คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อนันต์ วงษ์ประภารัตน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 175 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12983/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การติดตั้งกล้องแอบถ่ายในที่สาธารณะ ถือเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารและรังแกผู้อื่น
การที่จำเลยแอบติดตั้งกล้องบันทึกภาพไว้ที่ใต้โต๊ะทำงานของโจทก์ร่วม และบันทึกภาพสรีระร่างกายของโจทก์ร่วมตั้งแต่ช่วงลิ้นปี่จนถึงอวัยวะช่วงขามองเห็นกระโปรงที่โจทก์ร่วมสวมใส่ ขาท่อนล่างและขาท่อนบนของโจทก์ร่วม โดยที่กล้องบันทึกภาพมีแสงไฟสำหรับเพิ่มความสว่างเพื่อให้มองเห็นภาพบริเวณใต้กระโปรงของโจทก์ร่วมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การกระทำของจำเลยส่อแสดงให้เห็นถึงความใคร่และกามารมณ์ โดยที่โจทก์ร่วมมิได้รู้เห็นหรือยินยอม อันเป็นการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แม้จำเลยจะมิได้สัมผัสต่อเนื้อตัวร่างกายของโจทก์ร่วมโดยตรง แต่การที่จำเลยใช้กล้องบันทึกภาพใต้กระโปรงโจทก์ร่วมในระยะใกล้ชิด โดยโจทก์ร่วมไม่รู้ตัวย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำโดยประสงค์ต่อผลอันไม่สมควรในทางเพศต่อโจทก์ร่วม โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 1 (6) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 นอกจากหมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายแล้ว ยังหมายความว่าทำการประทุษร้ายแก่จิตใจด้วย ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าว ทำให้โจทก์ร่วมต้องรู้สึกสะเทือนใจอับอายขายหน้า จึงถือว่าเป็นการประทุษร้ายแก่จิตใจของโจทก์ร่วมแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอนาจารโจทก์ร่วม ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278
ห้องตรวจคนไข้ที่เกิดเหตุ เป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลเนินสง่า อันเป็นสถานที่ราชการซึ่งเป็นสาธารณสถาน แม้ประชาชนที่ไปใช้บริการในห้องตรวจคนไข้ที่เกิดเหตุจะต้องได้รับอนุญาต และผ่านการคัดกรองจากพยาบาลหน้าห้องตรวจก่อน แต่ก็เป็นเพียงระเบียบขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการใช้บริการของโรงพยาบาลเท่านั้น หาทำให้ห้องตรวจคนไข้ดังกล่าวซึ่งเป็นสาธารณสถานที่ประชาชนมีความชอบธรรมจะเข้าไปได้ ต้องกลับกลายเป็นที่รโหฐานแต่อย่างใดไม่ ห้องตรวจคนไข้ที่เกิดเหตุจึงยังคงเป็นสาธารณสถาน ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการรังแก หรือข่มเหงผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณสถานตาม ป.อ. มาตรา 397

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10839/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขัดแย้งคำพิพากษาต่างศาล: ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาเดิม แม้มีคำพิพากษาจากศาลต่างประเทศ
ตามคำร้องของจำเลยอ้างเหตุว่า ในมูลหนี้เดียวกันนี้และก่อนฟ้องคดีนี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ได้ฟ้องคดีต่อ "The High Court of Justice, Queen's Bench Division, Commercial Court" ประเทศสหราชอาณาจักร จนศาลดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระเงิน จำนวน996,498 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,687,289.24 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีคำพิพากษาของศาลต่างรัฐกันขัดแย้งกันเรื่องจำนวนหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ ทั้งโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าวไปแล้วบางส่วนด้วย หากบังคับคดีนี้ต่อไป จำเลยจะได้รับความเสียหายเกินความจำเป็น เมื่อพิจารณาคำร้องและอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว เข้าใจได้ว่าเหตุที่มีความประสงค์จะขอให้ศาลงดการบังคับคดีเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกากับคำพิพากษา "The High Court of Justice" ขัดแย้งกันในเรื่องจำนวนหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระ เห็นว่า จำเลยไม่ได้อ้างเหตุที่งดการบังคับคดี แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่จำเลยอ้าง ก็ไม่มีเหตุที่จะงดการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10774/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต้องไม่กระทบสิทธิเจ้าหนี้มีประกันที่จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่าราคาทรัพย์หลักประกัน
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าหนี้มีประกันโดยมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้จำนองเป็นประกัน และมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า ในกรณีบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ หรือในกรณีผู้รับจำนองเอาทรัพย์ที่จำนองหลุดเป็นสิทธิและราคาทรัพย์ที่จำนองต่ำกว่าจำนวนหนี้อยู่เท่าใด ลูกหนี้ผู้จำนองยอมชำระหนี้ที่ขาดนั้นจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ผู้จำนองให้แก่ผู้รับจำนองจนครบถ้วน จึงเป็นกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้รายที่ 242 และที่ 445 เกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และหากลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) หรือ (4) ซึ่งหมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันเหล่านี้จะต้องได้รับชำระหนี้อย่างน้อยเท่ากับราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน หนี้ส่วนที่เหลือจึงจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 130 (7) และการที่แผนฟื้นฟูกิจการที่มีการแก้ไขจัดให้เจ้าหนี้รายที่ 242 และที่ 445 เป็นเจ้าหนี้มีประกันในกลุ่มที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/46 ทวิ (2) ก็ย่อมแสดงว่าในจำนวนหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีเจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์อันเป็นหลักประกันนั้น นอกจากนี้เจ้าหนี้มีประกันจะใช้สิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการก็ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/28 และแม้ว่าในระหว่างลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้มีประกันจะถูกจำกัดสิทธิมิให้บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ แต่การจำกัดสิทธินั้นจะต้องให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/12 (6) และมาตรา 90/13 แผนฟื้นฟูกิจการจึงต้องไม่กระทบต่อสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันโดยเจ้าหนี้มีประกันที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามแผนจะต้องได้รับชำระหนี้เมื่อดำเนินการสำเร็จตามแผนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/58 (3)
เมื่อพิจารณาสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลายในอันที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 95 และมาตรา 110 วรรคสาม หรือเจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้โดยตีราคาทรัพย์หลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้ส่วนที่ขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 96 (4) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์หลักประกันจนเต็มจำนวนบุริมสิทธิที่ตนมีอยู่ เจ้าหนี้มีประกันจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลค่าปัจจุบันในวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไม่น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์หลักประกัน หากว่ายังไม่ได้มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้มีประกันโดยเต็มจำนวนและในทันทีที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ลูกหนี้ย่อมจะต้องชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการชำระหนี้ล่าช้านั้นเพื่อให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์หลักประกัน ส่วนการประเมินมูลค่าหลักประกันที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณานั้น เมื่อปรากฏว่าหลักประกันเป็นที่ดินพร้อมโรงงานซึ่งในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะมีการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ในส่วนนี้ต่อไป มิได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันไปในราคาบังคับขายแต่อย่างใด ราคาประเมินที่เหมาะสมซึ่งจะนำมาใช้ก็คือ ราคาตลาดอันมีราคา 228,788,921 บาท หาใช่ราคาบังคับขายอันมีราคา 148,974,000 บาท ไม่
การที่ข้อเสนอขอแก้ไขแผนกำหนดให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับชำระหนี้ในอัตราร้อยละ 80 ของต้นเงินตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีการแก้ไขเดิม ซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้วนั้นย่อมไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่มีการแก้ไขแล้วย่อมผูกพันบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งการขอแก้ไขดังกล่าวยังเป็นการกระทบสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในอันที่จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ผู้บริหารแผนจะอ้างราคาบังคับขายทรัพย์หลักประกันเพื่อแสดงว่าเจ้าหนี้รายที่ 242 และที่ 445 ได้รับชำระหนี้มากกว่ากรณีที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายหาได้ไม่ เนื่องจากกิจการของลูกหนี้มิได้ปิดลง ทั้งไม่มีค่าใช้จ่ายในการขายทรัพย์หลักประกันแต่อย่างใด ดังนี้ การประเมินราคาทรัพย์สินตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนของผู้บริหารแผนจึงเป็นการประเมินราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันโดยมิชอบ ทำให้สิทธิของเจ้าหนี้มีประกันไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/58 (3) ประกอบมาตรา 90/13 อันมีผลให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 อาจได้รับชำระหนี้น้อยกว่ากรณีที่มีการขายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/63 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 90/58 (3) ทั้งเป็นการขัดต่อผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่มีการแก้ไขซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วซึ่งไม่อาจทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9897/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำพิพากษาต้องไม่กลับคำวินิจฉัยเดิม การยึดทรัพย์สินบังคับคดีเพิ่มเติมต้องใช้วิธีอุทธรณ์
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 143 นั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงในคำพิพากษาได้จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ตรวจคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเทียบกับรายการที่ต้องมีในคำพิพากษาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 แล้ว พบว่าคำพิพากษาของศาลดังกล่าวในหน้า 2 ตั้งแต่ข้อความว่า "พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแล้ว คดีฟังได้ว่า" ถึงหน้า 7 บรรทัดที่ 7 สิ้นสุดที่ข้อความว่า "และประกาศของโจทก์เอกสารหมาย จ.24 ถึง จ.26" เป็นส่วนของเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ ส่วนหน้า 7 บรรทัดที่ 7 ตั้งแต่ข้อความว่า "คดีฟังได้ดังกล่าว" จนสิ้นสุดบรรทัดที่ 11 นั้นเป็นส่วนของเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อกฎหมาย หลังจากที่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามข้อความก่อนหน้านี้ ตามรายการในพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ส่วนข้อความในหน้า 7 ตั้งแต่ข้อความว่า "พิพากษาให้..." เป็นต้นไปจนจบนั้นเป็นส่วนของคำวินิจฉัยของศาลตามรายการในพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) ซึ่งเมื่อพิจารณารายละเอียดในส่วนของพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้กล่าววินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับอำนาจของโจทก์ที่จะยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้า หลังจากการบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ว่าจะสามารถยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าเพื่อบังคับคดีได้อีกหรือไม่ และเมื่อพิจารณารายละเอียดต่อไปในส่วนของพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) ก็ไม่ปรากฏเช่นกันว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยให้โจทก์มีอำนาจยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าเพื่อบังคับคดีได้อีก ดังนั้น คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทั้งสองส่วนจึงสอดคล้องกัน ไม่ใช่เรื่องที่คำพิพากษาเกิดข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังโดยอาศัยพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 143 แต่โจทก์ต้องใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 38 เมื่อโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ คำพิพากษาดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9630/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งสินค้าทางทะเล: เงื่อนไข Free Out, หน้าที่ของผู้ขนส่ง, ภาระการพิสูจน์ความเสียหาย
ตามปกติแล้วผู้ขนส่งมีหน้าที่ส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางจนถึงท่าเรือปลายทางและมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ท่าเรือปลายทาง แต่ทั้งนี้อาจมีข้อตกลงกันเป็นพิเศษให้ผู้รับตราส่งเป็นผู้ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเองได้ที่เรียกว่าเป็นเงื่อนไขแบบ Free Out เมื่อพิจารณาใบตราส่งไม่ปรากฏว่าได้ระบุเงื่อนไขดังกล่าวไว้และที่พยานจำเลยที่ 2 อ้างว่า สินค้าพิพาททำการขนถ่ายภายใต้ข้อกำหนด Free Out ตามไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เอกสารนั้น เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ส่งถึงตัวแทนจำเลยที่ 1 และยังเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยไม่ปรากฏว่าผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งได้รับทราบและแสดงความตกลงด้วย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าการขนส่งสินค้าพิพาทเป็นการขนส่งที่มีเงื่อนไขแบบ Free Out
แม้ข้อเท็จจริงไม่อาจฟังได้ว่าผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าพิพาทขึ้นจากเรือ ดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้าง หากแต่เป็นหน้าที่ของผู้ขนส่ง แต่เมื่อโจทก์อ้างว่าสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9597/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีละเมิดลิขสิทธิ์และการจำหน่ายภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจ พิจารณาองค์ประกอบความผิดและคำบรรยายฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ริบแผ่นปกซีดีภาพยนตร์ด้วย เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้วินิจฉัยคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9)
แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่การริบของกลางตามฟ้องได้นั้น จะต้องได้ความชัดแจ้งตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยได้ใช้หรือมีของกลางนั้นไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 และ ป.อ. มาตรา 33 (1) เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยทุกข้อหาตามฟ้องล้วนแล้วแต่เป็นแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ทั้งสิ้น ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องระบุชื่อเรียกแผ่นดีวีดีภาพยนตร์แตกต่างจากชื่อเรียกปกซีดีภาพยนตร์ของกลางอย่างชัดเจน แผ่นดีวีดีภาพยนตร์และแผ่นซีดีภาพยนตร์เป็นแผ่นต่างชนิดซึ่งเป็นคนละประเภทกัน อีกทั้งโจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 3 ว่า ...และยึดได้แผ่นปกซีดีภาพยนตร์ รวม 4 เล่ม ที่จำเลยใช้ในการเสนอจำหน่ายแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นของกลาง โดยไม่ปรากฏว่าปกซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งหกปรากฏให้เห็นว่าเป็นการขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ตามฟ้องรวมอยู่ในหน้าปกดังกล่าวด้วย คำบรรยายฟ้องโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าแผ่นปกซีดีภาพยนตร์ รวม 4 เล่ม ของกลาง เป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้เสียหายทั้งหกโดยตรงที่ให้ริบเสียทั้งสิ้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 หรือเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด อันพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์" แต่การกระทำที่จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 25 วรรคหนึ่ง นั้น ผู้กระทำความผิดจะต้องมีหน้าที่นำภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องใน ข้อ 2 (ข) เพียงว่า จำเลยจำหน่ายแผ่นดีวีดีภาพยนตร์... โดยไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์และไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ต้องนำภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายในราชอาณาจักรไปผ่านการตรวจพิจารณาอย่างไร การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องย่อมไม่อาจเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะเป็นความผิดตามมาตรา 78 ได้ ฟ้องของโจทก์ในข้อหาความผิดดังกล่าว จึงเป็นฟ้องที่มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9535/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าและการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ผลกระทบต่อการอายัด
ผู้ร้องเป็นผู้ถูกอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดิน ซึ่งผู้ร้องจะต้องส่งมอบเงินค่าเช่าที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ณ เวลา หรือภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง และเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องที่มีการอายัด จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280, 311 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินของจำเลยที่ 2 มิได้อายัดที่ดินดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยที่ 2 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอก เมื่อจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว สิทธิในเงินค่าเช่าที่ดินย่อมโอนไปยังบุคคลภายนอกนับแต่วันที่จดทะเบียนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิรับเงินค่าเช่าอีกต่อไป จึงมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9477/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: ศาลบังคับได้เฉพาะตามคำขอและคำชี้ขาดเดิม, ไม่อาจเพิ่มดอกเบี้ยเกินกว่าที่อนุญาโตตุลาการตัดสิน
แม้หนี้ตามสัญญาซื้อขายที่มีคำชี้ขาดนี้จะเป็นหนี้เงิน ซึ่งกฎหมายให้คิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่ผิดนัด แต่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก็ต้องเป็นไปตามข้อเรียกร้อง และคำขอที่ให้ชี้ขาดในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งตามข้อเรียกร้องของผู้ร้องมิได้มีคำขอดอกเบี้ยหลังวันชี้ขาดด้วย และอนุญาโตตุลาการก็ชี้ขาดดอกเบี้ยเฉพาะตามที่ขอ เมื่อผู้ร้องมาขอบังคับตามคำชี้ขาด ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้บังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดนั้นได้ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมีคำขอดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันร้องขอเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จมาท้ายคำร้อง ก็เป็นการขอบังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดที่กำหนดสถานะความรับผิดของผู้คัดค้านจากการผิดสัญญาซื้อขายไว้โดยเฉพาะแล้ว และตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 นั้น ศาลไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับเกินคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9346/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาจำกัดขอบเขตการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นตามฟ้อง และข้อจำกัดการฎีกาเรื่องใหม่
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ถนนที่จำเลยจอดรถมีสภาพมืดไม่มีแสงส่องสว่าง จำเลยไม่ได้เปิดโคมไฟเล็ก โคมไฟท้ายและโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถยนต์เพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ใช้ยานพาหนะเห็นรถที่จอดได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร อันเป็นองค์ประกอบของ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2522) โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า รถบรรทุกสิบล้อคันที่จำเลยขับมีเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ของรถขัดข้อง ทั้งมิได้มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 56 แต่อย่างใด แต่ศาลชั้นต้นกลับวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้แสดงเครื่องหมายตามลักษณะที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 5 และ 56 วรรคสอง ข้อ 2 (1) ข้อ 3 และข้อ 6 ซึ่งกำหนดให้ผู้ขับขี่รถบรรทุกนอกเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ต้องแสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณในกรณีที่จำเป็นต้องจอดรถอยู่ในทางเดินรถ เนื่องจากเครื่องยนต์หรือเครื่องอุปกรณ์ของรถขัดข้อง โดยมีเครื่องหมายทำด้วยแผ่นโลหะรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ยาวไม่ต่ำกว่าด้านละ 50 เซนติเมตร ติดด้วยแถบสะท้อนแสงพื้นสีขาว ขอบสีแดง กว้าง 5 เซนติเมตร มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีดำกว้าง 8 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตร หัวท้ายมน อยู่บนพื้นสีขาวในแนวดิ่งพร้อมขาตั้ง โดยให้ฐานของรูปสามเหลี่ยมขนานกับพื้นไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของรถห่างจากรถไม่ต่ำกว่า 50 เมตร และไม่ได้ให้สัญญาณเป็นไฟกระพริบสีเหลืองอำพันหรือสีขาวติดอยู่หน้ารถทั้งด้านซ้ายและด้านขวา และสัญญาณไฟกระพริบสีแดงหรือสีเหลืองอำพันติดอยู่ท้ายรถทั้งด้านซ้ายและด้านขวา รวมทั้งไม่ได้ตั้งวางกรวยสัญญาณจราจร กองกิ่งไม้หรือวัตถุอื่นใดไว้ด้านท้ายรถของจำเลย อันเป็นการวินิจฉัยเกินไปกว่าที่โจทก์กล่าวในฟ้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และศาลชั้นต้นก็ยังมิได้วินิจฉัยเลยว่า จำเลยไม่ได้เปิดโคมไฟเล็ก โคมไฟท้าย และโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถยนต์ไว้ อันเป็นองค์ประกอบของ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2522) ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะปรับบทลงโทษจำเลย ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61, 151 ตรงตามคำขอของโจทก์ แต่ก็เป็นการมิชอบเช่นกันเพราะเป็นคำพิพากษาที่ไม่ได้แสดงเหตุผลในการตัดสินในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและปรับเข้าข้อกฎหมาย ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6)
เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายอุทธรณ์ว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังว่า รถบรรทุกสิบล้อของจำเลยได้เปิดโคมไฟเล็ก โคมไฟท้าย และโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถยนต์ไว้ และพิพากษายกฟ้องในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61, 151 ด้วย ดังนี้ โจทก์จะฎีกาว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า จำเลยจอดรถในบริเวณที่เกิดเหตุโดยไม่ได้เปิดโคมไฟเล็ก โคมไฟท้าย และโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถยนต์ จำเลยจึงกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61, 151 หาได้ไม่ เพราะถือว่ามิใช่ข้อที่โจทก์ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง, 148 วรรคหนึ่ง กรณีที่ผู้ขับขี่ต้องจอดรถทางด้านซ้ายของทางเดินรถ และจอดรถให้ด้านซ้ายของรถขนานชิดกับขอบทางหรือไหล่ทางในระยะห่างไม่เกินยี่สิบห้าเซนติเมตรนั้น โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานนี้ว่า จำเลยจอดรถในช่องเดินรถในลักษณะกีดขวางการจราจรโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ปรากฏจากภาพถ่ายว่า รถบรรทุกสิบล้อของจำเลยจอดอยู่ในลักษณะเกือบชิดเส้นทึบริมขอบทางด้านซ้าย ซึ่งสอดคล้องกับที่ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจตรี ป. พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า รถบรรทุกสิบล้อของจำเลยจอดค่อนข้างชิดไปทางซ้าย และเชื่อได้ว่าในช่องเดินรถทางด้านขวาของตัวรถยังมีพื้นที่ว่างอยู่พอสมควร จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยจอดรถบรรทุกสิบล้อในช่องเดินรถในลักษณะกีดขวางการจราจรโดยไม่จอดรถให้ด้านซ้ายของรถขนานชิดกับขอบทางหรือไหล่ทางในระยะห่างไม่เกินยี่สิบห้าเซนติเมตร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9136/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวงคดีซื้อขาย, ทุนทรัพย์, สัญญาจะซื้อจะขาย, การยอมรับข้อเท็จจริง, ข้อจำกัดการฎีกา
คำฟ้องของโจทก์ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการบังคับจำเลยในทุนทรัพย์ 300,000 บาท มิใช่ราคา 600,000 บาท การคำนวณทุนทรัพย์ของคดีจะต้องคำนวณตามราคาที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเป็นราคาที่ตกลงจะซื้อขายกับจำเลย จำเลยไม่เคยโต้เถียงในเรื่องนี้มาก่อนและจำเลยได้ร่วมดำเนินคดีมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น เท่ากับจำเลยยอมรับว่าคดีมีทุนทรัพย์ 300,000 บาท เมื่อเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17
of 18