คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 880 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 27 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10421/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความสัญญาประกันภัยตามเจตนาคู่สัญญา แม้กำหนดระยะเวลาในสัญญาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สิทธิช่วงสิทธิของผู้รับประกันภัย
บริษัท ม. เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท อ. แล้วบริษัท ม. ให้ พ. เช่าซื้อช่วง โดย พ. นำรถไปประกันภัยไว้กับโจทก์ มีบริษัท ม. เป็นผู้รับประโยชน์ แม้สัญญาเช่าซื้อช่วงจะระบุวันเริ่มต้นของสัญญาหลังวันเริ่มต้นของสัญญาประกันภัย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยย่อมเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ถือว่า พ. ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์แล้ว เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อหายไปในบริเวณลานจอดรถของโรงแรมของจำเลย และโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ม. ผู้รับประโยชน์ไปตามสัญญาประกันภัยแล้วย่อมได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ม. จากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1269/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงสิทธิในสัญญาประกันภัย: โจทก์ได้รับชดเชยค่าเสียหายเต็มจำนวนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยอีก
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้รถยนต์ของโจทก์เสียหายต้องนำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่บริษัท ท. และชำระค่าซ่อมแก่บริษัทดังกล่าว ขณะยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยทั้งสองยังมิได้ชำระค่าซ่อมแก่บริษัทดังกล่าวและยังมิได้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าวันที่ 11 เมษายน 2545 บริษัท พ. ได้ชำระค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ให้แก่บริษัท ท. จำนวน 654,568.68 บาท ถือว่าโจทก์ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินค่าซ่อมเต็มจำนวนตามที่เสียหายแล้วจากบริษัท พ. ย่อมทำให้บริษัท พ. เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยโดยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง การที่จะบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าซ่อมแก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องอีกจะมีผลทำให้โจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับจริง จึงไม่อาจบังคับให้ได้ ส่วนการที่บริษัท พ. ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจะใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่บริษัทดังกล่าวจะใช้สิทธิเรียกร้องต่อไป หาทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเกินกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8911/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลคือสัญญาประกันชีวิต ผู้รับประกันภัยไม่มีสิทธิไล่เบี้ย
โจทก์รับประกันภัยรถยนต์พิพาทแบบประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล รถยนต์พิพาทถูกรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับชนทำให้คนบนรถยนต์พิพาทรวม 4 คนเสียชีวิต โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตรวม 4 คน ๆ ละ 50,000 บาท เป็นเงิน 200,000 บาท ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ ข้อสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ในส่วนที่เป็นการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 หาใช่การประกันวินาศภัยแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ดังนั้น แม้โจทก์จะได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท ให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตไป โจทก์ก็หามีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเพื่อฟ้องร้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 กับพวกได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5786/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยศาลวินิจฉัยว่าการพิจารณาของศาลชั้นต้นนอกฟ้องและนอกประเด็น
โจทก์ตั้งรูปคดีฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยนำสืบตามคำฟ้องให้เห็นว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ซึ่งเป็นของ ช. วันเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของ ช. ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ทำการซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเดิมและส่งมอบคืนให้แก่ ช. แล้ว ต่อมาจำเลยได้ตกลงระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญา ดังนี้ เห็นได้ว่าสภาพแห่งข้อหาตามฟ้องของโจทก์คือจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้กับโจทก์ ไม่ได้ฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยในฐานที่โจทก์รับช่วงสิทธิจาก ช. ผู้เอาประกันภัยในมูลหนี้ละเมิดส่วนที่โจทก์กล่าวในฟ้องบรรยายให้เห็นว่าจำเลยทำละเมิดขับรถยนต์ชนรถยนต์ของ ช. คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายก็เป็นเพียงเท้าความอ้างถึงที่มาว่าเหตุใดโจทก์และจำเลยจึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ช. ผู้เอาประกันภัยไปแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ช. ผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง โจทก็ย่อมมีสิทธิทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยได้ สัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาและทำให้มูลหนี้ละเมิดเดิมเป็นอันระงับสิ้นไป เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยทำละเมิดขับรถเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยและโจทก์นำรถยนต์ซ่อมแซมโดยชำระค่าซ่อมรถยนต์ไปแล้วหรือไม่ เพียงใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิตามกฎหมายไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8010/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของโรงแรมต่อการสูญหายของรถยนต์ของผู้พักอาศัย และสิทธิของผู้รับประกันภัย
โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนรถยนต์คันเกิดเหตุที่หายไปให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเท่านั้น ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยส่งคืนรถยนต์คันเกิดเหตุแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6519/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันภัยและการใช้ดุลพินิจศาลในการกำหนดดอกเบี้ย
โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าข้าวจากบริษัท ซ. ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าข้าว เมื่อสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่ง โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 877 อันเป็นการชำระหนี้ตามกฎหมาย และผลแห่งการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวทำให้โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าข้าวพิพาทได้ในนามของโจทก์เองตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง และการรับช่วงสิทธิของโจทก์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยอำนาจแห่งกฎหมาย หาใช่เกิดจากข้อตกลงของคู่กรณีในสัญญาประกันภัยไม่ แม้เอกสารการรับช่วงสิทธิไม่มีกรรมการที่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ซ. ลงลายมือชื่อพร้อมกับประทับตราสำคัญของบริษัท ก็ไม่มีผลทำให้การรับช่วงสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่เป็นอันสิ้นสิทธิหรือระงับสิ้นไป
บทบัญญัติมาตรา 142 (6) แห่ง ป.วิ.พ. เป็นข้อยกเว้นของหลักทั่วไปตามมาตรา 142 ที่ห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง บทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นดังกล่าวนี้นำมาใช้บังคับแก่การพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลมตามมาตรา 246 ดังนั้น ในการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นสมควรใช้ดุลพินิจตามมาตรา 142 (6) โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของจำเลยแล้ว กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษานับถัดจากวันฟ้อง จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือขัดต่อบทกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7274/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์หลังการจ่ายค่าซ่อมแล้ว ผู้รับประกันภัยมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ก่อเหตุได้
โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้นำรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยซึ่งประกันภัยไว้กับโจทก์ไปซ่อมแล้ว ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดค่าซ่อมรถยนต์คันดังกล่าว แม้ขณะฟ้องโจทก์จะยังไม่ได้ชำระค่าซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวเนื่องจากอู่ยังซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวไม่เสร็จก็ตาม แต่การที่โจทก์นำรถยนต์คันที่รับประกันภัยไปให้อู่ซ่อมและทางอู่ได้รับทำการซ่อมให้ในราคาที่ตกลงกันไว้นั้น โจทก์ย่อมมีความผูกพันที่จะต้องชำระค่าซ่อมให้แก่อู่ตามจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้ ทั้งข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าทางอู่ได้ซ่อมรถยนต์จนเสร็จและมอบรถยนต์ให้แก่เจ้าของรถยนต์ไปเรียบร้อยแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วตามจำนวนเงินราคาค่าจ้างที่ได้ตกลงไว้กับอู่ผู้ทำการซ่อม โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าของรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยมาเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์จำนวนดังกล่าวจากจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความต้องระบุค่าเสียหายชัดเจน การช่วยเหลือค่าเสียหายส่วนบุคคลไม่ระงับมูลละเมิดของประกันภัย
จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เฉี่ยวชนรถยนต์เก๋งทำให้รถทั้งสองคันเสียหาย มีผู้บาดเจ็บ ต่อมาจำเลยที่ 3 กับ ณ. ผู้ขับรถยนต์เก๋งทำบันทึกข้อตกลงโดยตกลงกันว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับช่วยเหลือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อบรรเทาผลร้ายโดยยอมจ่ายเงินให้ ณ. จำนวน 20,000 บาท และ ณ. ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดเพิ่มเติม บันทึกดังกล่าวไม่มีรายละเอียดระบุว่าเงินช่วยเหลือที่ ณ. รับไปนั้นเป็นค่าเสียหายใด ทั้ง ศ. ผู้เอาประกันภัยรถยนต์เก๋งได้เรียกร้องให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดแก่รถยนต์เก๋งแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะเชิด ณ. เป็นตัวแทนให้ตกลงเรื่องค่าเสียหายแทน เงินช่วยเหลือค่าเสียหายตามบันทึกตกลงค่าเสียหายจึงเป็นค่าเสียหายส่วนตัวของ ณ. เนื่องจาก ณ. ได้รับบาดเจ็บและไม่อาจใช้รถยนต์เก๋งเดินทางต่อไปได้ไม่เกี่ยวกับค่าเสียหายของรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ อันจะทำให้มูลละเมิดที่รถยนต์เก๋งซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ระงับสิ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันภัยหลังชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย
วินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อจำเลยเพียงนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง แม้ว่าหลังจากนั้นจำเลยจะได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายไปแล้วก็ตาม ก็หาทำให้สิทธิในการรับช่วงสิทธิของโจทก์ซึ่งมีอยู่แล้วสิ้นไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1949/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา: ผู้รับประกันภัยมีสิทธิฟ้องตามเจ้าของรถจริงหรือไม่
ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ ส. ถึงแก่ความตายและความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ พ.เจ้าของรถยนต์ไม่ใช่ผู้เสียหายในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ ส. ถึงแก่ความตาย และข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย พ. เจ้าของรถยนต์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาและถือไม่ได้ว่า พนักงานอัยการฟ้องคดีแทน พ.แม้พ. จะเป็นโจทก์ ฟ้องคดีเองก็ไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตาม ความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 ในอันที่จะนำอายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสองต้องใช้อายุความ 1 ปี เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์จาก พ.ได้ซ่อมรถยนต์ให้พ. ผู้เอาประกันภัยแล้วจึงชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่ พ. มีอยู่ในมูลหนี้ต่อ จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 226 วรรคหนึ่ง เมื่อสิทธิของ พ.ที่จะฟ้องคดีนี้มีกำหนดอายุความ 1 ปี โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิ ของ พ.จึงย่อมมีอายุความ 1 ปีเช่นกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสองมีความหมายว่าในกรณีเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิด และการกระทำละเมิดนั้นเป็นความผิดอาญาด้วยดังนั้น ผู้ที่ถูกกระทำละเมิดที่จะได้รับประโยชน์ตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงต้องเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)
of 3