คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 369

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 805 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16524/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน: เหตุสุดวิสัยจากข้อพิพาทแนวเขต และบันทึกข้อตกลงแก้ไขสัญญา ทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิด
โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงกันตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ที่กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายและทายาทของ ส. ต้องไปจดทะเบียนถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทและยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงย่อยตามที่โจทก์ผู้จะซื้อเป็นผู้กำหนด นับแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งจำเลยและทายาท ส. จะต้องดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว แต่เมื่อภายหลังจากโจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกัน ปรากฏว่าจำเลยมีข้อโต้แย้งเรื่องแนวเขตที่ดินพิพาทกับ อ. จนต่อมาจำเลยต้องฟ้องขับไล่ อ. ให้ออกจากที่ดินพิพาท ดังนั้น ระหว่างที่เป็นความคดีดังกล่าวกันอยู่เกี่ยวกับแนวเขตที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีทางที่จะดำเนินการให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงย่อยตามที่ระบุไว้ในสัญญาได้ และโจทก์กับจำเลยยังได้ทำบันทึกข้อตกลงท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยยินยอมให้โจทก์เลื่อนกำหนดการชำระเงินค่าที่ดินบางส่วน ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ออกไปจนกว่าจะตกลงกันเรื่องที่ อ. รุกล้ำที่ดินพิพาทเสร็จเรียบร้อยก่อน การที่โจทก์ยังไม่ชำระราคา และไม่ไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาท จึงเป็นไปตามข้อตกลงส่วนที่เพิ่มเติมในสัญญา ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญากับริบเงินมัดจำได้ การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท ยังคงมีผลผูกพันโจทก์จำเลยคู่สัญญาอยู่ อีกทั้งเมื่อเหตุแห่งความขัดข้องที่ทำให้ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ยังคงมีอยู่ กับไม่ได้มีข้อตกลงเพิ่มเติมให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นอีก ดังนั้น การที่จำเลยยังไม่ไปขอแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ก็ย่อมไม่เป็นการผิดสัญญาจะซื้อจะขายเช่นกัน โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญากับเรียกค่าเสียหายเป็นคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15124/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าพื้นที่: โฆษณาเป็นสาระสำคัญของสัญญา หากไม่เป็นไปตามที่โฆษณา ผู้ให้เช่าต้องรับผิด
ข้อความที่ระบุในแผ่นพับโฆษณาให้เช่าพื้นที่อาคารของจำเลยที่ 1 เป็นต้นว่า มีร้านค้ากว่า 250 ร้าน โดยชั้นล่างเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้า ชั้น 2 เป็นพื้นที่ศูนย์อาหารและร้านค้า ชั้น 3 เป็นพื้นที่สถาบันสอนภาษาและกวดวิชา ศูนย์อาหาร และสำหรับสถานที่จอดรถมีพื้นที่รองรับได้ร่วม 100 คัน ล้วนเป็นการชักจูงให้ผู้ประกอบธุรกิจสนใจโดยเชื่อมั่นว่าหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ระบุไว้ การเข้าประกอบธุรกิจในสถานที่นี้ย่อมจะบังเกิดผลดีแก่ตน และจำเลยที่ 1 ยังออกบู๊ธประชาสัมพันธ์โครงการ ติดแผ่นป้ายโฆษณา และพนักงานของจำเลยที่ 1 อธิบายต่อผู้สนใจซึ่งรวมทั้งโจทก์ว่า ในศูนย์การค้านี้จะมีร้านค้าที่มีชื่อเสียง รวมตลอดทั้งจำเลยที่ 1 จะทำแผนการตลาดให้ทีมบริหารที่มีความสามารถทำการชักจูงลูกค้าให้เข้าใช้บริการประกอบธุรกิจภายในอาคาร แต่ข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ดังนี้ สัญญาให้ได้รับสิทธิการเช่าบู๊ธและสัญญาเช่าพื้นที่ในอาคารระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้ต่อกัน เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งทั้งสองฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันแม้แผ่นพับโฆษณามิได้แนบรวมอยู่ในสัญญาด้วยก็ตาม ต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่โฆษณาไว้เป็นสาระสำคัญที่จำเลยที่ 1 มีเจตนาชักจูงใจให้โจทก์เข้าทำสัญญาด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่โฆษณา จึงถือมิได้ว่าโจทก์ได้รับมอบพื้นที่ให้เช่าตรงตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินเพื่อให้ได้รับสิทธิในการเช่าแก่โจทก์ รวมทั้งค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายในการตกแต่งสถานที่ที่โจทก์เสียไปในการเข้าดำเนินการตามสิทธิแห่งสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20333/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยร่วมเสนอราคาโดยทราบปัญหาพื้นที่ก่อสร้างแล้ว ต้องผูกพันตามสัญญา แม้จะยังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียด
ตามข้อกำหนดในการยื่นซองประกวดราคา โจทก์ได้ให้ผู้เสนอราคาตรวจสอบสถานที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างก่อนการเสนอราคา ก่อนยื่นซองประกวดราคาจำเลยร่วมส่งพนักงานไปดูพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้าง แสดงว่าก่อนที่จำเลยร่วมจะยื่นซองประกวดราคาย่อมทราบดีอยู่ก่อนแล้วว่าการก่อสร้างอาจจะมีปัญหากับเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ แต่ก็ยังสมัครใจและตกลงเข้าเสนอราคาในการประกวดราคากับโจทก์จึงต้องผูกพันในอันที่จะต้องเข้าทำสัญญากับโจทก์ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งตามข้อกำหนดการประกวดราคา ไม่อาจยกเอาเหตุที่จะต้องจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างโจทก์ จำเลยร่วม และเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาอ้างเป็นเหตุที่จะปฏิเสธไม่ทำสัญญา ส่วนที่จำเลยร่วมฎีกาว่า ในการตรวจสอบพื้นที่เป็นเพียงการตรวจสอบโดยทั่วไปเพื่อเสนอราคาก่อสร้างเท่านั้น มิได้ตรวจสอบอย่างละเอียดจึงยังไม่ทราบถึงผลกระทบที่จะมีต่อที่ดินแปลงข้างเคียงนั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยร่วมบกพร่องหรือละเลยไม่ตรวจสอบให้ละเอียดเอง จึงไม่อาจนำมาเป็นเหตุอ้างเพื่อจะไม่ต้องผูกพันตามข้อกำหนดการประกวดราคา และที่จำเลยร่วมฎีกาว่า โจทก์ต้องดำเนินการบอกเลิกสัญญาก่อนจึงจะใช้สิทธิในการริบเงินประกันของจำเลยร่วมนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยร่วมไม่เข้าทำสัญญากับโจทก์ตามข้อกำหนดการประกวดราคา จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์อันเป็นความรับผิดตามข้อกำหนดก่อนสัญญา โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยตามข้อกำหนดดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13705/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้รับค่าตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่ แม้แต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากงานที่ทำเป็นประโยชน์และไม่มีความเสียหาย
แม้ภายหลังที่จำเลยเข้าทำงานแล้วจะปรากฏว่าจำเลยได้รับการแต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องพ้นจากตำแหน่งไปก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหน้าที่แล้วโดยไม่ปรากฏความเสียหายแต่อย่างใด การพ้นจากตำแหน่งของจำเลยจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงงานที่จำเลยได้กระทำไปในหน้าที่ และเมื่อจำเลยปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์ จำเลยย่อมมีสิทธิได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นจากโจทก์เพราะการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยคืนเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นก่อนที่จะพ้นจากหน้าที่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6664/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้เงินและการยึดทรัพย์ประกัน แม้ไม่มีสิทธิยึดตามกฎหมาย แต่ข้อตกลงในสัญญาเป็นผลบังคับได้
แม้จำเลยในฐานะผู้ให้กู้ยืมจะไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 เพราะหนี้เงินกู้ไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์พิพาท แต่เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ระบุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิยึดทรัพย์พิพาทไว้เป็นประกันจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้เป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทำกันไว้ ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับ ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิยึดถือทรัพย์ที่นำมาประกันไว้จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอโฉนดที่ดิน และหนังสือสัญญากู้เงินคืนจนกว่าโจทก์จะได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขาย, การบอกเลิกสัญญา, การคืนเงินมัดจำและราคาที่ชำระแล้ว, สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา
การที่โจทก์จองซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์จากจำเลย 2 แปลง คือแปลงหมายเลข 1314 และ 1315 โดยวางเงินจองไว้แปลงละ 100,000 บาท ย่อมถือได้ว่าเป็นการให้มัดจำและเป็นหลักฐานว่าได้ทำสัญญากันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 แม้ตามใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จะมีข้อความว่าให้ทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกัน และโจทก์จำเลยยังไม่ได้ทำก็ตาม แต่ใบจองดังกล่าวระบุราคาขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ไว้ และระบุว่าวางเงินจองจำนวน 100,000 บาท กับระบุค่าโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยเป็นผู้ชำระ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์กันต่อไป กรณีจึงมีสาระสำคัญครบถ้วนเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ดังนั้น ใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย
ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างในฎีกา ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อหนี้ที่ต่างต้องชำระมิได้กำหนดเวลาไว้แน่นอน ต่างฝ่ายย่อมเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลัน โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควร บอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ประกอบมาตรา 369 การที่จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1314 โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระหนี้ แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยมีสิทธิรับเงินมัดจำ จำนวน 100,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงหมายเลข 1315 จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยมิได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ก่อนจึงไม่ชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญาต่อกัน แม้ไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาตามพฤติการณ์ แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 จึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไป กรณีไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท
สำหรับเงินค่าทำสัญญาที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์สองแปลง เป็นเงินแปลงละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น ไม่ใช่มัดจำ แต่เป็นการชำระราคาค่าที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์บางส่วน เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ส่วนเงินที่จะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 และราคาที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงบางส่วนดังกล่าวที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไว้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2545 อันเป็นวันที่รับไว้เป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2566/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทนพิเศษ, สัญญากู้, การคิดดอกเบี้ย, และการจำนอง: ศาลฎีกาตัดสินคดีพิพาทสัญญา
สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาธรรมดา ต้องเป็นสัญญาที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาระผูกพันเพิ่มขึ้นต่างหากจากการปฏิบัติตามสัญญาโดยปกติทั่วไป การที่จำเลยอนุมัติสินเชื่อให้โจทก์เพื่อจัดทำโครงการศูนย์การค้าในวงเงิน 27,000,000 บาท แต่จำเลยก็ตกลงยินยอมให้โจทก์ขอสินเชื่อได้เป็นคราว ๆ ไป โดยให้โจทก์ทำสัญญากู้ไว้แก่จำเลย ดังนั้น จำนวนวงเงินที่โจทก์ได้รับอนุมัติจากจำเลย เป็นแต่เพียงจำนวนเงินขั้นสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิได้รับการสนับสนุนจากจำเลยเท่านั้น ไม่ใช่จำนวนเงินที่กำหนดไว้แน่นอนเพื่อผูกพันจำเลยตามที่ได้อนุมัติไว้แต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าสัญญาสนับสนุนโครงการศูนย์การค้าของโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ธรรมดา
หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับหนี้ตามสัญญากู้เงินเป็นหนี้ต่างประเภทกัน มีเงื่อนไขและวิธีการในการคิดดอกเบี้ยแตกต่างกันตามที่คู่กรณีตกลงกัน เมื่อโจทก์กับจำเลยตกลงกันให้จำเลยหักเงินในบัญชีกระแสรายวันเพื่อชำระหนี้เงินกู้ จึงเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันใช้บังคับกันได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มีเงินเหลืออยู่ในบัญชีกระแสรายวันที่จะให้จำเลยหักชำระหนี้เงินกู้ จำเลยจึงตกลงยินยอมให้โจทก์เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีกระแสรายวันเพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ การคิดดอกเบี้ยของจำเลยในกรณีนี้จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลง หาใช่การคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12628/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขข้อความในเอกสาร การนำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสาร และผลผูกพันตามข้อความที่แก้ไข
การยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งได้ การนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น หมายถึงการนำสืบพยานบุคคลถึงข้อความอื่นให้แตกต่างไปจากข้อความที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนั้น แต่ที่โจทก์ทั้งสามนำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสารหมาย จ.11 นั้น เป็นการนำสืบถึงความมีอยู่จริงของข้อความที่ปรากฏอยู่แล้วในเอกสาร มิใช่นำสืบข้อความอื่นที่แตกต่างไปจากข้อความในเอกสารจึงมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. บุตรจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความทั้งหมดลงในเอกสารหมาย จ.11 แม้ข้อความตามหมายเหตุในเอกสารดังกล่าวจะมิได้มีอยู่ในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามโต้แย้งว่าไม่ตรงกับความจริงเพราะเงิน 130,000 บาท มิใช่เงินตอบแทนจดทะเบียนภาระจำยอม แต่เป็นเงินที่จำเลยต้องดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ จำเลยก็ให้ ส. เขียนข้อความหมายเหตุไว้ว่าจำเลยจะยกทางให้เป็นทางสาธารณะภายใน 1 ปี จึงถือว่าข้อความตามหมายเหตุนั้นมีอยู่ในขณะที่จำเลยจัดทำเอกสารหมาย จ.11 ก่อนที่จำเลยจะส่งมอบให้โจทก์ทั้งสามเก็บรักษาไว้ กรณีจึงมิใช่การเพิ่มเติมข้อความในภายหลังที่จำเลยจะต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย จำเลยจึงมีความผูกพันต่อโจทก์ทั้งสามที่จะต้องจดทะเบียนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะตามข้อความในหมายเหตุเอกสารหมาย จ.11

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10664/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อขาย: ผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินไถ่ถอนจำนอง จำเลยไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์
โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายซึ่งมีข้อตกลงว่า จำเลยตกลงขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้โจทก์ โดยโจทก์จะต้องไปชำระเงินที่ยังค้างชำระตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเพื่อไถ่ถอนจำนองแก่ธนาคาร อ. ก่อน แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏจากคำเบิกความโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้ชำระเงินที่ยังค้างชำระและไถ่ถอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากธนาคาร อ. กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาจะซื้อขายให้ถูกต้อง โจทก์จะขอบังคับจำเลยให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่ตนมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9473/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าไฟฟ้าค้างชำระ: โจทก์มีสิทธิเรียกค่าไฟฟ้าและดอกเบี้ยจากจำเลยได้ แม้ความผิดพลาดเกิดจากพนักงานโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ว. เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์ โจทก์ได้ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ พิเศษ/ร - 6362 ขนาด 150 แอมแปร์ 380 โวลต์ 3 ยก 4 สาย ที่อาคารพาณิชย์เลขที่ 440/45 - 51 ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้คำนวณกระแสไฟฟ้า ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 รับโอนสิทธิการใช้ไฟฟ้าดังกล่าวโดยสัญญาว่าจะชำระค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าตามอัตราที่โจทก์กำหนดจนกว่าจำเลยที่ 1 จะมีหนังสือบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์ ต่อมาเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 2 เข้ามาครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าและเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวต่อจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 โจทก์ตรวจสอบพบว่าพนักงานของโจทก์จดเลขอ่านหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ผิดพลาดไป ทำให้โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเงินจากจำเลยทั้งสองน้อยกว่าความจริง เหตุเนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน 2543 โจทก์ได้เปลี่ยนเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 เป็นยี่ห้อแลนดิส (LANDIS) โจทก์ตรวจสอบหน่วยการใช้ไฟฟ้าและคำนวณค่าไฟฟ้าที่ถูกต้องได้เป็นเงิน 340,879.50 บาท นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังค้างชำระค่าไฟฟ้าที่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2545 จำนวน 86,767 บาท โจทก์ได้นำเงินที่จำเลยทั้งสองชำระให้มาแล้วและเงินที่ชำระให้ตามสัญญาค้ำประกันมาหักออกจากจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว คงเหลือหนี้ค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระ 312,342.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 319,915.73 บาท คำฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหารวมทั้งรายละเอียด และคำขอบังคับโดยแจ้งชัดพอที่จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว โจทก์หาต้องบรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ใช้ไฟที่แท้จริงในแต่ละเดือนเป็นจำนวนเท่าใดเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
พยานโจทก์สามปากซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์เบิกความประกอบเอกสารว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 โจทก์ตรวจสอบพบว่าพนักงานของโจทก์ได้จดเลขอ่านหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ายี่ห้อแลนดิส (LANDIS) ที่โจทก์นำมาเปลี่ยนให้กับจำเลยที่ 1 ใหม่ ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ผิดพลาด ทำให้โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวน้อยกว่าความเป็นจริง โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าใหม่ในช่วงดังกล่าวเป็นเงิน 427,646.50 บาท จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างหรือนำสืบให้เห็นว่าค่าไฟฟ้าที่โจทก์คำนวณใหม่และเรียกเก็บเพิ่มจากจำเลยทั้งสองนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าไฟฟ้าที่ขาดไปเป็นเงิน 312,342.50 บาท แม้การจดบันทึกหน่วยการใช้ไฟฟ้าผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากการกระทำของพนักงานโจทก์เอง โดยจำเลยทั้งสองมิได้มีส่วนร่วมด้วย โจทก์ก็สามารถเรียกค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองใช้ไปตามความจริงได้ตามข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ.2535
ค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองค้างชำระเป็นหนี้เงินตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัด ก่อนฟ้องคดีโจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ค่าไฟฟ้า 312,342.50 บาท แก่โจทก์ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 1 รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 ครบกำหนดจำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
of 81