คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 271

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,756 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7128/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ประธานขาดอายุความ และการคิดดอกเบี้ยตามสัญญาจำนอง
ทรัพย์จำนองถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีอื่นนำยึดออกขายทอดตลาดโดยติดจำนอง จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์ติดจำนองดังกล่าว ส่วนคดีที่โจทก์ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้จำนองศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดโจทก์มิได้บังคับคดีจนล่วงเลย 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์ย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่การจำนองหาระงับสิ้นไปไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (1) (3) เพราะมิใช่กรณีหนี้ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความหรือผู้จำนองหลุดพ้น การจำนองจึงยังมีอยู่โจทก์จึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนอง แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 เมื่อจำเลยซื้อทรัพย์ติดจำนอง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับจำนองแก่จำเลยจากทรัพย์นั้นได้ และตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย (2) ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ (3) ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนอง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในการบังคับจำนองได้ เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองมีข้อตกลงว่าผู้จำนองยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในการบังคับจำนองทรัพย์พิพาทได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญาจำนองได้ แม้จำเลยไม่ใช่ผู้กู้และมิได้เป็นคู่สัญญาจำนองกับโจทก์ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6266/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยในการขยายระยะเวลาบังคับคดีตามสัญญาประกัน: การเปลี่ยนแปลงกฎหมายและการมีสำนวนค้างจำนวนมาก
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ผู้ประกันผิดสัญญาไม่ส่งตัวจำเลยตามกำหนดนัด ศาลสั่งปรับผู้ประกันให้ชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับ ครบกำหนดระยะเวลาบังคับคดีสิบปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ในวันที่ 21 มีนาคม 2548 ในขณะที่ผู้ประกันผิดสัญญาประกันพนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (8) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการบังคับคดี ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับคดีตามสัญญาประกันตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 34 โดยให้เพิ่มเติมความเป็นวรรคสองของมาตรา 119 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 กำหนดให้อำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกันเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ร้องซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมนับแต่วันดังกล่าว เมื่อปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องต้องตรวจสอบสำนวนที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีทั้งหมด และปรากฏว่ามีสำนวนที่ค้างการพิจารณาที่กรมบังคับคดีจำนวนมาก ประกอบกับคดีนี้ครบกำหนดระยะเวลาบังคับคดีในวันที่ 21 มีนาคม 2548 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษ นับแต่ผู้ร้องมีอำนาจและหน้าที่ในการบังคับคดี แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีเมื่อสิ้นระยะเวลาบังคับคดีแล้วเป็นเวลานาน 4 ปีเศษ ก็เป็นเพราะมีสำนวนค้างการบังคับคดีเป็นจำนวนมาก ผู้ร้องจึงไม่อาจตรวจสอบได้ด้วยความรวดเร็ว ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ประกอบกับเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะออกคำสั่งขยายระยะเวลาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5645/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: การบังคับคดีตามข้อตกลง, ห้ามใช้วิธีขายทอดตลาด
โจทก์และจำเลยทั้งสามทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยทั้งสามยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องและตกลงร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามตกลงชำระหนี้โจทก์โดยนำทรัพย์จำนองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน หากผิดนัด ยินยอมให้โจทก์ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ทันทีเพียงประการเดียว ไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่ามีการตกลงกันให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ได้สองวิธีคือ นำทรัพย์จำนองตีราคาชำระหนี้ หรือนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ การที่สัญญาระบุว่าจำเลยทั้งสามรับว่าเป็นหนี้และตกลงร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ก็เป็นเพียงการยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้มูลหนี้เดิมระงับ โจทก์และจำเลยทั้งสามต้องผูกพันกันตามมูลหนี้ใหม่โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีโดยถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โจทก์หามีสิทธิเลือกบังคับคดีด้วยวิธีการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมแก่โจทก์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5502/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้ซื้อทรัพย์จากการบังคับคดีในการขอให้ออกจากอสังหาริมทรัพย์ และระยะเวลาการบังคับคดีต่อเนื่อง
โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา การที่ผู้ซื้อทรัพย์ดำเนินการบังคับคดีต่อเนื่องจากโจทก์ จึงไม่ต้องยื่นคำขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติไว้
ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี บัญญัติว่า "เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอาศัยอยู่ และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อทรัพย์ชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน..." คดีนี้ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิยื่นคำขอต่อศาลให้ออกคำบังคับให้จำเลยที่ 3 และบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์พิพาท โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่อันเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประกันและการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้าม
ผู้ประกันทั้งสองยื่นคำร้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 ว่า ผู้ประกันทั้งสองไม่ได้ผิดสัญญาประกันเพราะไม่ได้รับหมายนัดให้ส่งตัวจำเลย ขอให้ไต่สวนคำร้องในการส่งหมายนัดและงดปรับผู้ประกันทั้งสองศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน คดีถึงที่สุด การที่ผู้ประกันทั้งสองมายื่นคำร้องครั้งใหม่นี้อ้างว่า คำสั่งปรับผู้ประกันทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะอ้างเหตุใหม่ก็ตามแต่ก็เป็นเหตุที่สามารถอ้างได้ตั้งแต่ยื่นคำร้องครั้งแรกและประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก็เป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคำสั่งปรับผู้ประกันทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และถึงที่สุดไปแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 เมื่อศาลมีคำสั่งบังคับตามสัญญาประกันแล้ว ถ้าผู้ประกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ถือว่าผู้ประกันเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกัน จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมที่จะต้องดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญา แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติวิธีการบังคับผู้ประกันไว้ ทั้งไม่มีกฎหมายอื่นใดบัญญัติไว้เป็นพิเศษ กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 271 แห่ง ป.วิ.พ. ผู้ที่จะบังคับคดีชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งศาลได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่ง ไม่ใช่ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่จำเลยถูกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ประกันทั้งสองชำระค่าปรับภายใน 30 วัน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2548 โดยแจ้งคำสั่งทางไปรษณีย์ตอบรับให้ผู้ประกันทั้งสองทราบแล้ว วันที่ 27 พฤษภาคม 2548 ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลจังหวัดอุบลราชธานีได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีผู้ประกันทั้งสอง ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2552 ป. ผู้รับมอบอำนาจจากหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องของผู้ประกันทั้งสอง ถือได้ว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้บังคับคดีผู้ประกันทั้งสองตามคำสั่งศาลภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11069/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 และผลกระทบต่อความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องผ่อนชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2537 โจทก์จะขอบังคับคดีได้หลังวันที่ 31 กรกฎาคม 2537 ไปแล้ว กำหนดเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ย่อมเริ่มนับแต่วันที่โจทก์อาจขอดำเนินการบังคับคดีได้ คือวันที่ 1 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนดภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 แม้ปรากฏว่า จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 เป็นผลให้แตกต่างไปจากคำพิพากษาตามยอมก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อตกลงนอกศาลของคู่ความในชั้นบังคับคดีไม่อาจส่งผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาและกำหนดเวลาของการบังคับคดีแต่อย่างใด อีกทั้งกำหนดเวลาของการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ไม่ใช่อายุความ ดังนี้การที่โจทก์ไปยึดทรัพย์ของลูกหนี้มาชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 จึงไม่ทำให้กำหนดเวลาบังคับคดีสะดุดหยุดลงหรือขยายออกไปได้อีก โจทก์มีสิทธิบังคับคดีสำหรับหนี้ตามคำพิพากษาที่ยังค้างของ จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกำหนด 10 ปี คือภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 และเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับเอากับ จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอีกต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 จำเลยทั้งสองและ ส. ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 698

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9823/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีต้องดำเนินการให้ครบถ้วนภายใน 10 ปี การของดการยึดทรัพย์ถือว่ายังไม่ได้บังคับคดี
ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของการบังคับคดีให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี ประการแรก เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ประการที่สอง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงหรือแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว ประการที่สาม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาบ้าง คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 506,425 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ เฉพาะจำเลยที่ 4 ให้รับผิดในต้นเงินไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยเมื่อคิดคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 25 พฤษภาคม 2536) ต้องไม่เกิน 40,344 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2547 แต่ในวันดังกล่าวโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการยึดทรัพย์ดังกล่าวไว้ก่อนเพราะชื่อสถานที่ไม่ตรงกับจำเลยที่ 3 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ได้ยึดทรัพย์ดังกล่าว ดังนี้ แม้โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุดก็ตาม แต่การนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ แต่ของดการยึดทรัพย์ย่อมเท่ากับไม่มีการยึดทรัพย์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 แล้ว เมื่อโจทก์ยื่นคำแถลงใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2550 ซึ่งพ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6724/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับคดีของผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด ไม่ผูกพันระยะเวลาบังคับคดีตามมาตรา 271
กรณีที่โจทก์ในฐานะผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ร้องขอให้ศาลออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา อันเป็นขั้นตอนการบังคับคดีภายหลังจากโจทก์ฝ่ายชนะคดีได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยฝ่ายแพ้คดีภายในระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แล้ว จึงมิใช่กรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาและมิใช่การใช้สิทธิของโจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลย จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีที่ให้นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 271 มาบังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5088/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการสิ้นสิทธิเรียกร้อง กรณีจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา และโจทก์ละเลยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนด
ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2538 ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยคดีดังกล่าวโอนที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์คดีดังกล่าวเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมบางส่วน ซึ่งจำเลยที่ 2 จะจัดการโอนให้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันที่ทำสัญญา หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น เป็นข้อตกลงที่ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนกัน เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ผู้ร้องต้องดำเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 การที่ผู้ร้องไปดำเนินการเพียงขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน แต่ขอให้รอเรื่องไว้ก่อนโดยไม่ยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดินตลอดมา จึงยังถือไม่ได้ว่าได้มีการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาแล้ว เมื่อผู้ร้องไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้จนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ร้องจึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้อีกต่อไป ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่ใช่ผู้ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลักประกันการปล่อยชั่วคราว: ศาลสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินได้ถือว่าบังคับคดีแล้ว แม้เจ้าพนักงานยังมิได้ดำเนินการ
ผู้ประกันขอปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 โดยนำสมุดเงินฝากประจำของธนาคาร ก. มาเป็นหลักประกัน เมื่อผู้ประกันผิดสัญญาประกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้มีหนังสือแจ้งธนาคาร ก. ถอนเงินฝากมาชำระค่าปรับ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้บังคับเอาแก่ทรัพย์ที่เป็นหลักประกันแล้ว เพียงแต่อยู่ในขั้นตอนดำเนินการให้ธนาคารจัดส่งเงินตามสมุดเงินฝากประจำดังกล่าวมาชำระค่าปรับเท่านั้น แม้เจ้าพนักงานศาลมิได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลชั้นต้นก็เป็นความบกพร่องของเจ้าพนักงานศาลซึ่งเป็นเรื่องทางธุรการ กรณีไม่ต้องบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องออกหมายบังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 อีก ดังนี้ แม้จะล่วงเลยระยะเวลามากว่า 10 ปี ก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่มีเหตุคืนหลักประกันให้ผู้ประกัน
of 176