คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 195 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,014 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2699/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะข้าราชการกับการลงโทษทางอาญา, กรรมเดียว vs. กรรมหลาย และอำนาจศาลฎีกา
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ให้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล และราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลการบริหารของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารราชการ และพนักงานส่วนตำบลเป็นผู้ทำงานประจำ โดยมีปลัดและรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหัวหน้างานบริหารราชการประจำ เมื่อพิจารณาว่าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นระบบบริหารราชการที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจบริหารให้แก่หน่วยงานที่ไม่ใช่ราชการส่วนกลางจัดทำบริการสาธารณะภายในเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จึงเห็นได้ว่าองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยเป็นพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งช้าง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยจึงต้องระวางโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100
คำสั่งขององค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งช้างว่า ให้ไล่จำเลยออกจากราชการ แม้ระบุว่าคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไป ก็เป็นเรื่องการออกคำสั่งให้มีผลย้อนหลัง ไม่ได้หมายความว่า ในวันที่จำเลยกระทำความผิดคือวันที่ 20 สิงหาคม 2556 จำเลยไม่เป็นพนักงานหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด
ในวันเกิดเหตุ ธ. ว. และ ส. อยู่ในห้องพักเกิดเหตุกับจำเลย จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้เสพ ตามบันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนของบุคคลทั้งสามดังกล่าวและตามฟ้องโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลทั้งสามต่างวาระกัน แต่ฟังได้ว่าจำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลทั้งสามเสพในคราวเดียวกัน โดยมีเจตนาเดียว การกระทำในส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเป็นการกระทำหลายกรรมไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1393/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องขาดองค์ประกอบความผิดฐานให้เช่าภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจ, ศาลฎีกายกฟ้อง, แก้โทษปรับ
โจทก์บรรยายฟ้องข้อหาความผิดฐานให้เช่าภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เพียงว่าจำเลยนำแผ่นสามดีและแผ่นวีซีดีภาพยนตร์รวมจำนวน 3 แผ่น ซึ่งไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกให้เช่าแก่ประชาชนทั่วไปในราชอาณาจักรเท่านั้น โดยไม่บรรยายให้ปรากฏว่าภาพยนตร์ที่จำเลยนำออกให้เช่านั้นเป็นภาพยนตร์ที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 แต่อย่างใด ทั้งนี้เนื่องจาก พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ได้บัญญัติถึงภาพยนตร์ที่ไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามมาตรา 27 (1) (3) วรรคหนึ่ง ดังนั้น โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ว่าภาพยนตร์ที่จำเลยนำออกให้เช่านั้นเป็นภาพยนตร์ที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยเป็นภาพยนตร์ประเภทใดตามมาตรา 26 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 (2) (4) และ (6) วรรคสอง ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 (5) วรรคสาม ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เช่น เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไปตามมาตรา 26 (2) วรรคหนึ่ง หรือเป็นภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดูตามมาตรา 26 (6) วรรคหนึ่ง ซึ่งการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานให้เช่าภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นการนำภาพยนตร์ประเภทที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามมาตรา 26 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 (2) (4) และ (6) วรรคสอง ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 (5) วรรคสาม ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ออกให้เช่า แต่ฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เกี่ยวกับประเภทของภาพยนตร์ที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังกล่าว ทั้งมิได้บรรยายให้ปรากฏด้วยว่าผู้กระทำความผิดดังกล่าวต้องมีหน้าที่นำภาพยนตร์ที่จะนำออกให้เช่าไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เมื่อฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าภาพยนตร์ที่จำเลยนำออกให้เช่านั้นเป็นภาพยนตร์ที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และเป็นภาพยนตร์ประเภทใดตามที่ระบุไว้ในบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และจำเลยมีหน้าที่ต้องนำภาพยนตร์ดังกล่าวไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์หรือไม่ จึงเป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) มาตรา 161 วรรคหนึ่ง และมาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มาตรา 12 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 (เดิม) และ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ภายหลังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาแล้ว ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 มาตรา 7 ยกเลิกความในมาตรา 56 แห่ง ป.อ. และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งตามมาตรา 56 ที่แก้ไขใหม่ เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง ต้องพิสูจน์การหลอกลวงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายมอบทรัพย์สิน
แม้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 แต่เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มอบเงินสดให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ และจำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาจะต้องมีค่าใช้จ่าย การที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินให้แก่จำเลย จึงมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงใดอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทำงานเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ที่อาคารรัฐสภา และสามารถติดต่อช่วยเหลือให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับงานการทำป้ายโฆษณา การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 697/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษฐานชิงทรัพย์ต้องสอดคล้องกับคำฟ้อง หากคำฟ้องบรรยายเฉพาะชิงทรัพย์ด้วยอาวุธ การลงโทษฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายจึงไม่ชอบ
คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกรรม คือ ชิงทรัพย์กรรมหนึ่งแล้วจึงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอีกกรรมหนึ่ง โจทก์หาได้บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจไม่ คำฟ้องของโจทก์เพียงแต่บรรยายว่าจำเลยชิงทรัพย์ของผู้เสียหายโดยมีอาวุธ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง เท่านั้น จึงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี และวางโทษตามมาตราดังกล่าว จึงยังไม่ถูกต้อง และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-ขาดองค์ประกอบความผิดอาญา: ศาลฎีกายืนยกฟ้องกรณีความผิดฐานบุกรุกทำร้ายร่างกายและพาอาวุธ
โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ตาม ป.อ. มาตรา 83, 295 และข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ณ. ในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม ซึ่งวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสาระแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 พาไม้ขนาดเท่าใดไม่ปรากฏชัด เป็นอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ และใช้ไม้เป็นอาวุธตีทำร้าย ณ. แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดในข้อหาดังกล่าวว่า เป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่และปัญหาเรื่องฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ล้วนเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10521/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของคำสั่ง คสช. 37/2557 ต่อโทษอาวุธปืน: ศาลฎีกาแก้ไขโทษตามกฎหมายใหม่
แม้จำเลยจะไม่ได้หยิบยกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2557 เรื่อง ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามนำส่งมอบ ซึ่งสั่ง ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 มาอ้างในระหว่างการพิจารณาคดีและคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็ตาม แต่จำเลยกำลังรับโทษตามคำพิพากษาดังกล่าวอยู่ หากปรากฏตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าจำเลยไม่ต้องรับโทษในการกระทำของจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้กำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ภายหลังกระทำความผิดดังกล่าวระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ได้มีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2557 เรื่อง ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามนำส่งมอบ กำหนดให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในครอบครองนำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ไม่ต้องรับโทษ จึงต้องถือว่าในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวกฎหมายได้ยกเว้นโทษให้แก่ผู้มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในความครอบครองแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่มีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยไม่ต้องรับโทษ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9502/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายก๊าซปิโตรเลียมเหลวโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.น้ำมันเชื้อเพลิง
ตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 บัญญัติให้การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 3 (1) ได้แก่ "การผลิต การจำหน่าย การขนส่ง การมีไว้ในครอบครอง การสำรองและการส่งออกนอกราชอาณาจักรและนำเข้ามาในราชอาณาจักร..." เท่านั้น ดังนั้น คดีนี้ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาว่า "...จำเลยร่วมกันซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว... จากผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้ค้าน้ำมัน โดยที่ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่บรรจุใส่ถังก๊าซหุงต้ม... ดังกล่าว ไม่มีอุปกรณ์ปิดผนึกลิ้นถังก๊าซหุงต้ม (Valve) และไม่มีเครื่องหมายประจำตัวแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น ถังก๊าซหุงต้ม (Seal)..." การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่การกระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด เมื่อ พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3 (1) มิได้บัญญัติว่าการซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องได้ แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพก็ไม่สามารถลงโทษจำเลยทั้งสองได้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ก๊าซหุงต้ม) จากผู้อื่นที่มิใช่ผู้ค้าที่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเครื่องหมายประจำตัวผู้บรรจุก๊าซแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่คู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8845/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยครบถ้วน ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. ศาลฎีกายกคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาโดยชอบแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย คงวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของโจทก์ ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8) เห็นควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปฏิบัติให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8384/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงแชร์ทองคำ: ศาลฎีกาวินิจฉัยความผิดกรรมเดียวหรือไม่ และการเพิ่มโทษโดยมิชอบ
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2556 จำเลยมาที่บ้านโจทก์ร่วมและพูดชักชวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามให้เล่นแชร์ทองคำกับจำเลย โดยบอกว่าจะได้ผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ลงเล่นแชร์ทองคำภายใน 1 ถึง 2 วัน แต่ในวันดังกล่าวโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามยังไม่สนใจ หลังจากนั้นจำเลยพูดชักชวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนให้เล่นแชร์ทองคำกับจำเลยอีกหลายครั้งจนกระทั่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามตกลง โดยโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยผ่านทางบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วม ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ได้เงินไปจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสาม โดยจำเลยมีเจตนาให้เกิดผลต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน เป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดรวม 4 กรรม ส่วนที่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามนำเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยหลายครั้งหลายคราวตามฟ้องนั้น เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากการกระทำของจำเลยในครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคน การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน โจทก์และโจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษจำคุก 2 ปี จึงเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 212 แม้จำเลยไม่ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7114/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด: โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหากจำเลยยังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟู
คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1034/2554 ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีนั้น จำเลยได้รับโทษเสร็จสิ้นจนพ้นโทษแล้ว ขณะที่จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดคดีนี้ จำเลยมิได้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยเคยรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลมาก่อน ก็ไม่มีผลกระทบต่อการเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกำหนด จำเลยมีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแทนการฟ้องเป็นคดีอาญา
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดคือ บุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด ต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามมาตรา 22 จำเลยเป็นผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดชัยนาท แม้จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีหน้าที่ต้องดำเนินการบังคับให้จำเลยเข้าสู่แผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดติดตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามแผนจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ การฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 33 วรรคสอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
of 102