คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 185

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 761 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนเครื่องหมายการค้า การแจ้งข้อความเท็จ และการบังคับตามมาตรา 116 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้ารูปตา 1 ตา และเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรี 1 ตัว และจำเลยได้ทำเครื่องหมายการค้ารูปตา 3 ตา ประกอบกับนกอินทรี 3 ตัว แต่ลักษณะดวงตามีรัศมี 19 เส้น เหมือนรูปตาตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์และรูปนกอินทรีก็ถือกิ่งไม้ 1 กิ่ง กับลูกศร 3 ดอก เหมือนรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์เช่นกัน คงต่างกันแต่จำนวนดวงตาและจำนวนนกอินทรีเท่านั้น และจำเลยได้นำเครื่องหมายการค้าที่ทำขึ้นไปใช้กับสินค้าของจำเลยนำออกจำหน่าย อันแสดงให้เห็นได้ถึงเจตนาของจำเลยที่จะทำให้ประชาชนสับสน หลงผิด หลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนขึ้นและนำไปใช้กับสินค้านั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ย่อมเป็นความผิดตามคำฟ้องได้ โดยไม่จำต้องคำนึงถึงกรณีที่จำเลยทำเลียนเครื่องหมายการค้านั้นแล้ว จำเลยจะนำไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้หรือไม่ หรือนายทะเบียนจะรับจดทะเบียนให้หรือไม่
โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนดังกล่าวนั้น เป็นเพียงเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำเลียนขึ้นนั้น ในภาพรวมของแต่ละเครื่องหมายมีลักษณะเพียงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เท่านั้น ไม่ได้เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกประการจนถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนทั้งสองเครื่องหมายนี้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน และแม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหานี้ฎีกาขึ้นมาโดยตรงก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เป็นความผิด ก็ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225
การที่โจทก์จะขอให้ศาลบังคับตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 116 ต้องปรากฏในขณะที่ยื่นคำขอว่าจำเลยได้กระทำการหรือกำลังจะกระทำการปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีคำขอดังกล่าวมาท้ายคำฟ้องซึ่งบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดข้อหาปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ระหว่างเดือนมกราคม 2536 ถึงปลายเดือนมกราคม 2540 อันเป็นการแสดงว่าจำเลยกระทำการดังกล่าวเสร็จสิ้นไป ก่อนวันที่โจทก์มีคำขอมาท้ายคำฟ้องประมาณ 7 เดือน ไม่ใช่กรณีที่กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำการหรือกำลังจะกระทำการดังกล่าวในขณะที่โจทก์มีคำขอให้ศาลบังคับตามมาตรา 116 คำขอของโจทก์เช่นนี้จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 116 ดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาบังคับให้จำเลยระงับหรือละเว้นการปลอม เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น กรณีเช่นนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5395/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่มีลายมือชื่อโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีไปแล้ว ศาลฎีกายกฟ้อง
คดีอาญาที่โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อไว้ในฟ้องเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) แต่การที่ศาลฎีกา จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตามมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้ เพราะศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาฟ้องของโจทก์ได้จึงต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4340/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ศาลไม่อาจพิจารณาได้
คดีอาญา โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อไว้ในฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาฟ้องของโจทก์ได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลย ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2944/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังรายงานสืบเสาะและพินิจเพื่อวินิจฉัยความผิดทางอาญา ศาลต้องพิจารณาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย ก็เนื่องจากศาลชั้นต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ทั้งนี้เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลยต่อไปเท่านั้น มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้จะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏต่อศาล
แม้ตาม พ.ร.บ. วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ก็เป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยไม่ จึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาวินิจฉัยยกฟ้องจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อเท็จจริงตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติปรากฏว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลย่อมไม่อาจแน่ใจได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 ซึ่งในคดีอาญานั้น แม้จำเลยจะให้การรับสภาพ ศาลก็ยังมีหน้าที่จะต้องพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ว่าจะลงโทษได้หรือไม่ ศาลจะลงโทษจำเลยได้ก็แต่เมื่อเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดและไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมายเท่านั้น และเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้จำเลยจะให้การรับสภาพ ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคแรก ก็ได้บัญญัติว่า ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ แสดงว่าแม้ในคดีที่มีข้อหาความผิดที่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาคดีต่อไปได้โดยมิต้องสืบพยานก็ตาม แต่หากยังไม่แน่ใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่แล้วศาลจะให้สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ มิใช่ต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยเสียทีเดียว นอกจากนี้ในระหว่างพิจารณา ป.วิ.อ. มาตรา 228 ยังให้ศาลมีอำนาจโดยพลการที่จะสืบพยานเพิ่มเติมได้ด้วย เมื่อปรากฏจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติว่าการกระทำของจำเลยขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลย เพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างแจ้ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่า จำเลยกระทำการตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติจริงหรือไม่ โดยส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบให้ และเมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานในประเด็นดังกล่าวแล้ว ให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไปก็ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำในคดีอาญา: ศาลมีอำนาจงดไต่สวนมูลฟ้องได้ หากมีคำพิพากษายกฟ้องในประเด็นเดียวกันแล้ว
คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องโดยไม่นัดไต่สวนมูลฟ้องหรือนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องหรือไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องก็ได้ทั้งสิ้น เพราะเป็นดุลพินิจในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วและชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอจะวินิจฉัยชี้ขาดได้ และมีคำสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้องและนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาไป ย่อมมีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
คดีก่อนโจทก์และจำเลยทั้งแปดเป็นคู่ความรายเดียวกับคดีนี้ โดยโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดร่วมกระทำความผิดในข้อหาตาม ป.อ. มาตรา 157 เช่นเดียวกับคดีนี้ ซึ่งในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องว่า "การกระทำของจำเลยทั้งแปดตามคำฟ้องของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าเป็นการไม่ชอบด้วยหน้าที่ โดยทุจริต หรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือผู้อื่นที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 อย่างไร พิพากษายกฟ้อง" เท่ากับศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วว่า การกระทำของจำเลยทั้งแปดไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นการยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของการกระทำของจำเลยว่าไม่ได้กระทำผิดและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งแปดเป็นคดีนี้อีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ เพราะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ได้ระงับไปแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำหลังภัยอันตรายสิ้นสุดแล้ว ไม่ถือเป็นการป้องกันสิทธิ และเจตนาฆ่าโดยไม่มีเหตุบันดาลโทสะ
ผู้ตายใช้มีดฟันจำเลยแล้วต่างล้มลงแย่งมีดกัน จำเลยลุกขึ้นได้ก่อนชักอาวุธปืนออกมายิงผู้ตาย 1 นัด ผู้ตายถูกกระสุนปืนแล้วมุดหนีไปใต้แคร่ จำเลยก้มมองและส่ายอาวุธปืนไปมาแล้วเดินอ้อมไปอีกด้านหนึ่งของแคร่ยิงผู้ตายอีก 2 นัด จากนั้นจำเลยใช้มีดของผู้ตายฟันผู้ตายตรงส่วนร่างกายที่โผล่พ้นออกมานอกแคร่มากกว่า 3 ครั้ง โดยผู้ตายไม่มีโอกาสจะทำร้ายจำเลยได้อีก ภยันตรายเป็นอันผ่านพ้นและสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยจึงไม่อาจกระทำการป้องกันสิทธิของตนได้ ทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นการหาโอกาสเลือกยิงและฟันผู้ตายโดยเจตนาฆ่าผู้ตาย มิใช่เป็นการกระทำในขณะไม่อาจควบคุมอารมณ์ได้เพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงอ้างเหตุบันดาลโทสะไม่ได้
ความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมชนตาม ป.อ. มาตรา 376 กับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288 เป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามมาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1656/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินความประมาทในการขับรถจักรยานยนต์ และการพิจารณาโทษที่เหมาะสมตามพฤติการณ์
ปัญหาว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยมาเหมาะสมแก่พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยแล้วหรือไม่ แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ที่บัญญัติให้ศาลลงโทษ จำเลยตามสภาพความผิด ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1519/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยายามฆ่าโดยบันดาลโทสะ: การทำร้ายร่างกายภรรยาจากความขัดแย้งเรื่องการเลิกร้างและบุตร
จำเลยใช้ไม้ตีพริกของกลางยาวประมาณ 1 ศอก ตีศีรษะผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้ง และใช้มีดปลายแหลมแทงบริเวณหน้าอกของผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 2 แผล ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย จนผู้เสียหายที่ 1 สลบไปและกะโหลกศีรษะข้างขวาส่วนหน้าแตกเป็นทางยาว และรอยประสานของกะโหลกศีรษะข้างขวาส่วนหน้าแตกแยก กับบาดแผลที่ถูกมีดแทง 2 แผล ยาว 1.5 เซนติเมตร กว้าง 0.2 เซนติเมตร ลึกเข้าช่องอก มีลมออกที่ช่องอกทั้งสองข้าง แสดงว่าจำเลยใช้ไม้ตีพริกที่ศีรษะของผู้เสียหายที่ 1 อย่างแรงหลายที และใช้มีดปลายแหลมแทงอย่างแรงเข้าบริเวณหน้าอกของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย จนผู้เสียหายที่ 1 สลบไป หากไม่สามารถนำผู้เสียหายที่ 1 ให้แพทย์รักษา ทันท่วงทีผู้เสียหายที่ 1 ย่อมถึงแก่ความตายได้ การที่จำเลยใช้อาวุธของกลางดังกล่าวทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 จำเลยย่อมเล็งผลว่าผู้เสียหายที่ 1 อาจถึงแก่ความตายได้ แต่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
สาเหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยพูดจาโต้เถียงกันเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายที่ 1 คิดจะเลิกอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยและไปแต่งงานใหม่ ผู้เสียหายที่ 1 จึงบอกแก่จำเลยว่าจะพาบุตรชายที่เกิดกับจำเลยไปให้มารดาผู้เสียหายที่ 1 เลี้ยงดู แต่จำเลยไม่ยินยอมและตกลงกันไม่ได้ ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยก็มีปากเสียงกันมาก่อนแล้ว เมื่อจำเลยกลับมาที่ห้องเกิดเหตุก่อนและผู้เสียหายที่ 1 กลับมาทีหลัง โดยดื่มสุรามึนเมา ก็ยังมามีปากเสียงกันอีก จำเลยโมโหและได้ใช้ไม้ตีพริกและมีดปลายแหลมเข้าทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ตามพฤติการณ์ที่จำเลยเป็นสามีของผู้เสียหายที่ 1 มา 4 ปีเศษ มีบุตรด้วยกัน 1 คน เป็นชาย ก่อนเกิดเหตุมีชายอื่นมาติดพันผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 1 จะเลิกร้างกับจำเลยและไปอยู่กินกับชายคนใหม่และจะพาบุตรไปจากจำเลย จำเลยพูดขอร้องไม่ให้พาบุตรไป แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็ไม่ยินยอมและพูดยืนยันทำนองว่าจะพาบุตรไปจากจำเลยให้ได้ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 มึนเมาสุรา ทำให้จำเลยเกิดความโมโห การกระทำของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าว เป็นการข่มเหงน้ำใจอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยได้ใช้ไม้ตีพริกตีและมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 ในขณะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ
แม้ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสจะยุติไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์เพราะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่ากรณีมีเหตุสมควรก็มีอำนาจรอการ ลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษคดีละเมิดลิขสิทธิ์และประกอบกิจการเทปเถื่อน ศาลฎีกาพิจารณาโทษปรับให้เหมาะสมกับปริมาณของกลางและผลกระทบ
แผ่นซีดีและวีซีดี ซึ่งมีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่จำเลยนำออกขาย เสนอขาย มีจำนวนเพียง 500 แผ่น ไม่ปรากฏว่ามีราคาเท่าใด การกระทำของจำเลยทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด จึงไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นชัดว่าจำเลยกระทำผิดร้ายแรงถึงขนาดที่ควรลงโทษปรับเป็นจำนวนสูง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าจำคุก 1 ปี ปรับ 350,000 บาท ฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ 20,000 บาทนั้น หนักเกินไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4816/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานอ่อนแอ ไม่สามารถลงโทษจำเลยในข้อหายิงผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ ศาลฎีกาแก้ไขโทษและรอการลงโทษ
แม้ในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพและไม่สืบพยาน แต่พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบไม่มีน้ำหนัก จึงไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยในข้อหาร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายตามฟ้องได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยรวม 2 กระทง จำคุก 1 ปีและให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีกำหนด 1 ปี ศาลอุทธรณ์เห็นไม่สมควรเปลี่ยนโทษจำเลยโดยส่งตัวไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จึงเป็นการแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 219 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534 มาตรา 6
ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสอง ต้องเป็นกรณีที่มีเครื่องกระสุนปืนเท่านั้น แต่เครื่องกระสุนปืนตามฟ้องคือกระสุนซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนตามฟ้อง ทั้งโจทก์ก็ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดตาม มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง เมื่อฟังว่าเป็นอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 7, 72 วรรคสาม
of 77