คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 54 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 187 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14047/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงพิเศษเช่ารถยนต์: การหักค่าจ้างที่ไม่เข้าข่ายสวัสดิการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ทำธุรกิจแข่งกับจำเลย เนื่องจากขณะโจทก์ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงลูกความของบริษัท ด. โจทก์เชื่อโดยสุจริตใจว่าลูกความของบริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นลูกความของจำเลยอีกต่อไป เนื่องจากจำเลยโอนกิจการรวมถึงลูกความของจำเลยไปยังบริษัทนี้แล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้น ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าพยานโจทก์ จึงฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบได้ความว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนและจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โดยเปิดบริษัทที่ปรึกษากฎหมายแห่งใหม่และทำหนังสือเชิญชวนลูกความของจำเลยไปใช้บริการ อันเป็นการทำธุรกิจแข่งขันกับจำเลย ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าขณะโจทก์ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ลูกความของจำเลย ลูกความทั้งหมดของจำเลยโอนไปยังบริษัท ด. แล้วฟังไม่ขึ้น การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยเสียลูกค้า ขาดรายได้ เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ดังนั้นอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
โจทก์ตกลงให้จำเลยกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อไปเช่ารถยนต์ให้แก่โจทก์แล้วนำค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์ วันที่ 24 มีนาคม 2552 จำเลยทำสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งกับบริษัท ต. โดยมีข้อตกลงว่าให้บริษัท ต. ซื้อรถยนต์ตามคำร้องของจำเลยเพื่อให้จำเลยเช่ามีกำหนดเช่า 36 เดือน จำเลยนำค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์มาตลอดจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ประสงค์นำค่าเช่าไปชำระเอง แต่ก็ไม่นำไปชำระ บริษัท ต. ทวงถามค่าเช่ารถยนต์มายังจำเลย จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบแต่โจทก์ปฏิเสธไม่ชำระค่าเช่ารถยนต์อีกต่อไป ดังนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์เช่ารถยนต์มาใช้เอง แต่ให้จำเลยทำสัญญาเช่าแทนโจทก์โดยโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์ มิใช่กรณีจำเลยจัดสวัสดิการให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง แต่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงพิเศษเป็นการเฉพาะในลักษณะที่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนโจทก์ในการทำสัญญาเช่าและเป็นผู้นำค่าเช่ารถยนต์ไปชำระให้แก่ผู้ให้เช่าแทนโจทก์ จึงมิใช่ข้อตกลงหักค่าจ้างเพื่อชำระหนี้ที่เป็นสวัสดิการที่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือว่าโจทก์ยินยอมให้หักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์ตามมาตรา 76 (3) และมาตรา 77 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยมีสิทธิหักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์ได้ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10614/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ค่าเสียหายในคดีแรงงาน: การโต้แย้งดุลพินิจศาลชั้นต้นเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้าม
โจทก์อุทธรณ์ขอให้กำหนดค่าเสียหายมากกว่าคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง แม้จะอ้างแยกประเภทของค่าเสียหายมาในอุทธรณ์ด้วยก็ตาม แต่โดยสรุปแล้วก็เป็นการอุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหายที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงาน และศาลแรงงานกลางกำหนดให้แล้ว เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8732/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาอุทธรณ์คดีแรงงาน: ศาลยึดหลักความจำเป็นและประโยชน์แห่งความยุติธรรม มิใช่ความผิดพลาดของผู้ฟ้อง
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 บัญญัติให้อำนาจศาลแรงงานในการย่นหรือขยายระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 23 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้ และตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 ได้วางหลักเกณฑ์ว่าจะกระทำได้เมื่อมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หาได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะกระทำได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและต้องทำก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยเช่นที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 23 ไม่
ศาลแรงงานภาค 5 อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 แต่โจทก์ซึ่งทราบวันนัดฟังคำพิพากษาโดยชอบแล้วไม่มาศาล และเพิ่งมายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 16 มกราคม 2555 โจทก์อ้างว่าดำเนินคดีเองแต่ได้ปรึกษานิติกรศาลแรงงานภาค 5 มาโดยตลอด การที่โจทก์ไม่มาฟังคำพิพากษาและติดตามขอคัดคำพิพากษาหรือตรวจสอบรวมทั้งขอคำปรึกษาจากนิติกรศาลแรงงานภาค 5 ว่าคำพิพากษาศาลแรงงานให้อุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมายไปยังศาลฎีกาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง จึงเป็นความผิดหรือความบกพร่องของโจทก์เอง มิใช่เหตุความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ศาลแรงงานภาค 5 จะพึงขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3562/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์คดีแรงงานในข้อเท็จจริง และการไล่ออกเนื่องจากลักทรัพย์และฝ่าฝืนระเบียบ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการไว้เป็นการเฉพาะให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานได้เฉพาะในข้อกฎหมาย ไม่มีบทบัญญัติยกเว้นกรณีหนึ่งกรณีใดให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ จึงนำหลักการอุทธรณ์กรณีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างทำความเห็นแย้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง มาใช้กับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานไม่ได้
ตามวิธีปฏิบัติงาน เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ระบุการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์โดยสารแต่ละคันเติมด้วยยอดจำนวนเต็มหรือตามที่กำหนดในแต่ละสาย เมื่อครบจำนวนตามกำหนดพนักงานเติมน้ำมันจะดึงหัวจ่ายออกแล้วเก็บไว้ในที่เก็บและปิดฝาถังน้ำมันรถยนต์โดยสาร แสดงให้เห็นว่าน้ำมันที่ยังค้างอยู่ในหัวจ่ายเป็นน้ำมันของจำเลย แม้จะมีการตัดยอดจ่ายน้ำมันแล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีระเบียบให้ทิ้งน้ำมันดังกล่าว การที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานเติมน้ำมันเทน้ำมันที่ค้างอยู่ที่หัวจ่ายใส่ถังน้ำมันและเอาไว้เป็นส่วนตัวจึงเป็นการลักทรัพย์นายจ้างซึ่งเป็นความผิดอาญาและจงใจไม่ปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติงาน เป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 46 จำเลยมีอำนาจไล่โจทก์ออกได้ตามข้อบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9139/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างต้องมีเหตุผลอันสมควร ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
กรณีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ตามขอซึ่งน้อยกว่าสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน แม้ตามกฎหมายแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลแรงงานกลางจะต้องพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้" เมื่อปรากฏในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องว่า โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน แต่โจทก์ไม่ได้ขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่จะได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ตามขอจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นกรณีที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยตามสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันไม่ใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ
ส่วนกรณีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการแผนกปล่อยปละละเลยไม่วางระเบียบการตรวจสอบให้ดีปล่อยให้มีการปลอมเอกสารและลายมือชื่อในการดำเนินการเสียภาษีนำเข้าตู้สินค้าในนามจำเลยไม่ถูกต้องจนทำให้เกิดความผิดพลาดในแผนกอาจเกิดความเสียหายแก่จำเลย เป็นการกระทำที่ผิดพลาดอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจึงมีเหตุให้นายจ้างไม่ไว้วางใจให้ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร จึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นดังกล่าวเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลแรงงาน: ดุลพินิจอนุญาตฟ้องที่ศาลแรงงานกลาง หากไม่สะดวก ศาลมีสิทธิไม่รับฟ้อง
ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาคำร้องขอดำเนินคดีที่ศาลแรงงานกลางของโจทก์แล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้อง จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่า การพิจารณาในศาลแรงงานกลางไม่เป็นการสะดวก จึงไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นคำฟ้องตามที่ขอตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์อุทธรณ์ก็เพื่อให้เห็นว่า การพิจารณาคดีในศาลแรงงานกลางจะเป็นการสะดวก อุทธรณ์โจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการพิจารณาอนุญาตของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8631/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้าง การจ่ายค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการโต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงาน
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 123 วรรคหนึ่ง เป็นการให้สิทธิลูกจ้างเลือกที่จะนำคดีเสนอต่อศาลแรงงานหรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ ทางใดทางหนึ่ง หากลูกจ้างเลือกที่จะใช้สิทธิทางใดแล้วก็จะต้องดำเนินการในทางนั้นจนสุดสิ้นกระบวนการ ไม่อาจใช้สิทธิในอีกทางหนึ่งควบคู่ไปด้วยได้ การเลือกที่จะใช้สิทธิของลูกจ้างดังกล่าวย่อมเป็นไปตามความประสงค์ของลูกจ้าง ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน โดยระบุในคำร้องว่าประสงค์จะเรียกร้องเพียงค่าจ้างและค่าชดเชย จำเลยที่ 1 จึงต้องสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งเฉพาะเรื่องค่าจ้างและค่าชดเชยตามความประสงค์ของโจทก์ แต่ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวที่ล่วงหน้านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการ จำเลยที่ 1 จึงมิจำต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว อันเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 124 แล้ว
โจทก์มิได้ฟ้องเพียงแต่ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 125 เท่านั้น แต่ยังได้ฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยที่ 2 และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ในส่วนที่เกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่เรียกร้องโดยตรงต่อจำเลยที่ 2 จึงมิใช่สิทธิได้รับเงินที่โจทก์เลือกดำเนินการต่อพนักงานตรวจแรงงานที่จะต้องดำเนินการจนสุดสิ้นกระบวนการแต่เป็นการฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 2 โดยตรง เมื่อศาลแรงงานภาค 8 เห็นว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและดอกเบี้ยได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ถูกเลิกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย พร้อมกับฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย ประเด็นแห่งคดีที่ศาลแรงงานภาค 8 จะต้องพิพากษาจึงมีว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่โจทก์หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 8 ว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ โดยไม่เข้ากรณีหนึ่งกรณีใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 119 และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 17 ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ จึงได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 1 ในส่วนของค่าชดเชยอันมีผลเป็นการทำลายคำสั่งจำเลยที่ 1 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ถูกเลิกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ไม่ปรากฏในคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาโดยให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ จึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ แล้ว
ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงที่โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 มานานกว่า 10 ปี โดยโจทก์มีความสัมพันธ์เป็นญาติใกล้ชิดกันกับหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 การจ่ายเงินเดือนก็ทำเพียงนำเงินสดใส่ซองมอบให้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินเดือนประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ให้โจทก์ตามกำหนดและโจทก์กับพี่ชายของจำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกันและมีเหตุการณ์ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจการไม่อนุญาตให้ใช้รถกระบะ การไม่ชำระค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ ตลอดจนการเปลี่ยนกุญแจทางขึ้นห้องพักที่สอดรับกับการไม่จ่ายเงินเดือน แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะให้โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างอีกต่อไปจึงเลิกจ้างโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ยกเอาบางส่วนของคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 8 มาแปลความว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ ถือว่าเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 8 เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7287/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยลูกจ้าง: การคำนวณค่าจ้างจากค่าเที่ยว และการโต้แย้งดุลพินิจศาล
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ส. ปฏิเสธไม่ขับรถหัวลากเนื่องจาก ส. ประสบอุบัติเหตุตกจากรถและแขนขวาได้รับบาดเจ็บ ส. จึงไม่ได้จงใจขัดคำสั่งของนายจ้าง การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ส. ปฏิเสธไม่ขับรถหัวลากเพราะได้รับค่าเที่ยวน้อยลง และ ส. แสดงใบรับรองแพทย์ภายหลังโจทก์เลิกจ้าง ส. แล้ว ส. จึงมีเจตนาฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ส. ได้รับค่าตอบแทนในการทำงานเป็นค่าเที่ยว เที่ยวละ 100 บาท ถึง 650 บาท ตามระยะทางใกล้ไกลและความยากง่ายของงาน สำหรับการทำงาน 180 วัน ก่อนเลิกจ้างเป็นการทำงานในระหว่างเวลาทำงานปกติคิดเป็นร้อยละ 30 และเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติคิดเป็นร้อยละ 70 ของค่าเที่ยวทั้งหมด ส่วนที่ตอบแทนการทำงานสำหรับระยะเวลาทำงานปกติร้อยละ 30 จึงเป็นค่าจ้าง แต่ส่วนที่ตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติร้อยละ 70 ไม่เป็นค่าจ้าง ส่วนที่ตอบแทนการทำงานสำหรับระยะเวลาทำงานปกติร้อยละ 30 เมื่อคำนวณเป็นรายเดือนแล้วรวมกับเงินเดือนที่ ส. ได้รับจึงใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5949/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการหยุดกิจการชั่วคราวของนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และการจ่ายค่าจ้างร้อยละ 50
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิแก่นายจ้างที่ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษกิจสามารถหยุดดำเนินกิจการไว้ชั่วคราวเพื่อให้โอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไปหรือบรรเทาลงได้ ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกันว่า ในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวโจทก์ผลิตสินค้าบางส่วนเพราะมีวัตถุดิบเหลืออยู่ เมื่อวัตถุดิบหมดก็หยุดผลิต และปรากฏตามงบการเงินของโจทก์และหมายเหตุประกอบงบการเงิน ที่ศาลแรงงานกลางนำมาประกอบการวินิจฉัย และคู่ความไม่โต้แย้งว่าโจทก์มีทุนตจดทะเบียน 100,000,000 บาท มีวัตถุดิบคงเหลือ 30,800,000 บาท งานระหว่างทำ 16,700,000 บาท โจทก์เจรจากับเจ้าหนี้เงินกู้ระยะยาวเพื่อหาแนวทางการขายกิจการและจ่ายคืนเงินกู้ แสดงว่าแม้โจทก์จะมีการผลิตระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 แล้ว โจทก์ก็ยังคงมีวัตถุดิบคงเหลือและงานระหว่างทำ (สินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิด) เหลืออยู่อีก การผลิตของโจทก์ในช่วงที่หยุดกิจการชั่วคราวจึงเป็นไปเพื่อไม่ให้วัตถุดิบและงานระหว่างทำเสียเปล่าทั้งยังมีรายรับเข้าสู่กิจการ เป็นการบรรเทาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทางหนึ่ง ส่วนที่โจทก์สั่งสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาจำหน่ายนั้น ปรากฏตามคำสั่งของจำเลยว่าโจทก์ประกอบกิจการผลิตลวดเหล็ก ลวดผูกเหล็ก ลวดชุบสังกะสี ตะแกรงเหล็กเสริมคอนกรีต ลวดตาข่ายทุกชนิด ไม่ได้ประกอบกิจการประเภทซื้อมา-ขายไป การที่โจทก์สั่งสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาจำหน่ายก็เพราะมีราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของโจทก์ เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ใช่โจทก์เปลี่ยนประเภทกิจการ การพิจารณาว่าโจทก์จำเป็นต้องหยุดกิจการหรือไม่ต้องพิจารณาจากการประกอบกิจการผลิตของโจทก์ เมื่อปรากฎว่าโจทก์ขาดทุนสะสมถึง 114,000,000 บาท เกินกว่าทุนจดทะเบียนที่มีเพียง 100,000,000 บาท ไม่มีคำสั่งซื้อและสินค้าที่ผลิตจำหน่ายไม่ได้จนโจทก์ต้องหาทางขายกิจการเพื่อนำมาจ่ายคืนให้เจ้าหนี้ จึงเป็นกรณีโจทก์มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการผลิตทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุที่มิใช่เหตุสุดวิสัยตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงชอบที่จะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนโจทก์หยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่โจทก์ไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงานได้
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า พยานจำเลยเบิกความว่าโจทก์สั่งซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง ที่โจทก์อ้างว่าไม่มีรายการสั่งซื้อจากลูกค้าและสินค้าที่ผลิตขายไม่ได้ไม่อาจรับฟังได้ เป็นอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังตามคำแถลงรับของคู่ความที่ว่าโจทก์ดำเนินการผลิตจนวัตถุดิบที่เหลืออยู่หมดก็หยุดผลิตต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5868-5869/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยพนักงานรัฐวิสาหกิจ: การพิจารณาตามระเบียบฯ และดอกเบี้ยผิดนัด
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ต่อมามี พ.ร.ฎ.ยุบเลิกหน่วยงานจำเลยที่ 1 แต่ให้คงอยู่ในระหว่างชำระบัญชี เมื่อจำเลยที่ 1 ยุบกิจการได้เลิกจ้างโจทก์และจ่ายค่าชดเชยหลังหักหนี้ที่โจทก์มีอยู่กับจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีได้จ้างโจทก์เป็นผู้ช่วยในการชำระบัญชีโดยไม่ได้กำหนดเวลาจ้างกันไว้ เพียงกำหนดภารกิจให้ช่วยชำระบัญชีจนเสร็จเท่านั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 อุทธรณ์ว่า ในขณะที่ พ.ร.ฎ.ยุบเลิกจำเลยที่ 1 นั้น กิจการของจำเลยที่ 1 ยังไม่เสร็จสิ้น โจทก์จึงต้องทำงานต่อไปจนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จโดยยังคงเป็นพนักงานต่อไปตามเดิม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้โดยสำคัญผิด เพราะโจทก์ยังไม่ได้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จนกระทั่งเมื่อมีการชำระบัญชีเสร็จสิ้นจึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างโจทก์และถือว่าค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับโดยไม่มีสิทธิแต่แรกนั้นเป็นค่าชดเชยเมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างในภายหลัง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงตกอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่เกิดสิทธิเรียกร้อง คดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยโดยอ้างว่ามีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงเป็นการอ้างบทกฎหมายคลาดเคลื่อน แต่พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยทั้งสิบสอง ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ อันเป็นกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฉบับเดิมและยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 95 เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างในการช่วยชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2542 โดยไม่ได้กำหนดเวลาจ้างไว้ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,000 บาท และถูกเลิกจ้างโดยมีผลในวันที่ 30 เมษายน 2545 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ซึ่งเลิกจ้างไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ข้อ 45 (3) เป็นเงิน 42,000 บาท และตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มิได้มีบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยในกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานไว้ แต่ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 ได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ จึงไม่ถูกต้อง
of 19