คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
บุญไชย ธนาพันธ์สิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 107 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลเหนือสินสมรส หากมีเจตนาแบ่งทรัพย์สินชัดเจนและศาลรับรอง
ในคดีก่อนโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 จะหย่ากันและในสัญญาข้อ 2 ตกลงว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม โดยจำเลยที่ 4 จะไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ภายใน 15 วัน และข้อ 1 ในสัญญาระบุว่า จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวรบกวนโจทก์ทุกประการ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ยินยอมให้ถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพื่อหย่าขาดกับโจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม แม้ปรากฏว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทกลับคืนมา โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่จดทะเบียนหย่ากัน อันมีผลทำให้ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาโดยสัญญาในระหว่างสมรส ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) บัญญัติว่าเป็นสินสมรสก็ตาม แต่ข้อตกลงในเรื่องสินสมรสอื่นได้แสดงให้เห็นเจตนาชัดเจนว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีความประสงค์ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสและมีข้อพิพาทกันได้จัดการแบ่งปันให้เป็นสัดส่วนชัดเจนเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายรวมทั้งยกให้บุคคลภายนอกเพื่อระงับข้อพิพาทไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันอีก สัญญาดังกล่าวแม้เป็นสัญญาระหว่างสมรส แต่มีคำพิพากษารับรองและบังคับตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว ไม่อาจบอกล้างได้ ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่สินสมรสของโจทก์และจำเลยที่ 1 แต่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีสิทธิจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความและผลผูกพันต่อสินสมรส: เจตนาแบ่งทรัพย์สินชัดเจนถือเป็นสินส่วนตัว
ในคดีก่อนโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 จะหย่ากันและในสัญญาข้อ 2 ตกลงว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม โดยจำเลยที่ 4 จะไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ภายใน 15 วันและข้อ 1 ในสัญญาระบุว่าจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวรบกวนโจทก์ทุกประการ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญายินยอมให้ถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพื่อหย่าขาดกับโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม แม้ปรากฏว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทกลับคืนมา โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่จดทะเบียนหย่ากันอันมีผลทำให้ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาโดยสัญญาในระหว่างสมรสซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) บัญญัติว่าเป็นสินสมรสก็ตาม แต่ข้อตกลงในเรื่องสินสมรสอื่นได้แสดงให้เห็นเจตนาชัดเจนว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีความประสงค์ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสและมีข้อพิพาทกันได้จัดการแบ่งปันให้เป็นสัดส่วนชัดเจน เป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายรวมทั้งยกให้บุคคลภายนอกเพื่อระงับข้อพิพาทไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันอีก สัญญาดังกล่าวแม้เป็นสัญญาระหว่างสมรส แต่มีคำพิพากษารับรองและบังคับตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้วไม่อาจบอกล้างได้ ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่สินสมรสของโจทก์และจำเลยที่ 1 แต่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่1 มีสิทธิจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17923/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินโดยคนต่างด้าวหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ดิน: โมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แม้สัญญาหมาย จ.1 จะระบุชื่อสัญญาว่าสัญญาเช่า แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของเนื้อหา หาใช่เป็นเรื่องโจทก์ทั้งสองประสงค์จะครอบครองที่ดินเพื่อใช้หรือได้รับประโยชน์ในที่ดินชั่วระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ และโจทก์ทั้งสองได้ให้เงินแก่จำเลยเพื่อการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 โดยแท้จริงไม่ แต่จุดประสงค์แห่งสัญญามุ่งเน้นเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินจากจำเลยเพื่อก่อสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 อันมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขาย มิใช่เจตนาที่จะเช่าทรัพย์กันแต่อย่างใด สัญญาหมาย จ.1 จึงเป็นสัญญาซื้อขายมิใช่สัญญาเช่า
โจทก์ทั้งสองมีฐานะเป็นคนต่างด้าว การซื้อที่ดินเพื่อให้นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยมีชื่อถือสิทธิในที่ดินแทนโจทก์ทั้งสอง มีลักษณะให้นิติบุคคลถือสิทธิในที่ดินแต่เพียงในนามเท่านั้น แท้จริงแล้วโจทก์ทั้งสองยังคงเป็นผู้ครอบครองที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ข้อยกเว้นการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าว สัญญาซื้อขายจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามมาตรา 86 แห่ง ป.ที่ดิน บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16202/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าต่อความเสียหายจากทรัพย์สินที่ได้มาโดยประมาท
จำเลยที่ 3 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบในฐานะเป็นผู้ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ เสมือนไม่ใส่ใจหรือไม่รับรู้ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ผู้นำมาขายได้มาโดยผิดกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นการรับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาท มีผลทำให้บริษัท ส. เจ้าของทรัพย์สินได้รับความเสียหาย แม้ในคดีอาญาที่จำเลยที่ 3 ถูกฟ้องข้อหารับของโจรจะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ในคดีอาญายังไม่พอรับฟังว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจร แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 3 มิได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น ยังไม่มีการวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาทหรือไม่ ศาลย่อมวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันมาในสำนวนคดีนี้ได้ว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท ส. โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับขนส่งยอมรับผิดชำระค่าเสียหายแก่บริษัท ส. ในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนให้ขนส่งนั้นสูญหายไป ย่อมรับช่วงสิทธิจากบริษัทดังกล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226, 227 และ 616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16136/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทำร้าย vs. ฆ่า และการร่วมกระทำความผิด: กรณีพยายามฆ่าและทำร้ายร่างกาย
จากพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่พบเห็นผู้เสียหายที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาเด็กหญิง ม. ซึ่งเคยเป็นคนรักของจำเลยที่ 2 มาซื้อของ จำเลยที่ 2 จึงขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปปาดหน้ารถของผู้เสียหายที่ 1 และใช้อาวุธมีดชี้หน้าบังคับให้หยุดรถ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ติดตามมาโดยมีคนร้ายนั่งซ้อนท้ายมาจอดในบริเวณที่เกิดเหตุ แล้วคนร้ายใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 ทันที และหลบหนี้ไปด้วยกันย่อมบ่งชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมสมคบกับพวกมาทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับพวกในการใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 จริง แต่การที่พวกของจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายที่ 1 ที่ศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ แต่ก็ฟันเพียงครั้งเดียว ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ทันระวังตัว ไม่ได้ต่อสู้หรือมีผู้ใดขัดขวาง หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าพวกจำเลยที่ 2 ฟันผู้เสียหายที่ 1 ซ้ำอีก ทั้งบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับ มีความยาว 5 เซนติเมตร ไม่ลึกถึงกะโหลกศีรษะ สามารถรักษาได้ภายใน 7 ถึง 14 วัน แสดงว่าไม่ได้ฟันโดยแรง ทั้ง ๆ ที่เป็นอาวุธมีดขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ฟัน อันตรายต่อชีวิตได้โดยฟันครั้งเดียว พฤติการณ์แห่งคดีคงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น ไม่มีเจตนาฆ่า ผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ผิดฐานพยายามฆ่า และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี จำเลยที่ 1 ซึ่งถูกฟ้องกล่าวหาว่าร่วมกระทำความผิดย่อมได้รับประโยชน์ด้วย แม้คดีส่วนของจำเลยที่ 1 จะยุติแล้ว ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15794/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกเงินเพิ่มเติมจากผู้ซื้อทอดตลาดหลังมีคำร้องเพิกถอน และอำนาจริบเงินมัดจำที่ไม่ชอบ
ตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 333/2551 เรื่องการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจำหน่ายทรัพย์สิน เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ไม่มีข้อกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาที่ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด ส่วนในข้อ 14 ของคำสั่งดังกล่าวที่ว่า "ในกรณีมีการขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สิน หากผู้ซื้อประสงค์จะได้รับเงินคืน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินแก่ผู้ซื้อ โดยเหลือไว้ร้อยละ 5.5 ของราคาที่ซื้อขาย" เป็นเรื่องการขอคืนเงิน มิใช่เป็นการให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเงินจากผู้ซื้อทรัพย์เพิ่มเติมให้ครบร้อยละ 5.5 ประกอบกับคู่มือการนำระเบียบ คำสั่ง กฎหมาย มาใช้กับการบังคับคดีแพ่งได้ให้คำอธิบายว่า "กรณีมีผู้ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น ผู้ซื้อไม่ต้องวางเงิน หากมีการชำระราคาครบถ้วนหรือวางมัดจำเกินร้อยละ 5.5 ของราคาซื้อขาย ให้คืนเงินส่วนเกิน คงเหลือไว้ร้อยละ 5.5" ดังนั้น เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอชะลอการชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ เนื่องจากจำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายตลาดที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายแก่ผู้ซื้อทรัพย์ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับมีคำสั่งให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาที่ดินที่ซื้อได้ จึงไม่ชอบ เพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์ชำระเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาซื้อดังกล่าวได้ ส่วนการที่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ชำระเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งริบเงินมัดจำ จำนวน 2,000,000 บาท แล้วประกาศให้ขายทอดตลาดใหม่นั้น ระเบียบกรมบังคับคดีข้อ 12 กำหนดว่า กรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ชำระราคาทรัพย์ส่วนที่เหลือภายในกำหนด เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจริบมัดจำ แต่กรณีนี้ไม่ใช่เป็นการชำระราคาทรัพย์ส่วนที่เหลือ แต่เป็นกรณีเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินให้ครบร้อยละ 5.5 ของราคาซื้อ จึงหมายความว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจริบเงินมัดจำ หากเรียกให้ผู้ซื้อทรัพย์ชำระราคาส่วนที่เหลือ แล้วไม่ปฏิบัติตาม เมื่อกรณีนี้มีการร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด แล้วผู้ซื้อทรัพย์มีสิทธิขอคืนเงินได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 14 ทั้งยังไม่แน่นอนว่า เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์จะได้ซื้อทรัพย์ตามที่ประมูลหรือไม่ จึงไม่มีเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำของผู้ซื้อทรัพย์ดังกล่าว คำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ริบเงินมัดจำและสั่งให้ขายทอดตลาดใหม่จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15308/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีซ้ำในประเด็นที่ศาลเคยวินิจฉัยแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และผลของการวินิจฉัยถึงที่สุด
คดีเดิมของศาลชั้นต้น เรื่องขอจัดการมรดก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ร. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ร. เมื่อ ร. ถึงแก่ความตายและมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก จึงมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า ว. ผู้คัดค้านที่ 1 ในคดีดังกล่าวเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์ บิดาของโจทก์และ ว. คือ ม. เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ร. เจ้ามรดก ร. หย่ากับสามีและไม่มีบุตร ม. ถึงแก่ความตายก่อน ร. ส่วน ธ. บุตรบุญธรรมของ ร. ขอสละมรดก ว. และโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ม. ทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 3 จึงมีสิทธิรับมรดกของ ร. ถือว่า ว. และโจทก์อยู่ในฐานะเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ในคดีดังกล่าวแล้วว่า ร. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้เป็นผู้จัดการมรดก อันเป็นการวินิจฉัยว่าพินัยกรรมดังกล่าวมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย มิใช่พินัยกรรมปลอมหรือเกิดจากการถูกหลอกลวง การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกโดยอ้างว่า ร. ไม่มีเจตนาทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้จำเลย แต่เกิดจากจำเลยกับพวกใช้อุบายหลอกลวง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้ว อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14169/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หมิ่นประมาททางหนังสือพิมพ์: สื่อต้องระมัดระวังในการนำเสนอข่าว ข้อมูลไม่น่าเชื่อถืออาจเป็นเหตุให้ถูกฟ้อง
ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการใช้ข้อความ ต้องพิจารณาข้อความว่า เมื่อวิญญูชนโดยทั่วไปได้พบเห็นและอ่านข้อความแล้ว จะส่งผลให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เมื่อพิจารณาข้อความที่ จ. เขียนเห็นได้ว่า ความหมายของข้อความเป็นการแสดงว่าผู้เขียนยืนยันข้อเท็จจริงและเชื่อตามหนังสือร้องเรียนที่ จ. อ้างว่าได้รับจากชาวบ้านว่า โจทก์เป็นคนนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งแก่ผู้จำหน่าย โดยผู้เขียนและจำเลยที่ 3 ไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบว่า เป็นความจริงและจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ทั้งต่อมาโดยผลของการตีพิมพ์ข้อความยังเป็นเหตุให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาไม่ไว้วางใจและตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบอาชีพรับราชการไม่พึงปรารถนา แม้ผลการสอบสวนจะไม่มีความผิดแต่ก็จะมีมลทินมัวหมอง และอาจะมีผลต่อความก้าวหน้าในชีวิตราชการอีกด้วย ข้อความดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นบรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจ จัดทำ และควบคุมข่าวและข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ต้องถือเป็นตัวการร่วมรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์และหมิ่นประมาทโจทก์
จ. ผู้เขียนข่าวไม่รู้จักโจทก์ ไม่รู้ว่าดาบ ก. มีตัวตนหรือไม่ ไม่ได้ตรวจสอบว่าหนังสือร้องเรียนเป็นความจริงหรือไม่ และไม่ได้เก็บหนังสือร้องเรียนไว้ แสดงว่า ผู้เขียนไม่ได้มีข้อมูลหรือพฤติการณ์ใด ๆ ที่จะส่อแสดงว่า ที่อำเภอปะคำมีตำรวจชื่อดาบ ก. นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งให้ชาวบ้านจำหน่าย ในฐานะเป็นสื่อมวลชน เมื่อมีหนังสือร้องเรียนซึ่งไม่ได้ลงชื่อผู้ร้องเรียนเพียงฉบับเดียวเท่านั้น ข้อมูลในการกล่าวหาโจทก์ที่ได้มาเพียงเท่านี้ วิญญูชนย่อมทราบได้ว่าอาจมีการกลั่นแกล้งกัน จำเลยที่ 3 ต้องใช้ความระมัดระวังในการเสนอข่าวมากเป็นพิเศษ จะถือว่าเป็นสื่อมวลชนแล้วจะเสนอข่าวอย่างใดก็ได้นั้นมิได้ มิฉะนั้นอาจจะเป็นช่องทางให้บุคคลบางคนบางกลุ่มใช้สื่อในการทำลายชื่อเสียงกันและย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบด้วย การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตหรือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13706/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันทายาท และการฟ้องแย้งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกรายเดียวกัน
การที่โจทก์ จำเลยและทายาททำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการมรดกของทายาทตระกูล อ. ว่าจำเลยเพียงผู้เดียวจะรับผิดในหนี้สินที่มีอยู่กับธนาคาร โดยทายาทยินยอมยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย และให้กิจการขายรถจักรยานยนต์บริษัท บ. จำกัด พร้อมหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่เกี่ยวกับกิจการดังกล่าวให้จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียว โดยให้กิจการเป็นของจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกและหนี้สินเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เมื่อจำเลยชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเสร็จสิ้น จำเลยย่อมมีสิทธิในที่ดินตามบันทึกข้อตกลง
ฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่ว่า โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ขอแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 39247 ซึ่งเป็นมรดกของ จ. ให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 1,113,900 บาท และได้แบ่งปันให้ทายาทโดยธรรมบางส่วนแล้วยกเว้นจำเลยกับทายาทบางคนยังไม่ได้รับส่วนแบ่ง และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และทายาทโดยธรรมทุกคนในอัตราส่วนคนละเท่า ๆ กัน ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยขอให้โจทก์แบ่งทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 39247 ที่โจทก์ขายไปและกล่าวไว้ในฟ้องเดิมว่ายังไม่ได้แบ่งให้จำเลย การที่จำเลยฟ้องแย้งขอแบ่งทรัพย์มรดกรายเดียวกันกับที่โจทก์กล่าวไว้ในฟ้องเดิม จึงเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ชอบที่จะว่ากล่าวให้เสร็จสิ้นในคดีเดียวกัน จำเลยไม่จำต้องแยกไปฟ้องเป็นคดีต่างหากตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13673/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การข่มขืนกระทำชำเรา: การสมคบคิดร่วมกัน และการยอมความ
ความผิดฐานร่วมกันกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงนั้นจะต้องมีลักษณะของการสมคบกันมาแต่ต้น และขณะเกิดเหตุได้ผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงด้วย แต่ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันสมคบคิดมาแต่ต้นกันอย่างไร และไม่ปรากฏว่าก่อนจำเลยที่ 1 จะข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 จำเลยทั้งสามได้ตกลงให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 รออยู่นอกห้องนอนเพื่อให้จำเลยที่ 2 รอที่จะข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นคนถัดไป ประกอบกับจำเลยที่ 2 ได้พูดขอมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ร่วมที่ 1 ในลักษณะขอความยินยอมจากโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อน เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ยินยอมจำเลยที่ 2 จึงใช้กำลังข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 แต่ไม่สำเร็จ หากจำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 มาแต่ต้น จำเลยที่ 2 คงจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 ในทันทีที่พบ คงไม่รั้งรอเพื่อพูดขอร่วมเพศกับโจทก์ร่วมที่ 1 ด้วยความสมัครใจของโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อน พฤติการณ์แห่งคดียังไม่อาจรับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามร่วมกันผลัดเปลี่ยนข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสาม แต่เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก ฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา และฐานช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกผู้อื่นกระทำความผิดดังกล่าวตามลำดับ ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้ตาม ป.อ. มาตรา 281 เมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์โดยมีบันทึกการชดเชยเยียวยาให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองแนบท้ายอุทธรณ์ มีข้อความว่า โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามอีกต่อไป จึงถือได้ว่ามีการถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความกันแล้ว ย่อมมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
of 11