คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 271

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,756 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดิน - การขายทอดตลาด - สิทธิของผู้ซื้อโดยสุจริต - การเพิกถอนโฉนด - สิทธิครอบครอง
กระบวนวิธีการบังคับคดีในขั้นตอนต่าง ๆ นั้น หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวเห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนต่อกฎหมาย บุคคลดังกล่าวย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควรได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง อันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว เมื่อโจทก์อ้างว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงและโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบ โจทก์จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลในคดีเดิมหรือศาลที่ดำเนินการออกหมายบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบ มาตรา 271 โจทก์หามีอำนาจที่จะฟ้องเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นคดีใหม่ได้ไม่ ถึงแม้ว่าคำฟ้องของโจทก์จะเกี่ยวข้องกับประเด็นการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทด้วยก็ตาม ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3. ก.) เลขที่ 808 ที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ต้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์และโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมานานประมาณ 20 ปีเศษ ก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนก็ยังคงถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาท อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต จึงได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ประกอบกับได้ความว่าจำเลยที่ 6 ผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดเพิ่งทราบว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหลังจากจำเลยที่ 6 ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล สิทธิในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 6 จึงไม่เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 จำเลยที่ 6 ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ กรณีไม่อาจบังคับตามคำขอให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1467/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องบังคับตามความเป็นจริงของพื้นที่ครอบครองจริง ไม่ยึดติดกับรูปแผนที่พิพาทที่ไม่ถูกต้อง
ในชั้นเดิมที่ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลชั้นที่สุดโดยตรง เพื่ออธิบายว่ากรณีจะต้องบังคับตามรูปแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.20 หรือต้องบังคับให้มีเนื้อที่ 326 ตารางวา เพื่อที่จะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง แต่คำร้องในชั้นนี้เป็นการร้องขอให้ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นกำหนดวิธีการบังคับคดีและทำคำวินิจฉัยชี้ขาดอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบมาตรา 360 ตามลำดับชั้นศาล จึงเป็นคนละกรณีกัน คำร้องในครั้งก่อนศาลฎีกายังไม่ได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวด้วยการบังคับคดีในการรังวัดแบ่งแยก การยื่นคำร้องของจำเลยทั้งสองในชั้นนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
การบังคับคดีให้เป็นไปโดยถูกต้องตรงความเป็นจริง ไม่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาอันถึงที่สุดในสาระสำคัญซึ่งจะเป็นผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2774/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาเพิกถอนการขายทอดตลาดที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษา
กรณีที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นหลักประกันเดียวกับหนี้ของจำเลยที่มีต่อโจทก์เดียวกันและโจทก์ยื่นฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์และศาลแขวงขอนแก่น เมื่อปรากฏว่าศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นศาลที่มีคำพิพากษาและออกหมายบังคับคดี แม้ทรัพย์จำนองจะตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นและเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดกาฬสินธุ์มีหนังสือขอให้ศาลจังหวัดขอนแก่นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์และทำการขายทอดตลาดแทน และต่อมาศาลแขวงมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด โจทก์ต้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และศาลจังหวัดกาฬสินธุ์มีอำนาจพิจารณา ทำคำวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ที่บัญญัติว่า "คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่กำหนดไว้ในมาตรา 271" และมาตรา 271 บัญญัติให้ ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีซึ่งมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีตามมาตรา 276 และมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใดอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น คือศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เพราะขณะมีการยึดทรัพย์คดีนี้ศาลแขวงขอนแก่นยังมิได้มีคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2674/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษา: ศาลต้องแจ้งคู่ความเพื่อคัดค้านก่อนออกคำสั่ง
ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 271 กำหนดว่า ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น เป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี มีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีและมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น ดังนั้น กระบวนการบังคับคดีให้เป็นไปคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทุกชั้นศาล จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นในชั้นต้น และมาตรา 357 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลไม่ได้กำหนดให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นได้" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะบริบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนให้ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้บุคคลดังกล่าวนั้นจดทะเบียนไปตามคำสั่งศาล" ดังนั้นโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นการบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาของศาลกำหนดให้จำเลยทั้งสองกระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 357 อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย และศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม คำร้องของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 357 นั้น เป็นคำร้องที่ ป.วิ.พ. มิได้บัญญัติว่าให้ทำได้แต่ฝ่ายเดียวโดย ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) บัญญัติห้ามมิให้ศาลทำคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ โดยมิให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสคัดค้านก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4127/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ไม่ชัดเจน ศาลอนุญาตบังคับคดีได้
คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ระบุว่า โจทก์ยอมชำระเงินให้จำเลย 2,000,000 บาท โดยได้ชำระให้จำเลยไปก่อนแล้ว 300,000 บาท และจะโอนให้จำเลยตามบัญชี... ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2556 อีก 700,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 1,000,000 บาท จะชำระให้จำเลยภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้โอนขายที่ดินพิพาทแล้ว แม้โจทก์จะชำระเงินให้จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปแล้วรวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท แต่การที่โจทก์จะชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 1,000,000 บาท นั้น มีข้อตกลงว่าโจทก์จะชำระภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้โอนขายที่ดินพิพาทแล้วตามสัญญา ข้อตกลงการชำระเงินในสัญญาส่วนนี้จึงตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่โจทก์จะต้องโอนขายที่ดินพิพาทเสียก่อนจึงจะชำระเงินส่วนนี้ให้แก่จำเลย แต่เงื่อนไขดังกล่าวนี้มิได้กำหนดระยะเวลาว่าโจทก์จะต้องขายที่ดินพิพาทเมื่อใด ซึ่งหากโจทก์ไม่ดำเนินการจนล่วงเลยกำหนดเวลาบังคับคดี โจทก์ก็อาจไม่ต้องจ่ายเงินส่วนนี้ให้แก่จำเลย ที่โจทก์อ้างในคำแก้ฎีกาว่า ผู้ซื้อที่ดินต้องการให้โจทก์ทำการรังวัดและออกโฉนดที่ดินก่อนนั้น ก็ได้ความตามคำแก้ฎีกาของโจทก์เองว่าโจทก์เพิ่งดำเนินการเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมกว่า 5 ปี ส่วนที่อ้างว่าการออกโฉนดที่ดินที่ติดกับลำน้ำอิงมีข้อขัดข้องเรื่องการกำหนดแนวเขตที่ดิน จึงสามารถออกโฉนดที่ดินได้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 นั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์พยายามปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยพลัน พฤติการณ์ส่อว่าหากโจทก์ขายที่ดินพิพาทเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยไม่ชักช้าอาจเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงปล่อยเวลาให้ผ่านไปจนเนิ่นนานโดยไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษา กรณีจึงเป็นการไม่แน่ชัดว่าโจทก์จะสามารถขายที่ดินพิพาทได้หรือไม่ หรือจะขายที่ดินนั้นได้เมื่อใดเพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่มิใช่ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่แท้กำหนดเวลาชำระหนี้โดยการกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้จึงไม่แน่นอน ผลเท่ากับเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ขายที่ดินพิพาทและจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 18 ตุลาคม 2561 แจ้งให้โจทก์ดำเนินการขายที่ดินพิพาท แต่โจทก์เพิกเฉย จึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยจึงมีสิทธิดำเนินการเพื่อให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมได้
จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อมิให้จำเลยได้รับชำระหนี้ตามที่ตกลงกัน จำเลยมีความประสงค์จะบังคับคดีเพื่อให้จำเลยได้รับชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 1,000,000 บาท ขอให้ศาลนัดไต่สวนคำร้องเพื่อมีคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดี หรือออกหมายบังคับคดีเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี เมื่อศาลได้มีหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตามอำนาจหน้าที่ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ที่กำหนดให้อำนาจหน้าที่ในการบังคับคดีเป็นอำนาจของศาล ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น เป็นเพียงเจ้าพนักงานที่จะต้องปฏิบัติการเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า ข้อตกลงข้อ 2 ที่ระบุว่า ส่วนที่เหลืออีก 1,000,000 บาท จะชำระให้จำเลยภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการโอนให้แก่บุคคลใด เงื่อนไขระยะเวลาดังกล่าวจึงไม่เริ่มนับ จะถือว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงไม่ได้ ให้ยกคำร้องขอยึดทรัพย์ของจำเลย อันเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีพิจารณาวินิจฉัยว่าการออกหมายบังคับคดีนั้นไม่ถูกต้องและไม่ดำเนินการยึดทรัพย์ตามที่จำเลยขอบังคับคดีโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย ซึ่งกระทำมิได้ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าหมายบังคับคดีมีข้อบกพร่องหรือผิดพลาด ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องรายงานศาลเพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขหมายบังคับคดีตามที่เห็นสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคหนึ่ง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยกคำร้องขอยึดทรัพย์ของจำเลย โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ยังไม่ผิดนัดตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ อันเป็นการทบทวนคำสั่งศาลในการออกหมายบังคับคดีจึงไม่อาจกระทำได้ จึงต้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงานบังคับคดีเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6506/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ระยะเวลาบังคับคดีสัญญาประกัน: ความรับผิดทางแพ่งอยู่ภายใต้กำหนดเวลา 10 ปีตามกฎหมาย
ความรับผิดตามสัญญาประกันเป็นความรับผิดทางแพ่ง และค่าปรับที่ศาลสั่งให้ผู้ประกันชำระกรณีผิดสัญญาประกันก็เข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกัน และออกหมายแจ้งคำสั่งให้ผู้ประกันชำระค่าปรับภายใน 30 วัน การที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิบังคับคดีย่อมต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งกำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่ว่าจะมีสิทธิขอบังคับคดีเมื่อใดก็ได้โดยไม่มีเวลาจำกัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3230/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีที่ชอบด้วยกฎหมายหลังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กลับ การถอนการบังคับคดี และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เพื่อขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 211/2546 ของศาลแพ่ง เป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โดยขณะนำยึดทรัพย์สินนั้นคำพิพากษาของศาลแพ่งยังมีผลผูกพันคู่ความอยู่และยังไม่ได้ถูกกลับโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องคดีดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีถือได้ว่าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) และบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดี แม้ศาลแพ่งจะได้ออกหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ชอบที่จะถอนการบังคับคดีโดยโจทก์หรือจำเลยไม่ต้องร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลที่สั่งบังคับคดีไว้ และแม้เมื่อยึดทรัพย์แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี อันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีเป็นผู้ชำระและจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีไม่ได้ชำระก็เป็นเรื่องระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขอหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยเพื่อชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 ตรี ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการถอนการบังคับคดีตามมาตรา 295 (3) เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 553/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความบังคับคดีสัญญาประกัน: ศาลยืนตามคำวินิจฉัยเดิมว่ายังไม่เกินอายุความ หากจำเลยยังอยู่ในอายุความทางอาญา
ผู้ประกันที่ 1 ฎีกาว่า การบังคับคดีเกี่ยวกับสัญญาประกันต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ขอให้ศาลฎีกาคืนหลักประกันให้แก่ผู้ประกันที่ 1 นั้น เป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับการบังคับตามสัญญาประกัน โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ประกันมีหน้าที่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลไปจนกว่าจะครบกำหนดอายุความทางอาญา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งปรับผู้ประกันและออกหมายจับจำเลยที่ 2 โดยระบุให้จับตัวส่งศาลชั้นต้นภายในอายุความ 15 ปี นับจากวันที่ศาลชั้นต้นออกหมายจับและปรับผู้ประกัน จนถึงวันที่ผู้ประกันที่ 1 ยื่นคำร้องนี้มาจึงยังอยู่ภายในอายุความทางอาญาดังกล่าว ดังนั้น ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลชั้นต้น ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีแก่ผู้ประกันตามคำสั่งของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ประกันที่ 1 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม ต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่ตกลงกันไว้ หากขายทอดตลาดไม่ได้ โจทก์ต้องรอจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลา
เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและโจทก์ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงจะมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ขายได้สุทธิมาชำระหนี้ที่ยังค้างชำระได้ภายในสิบปีนับแต่วันถัดจากวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม หากทรัพย์สินจำนองยังขายมิได้ โจทก์ย่อมไม่อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย เนื่องจากขัดต่อขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมที่โจทก์และจำเลยตกลงกันโดยสมัครใจและบังคับต่อกันได้ โดยความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและชอบด้วยกฎหมายสารบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ซึ่งกฎหมายวิธีสบัญญัติคือ ป.วิ.พ. มาตรา 138 ก็ให้ศาลพิพากษาไปตามข้อตกลงนั้นได้บัญญัติรับรองไว้ ดังนี้ การบังคับคดีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งเป็นบทมาตราหลัก คือต้องบังคับคดีตามคำบังคับที่ออกตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมซึ่งผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6617-6619/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีเกินกำหนดระยะเวลา และการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มีทุนทรัพย์น้อยกว่า 50,000 บาท
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 คู่ความไม่อุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอให้ส่งคำบังคับแก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 หลังจากระยะเวลาในการบังคับคดีล่วงเลยมานานถึง 9 ปีเศษ ใกล้จะพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้วจึงนับว่าเป็นความบกพร่องอันเป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยเสียแต่เนิ่น ๆ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีของโจทก์ไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่มีเหตุสุดวิสัย เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าไม่มีเหตุดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้อง อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่ศาลควรอนุญาตขยายระยะเวลาบังคับคดีให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2557 มีเหตุที่จะขยายระยะเวลา เนื่องจากรายงานผลการส่งคำบังคับยังไม่เข้าสำนวน โจทก์จึงสามารถยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีได้และตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โจทก์สืบทราบว่าจำเลยทำงานที่บริษัท บ. ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาบังคับคดีเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์แม้จะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคดีที่คู่ความพิพาทกัน ก็ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติเช่นกัน
of 176