณีหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน การบังคับคดีย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาตรา 278 และมาตรา 282 คือการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้าหรือบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องของจำเลยทั้งห้า เพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ อันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์โดยสืบเนื่องจากผลแห่งคำพิพากษา และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลจำต้องระบุสิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้าไว้ในคำพิพากษาด้วย ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้อง และโจทก์ก็ได้มีคำขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งห้า การที่คำพิพากษามิได้ระบุให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดอันเป็นขั้นตอนในการบังคับคดี จึงหาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่
โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องและอุทธรณ์ฎีกาในเหตุดังกล่าวโดยตรงขึ้นมายังศาลสูง ก็ชอบที่ศาลจะต้องกล่าวในคำพิพากษาให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าไว้ด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่คู่ความและเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติให้บรรลุผลตามคำพิพากษาในเนื้อหาคดี ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาให้ครบถ้วนตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9190/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดเงินเดือนผู้แทนโดยชอบธรรม: ผู้แทนฯ ไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หากไม่ได้ฟ้องร่วม
โจทก์ยื่นฟ้องโดยระบุชื่อในช่องจำเลยว่า นาย ธ. โดยนาย ม.ผู้แทนโดยชอบธรรม และบรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ม. จำเลยขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทชนรถจักรยานยนต์คันอื่นที่บุตรผู้เยาว์ของโจทก์นั่งซ้อนท้าย เป็นเหตุให้บุตรผู้เยาว์ของโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องนาย ธ. ผู้ทำละเมิดเป็นจำเลยให้รับผิดผู้เดียว ส่วนผู้ร้องเป็นเพียงผู้แทนโดยชอบธรรมอยู่ในฐานผู้ต่อสู้คดีและดำเนินคดีแทนจำเลยซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ของผู้ร้องเท่านั้น หาใช่เป็นคำฟ้องที่ฟ้องผู้ร้องให้รับผิดร่วมกับจำเลยด้วยไม่ สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมก็ไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าผู้ร้องยอมผูกพันรับผิดร่วมกับจำเลย จึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกระทำแทนจำเลยในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมเช่นเดียวกัน ผู้ร้องจึงไม่มีฐานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แม้ผู้ร้องอาจต้องรับผิดร่วมกับจำเลยหากพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องให้รับผิดร่วมกับจำเลยและผู้ร้องมิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8837/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ระยะเวลาบังคับคดี 10 ปีนับจากคำพิพากษาถึงที่สุด การยึดทรัพย์เกินกำหนดไม่ทำให้สิทธิบังคับคดีสิ้นสุด
กำหนดระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ที่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น หมายถึงวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
ศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คำพิพากษาจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2539 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง โจทก์ขอให้ศาลแพ่งธนบุรีออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2549 และต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2549 ผู้แทนโจทก์ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกรมบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลย จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามมาตรา 271 แล้ว ดังนั้น แม้ทรัพย์สินของจำเลยที่จะยึดอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานบังคับคดีกรมบังคับคดีจึงขอให้ศาลชั้นต้นสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับจังหวัดขอนแก่น ยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินแทน และผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดขอนแก่น ไปยึดทรัพย์สินของจำเลย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2549 ซึ่งเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ก็เป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีเท่านั้น ไม่ทำให้โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่ยึดดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8746/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการบังคับคดีแบ่งสินสมรส: ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษา ทำให้คำบังคับเดิมสิ้นผล จำเลยมีสิทธิขอออกคำบังคับใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งกรรมสิทธิ์รวมบ้าน 2 หลัง และรถยนต์ 1 คัน ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้นำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันคนละครึ่ง เป็นเรื่องการแบ่งสินสมรสเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในครอบครัว โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ต่อกัน เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการขอออกคำบังคับ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความย่อมมีสิทธิร้องขอให้ออกคำบังคับได้
เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การแบ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 คำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมเป็นอันสิ้นผลไปโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับใหม่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไปได้ รวมถึงกรณีที่หากศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีเดิมและผลแห่งคำพิพากษาจำต้องมีการบังคับคดีให้แบ่งสินสมรสระหว่างกันอีก จำเลยที่ 1 หรือโจทก์ย่อมสิทธิขอออกคำบังคับใหม่เพื่อให้มีการบังคับคดีต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7907/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงแปลงหนี้หลังคำพิพากษาตามยอม: ศาลไม่รับรู้หากมิได้ทำต่อหน้าศาล
ข้อตกลงในการชำระหนี้ที่คู่ความทำขึ้นใหม่แตกต่างจากข้อตกลงในการชำระหนี้ที่คู่ความกำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมไปแล้วนั้น เมื่อมิได้กระทำต่อหน้าศาล ศาลไม่รับรู้ข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้น หากปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัด ศาลย่อมออกหมายบังคับคดีตามที่โจทก์ร้องขอได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6476/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับคดีลูกหนี้ชั้นต้น - บังคับจำนองทรัพย์สิน - การยึดทรัพย์สินเพิ่มเติม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ 3,719,572.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปีของต้นเงิน 3,355,338.18 บาท นับแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระ โจทก์ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษานั้นได้โดยบังคับจำนองเอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ถ้ายังไม่พอชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิดำเนินการบังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนกว่าจะครบถ้วนได้ ไม่จำเป็นต้องระบุในคำพิพากษาว่าหากบังคับจำนองเอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 แล้วได้เงินไปพอชำระหนี้ ให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6267/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ค่าเช่าซื้อและการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เมื่อจำเลยรับเงินชำระหนี้แล้ว
ศาลพิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน การบังคับตามคำพิพากษาต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุในคำพิพากษา โดยโจทก์ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจำเลยก่อน หากไม่สามารถคืนได้จึงค่อยใช้ราคาแทน ระหว่างการบังคับคดีโจทก์นำเงินไปวางศาลชำระราคารถแทนพร้อมค่าเสียหายตามคำพิพากษาทั้งหมด จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่รับเงินที่วางได้ แต่จำเลยกลับขอรับเงินดังกล่าวเท่ากับยอมรับถึงการบังคับคดีในขั้นตอนที่ต่างจากการส่งมอบรถยนต์คืน และถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว แม้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปแล้ว แต่การที่จำเลยยอมรับชำระราคารถยนต์ถือได้โดยปริยายว่าจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์โดยผลของการชำระหนี้ดังกล่าว แม้ว่ารถยนต์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ด้วยการส่งมอบ แต่รถยนต์เป็นพาหนะที่มีกฎหมายควบคุม การนำไปใช้ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีให้ถูกต้องก่อนตาม พ.ร.บ.รถยนต์ฯ มาตรา 6 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ได้
ปัญหาว่าการที่จำเลยรับเงินที่โจทก์วางศาลแล้วต้องมีหน้าที่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6267/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษา: การยอมรับชำระราคาถือเป็นการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์
การบังคับคดีต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุในคำพิพากษา เมื่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นระบุให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่จำเลย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน โจทก์ก็ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ไปตามลำดับที่ระบุไว้ เมื่อในระหว่างการบังคับคดีในคดีเดิมจำเลยได้ขอรับเงินที่โจทก์นำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยแล้ว เท่ากับยอมรับถึงการบังคับคดีในขั้นตอนที่ต่างจากการส่งมอบรถยนต์คืนและถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว และแม้สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันไปแล้ว แต่การที่จำเลยยอมรับชำระราคารถยนต์ก็ถือได้โดยปริยายว่าจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้แก่โจทก์โดยผลของการชำระหนี้ แม้ว่ารถยนต์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ด้วยการส่งมอบ แต่รถยนต์เป็นพาหนะที่มีกฎหมายควบคุม การนำไปใช้ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีให้ถูกต้องก่อนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6 โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทให้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6193/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกู้ยืมเงินที่ดินสินสมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส การบังคับคดีเฉพาะหนี้ของลูกหนี้ไม่กระทบสิทธิคู่สมรส
ป.พ.พ. มาตรา 1476 (4) มุ่งหมายให้การให้กู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมที่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายในการจัดการสินสมรส การกู้ยืมเงินมิใช่ให้กู้ยืมเงินจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
การบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหากมิใช่หนี้ร่วม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีได้เพียงสินสมรสในส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น มิได้กระทบกระเทือนสินสมรสในส่วนของคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษา การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ที่ดินสินสมรส จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมสัญญากู้ยืมระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับลูกหนี้ตามคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5904/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-อำนาจฟ้อง: การโอนทรัพย์ชำระหนี้ไม่กระทบคำพิพากษาเดิม ศาลไม่รับฟ้องขอระงับหนี้
ในคดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการบังคับคดี โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วก่อนวันนัดสืบพยาน แต่จำเลยไม่ถอนฟ้องตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวหากจะพึงมีก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องยกขึ้นว่ากล่าวกับจำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่เป็นเหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้งดการบังคับคดีได้ ดังนี้ คดีก่อนศาลชั้นต้นจึงยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วจริงหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 ด้วยเช่นกัน
คำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์ให้ต้องชำระหนี้แก่จำเลยตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา หากโจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อนจริงโจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อความเสียหายใดๆ อันเกิดจากการผิดข้อตกลงชำระหนี้ แต่โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นอันระงับ ให้งดการบังคับคดี และบังคับให้จำเลยแจ้งถอนการยึดทรัพย์หาได้ไม่ เพราะจำเลยมีสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนซึ่งผูกพันโจทก์
of 176