คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กษิดิ์เดช จีนสลุต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 140 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12675/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กหญิงและการพรากผู้เยาว์ แม้มีการสมรสภายหลัง ความผิดยังคงอยู่ และข้อจำกัดการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยพรากผู้เสียหายไปเพื่อเป็นภริยา มิใช่เพื่อการอนาจารนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่เคยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างและนำสืบในศาลชั้นต้น เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ไม่อาจอนุญาตให้ฎีกาได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นรับฎีกาข้อนี้มาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง ว. อายุ 14 ปี 8 เดือน อายุยังไม่เกิน 15 ปี ผู้เสียหาย โดยใช้กำลังประทุษร้ายจับตัวผู้เสียหายบังคับถอดเสื้อและกางเกงออก แล้วจับตัวนอนลงที่เตียง และใช้มืออุดปากผู้เสียหายไว้ไม่ให้ขัดขืน โดยผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วขึ้นคร่อมนอนทับตัวและกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่ แม้ฟ้องมิได้ระบุว่าผู้เสียหายมิใช่ภริยาจำเลย แต่ได้บรรยายตัวบุคคลที่ถูกกระทำชำเราว่าเป็นเด็กหญิง และเมื่อพิจารณาประกอบข้อหาพรากผู้เยาว์ที่ระบุว่า จำเลยพรากผู้เสียหายไปจาก ส. ผู้ปกครองและผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารแล้ว ฟ้องแสดงอยู่ในตัวว่าผู้เสียหายยังเป็นผู้เยาว์และอยู่ในความปกครองของ ส. ผู้เสียหายจึงเป็นผู้ที่ยังไม่สมรสและมิใช่ภริยาของจำเลย จึงเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่งเดิม และเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจริง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็มีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) ได้
ส่วนที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่า จำเลยกับผู้เสียหายสมรสและอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแล้ว ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป จึงขอถอนคำร้องทุกข์ นั้น ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ แม้ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของพนักงานอัยการและโจทก์ร่วมก็ไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และการกระทำที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับยกเว้นโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคท้าย (เดิม) จะต้องเป็นการกระทำชำเราเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กหญิงยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน แต่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายไม่ยินยอมแม้จำเลยและผู้เสียหายสมรสกัน การกระทำของจำเลยก็ไม่ได้รับยกเว้นโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12115/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะนิติกรรมโอนสิทธิเช่าที่ดินราชพัสดุของผู้เยาว์ ฝ่าฝืนมาตรา 1574 (11) และ 1575
การทำนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุทำขณะที่โจทก์ทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ได้กระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 1574 (11) นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะทันที และยังเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล กิจการนั้นย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุเกิดขึ้นเลย สิทธิการเช่าดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยรับโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวไว้ แม้จะอ้างว่า รับโอนโดยสุจริตก็หามีผลทำให้จำเลยกลับมีสิทธิตามนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวไม่ และเป็นกรณีมิใช่โมฆียกรรม ไม่อาจให้สัตยาบันหรือบอกล้างนิติกรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9663/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองวัตถุออกฤทธิ์เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด และการพิสูจน์ความผิดของจำเลยร่วม
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันมีไดเมทิลแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นไอโซเมอร์ของเอ็น-เอทิลแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด แต่โจทก์มิได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ตามที่ฟ้องไว้ คงอ้างเฉพาะประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ.2539) ซึ่งเป็นประกาศระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์เท่านั้น และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 104 (พ.ศ.2541) เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ใช้อยู่ในขณะมีการกระทำความผิดก็ไม่มีระบุว่า ไดเมทิลแอมเฟตามีน หรือเอ็น-เอทิลแอมเฟตามีน อยู่ในวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ไว้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา106 ทวิ แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาดังกล่าวได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62, 106 ทวิ ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง อยู่ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่างแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดเฉพาะข้อหามีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดข้อหาดังกล่าวซึ่งมีโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9364/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กระทำอนาจารเด็ก, พรากเด็ก, ความยินยอม, พยานบอกเล่า, ลดโทษ
ผู้เสียหายได้รับหมายเรียกให้มาเป็นพยานที่ศาล แต่ถึงวันนัดกลับไม่มาศาล และไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับผู้เสียหายเพื่อเอาตัวมาเป็นพยาน แต่ก็ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลถือได้ว่ามีเหตุจำเป็น เนื่องจากว่าไม่สามารถนำผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็นและได้ยินในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนี้ด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น ศาลสามารถนำพยานบอกเล่าดังกล่าวนี้ไปฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7317-7318/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ มาตรา 4 (เดิม) โฆษณาชักชวนลงทุนอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกฎหมาย
พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3 บัญญัติว่า "ในพระราชกำหนดนี้ "ผู้กู้ยืมเงิน" หมายความว่า บุคคลผู้ทำการกู้ยืมเงิน และในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นนิติบุคคล ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลนั้นด้วย" แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ป. และบริษัท ซ. แต่การที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมดำเนินกิจการกับบริษัททั้งสอง และได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับบริษัททั้งสองดังกล่าวเป็นผู้กู้ยืมเงินด้วย ทั้งนี้เพราะบุคคลธรรมดาอาจร่วมกับนิติบุคคลประกอบกิจการก็ได้ และเป็นผู้กู้ยืมเงินในความหมายของการกู้ยืมเงินตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3 แล้ว
การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันโฆษณาชักชวน แนะนำ แจกจ่ายเอกสารต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปให้นำเงินมาเปิดบัญชีลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนกับบริษัท ป. และบริษัท ซ. โดยจำเลยทั้งสองกับพวกรับรองว่าการลงทุนจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงในอัตราร้อยละ 1 ต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสองกับพวกรู้อยู่ว่าบริษัททั้งสองดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และไม่ได้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปในอัตราดังกล่าวได้ จนจำเลยทั้งสองกับพวกได้เงินไป จึงเข้ากรณีเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 4 (เดิม) แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่บทบัญญัติตามกฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่นำมาปรับใช้แก่คดี
การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 (เดิม) แล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 5 อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4768/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: การใช้อาวุธปืนปล้นทรัพย์ - ลงโทษฐานหนักที่สุด
ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตได้ไว้ในครอบครองและความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้ในบทมาตราเดียวกัน ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่า มีความประสงค์จะให้ความผิดทั้งสองฐานนี้เป็นกรรมเดียวกัน ส่วนความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตได้ ตามมาตรา 78 วรรคสาม เป็นบทหนักสำหรับผู้กระทำความผิดฐานใช้อาวุธปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตได้ หากได้นำอาวุธปืนดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มาตรา 313 มาตรา 337 มาตรา 339 หรือมาตรา 340 ดังนั้น เมื่อจำเลยร่วมกันมีอาวุธปืนและร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวเพื่อประสงค์อันเดียวกันในการร่วมกันปล้นทรัพย์และร่วมกันใช้อาวุธปืนต่อเนื่องจากการร่วมกันมีอาวุธปืนการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 วรรคสาม อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2509/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำมั่นสัญญาเช่าและผลผูกพันตามประกาศของรัฐวิสาหกิจ การบังคับสัญญาเช่าเมื่อมีเงื่อนไขครบถ้วน
ประกาศการรถไฟแห่งประเทศไทยมีข้อความระบุถึงการจัดพื้นที่ชดเชยให้แก่กลุ่มร้านค้าบริเวณตลาดนัดซันเดย์ที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่กับจำเลย จะได้รับสิทธิการเช่าโครงการใหม่มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี ข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยผู้ให้เช่าฝ่ายเดียว ประกาศดังกล่าวจึงถือเป็นคำมั่นแก่ผู้ค้ารวมทั้งโจทก์ว่าหากผู้ค้าตกลงเข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิเช่าอาคารมีกำหนด 10 ปี โดยเงื่อนไขว่าผู้จะได้รับสิทธิการเช่าจะต้องร่วมออกค่าก่อสร้างโครงการใหม่ ต้องชำระค่าเช่าตามอัตราที่จำเลยกำหนด และชำระค่าธรรมเนียมจัดประโยชน์ล่วงหน้าจำนวน 10,000 บาท ตลอดจนให้ความร่วมมือในการรื้อถอนอาคารร้านค้าเดิมที่กีดขวางการก่อสร้างโครงการใหม่
โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทต่อกัน แสดงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดไว้ในประกาศของจำเลยซึ่งเป็นคำมั่นจะให้เช่า และเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่จะสนองรับคำมั่นตามประกาศของจำเลยภายในเวลาที่กำหนดแล้ว จำเลยจึงต้องผูกพันตามคำมั่นของตนและตกเป็นลูกหนี้ที่โจทก์มีสิทธิจะฟ้องบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับโจทก์ต่อไปจนครบระยะเวลาตามประกาศดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 954/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอรับฟังการนำยาเสพติดเข้าประเทศ ศาลฎีกายกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และเป็นผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ความผิดในข้อหาเป็นผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 1,200 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษของศาลล่างทั้งสองเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว
ความผิดในข้อหาร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังว่าจำเลยทั้งสองเดินทางออกจากราชอาณาจักรไทยแล้วกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาเพื่อจำหน่าย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายหรือไม่ และยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง แล้ว ศาลฎีกาก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองในความผิดข้อหาเป็นผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11465/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์สินโดยความยินยอมแล้วเบียดบัง ยักยอกทรัพย์ ไม่ใช่ลักทรัพย์หรือฉ้อโกง
จำเลยเป็นคนนำรถเกรดถนนของ ส. ที่ฝากไว้แก่ผู้เสียหายไปจากความครอบครองของผู้เสียหาย ตามที่ผู้เสียหายแจ้งให้จำเลยเคลื่อนย้ายไปจากปั้มแก๊สของผู้เสียหาย เป็นกรณีที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยด้วยความสมัครใจ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
แม้จำเลยรับรถเกรดถนนไปเพราะได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องนำรถเกรดถนนไปคืนแก่ทายาทของ ส. การที่จำเลยไม่นำไปคืน แต่กลับนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่รถเกรดถนนของตน ถือได้ว่าเมื่อจำเลยรับรถเกรดถนนไว้ในครอบครองแล้ว จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แต่เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก
ผู้จัดการมรดกของ ส. รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดและร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่ามีการร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้อง ก็ไม่ใช่ข้อแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10978/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อลักทรัพย์/รับของโจร เพราะศาลอุทธรณ์ตัดสินลงโทษแล้ว และจำเลยได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ. ล้างมลทิน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ต้องถือว่าศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยเต็มตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ได้อีก
of 14