พบผลลัพธ์ทั้งหมด 107 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13553/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กำหนดระยะเวลาบังคับคดี: นับจากวันคำพิพากษาถึงที่สุด ไม่ใช่วันมีคำพิพากษา
กำหนดระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ที่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น หมายถึงวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2543 โจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2544 คดีจึงเป็นที่สุดเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของวันสุดท้ายที่โจทก์อาจยื่นอุทธรณ์ได้ คือวันที่ 14 มีนาคม 2544 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง เมื่อโจทก์ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติมในวันที่ 8 มีนาคม 2554 จึงยังอยู่ภายในสิบปี นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13381/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหักชำระหนี้ดอกเบี้ยและต้นเงิน ความสุจริตในการใช้สิทธิฟ้อง และการนำสืบพยาน
จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระในแต่ละครั้งตามที่โจทก์อ้างนั้นนำไปหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเวลาหลายปี จึงทำให้มีดอกเบี้ยค้างชำระจำนวนมาก โจทก์จึงนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระมาทั้งหมดไปหักออกจากดอกเบี้ยที่ค้างชำระในคราวเดียวกันได้ การหักชำระหนี้ของโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง แต่ประการใด และการที่โจทก์มิได้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระอีก 3 ครั้ง ไปหักชำระหนี้เกิดจากความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลทางบัญชีหรือในการตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีอันเป็นความผิดพลาดเล็กน้อยมากกว่าที่จะมีเจตนาเอาเปรียบจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ พฤติการณ์ของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การที่โจทก์แนบตารางสรุปการผ่อนชำระหนี้มาท้ายอุทธรณ์เพื่อแจกแจงรายละเอียดการคิดคำนวณ เพื่อให้เห็นว่าได้มีการหักชำระหนี้กันอย่างไรอันเป็นการอธิบายให้เห็นถึงรายละเอียดการคำนวณมิใช่เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 แต่อย่างใด
การที่โจทก์แนบตารางสรุปการผ่อนชำระหนี้มาท้ายอุทธรณ์เพื่อแจกแจงรายละเอียดการคิดคำนวณ เพื่อให้เห็นว่าได้มีการหักชำระหนี้กันอย่างไรอันเป็นการอธิบายให้เห็นถึงรายละเอียดการคำนวณมิใช่เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 แต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12898/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดทางละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ศาลแก้ไขค่าเสียหายและดอกเบี้ยตามคำขอ
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมรถ 1,190,000 บาท เมื่อรวมกับค่าบริการยกรถ 18,000 บาท และค่ารักษาพยาบาล 39,944 บาท แล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดต่อโจทก์ 1,208,000 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะผลรวมของค่าเสียหายทั้งสามจำนวนที่ถูกต้องคือ 1,247,944 บาท เป็นการรวมจำนวนค่าเสียหายและพิพากษาไม่ตรงกับข้อวินิจฉัย กรณีดังกล่าวเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย แม้จำเลยทั้งสามฎีกาเพียงฝ่ายเดียว ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบมาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11718/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาประนีประนอมยอมความผูกพันคู่ความ หากเห็นว่าไม่ชอบต้องอุทธรณ์ฎีกาเท่านั้น ศาลชั้นต้นไม่สามารถเพิกถอนได้
โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็มีทางดำเนินคดีต่อไปได้เพียงประการเดียวคือ อุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงแก้ไขหากเข้ากรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมย่อมถึงที่สุด ไม่อาจถูกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก การที่โจทก์อ้างว่าคำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ดำเนินมาทั้งหมดแล้วยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่นั้น ความมุ่งหมายของโจทก์คือต้องการให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับการขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมซึ่งต้องกระทำโดยศาลสูง โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำพิพากษาของศาลนั้นเองไม่ได้ แม้โจทก์จะเพิ่งทราบเหตุที่ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความภายหลังพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10935/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลในการสั่งให้คืนเงินในคดีอาญา: คืนได้เฉพาะเงินที่เสียหายจริงเท่านั้น
คดีนี้ผู้เสียหายมิได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 แต่เป็นกรณีที่พนักงานอัยการขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 400,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย อันเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดคืนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถเรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาแทนผู้เสียหายเพียงเท่าจำนวนที่ผู้เสียหายเสียไปเท่านั้น ค่าเสียหายอย่างอื่นหรือดอกเบี้ยไม่อาจเรียกคืนแทนผู้เสียหายได้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 580,000 บาท แก่ผู้เสียหายซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้เสียหายเสียไปนั้น จึงขัดต่อมาตรา 43 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9681/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหย่าข้ามสัญชาติ: ศาลไทยต้องพิจารณากฎหมายสัญชาติคู่สมรสก่อนตัดสินคดีหย่า
เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิใช่เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่เป็นบุคคลสัญชาติแอลจีเรีย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 บัญญัติว่า "ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า" ดังนั้นในเบื้องต้นต้องได้ความว่า กฎหมายแห่งประเทศแอลจีเรียอนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรียหย่ากันได้หรือไม่ จึงเป็นข้อสำคัญแห่งคดีที่ศาลจะต้องนำมาพิจารณาคดีเสียก่อนและเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องนำสืบให้ปรากฏ เพราะกฎหมายของต่างประเทศถือเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลไทยรับรู้ได้เอง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบกฎหมายเรื่องการหย่าของประเทศแอลจีเรีย ศาลชั้นต้นยกฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8904/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนังสือมอบอำนาจปลอมหรือไม่ และอายุความคดีมรดก: ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
คดีขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และมาตรา 1710 หรือไม่ มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) จำเลยต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเมื่อใด ทั้งต้องแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และมาตรา 1710 ขึ้นต่อสู้ โดยไม่ได้ยกอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อโจทก์ฟ้องเพื่อแสดงให้เห็นว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ตกเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว แต่เป็นทรัพย์มรดกของ ส. ที่จะต้องแบ่งให้แก่ทายาท เท่ากับโจทก์ฟ้องคดีมรดก เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายวันที่ 30 สิงหาคม 2544 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 นั้นจึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกคำให้การต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8624/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในที่ดินนิคมสร้างตนเองที่ได้มาจากการพิจารณาคุณสมบัติทายาทหลังสมาชิกเสียชีวิตเป็นสินสมรสได้
การที่ทายาทจะเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแทนสมาชิกที่ตายก่อนได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินได้ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 30 นั้น ต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกทายาทโดยธรรมจากคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาทโดยธรรมว่ามีคุณสมบัติตามมาตรา 22 ก่อน ซึ่งเป็นการพิจารณาคัดเลือกทายาทจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของทายาท จึงไม่ใช่สิทธิตกทอดแก่ทายาทในทันทีที่สมาชิกตาย ภายหลังที่ ม. ถึงแก่ความตาย จำเลยและ บ. ไปยื่นคำร้องต่อนิคมสร้างตนเองลำตะคลอง เพื่อขอรับสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทน ม. และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาทพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยและ บ. มีคุณสมบัติครบถ้วน ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงประกาศจัดสรรที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยและ บ. ในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย หลังจากที่จำเลยได้สิทธิครอบครองตามประกาศดังกล่าวจำเลยได้ทำกินกับโจทก์ในที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะไม่มีชื่อในเอกสารสิทธิและไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองลำตะคลองก็ตาม แต่โจทก์ในฐานะภริยาของจำเลยก็ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะทำกินหาผลประโยชน์จากที่ดินพิพาทรวมทั้งผลประโยชน์ที่หาได้จากที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทย่อมเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลย แม้ที่ดินพิพาทจะอยู่ในเงื่อนไขว่า ภายในห้าปีนับแต่ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์จะโอนแก่ผู้อื่นไม่ได้ก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อห้ามโดยเด็ดขาด เมื่อล่วงพ้นระยะเวลาดังกล่าวจำเลยก็ได้สิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์เช่นเดียวกับสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์โดยทั่วไป อันเป็นผลมาจากการที่จำเลยได้สิทธิดังกล่าวมาตั้งแต่ยังเป็นสามีภริยากับโจทก์นั่นเอง เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาในระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งจะต้องนำมาแบ่งให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) และมาตรา 1533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4264/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องแบ่งมรดก: การจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุด สิทธิเรียกร้องยังไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ปรากฏว่านับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 13 ปี จำเลยมิได้ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมและทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมรวมทั้งดอกผลของทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และทายาททั้งหมด โจทก์เคยบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามคำขอท้ายฟ้องให้โจทก์ จำเลยให้การว่า ที่ดินและตึกแถวอันเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โจทก์ จำเลย และทายาทของ ส. ทุกคนได้ประชุมตกลงทำสัญญาแบ่งปันมรดกกันเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2536 หลังทำสัญญาดังกล่าว โจทก์และทายาทคนอื่นไม่สนใจเข้าไปครอบครองดูแลทรัพย์มรดกในส่วนของตน จำเลยจึงเข้าครอบครองเพื่อตนเองต่อเนื่องตลอดมาถึงปัจจุบัน สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงตกแก่จำเลยโดยสมบูรณ์ โจทก์เสียสิทธิในการรับทรัพย์มรดกทั้งหมดของ ส. โดยอายุความแล้ว แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ยังมิได้ดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้รับมรดก ถือว่าการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4096/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแย่งกรรมสิทธิ์และลักทรัพย์ กรณีจำเลยได้รับมอบหมายให้ถือครองกรรมสิทธิ์แทนเจ้าของ
ฮ. เป็นบุคคลสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ฮ. และโจทก์ร่วมเป็นสามีภริยาตามกฎหมายของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ฮ. ซื้อห้องชุด แต่ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน โดยจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจและชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า อันเป็นการกระทำแทน ฮ. ชั่วครั้งชั่วคราวตามที่ได้รับมอบหมาย กรรมสิทธิ์ที่แท้จริงยังอยู่ที่ ฮ. และโจทก์ร่วม การที่จำเลยแจ้งเท็จว่าหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดฉบับเดิมสูญหายเพื่อขอออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่ เปลี่ยนกุญแจและเข้าครอบครองห้องชุดและทรัพย์ต่าง ๆ ในห้องชุดแล้วนำไปขายแก่บุคคลอื่นโดย ฮ. และโจทก์ร่วมไม่รู้เห็นยินยอม เป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ห้องชุดของ ฮ. และโจทก์ร่วมโดยใช้อุบายแย่งการครอบครอง ต่อมาเมื่อจำเลยนำห้องชุดของโจทก์ร่วมไปขาย เงินที่ได้จากการขายห้องชุดเป็นผลสืบเนื่องจากการแย่งกรรมสิทธิ์และการครอบครองของจำเลย เพราะ ฮ. หรือโจทก์ร่วมไม่ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
แม้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษในความผิดฐานยักยอก แต่ทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่เป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด มิใช่แตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม แม้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ แต่ไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
แม้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษในความผิดฐานยักยอก แต่ทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่เป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด มิใช่แตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม แม้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ แต่ไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225