คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชูเกียรติ ดิลกแพทย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 29 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากร: ต้องรอจนกว่าสิทธิอุทธรณ์ของผู้เสียภาษีสิ้นสุดก่อน จึงจะฟ้องได้
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ และมาตรา 112 อัฏฐารส หากผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกไม่พอใจการประเมิน กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ตรวจคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินว่าชอบด้วยกฎหมายประการใด โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินได้ตามที่เห็นสมควร และหากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สามารถอุทธรณ์โดยฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีนี้ในส่วนอากรขาเข้าจำเลยอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 112 ฉ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรโดยไม่รอให้พ้นกำหนดเวลา 30 วัน ที่จำเลยสามารถจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 112 อัฏฐารส การที่จำเลยจะต้องเสียภาษีตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่จึงยังไม่เด็ดขาด เพราะยังอยู่ในเวลาที่จำเลยยังมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้และต่อมาจำเลยได้ฟ้องโจทก์ที่ 1 ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งรวมถึงใบขนสินค้าพิพาททั้ง 4 ฉบับในคดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ภ.216/6560 ของศาลภาษีอากรกลาง ภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนหนึ่งต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษี คือ ราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าเพื่อใช้เป็นฐานภาษี เมื่อจำเลยใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับอากรขาเข้าซึ่งมีผลต่อฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมูลค่าเพิ่มตามการประเมินจึงยังไม่เด็ดขาด โจทก์ที่ 2 จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 681/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินอากรขาเข้า การสำแดงเท็จ และสิทธิในการไม่เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อตรวจพบการขาดอากร
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง มาตรา 15 วรรคสาม บัญชีท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ภาค 1 หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 1 และข้อ 6 การจะจัดสินค้าที่โจทก์นําเข้าว่าอยู่ในประเภทพิกัดใดต้องใช้หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 บัญชีท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ (Explanatory Notes : EN) ดังกล่าว ซึ่งตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2549 และใช้บังคับในขณะที่โจทก์นําเข้าสินค้าพิพาท ได้ระบุสินค้าที่อยู่ในประเภทพิกัด ตอนที่ 84 ว่า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กล และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว ประเภท 84.79 เครื่องจักรและเครื่องใช้กลที่มีหน้าที่การทำงานเป็นเอกเทศ ที่ไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ในที่อื่นในตอนนี้ และตอนที่ 87 ยานบกนอกจากรถที่เดินบนรางรถไฟหรือรางรถราง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานดังกล่าว ประเภท 87.08 ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานยนต์ตามประเภทที่ 87.01 ถึง 87.05 และได้มีการกำหนดประเภทย่อยขึ้นใหม่ ประเภทย่อย 8708.95 ถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลม รวมทั้งส่วนประกอบของของดังกล่าว ประเภทย่อย 8708.95.10 ถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลม และประเภทย่อย 8708.95.90 ส่วนประกอบ เมื่อพิจารณาประเภทพิกัดดังกล่าวข้างต้น การพิเคราะห์ว่าสินค้า "Coolant" ที่โจทก์นําเข้ามาตามใบขนสินค้าทั้ง 11 ฉบับ จัดอยู่ในพิกัดใดนั้น ต้องพิจารณาถึงสาระสำคัญของสินค้าดังกล่าวเป็นหลัก ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า สินค้าที่โจทก์นําเข้าเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์กำเนิดก๊าซที่ใช้กับถุงลมนิรภัย (Airbag Inflator) ที่โจทก์ผลิตและจําหน่าย ประกอบด้วย "Bridge Wire, Initiator, Enhancer, สารกำเนิดก๊าซ Gas Generant และ Coolant" ซึ่งเมื่อรถยนต์ถูกชนด้วยความเร็วที่มากกว่าค่าที่ตั้งไว้ เซนเซอร์ไฟฟ้าจะทำงาน โดยกระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านเข้าสู่ "Bridge Wire" ซึ่งอยู่ใน "Initiator แล้วเกิดประกายไฟใน "Initiator" ผ่านเข้าสู่ "Enhancer" ทำให้เกิดความร้อนไปเผาไหม้ "Gas Generant" จนเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นก๊าซอย่างรวดเร็ว ก๊าซจะไหลผ่านทาง "Coolant" และปล่อยเข้าสู่ถุงลมนิรภัยจนพองตัว ส่วนสินค้าอุปกรณ์กำเนิดก๊าซที่ใช้กับถุงลมนิรภัยในรถยนต์ (Coolant) นั้น มีลักษณะเป็นเส้นลวดม้วนทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลางรอบนอก 6 เซนติเมตร โดยนําเข้าลวดขนาด 0.5 มิลลิเมตร พันเป็นม้วน 300 ถึง 5,000 รอบ แล้วนําไปยึดติดกันด้วยความร้อนในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งสินค้า "Coolant" จะถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์กำเนิดก๊าซที่ใช้กับถุงลมในรถยนต์ (Airbag Inflator) ทำหน้าที่เป็นตัวกันความร้อน ดักฝุ่นควัน และลดแรงกระแทกของแรงดันก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของสารเคมีในอุปกรณ์กำเนิดก๊าซของถุงลมนิรภัย (Airbag Inflator) เท่านั้น ไม่สามารถนําไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ แม้เดิมเมื่อปี 2543 คณะกรรมการเร่งรัดและแก้ไขข้อขัดข้องในการพิจารณาปัญหาพิกัดอัตราศุลกากร (กรป.) มีคําวินิจฉัยว่า ของดังกล่าวจัดเข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 8479.89 ในฐานะเป็นเครื่องจักรและเครื่องใช้กลที่ทำงานเป็นเอกเทศ ตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการเร่งรัดและแก้ไขข้อขัดข้องในการพิจารณาปัญหาพิกัดอัตราศุลกากร (กรป.) ครั้งที่ 87/5/2543 แต่ต่อมามี พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2549 ประกอบกับบัญชีท้าย พ.ร.ก.ดังกล่าวภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า ได้กำหนดให้ถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลมสำหรับรถยนต์ รวมทั้งส่วนประกอบของของดังกล่าว จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 8708.95 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สอดคล้องกับที่องค์การศุลกากรโลกมีการเปลี่ยนแปลงระบบพิกัดจากเดิม เอชเอส 2002 กำหนดให้สินค้า "Coolant" อยู่ในประเภทพิกัดย่อย 8479.89.40 เป็นระบบพิกัด เอชเอส 2007 กำหนดให้สินค้าดังกล่าวอยู่ในประเภทพิกัดย่อย 8708.95.90 เมื่อปรากฏว่า สินค้า "Coolant" ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์กำเนิดก๊าซที่ใช้กับถุงลมในรถยนต์ (Airbag Inflator) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลมในรถยนต์ สินค้า "Coolant" จึงเป็นของที่มีประเภทพิกัดระบุถึงไว้โดยเฉพาะ ในฐานะส่วนประกอบของถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลมตามประเภทพิกัดย่อย 8708.95.90 และเมื่อเป็นการนําเข้ามาในช่วงระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2550 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2552 อันเป็นเวลาภายหลังจาก พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2549 ประกอบกับบัญชีท้ายพระราชกำหนดดังกล่าวภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า มีผลใช้บังคับแล้ว ดังนั้น เมื่อสินค้าที่โจทก์นําเข้าเป็นส่วนประกอบของถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลมตรงตามความของประเภทพิกัด 8708.95 ประเภทย่อย 8708.95.90 เป็นการเฉพาะแล้ว สินค้าที่โจทก์นําเข้าจึงไม่ใช่เครื่องจักรและเครื่องใช้กลที่มีหน้าที่การทำงานที่เป็นเอกเทศ ตามประเภทพิกัด 84.79 ประเภทย่อย 8479.90.40 อีก ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ข้อ 1 และข้อ 6 โดยโจทก์ไม่อาจอ้างถึงคําวินิจฉัยของคณะกรรมการเร่งรัดและแก้ไขข้อขัดข้องในการพิจารณาปัญหาพิกัด (กรป.) การประชุมครั้งที่ 87/5/2543 ในปี 2543 ที่วินิจฉัยให้สินค้าที่โจทก์นําเข้าจัดเข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 8479.89 ในฐานะเป็นเครื่องจักรและเครื่องใช้กล ที่ทำงานเป็นเอกเทศ มาใช้บังคับได้อีก ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จําเลยได้ออกประกาศกรมศุลกากรที่ 42/2553 เรื่อง แจ้งพิกัดอัตราศุลกากร (ป.อ.1/2553) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไป ให้จัดสินค้า "Coolant" เป็นของตามพิกัด 8708.95.90 อัตราอากรร้อยละ 10 นั้น เห็นได้ว่าเมื่อสินค้าดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทพิกัด 8708.95.90 ตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2549 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 มาก่อนที่จําเลยจะออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 42/2553 กรณีหาใช่เป็นการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังตามที่โจทก์ฎีกาไม่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า สินค้าที่โจทก์นําเข้าเป็นส่วนประกอบของถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลมตรงตามความในประเภทพิกัด 8708.95 ประเภทย่อย 8708.95.90 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคําวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจําเลยในส่วนอากรขาเข้าจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อได้วินิจฉัยว่าไม่มีเหตุให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคําวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนอากรขาเข้าดังนี้แล้ว ในประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนฐานของอากรขาเข้าหรือไม่ จึงไม่จําต้องวินิจฉัยเพราะอากรขาเข้าไม่มีการแก้ไขให้ลดลง ย่อมไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา ให้จําเลยเรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่นํามาชําระได้เมื่อผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีเจตนายื่นใบขนสินค้าขาเข้า โดยสำแดงพิกัดและอัตราอากรอันเป็นเท็จ หรือจงใจปกปิดรายละเอียดของสินค้าที่นําเข้า โดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 1 และอนุมาตรา 2 ส่วนกรณีที่มีการเก็บอากรขาดและเจ้าพนักงานผู้สํารวจเงินอากรตรวจพบตามอนุมาตรา 3 จําเลยเรียกเก็บเงินเพิ่มไม่ได้ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ด้วยว่า โจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในข้อนี้ จึงยังไม่ยุติ ข้อเท็จจริงได้ความจากคําเบิกความของ ม. ผู้รับมอบอำนาจบริษัทโจทก์ว่า ตั้งแต่ปี 2547 สินค้าที่โจทก์นําเข้า โจทก์เคยนําเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วและสำแดงประเภทพิกัดของสินค้า "Coolant" เป็นพิกัด 8479.90 ตามคําวินิจฉัยของสำนักมาตรฐานพิกัดอัตราศุลกากรบันทึกที่ กค 0518(2)ฝ.2/(4)5305 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2547 ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงระบบพิกัดจาก เอชเอส 2002 เป็น เอชเอส 2007 จําเลยจึงได้ออกประกาศกรมศุลกากรที่ 42/2553 เรื่อง แจ้งพิกัดอัตราศุลกากร (ป.อ.1/2553) ประกาศ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2553 ให้จัดสินค้า "Coolant" เป็นของตามพิกัด 8708.95.90 อัตราร้อยละ 10 นับแต่ปี 2553 เป็นต้นมาโจทก์ก็ได้ปฏิบัติตาม โดยสำแดงประเภทพิกัด 8708.95.90 สำหรับการนําเข้าสินค้า "Coolant" ส่วนจําเลยไม่ได้นําสืบพยานหลักฐานหักล้างข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ระหว่างเดือนมกราคม 2551 ถึงเดือนมกราคม 2552 โจทก์นําเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 5 ฉบับ ดังกล่าว โดยสำแดงประเภทพิกัดของสินค้า "Coolant" เป็นพิกัด8479.90.40 ตามที่จําเลยเคยวินิจฉัยมาโดยตลอดจนกระทั่งเมื่อประกาศกรมศุลกากรที่ 42/2553 เรื่อง แจ้งพิกัดอัตราศุลกากร (ป.อ.1/2553) ประกาศ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2553 โจทก์ก็ได้นําเข้าสินค้า "Coolant" โดยสำแดงประเภทพิกัด 8708.95.90 ที่ถูกต้อง พฤติการณ์ที่โจทก์สำแดงประเภทพิกัดสำหรับสินค้า "Coolant" ในการนําเข้าดังกล่าว เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าโจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่าสินค้า "Coolant" ตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 5 ฉบับ ดังกล่าว ซึ่งมีการนําเข้าก่อนมีประกาศกรมศุลกากรที่ 42/2553 เรื่อง แจ้งพิกัดอัตราศุลกากร (ป.อ.1/2553) จัดอยู่ในประเภทพิกัด 8479.90.40 เมื่อตามทางนําสืบของจําเลยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้า "Coolant" เป็นเท็จ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของโจทก์ในการชําระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่โจทก์สำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 5 ฉบับ ดังกล่าว แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชําระอากรเพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดโดยเจ้าพนักงานผู้สํารวจเงินอากรตรวจพบ จําเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชําระเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง เมื่อได้วินิจฉัยว่าจําเลยไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชําระเงินเพิ่มแล้ว กรณีจึงไม่จําต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่ากรณีมีเหตุสมควรลดหรืองดเงินเพิ่มอากรขาเข้าให้โจทก์หรือไม่ และโจทก์ต้องรับผิดชําระเงินเพิ่มอากรขาเข้าไม่เกินกว่าค่าอากรขาเข้าหรือไม่ตามฎีกาของจําเลยอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6129/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินเพิ่มอากรขาเข้า: การใช้กฎหมายเก่าก่อนกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ และขอบเขตการคำนวณเงินเพิ่ม
จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้จำเลยนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 2801 - 00351 - 80702 ในเดือนมกราคม 2551 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าหรือจำเลยนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากร ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับดังกล่าว จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออก จนถึงวันที่นำเงินมาชำระ..." ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "...โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม..." เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4794/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือน: การกำหนดค่ารายปีที่เหมาะสมและดอกเบี้ยกรณีชำระภาษีเกิน
ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 ไม่ได้บัญญัติบังคับให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วมาเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรง เพียงแต่ให้นำมาเป็นหลักในการคำนวณเท่านั้น เนื่องจากค่ารายปีย่อมอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริง สำหรับค่ารายปีนั้น มาตรา 8 วรรคสองและวรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2495 ให้ความหมายว่า คือ จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่นให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร จากข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วว่า โจทก์ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วไป ดังนั้นโจทก์ย่อมได้รับประโยชน์ในส่วนที่เป็นพื้นที่ขายมากกว่าส่วนที่ใช้เป็นพื้นที่สำนักงาน และการนำอาคารห้างสรรพสินค้าให้ผู้อื่นเช่าย่อมได้ค่าเช่ามากกว่าอาคารที่ใช้เป็นพื้นที่สำนักงาน เมื่อลักษณะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินแตกต่างกัน ค่ารายปีในส่วนพื้นที่ขายย่อมสูงกว่าพื้นที่ที่ใช้เป็นสำนักงาน พื้นที่ขายเป็นพื้นที่ที่โจทก์ใช้ประโยชน์เองจึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีอำนาจประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ได้ ดังนั้น การที่ปีภาษี 2561 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดอัตราค่ารายปีในพื้นที่ขายของโจทก์สูงกว่าพื้นที่สำนักงานจึงชอบแล้ว แต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีพื้นที่สำนักงานอัตราตารางเมตรละ 80 บาทต่อเดือน ซึ่งแตกต่างกันมากกับพื้นที่ขายที่กำหนดอัตราตารางเมตรละ 1,441.50 บาทต่อเดือน จากการใช้วิธีนำค่าเฉลี่ยจากค่าเช่าและอัตราค่าเช่าของเฉพาะผู้ประกอบการที่เช่าในพื้นที่ของโจทก์ โดยไม่คำนึงถึงค่าเช่าของโรงเรือนใกล้เคียงนั้น ไม่เป็นการคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกัน การประเมินค่ารายปีและคำชี้ขาดของจำเลยจึงไม่ชอบ เมื่อพิจารณาค่าเช่าของผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่ของโจทก์กับค่าเช่าโรงเรือนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโจทก์มาเทียบเคียงเพื่อกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายของโจทก์ ที่แม้ทรัพย์สินที่นำมาเทียบเคียงดังกล่าวจะมีพื้นที่และลักษณะการประกอบกิจการแตกต่างจากโจทก์ แต่ต่างก็อยู่ในทำเลที่ตั้งและได้รับบริการสาธารณะประโยชน์เช่นเดียวกับโจทก์อันสามารถนำค่าเช่าดังกล่าวมาเทียบเคียงเพื่อกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายของโจทก์ได้ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 จึงเห็นควรกำหนดค่ารายปีส่วนพื้นที่ขายในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือน
การที่จำเลยแก้ไขค่ารายปีของโจทก์เพิ่มขึ้นจากปีที่ล่วงแล้วจะต้องมีเหตุผลอันสมควรหรือมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เห็นได้ว่ามีการพัฒนาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการสภาพบ้านเมืองและสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันหรือมีการจัดให้มีบริการสาธารณะที่ดียิ่งขึ้นแก่โจทก์กว่าปีที่ล่วงมา เมื่อราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร (ต่อเดือน) ของจำเลยประเภทห้างสรรพสินค้าในส่วนสำนักงานและพื้นที่ต่อเนื่อง ตามบัญชีกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรในเขตเทศบาลตำบลโคกหล่อ ปี 2561 ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังได้ว่าเป็นอัตราที่มีเหตุผลตามภาวะเศรษฐกิจของเขตจำเลย จึงไม่อาจจะนำราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร (ต่อเดือน) ของจำเลยประเภทห้างสรรพสินค้าในส่วนสำนักงานและพื้นที่ต่อเนื่องดังกล่าว มาเป็นเกณฑ์ในการประเมินค่ารายปีได้ เมื่อคดีนี้จำเลยเพียงแต่นำราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร (ต่อเดือน) ของจำเลยมาเป็นเกณฑ์ประเมิน และทางนำสืบไม่ปรากฏหลักเกณฑ์อื่นที่เหมาะสมพอจะใช้คำนวณได้ ประกอบกับทรัพย์สินของโจทก์ส่วนพื้นที่สำนักงานและห้องน้ำ ห้องเครื่อง ห้อง A.H.U. และห้องไฟฟ้า พื้นที่ด้านหลังที่เก็บเงินซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนที่โจทก์ใช้งานเอง มิได้ใช้ประโยชน์ในลักษณะแสดงสินค้าเหมือนกับพื้นที่ขาย ส่วนพื้นที่รับสินค้าและที่พักสินค้าที่จำเลยอ้างว่ามีการใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าและก่อให้เกิดรายได้มากกว่าลานจอดรถนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าลักษณะการใช้งานพื้นที่รับสินค้าและที่พักสินค้าของโจทก์จะมีลักษณะแตกต่างไปจากพื้นที่ที่ให้รถเข้ามาจอดและขนส่งสินค้าขึ้นลงและก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจมากกว่าลานจอดรถอย่างไร ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษกำหนดค่ารายปีพื้นที่สำนักงานและห้องน้ำ ห้องเครื่อง ห้อง A.H.U. และห้องไฟฟ้า และพื้นที่ด้านหลังที่เก็บเงิน อัตรา 50 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน และพื้นที่รับสินค้าและที่พักสินค้า อัตรา 10 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนเท่ากับลานจอดรถนับว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมแก่จำเลยในการจัดเก็บภาษีแล้ว
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งเวลานี้เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวกำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าว และอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. อาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4537/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินค่าภาษีโรงเรือน: การพิจารณาประโยชน์ใช้สอยและลักษณะทรัพย์สินที่ถูกต้อง
ค่ารายปีนั้น มาตรา 8 วรรคสองและวรรคสามแห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ให้ความหมายว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร โจทก์ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วไป ดังนั้นโจทก์ย่อมได้รับประโยชน์ในส่วนที่เป็นพื้นที่ขายจากการจำหน่ายสินค้า ส่วนการนำอาคารห้างสรรพสินค้าให้ผู้อื่นเช่าย่อมได้ค่าเช่า ลักษณะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินแตกต่างกัน พื้นที่ขายเป็นพื้นที่ที่โจทก์ใช้ประโยชน์เอง จึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีอำนาจประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ได้ แต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายอัตราตารางเมตรละ 640.70 บาท ต่อเดือน โดยวิธีเทียบเคียงจากพื้นที่ของโจทก์ที่นำออกให้บุคคลภายนอกเช่าซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกันกับพื้นที่ขายของโจทก์เพียงประการเดียว ไม่เป็นการคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกัน ส่วนพื้นที่ลานจอดรถและพื้นที่ต่อเนื่อง เดิมพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีในอัตรา 6 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน ซึ่งจำเลยก็ได้ใช้อัตรานี้ในการกำหนดค่ารายปีของปีภาษี 2560 ด้วย แต่ปีภาษี 2561 จำเลยปรับขึ้นเป็น 10 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน โดยไม่ปรากฏว่า เมื่อคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ มีเหตุสมควรใดจึงปรับเพิ่มค่ารายปีดังกล่าว การประเมินค่ารายปีและคำชี้ขาดของจำเลยจึงไม่ชอบ และเมื่อศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2559 ที่กำหนดค่ารายปีสำหรับพื้นที่ขายของโจทก์ในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือนชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613/2563 ประกอบกับไม่ปรากฏว่ามีปัจจัยอื่นที่จะทำให้ค่ารายปีในปีภาษี 2561 แตกต่างไปจากเดิม จึงเห็นควรกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายสำหรับปีภาษี 2561 ในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือน และค่ารายปีพื้นที่ลานจอดรถและพื้นที่ต่อเนื่องในอัตราตารางเมตรละ 6 บาทต่อเดือน
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และมาตรา 7 แห่ง พระราชกำหนดดังกล่าวกำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกำหนดดังกล่าว และอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. อาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4138/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแย่งการครอบครองที่ดิน, สิทธิการครอบครอง, การเช่าที่ดิน, และอายุความฟ้องขับไล่
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ตนเองมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงพิพาทดีกว่าโจทก์ แต่จำเลยกลับให้การต่อมาว่า โจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ยอมชำระค่าเช่าตั้งแต่ปี 2553 ต่อมาปี 2555 โจทก์รับโอนที่ดินมาจากมารดา การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ จึงเห็นได้ว่าคำให้การในตอนต้นของจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่พิพาท ส่วนคำให้การในตอนหลังกลับยอมรับสิทธิของโจทก์เรื่องจำเลยไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์ คำให้การของจำเลยจึงขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ แม้ที่ดินส่วนนี้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่ก็เพียงทำให้โจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้เท่านั้น แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน การที่จำเลยเช่าที่ดินส่วนที่ไม่มีเอกสารสิทธิเนื้อที่ 23 ไร่ 96 ตารางวาจากโจทก์ โดยจำเลยยอมเสียค่าเช่าหรือค่าตอบแทนแก่โจทก์ ถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลย การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการอาศัยสิทธิของโจทก์ จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทส่วนนี้ดีกว่าจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4137/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่: สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทกรณีมีหนังสือรับรอง-คำสั่งเพิกถอน และการเช่าที่ดิน
โจทก์และเจ้าของรวมเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1396, 1397 และ 2289 ซึ่งทางราชการออกให้เมื่อปี 2516 จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเช่าที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2555 โดยเสียค่าเช่ามาตลอด ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิแทนโจทก์ แม้ต่อมาอธิบดีกรมที่ดินจะมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสามแปลงอันเป็นคำสั่งทางปกครองมีผลทำให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสามแปลงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่โจทก์ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแล้ว แม้ในที่สุดผลคดีเป็นว่าคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินชอบแล้ว ทำให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ก็เพียงแต่ทำให้โจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้เท่านั้น แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน เมื่อจำเลยเช่าที่ดินพิพาทโดยยอมรับสิทธิของโจทก์ จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์นั่นเอง โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย
จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกา ส่วนโจทก์แก้ฎีกาโดยยื่นระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมเช่นกัน โดยโจทก์และจำเลยต่างก็มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมพร้อมสำเนาเอกสารภายใน 15 วัน นับแต่วันสืบพยาน อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 วรรคสอง และมาตรา 90 วรรคสอง แต่เอกสารตามที่ระบุพยานเพิ่มเติมต่างเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นในคดีจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ทั้งเอกสารดังกล่าวเพิ่งมีขึ้นหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วและมิได้อยู่ในความครอบครองของคู่ความมาแต่ต้น พฤติการณ์จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์และจำเลยยื่นบัญชีระบุพยานและสำเนาเอกสารดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันสืบพยาน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) และเอกสารดังกล่าวแม้เป็นเพียงสำเนาเอกสาร แต่เมื่อมีเจ้าพนักงานรับรองสำเนาถูกต้อง จึงฟังได้ว่า เอกสารที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4124/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินเพิ่มอากรขาเข้า: การบังคับใช้กฎหมายศุลกากรเก่าและใหม่ และขอบเขตความรับผิด
จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้จำเลยนำเข้าสินค้าระหว่างเดือนพฤษภาคม 2551 ถึงเดือนธันวาคม 2551 ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 10 ฉบับ แต่ละฉบับเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออก จนถึงวันที่นำเงินมาชำระ..." ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "...โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม..." เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าว
โจทก์ทั้งสามได้รับอนุญาตให้ฎีกาในประเด็นที่ว่าจำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าไม่เกินกว่าค่าอากรขาเข้าหรือไม่ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาต้องถือตามเงินเพิ่มอากรขาเข้าส่วนที่เกินค่าอากรขาเข้าที่จำเลยต้องเสียคำนวณถึงวันฟ้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์ทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3828/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำคำเสนอซื้อเพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ทำคำเสนอซื้อ ไม่ขัดกฎหมาย
ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ การทำคำเสนอซื้อเพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ ข้อ 54 กำหนดว่า ให้นำข้อกำหนดในหมวด 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งในหมวด 4 ข้อ 18 กำหนดให้ผู้ทำคำเสนอซื้อยื่นคำเสนอซื้อตามแบบ 247 - 4 พร้อมแบบตอบรับคำเสนอซื้อต่อสำนักงานโดยมีที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อ และที่ปรึกษาทางการเงินตามนิยามข้อ 1 ของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนฉบับดังกล่าว หมายความว่า ที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำคำเสนอซื้อและเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบ เมื่อตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 มิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าที่ปรึกษาทางการเงินจะต้องเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นอิสระ แม้ต่อมาจะมีประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทก.50/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (ฉบับที่ 3) ข้อ 3 ให้ยกเลิกความใน (4) ของข้อ 56 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 โดยให้ใช้ข้อความว่า มูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิของกิจการซึ่งประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระแทนก็ตาม แต่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทก.50/2559 ข้อ 4 ระบุว่า ก่อนการแก้ไขโดยประกาศฉบับนี้ ให้ถือว่ามูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิของกิจการที่ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 56 (4) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศฉบับนี้แล้ว ดังนั้น ขณะเกิดเหตุคดีนี้ประกาศที่ใช้บังคับคือ ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 เมื่อประกาศฉบับใหม่ไม่มีผลย้อนหลัง จึงถือว่ามูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิของกิจการซึ่งประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินตามข้อความในข้อ 56 (4) ฉบับก่อนแก้ไขกระทำได้แม้มิได้ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นอิสระ
ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน พ.ศ.2552 ข้อ 25 ที่ห้ามมิให้ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นตามข้อ 24 ในกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินมีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการ การเป็นที่ปรึกษาของผู้ถือหุ้นตามข้อ 24 เป็นการให้ความเห็นต่อผู้ถือหลักทรัพย์ของกิจการที่ถูกเสนอซื้อเกี่ยวกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งหมายถึงหลักทรัพย์ของกิจการจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกิจการที่ถูกเสนอซื้อหลักทรัพย์ หาใช่กิจการจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นผู้ทำคำเสนอซื้อแต่อย่างใดไม่ ข้อ 24 ตามประกาศดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับที่ปรึกษาทางการเงินของจำเลยที่ 1 ผู้ทำคำเสนอซื้อ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ตั้งตนเองเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของตนเองในการดำเนินการจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยที่ปรึกษาทางการเงินเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้ทำคำเสนอซื้อจึงไม่ต้องห้ามตามกฎหมายและสามารถทำได้โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3721/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: หลักเกณฑ์การคำนวณค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตร และดอกเบี้ยกรณีคืนเงินภาษี
ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ให้ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้งตามค่ารายปีของทรัพย์สิน มาตรา 8 วรรคสาม วางหลักว่า "ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้... ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์..." ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินปีภาษี 2560 สำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่โดยไม่แสดงขนาดพื้นที่ แสดงจำนวนร้านค้าขาดไปและโจทก์นำส่งสัญญาเช่าร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ไม่ครบถ้วน ค่าเช่าที่โจทก์แสดงหลักฐานสัญญาเช่าจึงมิใช่จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรจะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์โดยเทียบเคียงกับค่ารายปีทรัพย์สินของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งมีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันได้ โดยในการนำทรัพย์สินมาเทียบเคียงกันนั้น ทรัพย์ที่มีขนาดและพื้นที่เท่ากันควรจะมีค่ารายปีและค่าภาษีที่เท่ากันหรืออย่างน้อยต้องมีความใกล้เคียงกันจึงจะตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่เมื่อได้ความจาก ร. เจ้าพนักงานประเมินพยานจำเลยว่า จำเลยทำการประเมินภาษีโจทก์โดยการนำค่ารายปีเฉลี่ยที่เทียบเคียงได้จากห้างสรรพสินค้า ท. ให้เช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ ในปีภาษี 2558 มาเป็นฐานในการคำนวณภาษี โดยใช้วิธีการนำค่ารายปีที่ห้างสรรพสินค้า ท. ให้เช่าพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ในแต่ละร้านมาหารด้วยจำนวนเดือนที่ห้างสรรพสินค้า ท. นำออกให้เช่าแล้วหารด้วยพื้นที่ที่ได้จากการวัดจริงของร้านนั้น ๆ ในห้างสรรพสินค้า ท. จะได้ค่าเฉลี่ยต่อเดือนของร้านค้านั้น แล้วนำค่าเช่าเฉลี่ยทั้งหมดมารวมกัน ได้ค่าเฉลี่ยรวมทั้งสิ้น 80,561 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือนต่อ 36 ร้าน จะได้ค่าเช่าเฉลี่ย 2,238 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เมื่อนำมาคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์แล้ว คิดเป็นค่ารายปี 76,383,808 บาท ค่าภาษี 9,547,976 บาท จึงเห็นได้ว่าวิธีการที่จำเลยใช้ค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนต่อร้านมารวมคำนวณแล้วหารด้วยจำนวนร้านเป็นวิธีการคำนวณที่ไม่คำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยของแต่ละร้านทั้งที่มีพื้นที่ใช้สอยแตกต่างกันจึงทำให้ไม่สะท้อนถึงค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากการนำค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนตามวิธีการคำนวณของจำเลยไปใช้คำนวณกับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งเป็นทรัพย์สินเทียบเคียง กลับได้ค่ารายปีและค่าภาษีไม่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่ห้างสรรพสินค้า ท. ได้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลย ซึ่งวิธีการคำนวณที่เหมาะสมเมื่อนำค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนไปใช้กับทรัพย์สินที่มีขนาดหรือพื้นที่เท่ากับพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้ว ทรัพย์สินนั้นก็ควรจะมีค่ารายปีและค่าภาษีที่ใกล้เคียงหรือเท่ากับค่ารายปีและค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการที่จำเลยใช้ในการหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนเพื่อนำมาคำนวณหาค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์จึงไม่เหมาะสม สำหรับวิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น เป็นการนำค่ารายปีของทุกร้านที่เช่าพื้นที่ในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. มาหารพื้นที่รวมของทุกร้านเพื่อหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนของพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ก่อนแล้วค่อยนำไปคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์และระยะเวลาการใช้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณที่คำนึงถึงค่าเช่าพื้นที่ของแต่ละร้านประกอบกัน จึงเป็นวิธีการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านในส่วนของพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่แล้ว เพราะเมื่อนำกลับไปคำนวณกับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้วจะได้ค่าภาษีที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงกับค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม และคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้นและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
หนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์เป็นหนี้เงิน ปกติโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ท่านให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือน โดยไม่คิดค่าอย่างใด" จึงเป็นบทยกเว้นความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยของจำเลยที่จะต้องชำระแก่โจทก์ แต่มีระยะเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว หากจำเลยยังไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดตามกฎหมายแก่จำเลยได้ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีแก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยจึงชอบแล้ว แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละห้าต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวกำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าวและอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 อาจปรับเปลี่ยนโดย พระราชกฤษฎีกา
of 3