คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อนันต์ วงษ์ประภารัตน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 175 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16512/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กลฉ้อฉลซื้อขายที่ดิน: ผู้ขายต้องคืนเงิน หากปกปิดสภาพที่ดินจริง
จำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ทำการซื้อขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 3 รับราชการอยู่ที่สำนักงานเขตมีนบุรีโดยทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ อีกทั้งมีหลักฐานสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทย่อมสามารถตรวจสอบสภาพที่ดินได้ตลอดเวลาว่าที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นบ่อดิน ป่ารก มีน้ำท่วมขังซึ่งความนี้จำเลยที่ 1 เองก็ทราบจากผู้รับมอบอำนาจของตนที่ไปขอรังวัดสอบเขตที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 3 พาจำเลยที่ 4 ไปดูที่ดินของ ส. แต่กลับอ้างว่าเป็นที่ดินพิพาท จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งความจริงให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายหน้าฝ่ายโจทก์ทราบ ครั้นจำเลยที่ 4 พาโจทก์ที่ 1 ไปดูที่ดินตามที่จำเลยที่ 3 เคยนำชี้ไว้ ทำให้ฝ่ายโจทก์หลงเข้าใจผิดว่าที่ดินที่ต้องการซื้อเป็นที่ดินนา มิใช่ที่ดินมีสภาพน้ำท่วมขังอันเป็นสภาพแท้จริง นอกจากนี้แล้วในวันเจรจาจะซื้อจะขายครั้งแรก โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 สอบถามสภาพที่ดิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็บอกเป็นที่ดินนา เมื่อโจทก์ที่ 1 แจ้งว่ามีคนทำนาอยู่ จำเลยที่ 2 ก็รับว่าจะจัดการให้ออกไปเสียจากที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวสนับสนุนได้ว่า ฝ่ายโจทก์ประสงค์ซื้อที่ดินนามิใช่ที่ดินที่มีสภาพน้ำท่วมขัง จำเลยที่ 1 เอง ขายที่ดินต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาในปี 2535 เกือบ 3,000,000 บาท แล้วยังยอมออกค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีที่ดิน ค่านายหน้าแทนฝ่ายโจทก์อันทำให้ขาดทุนจำนวนมาก และจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงให้ฝ่ายโจทก์ทราบ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 เป็นคนนำชี้ที่ดิน อีกทั้งตามสภาพที่ดิน แม้โจทก์ที่ 1 จะมีสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทก็ไม่อาจตรวจสอบได้โดยง่ายยังไม่ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกลฉ้อฉล อันเป็นทางให้โจทก์ทั้งหกเสียเปรียบ เมื่อโจทก์ทั้งหกส่งมอบที่ดินนาคืนแก่ ส. และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าซื้อขายที่ดินโดยชอบแล้ว ถือว่าโจทก์ทั้งหกซึ่งถูกกลฉ้อฉลได้บอกล้างสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะกรรม แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย โจทก์ทั้งหกมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินเพื่อให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินค่าซื้อขายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดทวงถามเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15979/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ตราสาร, ทรัสตี, การรับสภาพหนี้: ศาลยืนอายุความเริ่มนับจากวันถึงกำหนดชำระ ไม่ใช่วันบอกกล่าว
ตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ในส่วนข้อกำหนดและเงื่อนไขของตราสารหนี้ ข้อ 16 การบังคับสิทธิเรียกร้องกำหนดให้เฉพาะทรัสตีใช้ดุลพินิจดำเนินการต่อ บ. และจำเลย เพื่อบังคับตามสิทธิของผู้ถือตราสารหนี้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน แต่ไม่ผูกพันทรัสตีที่จะต้องดำเนินการดังกล่าว เว้นแต่เป็นมติพิเศษของผู้ถือตราสารหนี้หรือผู้ถือตราสารหนี้อย่างน้อยหนึ่งในสี่ร้องขอเป็นหนังสือและทรัสตีได้รับการประกันความเสียหายตามที่พอใจ ผู้ถือตราสารไม่มีสิทธิดำเนินการโดยตรงต่อ บ. และจำเลย เว้นแต่ทรัสตีไม่กระทำการภายในระยะเวลาที่สมควรและไม่กระทำการใด ๆ ต่อไป ข้อ 16 จึงเป็นเพียงกรณีกำหนดอำนาจและหน้าที่ของทรัสตีในการดำเนินการบังคับสิทธิเรียกร้องต่อ บ. และจำเลยแทนผู้ถือตราสารหนี้ หากทรัสตีไม่กระทำการผู้ถือตราสารหนี้ก็มีสิทธิบังคับสิทธิเรียกร้องโดยตรงต่อ บ. และจำเลย นอกจากนั้น ข้อ 14 อายุความ กำหนดว่า สิทธิเรียกร้องเงินต้น พรีเมียมและดอกเบี้ยจะขาดอายุความถ้าไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลา 10 ปี สำหรับเงินต้นหรือพรีเมียม หรือ 5 ปี สำหรับดอกเบี้ยตามลำดับ นับแต่วันที่เกี่ยวข้องตามที่ให้คำจำกัดความไว้ในข้อ 12 (c) และข้อ 12 (c) (i) ระบุว่า วันที่เกี่ยวข้องหมายถึงวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ถือตราสารหนี้ก่อนโจทก์ใช้สิทธิไถ่ถอนตราสารหนี้แล้ว วันดังกล่าวจึงเป็นวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้ อายุความจึงเริ่มนับแต่ดังกล่าวอันเป็นวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้และอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ไม่ใช่นับแต่วันที่ทรัสตีบอกกล่าวให้ บ. และจำเลยชำระเงินตามตราสารหนี้
การรับสภาพหนี้ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความ รายงานประจำปีของจำเลย ไม่ใช่เอกสารที่จำเลยทำให้ไว้ต่อโจทก์โดยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ แต่เอกสารดังกล่าวแสดงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการเงินของบริษัทจำเลย จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15833/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานซัดทอดและพยานบอกเล่าในคดีเลือกตั้ง การกระทำความผิดฐานซื้อเสียง
แม้ ช. เป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยทั้งสอง และคำให้การของ ช. จะเป็นคำซัดทอดก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 มิได้ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานซัดทอด เพียงแต่ว่าในการรับฟังพยานดังกล่าวศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่มีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน
บันทึกถ้อยคำของ อ. ในชั้นสืบสวนสอบสวน แม้เป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่กรณีมีเหตุจำเป็น เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถนำ อ. มาเบิกความได้และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) ศาลจึงนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15697/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลลูกค้าทั่วไปไม่ใช่ความลับทางการค้า แม้มีระบบรักษาความลับ หากเข้าถึงได้จากแหล่งเปิด
โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างจึงมีภาระการพิสูจน์ว่า รายชื่อและข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 เอาไปนั้นคือข้อมูลใดและเป็นความลับทางการค้าของโจทก์อย่างไร โจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวมีลักษณะพิเศษอย่างไรจึงเป็นข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไป แต่กลับได้ความจากพยานโจทก์ว่า รายชื่อลูกค้าอาจได้มาจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่บริษัทต่างๆ ลงประกาศรับสมัครงานหรือจากเว็บไซต์ ดังนั้นรายชื่อลูกค้า ชื่อคนติดต่อ และหมายเลขโทรศัพท์ รวมทั้งที่อยู่ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ของลูกค้าจึงเป็นเพียงข้อมูลการค้าทั่วไปเท่านั้น แม้จะมีประโยชน์ในทางพาณิชย์ต่อโจทก์อยู่บ้างแต่ก็ไม่เป็นความลับทางการค้าเพราะไม่มีคุณค่าทางพาณิชย์ตามความหมายใน พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 เนื่องจากข้อมูลการค้าที่มีประโยชน์ในทางพาณิชย์ดังกล่าวต้องมีผลต่อการดำรงคงอยู่ของธุรกิจการค้าที่กระทำอยู่หรือที่กำลังจะทำต่อไปในอนาคต หรือการดำรงคงอยู่ของธุรกิจนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลดังกล่าวเป็นสำคัญ และผู้เป็นเจ้าของข้อมูลการค้าได้ใช้เวลาและความพยายามกับค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อจะได้ข้อมูลนั้นมา ซึ่งคู่แข่งทางการค้าที่ได้ข้อมูลนี้ไปโดยไม่ชอบจะทุ่นเวลาและแรงงานในการหาหรือเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเป็นอย่างมาก และทำให้เจ้าของความลับเสียเปรียบในทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม
แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มีรหัสให้พนักงานเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ แต่เมื่อข้อมูลการค้าดังกล่าวบุคคลหรือบริษัทซึ่งประกอบธุรกิจรับจัดหางานทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ไม่ว่าจะทางสื่อสิ่งพิมพ์หรือเว็บไซต์ต่างๆ ได้ จึงถือไม่ได้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางการค้าซึ่งโจทก์มีสิทธิในการเปิดเผยหรือใช้เพียงผู้เดียวตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ มาตรา 5 การที่จำเลยที่ 2 นำชื่อลูกค้าของโจทก์ไปประกาศโฆษณาในอินเตอร์เน็ต หรือการที่จำเลยที่ 2 รับจัดหาพนักงานให้บริษัทซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์จึงไม่ใช่การละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ มาตรา 6
ส่วนสัญญาและกลยุทธ์ทางการค้าที่โจทก์นำสืบว่าเป็นความลับทางการค้าของโจทก์นั้น โจทก์ไม่ได้บรรยายในฟ้องและไม่สามารถนำสืบได้ว่ากลยุทธ์และสัญญาของโจทก์มีลักษณะที่พิเศษแตกต่างจากกลยุทธ์และสัญญาอื่นๆ อย่างไร หากกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นความชำนาญหรือทักษะเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ที่เกิดจากการทำงานกับโจทก์ก็มิใช่ความลับทางการค้าและจำเลยที่ 1 มีสิทธินำความชำนาญและทักษะดังกล่าวไปใช้ทำงานที่อื่นได้หากไม่มีการจำกัดสิทธิดังกล่าวในสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15243/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฟ้องเท็จ การแก้ไขฟ้อง และการพิสูจน์เจตนา ความรับผิดของทนายความ
ความผิดฐานฟ้องเท็จเกิดขึ้นเมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล การถอนฟ้องในระหว่างชั้นไต่สวนมูลฟ้องคงเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ตาม ป.อ. มาตรา 176
คำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อมีการยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องโดยลงลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองมาในส่วนของคำขอท้ายฟ้องก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ดังนี้ กรณีถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้สั่งโจทก์ให้แก้ฟ้องให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง จนเห็นได้ว่าเป็นฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15239/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานการค้าประเวณี-พรากผู้เยาว์: การกระทำชำเราในบังกะโลที่ใช้ติดต่อค้าประเวณีเป็นความผิดตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4 บัญญัตินิยามคำว่า "สถานการค้าประเวณี" หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้เพื่อการค้าประเวณีหรือยอมให้มีการค้าประเวณีและให้หมายความรวมถึงสถานที่ที่ใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลอื่นเพื่อการกระทำการค้าประเวณีด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาคำว่า สถานการค้าประเวณีตามบทบัญญัติดังกล่าวอาจไม่มีอยู่จริงตามกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้หมายความเพียงแต่สถานที่อันมีไว้เพื่อค้าประเวณีโดยเฉพาะเช่น ซ่องโสเภณี แต่ยังให้หมายรวมถึงสถานที่ทั่วไปที่ยอมให้มีการค้าประเวณีหรือใช้ในการติดต่อจัดหาบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการค้าประเวณีอีกด้วย เช่น ในโรงแรม ร้านทำผม ร้านอาหาร และสถานที่อื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกทั่วไปไม่รู้ว่ามีการค้าประเวณีแอบแฝง คงรู้แต่เฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นต้น การที่จำเลยที่ 1 พา น. ไปขายบริการทางเพศให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่บังกะโล ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างรู้กันว่า บังกะโลนี้เป็นสถานที่ติดต่อสำหรับค้าประเวณีได้ แม้เจ้าของหรือผู้ควบคุมบังกะโลจะรู้เห็นยินยอมหรือไม่ก็ตาม สถานที่ดังกล่าวก็เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำชำเรา น. ในสถานการค้าประเวณีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14582/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าคล้ายคลึงกันจนสับสน และการพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า D&G และคำว่า D&C ของจำเลยที่ 1 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า D&G และคำว่า D&G DOLCE & GABBANA ของโจทก์ซึ่งเป็นเครื่องหมายมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า สินค้าของโจทก์มีราคาแพงและจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ สินค้าของจำเลยทั้งสองวางจำหน่ายต่างสถานที่และผู้บริโภคมีรายได้น้อย และสินค้าของจำเลยทั้งสองมีข้อความว่า MADE IN THAILAND BY KTS เพื่อให้ทราบถึงแหล่งกำเนิดในประเทศไทยนั้น เห็นว่า สินค้าของโจทก์มีหลายชนิด ทั้งเครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกาย กระเป๋า เข็มขัด แว่นตา นาฬิกา และเครื่องประดับ ไม่แน่ว่าจำเลยทั้งสองจะผลิตสินค้าที่มีลักษณะ ราคา และมีข้อความว่า MADE IN THAILAND BY KTS ตลอดจนสถานที่วางจำหน่ายต่างกับสินค้าของโจทก์ตลอดไป จึงไม่ใช่เหตุที่ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า แต่เมื่อพิเคราะห์สินค้ากระเป๋าของจำเลยทั้งสองที่มีข้อความว่า MADE IN THAILAND BY KTS เห็นได้ชัดเจนใต้เครื่องหมายการค้า ทำให้สินค้ากระเป๋าของจำเลยทั้งสองแตกต่างกับสินค้าของโจทก์ ประกอบกับสภาพของสินค้า โดยรวมมีความแตกต่างกันมาก แสดงให้เห็นว่าแม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างเห็นได้ชัดแจ้ง จึงมิใช่การกระทำอันมีลักษณะเป็นการลวงขาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองยุติการจำหน่ายและเสนอจำหน่ายสินค้ากระเป๋าชนิดต่าง ๆ ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า D&G และคำว่า D&C นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งเป็นเครื่องหมายมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงบังคับให้ตามคำขอ
ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองใช้ ยื่นขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางใดกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองรวมตลอดทั้งเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และห้ามการใช้ โฆษณา หรือทำให้ปรากฏซึ่งเครื่องหมายการค้าดังกล่าวหรือเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ว่ากับสินค้าหรือเอกสารสิ่งของในการประกอบการค้าใด ๆ นั้น เห็นว่า เมื่อพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้นอีกต่อไป และคำขอดังกล่าวมุ่งบังคับการกระทำในอนาคตซึ่งครอบคลุมถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ จึงให้ยกคำขอ
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องขอถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ถูกต้องเมื่อการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิต่อโจทก์ จึงชอบที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โดยหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติก็ชอบที่จะใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14298/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ผลิตอาหารปลอม ศาลยืนโทษจำคุกเหมาะสม
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมสร้างสรรค์รูปทรง งานภาพพิมพ์ ใช้ชื่องานว่า เอนไซม์ เจนิฟู้ด ตามบัญชีรายชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ภาพและชื่องานศิลปกรรมที่ได้สร้างสรรค์ ข้อมูลลิขสิทธิ์ หนังสือรับรองความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ วันเดือนปีและประเทศที่โฆษณาครั้งแรก เอกสารท้ายฟ้อง จึงได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จำเลยให้การรับสารภาพ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องโจทก์ การที่จำเลยกระทำด้วยวิธีใด ๆ ให้ปรากฏภาพซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมบนกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้วนำออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมจึงเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า แม้งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมจะถูกนำไปใช้ร่วมกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่งานอันมีลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ร่วมก็มีลักษณะแยกต่างหากจากกันอย่างเด็ดขาด มิได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของกันและกัน จึงเป็นงานคนละประเภทแยกต่างหากจากกันและได้รับความคุ้มครองแยกจากกัน
การกระทำของจำเลยนอกจากก่อให้เกิดความเสียหายโจทก์ร่วมแล้ว ยังเกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคทั่วไป เป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลทรัพย์สินฯ พิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษให้นั้นเหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14246/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองประโยชน์ระหว่างพิจารณาคดีต้องเกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทโดยตรง มิใช่สิทธิอื่นที่ไม่เกี่ยวเนื่อง
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท ไม่มีอำนาจฟ้อง ประเด็นที่พิพาทกันจึงมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ มิได้พิพาทเกี่ยวกับสิทธิในการขอใช้น้ำประปา การที่จำเลยยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้การประปาส่วนภูมิภาคนำมิเตอร์น้ำประปามาติดตั้งที่บ้านพิพาทเช่นเดิมและขอให้ห้ามโจทก์มิให้ขัดขวางการขอติดตั้งมิเตอร์น้ำประปา จึงหาใช่เป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดที่พิพาทกันในคดีได้รับการคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะพิพากษาไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13534/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนขนส่งไม่มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้รับขน หากไม่มีนิติสัมพันธ์ทางสัญญา
ตามใบยืนยันการจอง จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องเฉพาะเมื่อมีการออกใบตราส่งซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งรายบริษัท ร. ไม่ใช่ผู้ขนส่ง พฤติการณ์นับตั้งแต่เริ่มเจรจาตกลงเพื่อทำสัญญาขนส่ง จนกระทั่งมีการทำสัญญาขนส่ง การติดต่อระหว่างการขนส่งที่โจทก์ติดต่อกับบริษัท ร. โดยตรงตลอดระยะเวลาโดยที่จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องเพียงการออกใบตราส่งแทนบริษัท ร. เท่านั้น และยังระบุไว้ว่าออกแทนบริษัทดังกล่าวจึงฟังได้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้ขนส่ง เป็นเพียงตัวแทนผู้ขนส่งเท่านั้น
แม้จำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้องแย้งไม่ถึง 200,000 บาท คดีตามฟ้องแย้งจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ส่งมายังศาลฎีกาแล้ว และปรากฏว่าข้อเท็จจริงในฟ้องแย้งกับฟ้องโจทก์เกี่ยวเนื่องกันดังที่วินิจฉัยมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงรับพิจารณาให้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 44
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่ง จำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ในฐานะตัวแทนและตัวการ หากจำเลยจ่ายเงินค่าใช้จ่ายและค่าระวางในการขนส่งครั้งพิพาทแทนไป ก็ย่อมเป็นการจ่ายแทนผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการของจำเลย ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยได้จ่ายเงินค่าใช้จ่ายและค่าระวางใด ๆ เป็นเงินทดรองแทนไปก่อนหรือไม่ก็ตาม จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินดังกล่าวเอาจากโจทก์ซึ่งไม่มีนิติสัมพันธ์ทั้งในทางสัญญารับขน และสัญญาตัวการตัวแทนกับจำเลย
of 18