คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 54 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 187 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5177/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คดีแรงงานจำกัดเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ไม่อาจรับรองอุทธรณ์ข้อเท็จจริง แม้มีบทบัญญัติ ป.วิ.พ. ที่อาจใช้ได้
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายโดยการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานได้วินิจฉัยมาตามมาตรา 56 วรรคสอง เป็นการบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้มาใช้บังคับ แม้ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ จะบัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับด้วย ก็ต้องเป็นกรณีที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ด้วย เมื่อคดีแรงงานให้อุทธรณ์ได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายจึงไม่อาจมีการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ทั้งการที่ผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาคดีจะรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว และอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(คำสั่งคำร้อง)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเรียกค่าจ้างต้องระบุรายละเอียดชัดเจน หากฟ้องไม่ชัดเจน ศาลอาจยกฟ้องได้
ลูกจ้างฟ้องเรียกให้นายจ้างชำระค่าจ้าง ลูกจ้างต้องบรรยายฟ้องมาให้ชัดแจ้งว่าค่าจ้างจำนวนที่เรียกให้ชำระเป็นค่าจ้างประเภทใด เพื่อที่นายจ้างจะได้ให้การต่อสู้ได้ว่าค่าจ้างจำนวนดังกล่าวลูกจ้างมีสิทธิได้รับจริงและนายจ้างยังมิได้ชำระหรือไม่ ฉะนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าคอมมิชชั่นที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากผลงานขายของลูกทีมโดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า ลูกทีมดังกล่าวมีใครบ้าง และแต่ละคนมีผลงานขายเท่าใด พอที่จำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้ได้ ฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงเคลือบคลุม
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้เป็นนายหน้าติดต่อให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายและติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิดกับธนาคารตามโครงการดีบีเอสไทยทนุ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าคอมมิชชั่นโครงการดังกล่าว จึงเป็นการอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่ศาลแรงงานกลางฟังไว้ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้เลิกจ้างโจทก์ ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเจตนาเลิกจ้างโจทก์แต่เป็นเรื่องที่โจทก์สมัครใจลาออกเอง จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากเหตุรายงานข้อสงสัยผู้บริหารต่อ กลต. และข้อผิดพลาดในการทำงานที่ไม่ร้ายแรง
การทำงานของโจทก์ที่ล่าช้าในการส่งรายการฐานะการเงินให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) และปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กลต. กำหนด เป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกเปรียบเทียบปรับนั้นเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นปกติและเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในปีแรกที่เพิ่งดำเนินการ ต่อมาโจทก์ก็ไม่เคยทำผิดพลาดอีก ข้อผิดพลาดเช่นนี้บริษัทหลักทรัพย์อื่น ๆ ก็เคยถูกเตือนหรือถูกปรับเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกันหรือสูงกว่าอีกทั้งส่วนงานอื่นของจำเลยก็เคยถูก กลต. มีมติให้เปรียบเทียบปรับเช่นกัน การกระทำผิดพลาดของโจทก์จึงมิใช่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและมิใช่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยในกรณีร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8324/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างที่ลาออก นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดที่ใช้ไปแล้วตามตกลง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จ. ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีก่อนยื่นใบลาออก ขณะยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปี จ. อาจจะยังไม่คิดลาออกก็ได้ จึงเป็นการใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีโดยสุจริต จำเลยอุทธรณ์ว่า ในขณะยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปี จ. ประสงค์จะลาออก จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนเฉพาะกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างและลูกจ้างมิได้มีความผิดตามมาตรา 119 การที่กฎหมายกำหนดให้นำความผิดตามบทบัญญัติในมาตรา 119 มาประกอบการพิจารณาการได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างเพราะความผิดดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่จะชี้ว่านายจ้างเลิกจ้างด้วยเจตนากลั่นแกล้งไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปจนครบ 1 ปีหรือไม่ ถ้าลูกจ้างไม่มีความผิดตามมาตรา 119 แต่ถูกเลิกจ้าง ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรและเป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างไม่อาจทำงานต่อไปได้และต้องเสียสิทธิที่จะได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 30 ดังนั้น ในปีที่เลิกจ้างแม้ลูกจ้างจะทำงานยังไม่ครบ 1 ปี นายจ้างจะต้องชดใช้สิทธิที่ลูกจ้างต้องเสียไปจากการกระทำโดยไม่ชอบของนายจ้างด้วยการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ
การจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนในปีที่เลิกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 หาได้นำมาใช้บังคับแก่กรณีลูกจ้างลาออกจากงานโดยความสมัครใจด้วยไม่ เพราะการลาออกโดยความสมัครใจของลูกจ้างย่อมไม่เป็นการกลั่นแกล้งของนายจ้าง
ลูกจ้างที่ลาออกจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างรวมทั้งในปีก่อนและจะได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ เพียงใด ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 30 และมาตรา 56
ในปีที่ จ. ลูกจ้างลาออก นายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง 13 วัน และก่อนลาออก นายจ้างอนุญาต จ. ให้ลาหยุดพักผ่อนประจำปี 8 วัน การหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวเป็นการหยุดตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันโดยสุจริตจึงเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีโดยชอบของลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิและตามวันที่ได้ตกลงกับโจทก์ไปแล้วก่อนลาออก โจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเต็มจำนวน 8 วัน ให้แก่ลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6839/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลแรงงานกลาง และการอุทธรณ์ดุลพินิจค่าเสียหายในคดีแรงงาน
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลแรงงานกลาง จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 255 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 60 ที่บัญญัติว่า "ในระหว่างที่ศาลแรงงานภาคและศาลแรงงานจังหวัดยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด ให้ศาลแรงงานกลางมีเขตอำนาจในท้องที่นั้นด้วย โจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้นก็ได้ ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลแรงงานกลาง เมื่อศาลแรงงานกลาง สั่งรับคดีนั้นไว้พิจารณาแล้ว ให้ศาลแรงงานกลางออกไปนั่งพิจารณาพิพากษา ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น" ในปัจจุบันศาลแรงงานภาคและศาลแรงงานจังหวัดยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด จากบทบัญญัติดังกล่าวศาลแรงงานกลางย่อมมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานได้ทั่วราชอาณาจักร โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้ที่ศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดเชียงใหม่)ได้ เมื่อศาลแรงงานกลางสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจออกไปนั่งพิจารณาพิพากษาคดีนี้ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้เช่นเดียวกัน
จำเลยอุทธรณ์โดยแสดงเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้ศาลฎีการับฟังว่าจำเลยมิได้กลั่นแกล้งโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่ถึง 60,000 บาท และศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายโดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานใด ๆ ที่โจทก์นำสืบ ล้วนเป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลแรงงานกลางไม่ได้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแสดงว่าประสงค์ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ แต่ไม่ได้กำหนดไว้ให้ชัด ศาลฎีกาจึงกำหนดให้ชัดแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเนื่องจากอายุครบ 60 ปี และข้อยกเว้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานสำหรับหน่วยงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ได้รับการยกเว้นมิให้อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เท่ากับจำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกขึ้นอ้างได้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลแรงงานกลาง
ตาม พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 มาตรา 6, 7 และมาตรา 9 (1) และ (2) เพียงแต่บัญญัติว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลโดยเป็นองค์การของรัฐเพื่อการกุศล ได้รับเงินอุดหนุนจากงบเงินอุดหนุนของกระทรวงกลาโหมและเงินที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นครั้งคราว แต่มิได้มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้จำเลยเป็นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2503 มาตรา 8 จำเลยก็มิได้เป็นส่วนราชการของกระทรวงกลาโหม จำเลยจึงมิได้รับการยกเว้นไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
สำนักงานกิจการศาลหลักเมืองกำหนดราคาจำหน่ายดอกไม้ธูปเทียน พวงมาลัย ผ้าแพร เท่าราคาทุน แต่ได้กำไรจากการที่สามารถนำดอกไม้พวงมาลัย ผ้าแพร กลับมาจำหน่ายอีก ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของสำนักงานกิจการศาลหลักเมืองนอกเหนือจากเงินที่มีผู้บริจาค และเงินที่มีผู้บริจาคใส่ตู้รับบริจาคตามจุดต่าง ๆ ในบริเวณศาลหลักเมืองถือได้ว่ากิจการของสำนักงานกิจการศาลหลักเมืองเป็นกิจการที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ อุทธรณ์ของจำเลยที่แสดงเหตุผลต่าง ๆ โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า สำนักงานกิจการศาลหลักเมืองดำเนินกิจการที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
จำเลยมีวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 เพื่อการกุศล การดำเนินกิจการของจำเลยเป็นการให้การสงเคราะห์ แต่ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ห้ามมิให้หน่วยงานของจำเลยดำเนินกิจการเพื่อหารายได้อันเป็นการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ทั้งการที่สำนักงานกิจการศาลหลักเมืองนำรายได้อันเกิดจากการจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียน พวงมาลัย ผ้าแพรสมทบกับเงินบริจาคจากผู้บริจาคต่าง ๆ ส่งให้แก่จำเลยนำไปใช้จ่ายเพื่อการกุศล ก็เป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยนั่นเอง
แม้จำเลยมีข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยพนักงานองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยลูกจ้างองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 โดยข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยลูกจ้างฯ ให้ถือปฏิบัติตามข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยพนักงานฯ ซึ่งกำหนดว่าพนักงานของจำเลยจะต้องออกจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณของปีที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ก็ตาม แต่ก็หมายถึงให้จำเลยดำเนินการให้พนักงานที่ขาดคุณสมบัติเนื่องจากอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ออกจากงานการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุที่โจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์จึงเป็นการกระทำที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทำงานต่อไป ย่อมเป็นการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5498/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีแรงงานต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ และประเด็นค่าอาหารเป็นค่าจ้าง
จำเลยอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าเงิน ค่าอาหารมิใช่ค่าจ้างและการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ถือเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าอาหารให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเนื่องจากโจทก์ต้องไปทำงานที่โครงการวางท่อส่งก๊าซที่จังหวัดอื่นเป็นประจำทุกเดือน มีจำนวนแน่นอนเช่นเดียวกับค่าจ้างหรือเงินเดือนโดยโจทก์ไม่ต้องนำหลักฐานมาเบิกและไม่ว่าโจทก์จะทำงานเดือนละกี่วัน เงินดังกล่าวจึงเป็นค่าตอบแทนในการที่โจทก์ไปทำงานในโครงการ ถือได้ว่าเป็นค่าจ้างในระหว่างนั้น ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5364-5368/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงานของครูโรงเรียนเอกชน และการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์ทั้งห้าและจำเลยต่างเป็นเอกชน ได้ตกลงกันโดยจำเลยตกลงรับโจทก์ทั้งห้าเข้าทำงานตำแหน่งครูผู้สอน และจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนให้โจทก์ทั้งห้าตลอดเวลาที่ทำงานให้จำเลย มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 มิใช่สัญญาทางปกครองตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 3 โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน
โจทก์ทั้งห้าเป็นครูตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนเพื่อเรียกร้องสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าที่ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพอถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนฯ ข้อ 32 และข้อ 33 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 มาตรา 17 มาตรา 44 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 และฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 ซึ่งมิใช่ฟ้องเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ส่วนที่ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ก็มิใช่ฟ้องที่อ้างสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลยได้
พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ มิใช่กฎหมายซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แม้จะมีการกำหนดให้การคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโดยมีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 และมีคณะกรรมการประนีประนอม หรือคณะกรรมการคุ้มครองเพื่อพิจารณาหรือพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดแล้วแต่กรณี เป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าวก็ตาม ก็มิใช่ขั้นตอนการระงับข้อพิพาทตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งห้าถูกจำเลยเลิกจ้าง โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธินำคดีมาสู่ศาลแรงงานได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 ก่อน
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดย พ. เป็นผู้ลงนาม เป็นการทำการแทน อ.ผู้รับใบอนุญาตและจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 จำเลยในฐานะตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการที่ตัวแทนได้ทำไปในขอบอำนาจตามมาตรา 820 ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษครูได้ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนคือผู้รับใบอนุญาตหรือผู้จัดการซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้รับใบอนุญาต การที่ พ. เป็นผู้ลงนามในคำสั่งเลิกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
จำเลยมิได้อ้างข้อเท็จจริงมาในอุทธรณ์ว่าจำเลยบรรจุโจทก์ทั้งห้าเข้าทำงานวันใด ห่างจากวันที่โจทก์ทั้งห้าเข้าทำงานกี่วัน และศาลแรงงานกลางคิดคำนวณค่าชดเชยผิดพลาดเท่าใด ถือได้ว่าจำเลยไม่ได้กล่าวข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6993-6996/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงานจากการลาออก และการรับฟังพยานหลักฐาน
โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์วางจดหมายไว้บนโต๊ะทำงานพร้อมใบลาออกยังไม่เป็นผลทำให้การจ้างแรงงานสิ้นสุดลง เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยทราบและอนุมัติใบลาออกของโจทก์แล้ว และ ท. ผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชีเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ท. เป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้รับทราบ ใบลาออกของโจทก์และเป็นผู้อนุมัติใบลาออก การแสดงเจตนาลาออกของโจทก์จึงมีผลทำให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง ย่อมหมายความว่า ท. เป็นผู้มีอำนาจกระทำการอนุมัติใบลาออกของโจทก์แทนจำเลยนั่นเอง อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ใน ข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
สำเนาเอกสารที่โจทก์อ้างเป็นเพียงพยานหลักฐานประกอบพยานอื่น ทั้งเมื่อโจทก์อ้างส่งสำเนาเอกสาร ดังกล่าว จำเลยมิได้คัดค้านว่าต้นฉบับไม่มีหรือเอกสารปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ศาลย่อม รับฟังเอกสารนั้นได้ มิใช่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 93 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4636/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินความรับผิดทางละเมิดจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นอันตราย – การโต้แย้งดุลพินิจศาลชั้นต้นต้องห้ามอุทธรณ์
ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์เจ็บป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิสจากการทำงานยังถือไม่ได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์เจ็บป่วยเป็นโรคดังกล่าวเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ปล่อยให้ฝุ่นฝ้ายฟุ้งกระจายเกินมาตรฐานที่ทางราชการกำหนด จำเลยย่อมคาดหมายได้ว่าฝุ่นฝ้ายที่ฟุ้งกระจายนั้นย่อมเกิดอันตรายต่อโจทก์ การเจ็บป่วยของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
of 19