พบผลลัพธ์ทั้งหมด 61 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5435/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการเช่าและการฟ้องขับไล่: การโอนสิทธิการเช่าพื้นที่และผลกระทบต่อสัญญาเช่าเดิม
แม้แผงค้าพิพาทมีการก่อสร้างที่ผิดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กฎกระทรวงฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) และกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยสำนักงานเขตจตุจักรแจ้งการรถไฟแห่งประเทศไทยกับโจทก์ให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตและห้ามใช้อาคารแล้ว ต่อมาสำนักงานเขตจตุจักรมีคำสั่งให้รื้อถอนแผงค้าพิพาท แต่คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (1) เพื่อดำเนินการมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน ผู้ดำเนินการ ลูกจ้าง หรือบริวารของบุคคลดังกล่าว ระงับการกระทำในกรณีที่มีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งผู้ได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งตามมาตรา 52 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กรณีมิใช่เป็นเรื่องแผงค้าพิพาทมีการก่อสร้างต่อเติมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (1) ซึ่งเป็นโมฆะเกิดจากกฎหมาย (ภาวะวิสัย) และมิใช่โมฆะที่เกิดจากการแสดงเจตนา (อัตวิสัย) อันจะเป็นเหตุให้สัญญาเช่าระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อโจทก์รับโอนสิทธิการเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคาร จ. เพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์ตามสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ให้เช่า กับบริษัท บ. และเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 การรถไฟแห่งประเทศไทยอนุญาตให้บริษัทดังกล่าวโอนสิทธิการเช่าที่มีกับการรถไฟแห่งประเทศไทยให้แก่โจทก์ ซึ่งสิทธิการเช่าดังกล่าวอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ จึงเป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 เมื่อบริษัทดังกล่าวโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์ โดยได้รับความยินยอมจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และเป็นการโอนสิทธิในการจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินซึ่งให้เช่า สัญญาเช่าพื้นที่ด้านหน้าอาคาร จ. ระหว่างบริษัท บ. กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจึงไม่ระงับไปเพราะเหตุดังกล่าว และโจทก์ผู้รับโอนสิทธิการเช่าพื้นที่ดังกล่าวจากบริษัท บ. ผู้โอน ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่านั้นด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิการเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคาร จ. ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โจทก์ย่อมอาศัยสิทธิการเช่าพื้นที่ที่รับโอนมาจากบริษัท บ. เป็นฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากแผงค้าพิพาทและชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3449/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเปลี่ยนแปลงองค์คณะผู้พิพากษาในระหว่างพิจารณาคดี ไม่กระทบความชอบธรรมหากไม่มีการโต้แย้ง
การกำหนดให้มีวันนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีมีวัตถุประสงค์เพื่อให้จำเลยได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม โดยองค์คณะที่ได้รับเลือกให้เป็นองค์คณะประชุมคดีจะได้รับเลือกจากผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์และมีความเข้าใจในการบริหารจัดการคดีเพื่อให้การกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีเป็นไปอย่างถูกต้อง กระชับรัดกุม ไม่ฟุ่มเฟือย และมีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้การพิจารณาคดีเสร็จสิ้นโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แม้คดีนี้องค์คณะในวันนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีจะเป็นคนละองค์คณะกันกับในวันนัดสืบพยานและวันนัดฟังคำพิพากษา แต่การที่ ณ. กับ อ. นั่งพิจารณาคดีในวันนัดสืบพยานและวันนัดฟังคำพิพากษานั้น เนื่องมาจากการจ่ายสำนวนคดีของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นตามมาตรา 32 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งการจ่ายสำนวนคดีดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้องค์คณะประชุมคดีและองค์คณะพิจารณาต้องเป็นองค์คณะเดียวกันเพราะเป็นการพิจารณาคดีคนละขั้นตอนกัน มีวัตถุประสงค์และวิธีการคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษาแตกต่างกัน นอกจากนี้กรณีดังกล่าวยังไม่ใช่การเรียกคืนสำนวนคดีจาก น. และ ป. ซึ่งเป็นองค์คณะประชุมคดี และโอนสำนวนคดีให้ ณ. กับ อ. ตามบทบัญญัติมาตรา 33 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เนื่องจากการเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงกรณีที่มีการมอบหมายให้องค์คณะผู้พิพากษารับผิดชอบพิจารณาพยานหลักฐานและพิพากษาแต่มีเหตุที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลเท่านั้น กรณีจึงไม่ใช่การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีโดยไม่ชอบดังที่จำเลยฎีกา ประกอบกับระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านว่าผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีและสืบพยานไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งหากศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็คงไม่โต้แย้งในปัญหาข้อนี้ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับการดำเนินกระบวนพิจารณาของ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่าเป็นไปโดยชอบตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ณ. และ อ. จึงเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินมรดก: สิทธิเรียกร้องของผู้รับมรดก vs. บุคคลภายนอกที่ได้มาโดยสุจริต
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ต. ผู้ตาย มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดก แต่ยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท เนื่องจากโจทก์เป็นผู้เยาว์โดยจะรอให้บรรลุนิติภาวะเสียก่อน แต่ น. มารดาของโจทก์เดือดร้อนเรื่องเงินจึงมาขอแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยยอมรับเอาบ้าน 1 หลัง เงิน 10,000 บาท และ วัว 4 ตัว เพื่อจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจปกครองโจทก์ผู้เป็นบุตรซึ่งไม่บรรลุนิติภาวะจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะทายาทที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่มารดาของโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (4) แต่มารดาของโจทก์ไปตกลงแบ่งทรัพย์มรดกโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะที่ น. มารดาของโจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 252 และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อฟ้องโจทก์เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิของโจทก์ผู้ได้มานั้นยังมิได้จดทะเบียน มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โดยตามคำฟ้องของโจทก์มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยมิได้เสียค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต และมิได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ถือว่าคำฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะหักล้างบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ต้องรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1227/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องคดีอาญา – ยักยอกทรัพย์ – ทรัพย์ส่วนกลาง – การรู้ความผิดและตัวผู้กระทำความผิด
โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องและนำสืบว่าพื้นที่จอดรถ เป็นทรัพย์ส่วนกลางของจำเลยที่ 1 จำเลยร่วมกันนำที่จอดรถให้ผู้อื่นเช่าเพื่อหาประโยชน์เป็นของตนโดยทุจริตเป็นการยักยอกทรัพย์ คดีนี้เป็นคดีความผิดอันยอมความกันได้ เจ้าของห้องชุดทุกคนในอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นผู้เสียหายร่วมกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสิบภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานมั่วสุมปิดกั้นทางหลวงและข่มขืนใจผู้อื่น ศาลฎีกาแก้ไขโทษกระทงความผิด
วันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองและกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน ปิดกั้นถนนสายอุดรธานี - วังสะพุง และทำการตรวจค้นรถยนต์ทุกคันที่แล่นผ่านมายังบริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อค้นหาเจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังเดินทางไปสับเปลี่ยนกำลังพลควบคุมฝูงชนที่กรุงเทพมหานคร ผู้เสียหายทั้งสามขับและนั่งมาในรถยนต์ เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุก็ถูกผู้ชุมนุมขอทำการตรวจค้น แต่ผู้เสียหายทั้งสามไม่ยินยอมจึงถูกผู้ชุมนุมปล่อยลมยางล้อรถและโยกรถยนต์ไปมา ทำให้ผู้เสียหายทั้งสามกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน จึงยอมให้ตรวจค้นรถยนต์ ทั้งนี้มีจำเลยที่ 1 เป็นแกนนำในการชุมนุม จำเลยที่ 2 ใช้โทรโข่งพูดสั่งการให้ผู้ชุมนุมทำการตรวจค้นรถยนต์ทุกคัน เจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองขอให้จำเลยที่ 1 ยุติการชุมนุม แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ฐานร่วมกันกระทำการปิดกั้นทางหลวง และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนาจะสกัดกั้นเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารไม่ให้เคลื่อนย้ายกำลังพลไปปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่กรุงเทพมหานคร การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันตรวจค้นรถยนต์ในลักษณะเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสาม จึงเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพื่อกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นกรรมเดียว ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8659-8660/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟอกเงิน: ผู้รับโอนทรัพย์สินจากผู้กระทำผิด มีความเกี่ยวข้อง และไม่สามารถพิสูจน์ความสุจริต ศาลพิพากษาว่าทรัพย์สินนั้นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
ผู้คัดค้านที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้คัดค้านที่ 1 ในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยเหตุจากพฤติการณ์อันมีลักษณะที่เป็นการกระทำความผิดมูลฐานฉ้อโกงฐานเดียวกับที่กระทำมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2542 ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ก็เป็นผู้ไปดำเนินการขอปล่อยชั่วคราวผู้คัดค้านที่ 1 หลายครั้ง โดยเดินทางมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อขอประกันตัวผู้คัดค้านที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้คัดค้านที่ 3 มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นอย่างมาก ซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ารับโอนที่ดินมาโดยไม่สุจริตตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4320/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดิน: กรรมสิทธิ์ร่วม, ผู้รับโอนไม่มีสิทธิเกินผู้โอน, การคืนค่าขึ้นศาลเกิน
โจทก์ฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 7,925,895.90 บาท เมื่อที่ดินที่พิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกันและผลของการเพิกถอนก็เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แต่ในชั้นยื่นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองกลับยื่นอุทธรณ์แยกกัน โดยโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาประเมินคิดเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 6,793,625 บาท แต่จำเลยทั้งสองต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาตามทุนทรัพย์คนละ 7,925,895.90 บาท ดังนั้น ค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยทั้งสองเสียมาเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องชำระในกรณีที่ยื่นอุทธรณ์ร่วมกัน จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสองตามส่วนของค่าขึ้นศาลที่จำเลยแต่ละคนได้ชำระไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของลูกหนี้จากการส่งมอบสินค้าชำรุดบกพร่อง ทำให้สินค้าสำเร็จรูปเสียหาย ศาลลดค่าเสียหายตามส่วน
การที่จำเลยส่งสินค้าประเภทกระป๋องและฝากระป๋องไม่เหมาะสมแก่การใช้บรรจุอาหารตามความมุ่งหมายของโจทก์ เป็นเหตุให้สินค้าประเภทอาหารทะเลบรรจุกระป๋องของโจทก์ที่ผลิตโดยใช้สินค้าประเภทกระป๋องและฝากระป๋องของจำเลยเกิดความเสียหายจากการกัดกร่อนของสนิมแลคเกอร์เคลือบพองและอื่น ๆ ย่อมถือได้ว่า จำเลยในฐานะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแต่การนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 ซึ่งการเรียกเอาค่าเสียหายนั้นได้แก่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ และเรียกค่าสินไหมทดแทนได้แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 เงินค่าเสียหายซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ของจำเลย ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์จ้างผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยปฏิเสธความรับผิด และค่าจัดเก็บสินค้าระหว่างที่มีข้อพิพาทระหว่างกัน เป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยในฐานะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงใหม่นอกคำฟ้อง และการไม่รับวินิจฉัยประเด็นใหม่ที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น
ฎีกาของโจทก์เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่มิได้ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ มีลักษณะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่เป็นไปโดยมุ่งประสงค์ให้นำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นข้อฎีกาที่มิชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะโจทก์ฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2443/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองปรปักษ์ ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดก คำฟ้องไม่สมบูรณ์
ท. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์มาแล้วประมาณ 18 ปี ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ท. และไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องครอบครองแทนทายาทคนอื่น โจทก์จึงไม่สามารถขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบได้
ท. ยกที่ดินให้จำเลยโดยมิได้จดทะเบียนการยกให้ แต่เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ ท. ยกที่ดินพิพาทให้ด้วยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แม้จำเลยครอบครองโดยเข้าใจผิดว่าที่ดินเป็นของจำเลยก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น
จำเลยไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ เนื่องจากเข้าใจว่ามารดาจำเลยเป็นทายาทแต่เพียงผู้เดียวและถึงแก่ความตายแล้ว ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องว่าโจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิในที่ดินดีกว่าจำเลย เมื่อที่ดินมิใช่ทรัพย์มรดกของ ท. ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่สุจริต
จำเลยให้การว่า ท. ยกที่ดินพิพาทให้และจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและสามารถอ่านเข้าใจเจตนาของจำเลย ไม่ใช่การบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนเองหรือขัดกันเอง ดังนั้น คำให้การจึงชัดแจ้ง
การวินิจฉัยคดีเมื่อศาลเห็นสมควรจะหยิบยกประเด็นข้อพิพาทข้อใดขึ้นวินิจฉัยก่อน ย่อมกระทำได้
เมื่อวินิจฉัยประเด็นข้อใดแล้วมีผลให้คดีเสร็จไปแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่าศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำฟ้องทั้งหมด
แม้คำฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อความว่าผู้เรียงพิมพ์และลายมือชื่อผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งดังกล่าวและได้ดำเนินกระบวนพิจารณากันมาจนเสร็จสิ้นถึงศาลฎีกาแล้ว ตามสำนวนปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้ง ด. เป็นทนายความ และ ด. ได้ลงชื่อเป็นผู้เรียงและพิมพ์ในคำแถลงขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง จึงพอที่จะฟังได้ว่า ด. เป็นผู้เรียงและพิมพ์คำฟ้อง
ท. ยกที่ดินให้จำเลยโดยมิได้จดทะเบียนการยกให้ แต่เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ ท. ยกที่ดินพิพาทให้ด้วยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แม้จำเลยครอบครองโดยเข้าใจผิดว่าที่ดินเป็นของจำเลยก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น
จำเลยไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ เนื่องจากเข้าใจว่ามารดาจำเลยเป็นทายาทแต่เพียงผู้เดียวและถึงแก่ความตายแล้ว ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องว่าโจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิในที่ดินดีกว่าจำเลย เมื่อที่ดินมิใช่ทรัพย์มรดกของ ท. ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่สุจริต
จำเลยให้การว่า ท. ยกที่ดินพิพาทให้และจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและสามารถอ่านเข้าใจเจตนาของจำเลย ไม่ใช่การบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนเองหรือขัดกันเอง ดังนั้น คำให้การจึงชัดแจ้ง
การวินิจฉัยคดีเมื่อศาลเห็นสมควรจะหยิบยกประเด็นข้อพิพาทข้อใดขึ้นวินิจฉัยก่อน ย่อมกระทำได้
เมื่อวินิจฉัยประเด็นข้อใดแล้วมีผลให้คดีเสร็จไปแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่าศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำฟ้องทั้งหมด
แม้คำฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อความว่าผู้เรียงพิมพ์และลายมือชื่อผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งดังกล่าวและได้ดำเนินกระบวนพิจารณากันมาจนเสร็จสิ้นถึงศาลฎีกาแล้ว ตามสำนวนปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้ง ด. เป็นทนายความ และ ด. ได้ลงชื่อเป็นผู้เรียงและพิมพ์ในคำแถลงขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง จึงพอที่จะฟังได้ว่า ด. เป็นผู้เรียงและพิมพ์คำฟ้อง