คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นิรัตน์ จันทพัฒน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 47 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2295/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายทรัพย์มรดกโดยผู้จัดการมรดกที่ไม่ได้รับความยินยอมจากทายาท
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ผู้ตาย ซึ่งมิได้ทำพินัยกรรมไว้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิและหน้าที่เพียงทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์มรดกโดยทั่วไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันได้แก่การแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมทุกคนเท่านั้น แม้ในการจัดการมรดกทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้ทายาท จำเลยที่ 1 อาจทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายมรดกได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท แต่ต้องเป็นการกระทำเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จำเลยที่ 1 ไม่อาจกระทำการใด ๆ ต่อทรัพย์มรดกโดยประการอื่นได้ การที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วเบียดบังเอาเงินที่ขายได้เป็นประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือไม่ได้ว่าเป็นการจัดการมรดกโดยทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หากแต่เป็นการกระทำใด ๆ กับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยทุจริต แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำโดยอาศัยสิทธิการเป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่อาจกระทำได้ หากปราศจากความยินยอมของทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 3 แม้จะรับฟังว่าซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เพราะจำเลยที่ 3 ซื้อจากจำเลยที่ 1 ซึ่งขายที่ดินพิพาทแล้วเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น อันมิใช่เป็นการทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปตามที่กฎหมายให้อำนาจผู้จัดการมรดกให้กระทำได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขาย การที่โจทก์และ อ. ซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถือเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้มาซึ่งที่ดินพิพาทโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 3 ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงมีเหตุให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3521/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เรือสนับสนุนการประมงต้องปฏิบัติตามกฎหมายการตรวจเรือ แม้มีการเปลี่ยนแปลงประเภทภายหลังกำหนด
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 4 มีข้อกำหนดให้เจ้าของเรือประมงและเรือที่เกี่ยวข้องกับการประมงและเรือสนับสนุนการประมงต้องนำเรือมาให้คณะทำงานตรวจเรือตรวจสอบและทำเครื่องหมายที่แสดงอัตลักษณ์เรือภายในเวลาที่กำหนด ต่อมามีประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 101/2560 เรื่อง การตรวจสอบและทำเครื่องหมายที่แสดงอัตลักษณ์และการแจ้งรายการเกี่ยวกับเรือตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2560 โดยกำหนดให้เจ้าของ ผู้มีกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองเรือหรือผู้รับมอบอำนาจเจ้าของเรือตามรายชื่อแนบท้ายประกาศกรมเจ้าท่าฉบับนี้ อันรวมถึงจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเรือมายื่นคำขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรือและทำเครื่องหมายแสดงอัตลักษณ์หรือมาแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับเรือ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเรือแอลพีเอส 5 เรือมีน้ำหนัก 166 ตันกรอส ประเภทเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต ใช้บรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีจุดวาบไฟสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส ได้ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงต้องมายื่นคำขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรือและทำเครื่องหมายแสดงอัตลักษณ์เรือ หรือมาแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับเรือ การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2787/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็ก และการบังคับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา
การยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่คดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1547/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับสัญญาจ้างก่อสร้าง: การยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขทำให้สิทธิในการเรียกร้องลดเบี้ยปรับขาดอายุตามกฎหมาย
จำเลยหักเงินค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าปรับรายวันในการส่งมอบงานล่าช้าตามสัญญาจ้าง แม้จะได้ความว่าโจทก์เคยทำหนังสือร้องขอให้จำเลยทบทวนแก้ไขสัญญาจ้าง กรณีกำหนดอัตราค่าปรับเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการโต้แย้งไม่ยินยอมให้จำเลยนำค่าปรับรายวันและค่าเสียหายตามสัญญาจ้างหักออกจากเงินค่าจ้างของโจทก์ จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุโดยใช้ข้อบังคับของจำเลยและระเบียบซึ่งกำหนดเรื่องค่าปรับรายวันตามสัญญาจ้าง เมื่อโจทก์ทราบอัตราค่าปรับรายวันอัตราร้อยละ 0.20 ของจำนวนค่าจ้างก่อนทำการประมูลงาน เท่ากับว่าโจทก์ยอมรับข้อกำหนดในเรื่องค่าปรับรายวันในอัตราดังกล่าว จึงไม่มีเหตุที่จะปรับลดค่าปรับรายวันให้แก่โจทก์ การที่โจทก์รับเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าปรับรายวันและค่าเสียหายต่าง ๆ จากจำเลยโดยไม่ได้โต้แย้ง ย่อมถือว่าโจทก์ได้ใช้เงินค่าปรับหรือเบี้ยปรับแก่จำเลยแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดเบี้ยปรับจึงเป็นอันขาดไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1215/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่, ค่าเสียหาย, และผลกระทบจากคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย
ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ บริษัท อ. เป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนตามความในมาตรา 1273/3 แห่ง ป.พ.พ. บริษัท อ. ย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนโดยผลแห่งกฎหมาย และเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 6 ว่าด้วยการถอนทะเบียนบริษัทจำกัดร้าง มิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วนที่ 8 ซึ่งจะต้องดำเนินการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 5 แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อ. แต่เมื่อกรณีบริษัทร้างมิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท อ. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัท อ. อย่างไรก็ตาม ตามคำฟ้อง นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลแห่งการทำละเมิดด้วยการครอบครองและนำที่ดินพิพาทของโจทก์พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ด้วย ซึ่งหากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลแห่งการทำละเมิดดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม
โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดด้วยการครอบครองที่ดินพิพาทและนำที่ดินพิพาทออกให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่มีสิทธิและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จำเลยทั้งสามมิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ครอบครอง แต่อ้างว่าการครอบครองอาศัยสิทธิของบริษัท อ. ส่วนการนำที่ดินพิพาทออกให้เช่ากระทำในฐานะตัวแทนบริษัท อ. จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อศาลวินิจฉัยว่า บริษัท อ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิบริษัท อ. อีกต่อไปได้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นส่วนตัว
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 อำนาจในการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) และมาตรา 25 ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องขอให้บังคับขับไล่ รื้อถอนและเรียกค่าเสียหาย ซึ่งส่วนที่มีคำขอบังคับขับไล่และรื้อถอนเป็นหนี้กระทำการมิใช่คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 22 (3) แต่ส่วนที่มีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าเสียหายในส่วนที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาด จึงเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย โจทก์จะต้องนำหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 27 และมาตรา 91 และโจทก์จะได้รับชำระหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้เพียงใดย่อมเป็นไปตามกระบวนการในคดีล้มละลาย เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่เข้าว่าคดีในส่วนนี้ การพิจารณาคดีส่วนนี้ไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป ต้องจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนนี้ออกจากสารบบความ สำหรับค่าเสียหายนับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เป็นหนี้เงินที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นหนี้ที่โจทก์ไม่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดส่วนนี้ได้ แต่โจทก์จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้ได้เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลุดพ้นจากการล้มละลายและต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาภายหลังพ้นจากการล้มละลายเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8575/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบในคดีหมิ่นประมาท และขอบเขตการโต้แย้งดุลพินิจศาล
การกระทำของ น. ที่แอบนำเอาเครื่องบันทึกเสียงมาทำการบันทึกการสนทนาระหว่างจำเลยทั้งสองกับคู่สนทนา โดยจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าขณะที่ตนทำการสนทนาอยู่นั้น การสนทนาได้ถูกบันทึกลงไปในเครื่องบันทึกเสียงเรียบร้อยแล้ว ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของจำเลยทั้งสองอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ซึ่งต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดาจึงนำไปใช้บังคับแก่กรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ได้พยานหลักฐานนั้นมาจากการกระทำโดยมิชอบด้วย ส่วนจะมีเหตุยกเว้นให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบนั้นได้หรือไม่เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/1 อันเป็นข้อยกเว้นให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาด้วยวิธีการอันเกิดจากการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหมิ่นประมาท อันเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน และเป็นความผิดอันยอมความได้ พฤติการณ์ของความผิดในคดีจึงมิใช่เรื่องร้ายแรง ที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนโดยส่วนรวม ลักษณะแห่งคดียังอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งสองสามารถหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันสุจริตชอบด้วยกฎหมายมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองได้ การอนุญาตให้รับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ เท่ากับอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมในส่วนที่ตนนำสืบบกพร่องไว้ เพื่อจะลงโทษจำเลยทั้งสองแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลและกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป ประกอบกับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้แสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ มิใช่ผู้ที่จะต้องได้รับการลงโทษในทางอาญา หากศาลปฏิเสธไม่รับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ดังนี้ การรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวกลับจะเป็นผลเสียมากกว่า บันทึกเสียงการสนทนาและข้อความจากการถอดเทปจึงไม่อาจรับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และ 226/1
การโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองไม่พอฟังว่า จำเลยทั้งสองกล่าวถ้อยคำตามฟ้องอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้โจทก์ทั้งสองจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริงนั้นก็ยังต้องว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองด้วย เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4302/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องร้องผู้พิพากษาด้วยความเข้าใจผิดด้านข้อกฎหมาย และการฟ้องเท็จที่กระทบต่อเกียรติยศ
จำเลยบรรยายฟ้องในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามกระบวนพิจารณา ซึ่งรวมทั้งได้คัดใจความที่โจทก์ร่วมในฐานะผู้พิพากษามีคำสั่งในสำนวนความ แต่จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของโจทก์ร่วมในปัญหาข้อกฎหมายว่าการออกคำสั่งงดไต่สวนมูลฟ้องและมีคำพิพากษายกฟ้อง รวมทั้งคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ร่วมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงเป็นการระบุบทกฎหมายในฐานความผิดจากข้อเท็จจริงตามฟ้องมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงให้แตกต่างจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตามกระบวนพิจารณา แต่เป็นการยืนยันความเห็นที่แตกต่างในข้อกฎหมายตามความเข้าใจของจำเลย ไม่อาจถือว่าเป็นความเท็จ การฟ้องคดีอาญาของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 175จำเลยเป็นคู่ความในคดีและมีความรู้ทางกฎหมายพอสมควรย่อมทราบและเข้าใจถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีว่าโจทก์ร่วมใช้ดุลพินิจมีคำสั่งในคดีตามบทบัญญัติของกฎหมายมิใช่เป็นการมีคำสั่งโดยอคติและไม่ยุติธรรม แต่จำเลยกลับนำคดีมาฟ้องกล่าวหาโจทก์ร่วมว่า การที่โจทก์ร่วมมีคำสั่งงดไต่สวนมูลฟ้องและพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นั้น เป็นการกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมมีเจตนากระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่และข้อกล่าวหาในฟ้องย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่า การใช้ดุลพินิจของโจทก์ร่วมไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการบั่นทอนและลดคุณค่าในการพิจารณาพิพากษาคดีในหน้าที่ผู้พิพากษาของโจทก์ร่วม ทั้งทำให้ประชาชนทั่วไปซึ่งมิได้รู้ข้อเท็จจริงในเชิงลึกของคดี ขาดความเชื่อมั่นหรือเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรม การฟ้องคดีของจำเลยเป็นการฟ้องแกล้งกล่าวหาโจทก์ร่วมตามอำเภอใจโดยอาศัยเหตุที่จำเลยเสียประโยชน์ในผลแห่งคดี หาใช่เป็นการใช้สิทธิทางศาลตามปกติและโดยสุจริตไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตาม ป.อ. มาตรา 198

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนหุ้นของผู้ค้ำประกันเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้จากการถูกทำให้เสียเปรียบ
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 680 บัญญัติว่า "อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น" ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ไว้กับโจทก์ โดยสัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ชั้นต้นที่ไปขอสินเชื่อจากโจทก์ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์แล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ย่อมมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน ประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 237 มิได้บัญญัติว่า การที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้กระทำลงภายหลังจากลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้แล้วแต่ประการใด ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ผู้ค้ำประกันได้กระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ก็ย่อมใช้สิทธิเพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของนิติบุคคลอาคารชุด: เจ้าของร่วม/กรรมการต้องได้รับมอบอำนาจหรือศาลแต่งตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะการ
ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35 และมาตรา 36 (3) บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่งและให้ผู้จัดการเป็นผู้แทนนิติบุคคลอาคารชุด และตามข้อบังคับของโจทก์กำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลเป็นตัวแทนของโจทก์ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ โดยให้มีอำนาจใช้สิทธิเรียกร้องหรือดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ที่ทำละเมิดต่ออาคารชุดหรือทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ดังนั้น การฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการโจทก์ หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าของร่วมหรือกรรมการโจทก์ไม่ ส. เป็นเพียงเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์มิได้เป็นผู้จัดการโจทก์ ทั้งไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ ส. จึงไม่อาจใช้สิทธิในฐานะเจ้าของร่วมหรือกรรมการโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ หาก ส. เห็นว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ก็ต้องแจ้งให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการ การที่ ส. มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการแจ้งเรื่องให้โจทก์ดำเนินการแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย อันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของโจทก์ ถือได้ว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในเรื่องดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ยกมาปรับใช้แก่คดีและไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 โดย ส. ในฐานะเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์ต้องร้องขอให้ศาลแต่งตั้งตัวเองหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้แทนเฉพาะการเพื่อดำเนินการฟ้องร้องตลอดจนการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 75 แต่ ส. มิได้ร้องขอให้ศาลตั้งตัวเองเป็นผู้แทนโจทก์เฉพาะการ และฟ้องคดีแทนโจทก์เสียเอง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2563 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยไม่เป็นภริยาหรือสามีโดยชอบด้วยกฎหมาย
คำว่า "ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน" ตามบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก หมายถึงการเป็นภริยาหรือสามีกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว ลักษณะ 1 เรื่องการสมรส ซึ่งตาม มาตรา 1457 บัญญัติว่า "การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น" เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยจึงยังมิใช่ภริยาหรือสามีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 อายุไม่เกินสิบสามปี และในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 อายุเกินสิบสามปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปี จึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรกและวรรคสาม
of 5