คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กษิดิ์เดช จีนสลุต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 140 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 852/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน-คำสั่งถึงที่สุด: ศาลยกฟ้องคดีเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดิน เนื่องจากฟ้องซ้ำและคำสั่งเดิมผูกพัน
โจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองกับนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินและจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 7524 ทั้งหมด อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์อ้างเหตุและมีคำขอท้ายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นอย่างเดียวกันกับคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงเป็นการฟ้องเรื่องเดียวกัน ฟ้องคดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์และขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 7524 และ10625 โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงถึงที่สุดและย่อมผูกพันโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 เมื่อการขายทอดตลาดที่ดินไม่ได้ถูกเพิกถอน ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดย่อมมีสิทธิรับโอนที่ดินดังกล่าวตามคำสั่งศาลและมีสิทธิโอนต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฎีกาและการไม่รับวินิจฉัยฟ้องแย้งเนื่องจากประเด็นกรรมสิทธิ์เชื่อมโยงกับฟ้องเดิม
โจทก์ฟ้องว่ารถแบ็คโฮพิพาทเป็นของโจทก์แต่ให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ในคู่มือจดทะเบียนแทน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนรถแบ็คโฮพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ยืมรถแบ็คโฮพิพาทแล้วผิดสัญญา ขอให้โจทก์คืนรถแบ็คโฮพิพาทหรือใช้ราคาแทนแก่จำเลยทั้งสอง ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนรถแบ็คโฮพิพาทแก่โจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และให้บังคับคดีตามฟ้องแย้ง แต่จำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาตามจำนวนทุนทรัพย์ในส่วนฟ้องแย้ง โดยไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ในส่วนของฟ้องเดิม ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาในส่วนฟ้องเดิมให้ครบถ้วน จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ถือว่าจำเลยทั้งสองทิ้งฎีกาในส่วนฟ้องเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 ประกอบมาตรา 246 และ 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง แต่เมื่อประเด็นข้อพิพาทตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในรถแบ็คโฮพิพาท ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับประเด็นที่พิพาทในส่วนฟ้องเดิมที่จำเลยทั้งสองทิ้งฟ้องฎีกาไม่สามารถวินิจฉัยแยกออกจากกันได้และไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ประเด็นปัญหาในส่วนฟ้องแย้งจึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะยื่นฟ้อง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19776/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องร้องซ้ำ: ข้อพิพาทสัญญาจ้างเหมาช่วงที่ศาลพิจารณาต่างกัน ไม่ถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
มูลเหตุของการฟ้องคดีนี้มาจากนิติสัมพันธ์ตามที่โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารพักอาศัย แล้วจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาช่วงให้จำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารแทน โดยโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญา ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเหมาช่วงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมา ให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงต้องร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 1 กับพวก อ้างว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างเหมาช่วงได้ก่อสร้างอาคารและส่งมอบงานให้แก่โจทก์เสร็จตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ผิดสัญญาที่ไม่ชำระค่าจ้างและคืนเงินประกันผลงานให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องโดยอาศัยสัญญาจ้างเหมาช่วง ประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทในคดีนี้และในคดีก่อนจึงเป็นคนละเรื่องกัน ทั้งโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อน เป็นแต่ในคดีก่อนเคยถูกจำเลยที่ 2 ฟ้องเป็นจำเลยด้วยกันเท่านั้น การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมา จึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15351/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร้องสอดในชั้นบังคับคดี: สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีต้องยังไม่สิ้นสุด
บุคคลภายนอกที่จะร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการส่งมอบการครอบครองเครื่องพิมพ์พิพาทให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งแก่ทรัพย์สินที่ต้องถูกบังคับเสร็จสิ้นแล้ว ความจำเป็นที่ผู้ร้องจะร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดีนี้เพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ย่อมหมดไป ไม่ชอบที่จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13199/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและการใช้เป็นพยานหลักฐานร่วมกับพยานอื่นเพื่อลงโทษจำเลยอื่น
ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ บัญญัติเพื่อมุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ ๑ มารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 1 เท่านั้น คำให้การในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่พาดพิงถึงจำเลยที่ 2 ว่าร่วมกระทำความผิด แม้เป็นพยานบอกเล่าและเป็นคำซัดทอดเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการซัดทอดถึงจำเลยที่ 2 ก็รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นที่โจทก์ส่งอ้างเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13090/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดฐานเคลื่อนย้ายสัตว์ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ต้องระบุเขตโรคระบาด หากมิได้ระบุ ศาลไม่อาจลงโทษได้
ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเคลื่อนย้ายสัตว์ภายในท้องที่จังหวัดซึ่งได้ประกาศเป็นเขตโรคระบาดหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดแต่อย่างใด แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 มาตรา 42 ศาลไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้กล่าวในฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12715/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสะดุดหยุดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการยอมรับข้อเท็จจริงของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177
คำให้การจำเลยทั้งสิบมิได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างว่าผู้กู้ได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงไม่มีประเด็นโต้เถียงว่า ผู้กู้ได้ชำระหนี้บางส่วนตามคำฟ้องหรือไม่ เพราะถือว่าจำเลยทั้งสิบยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว โจทก์ไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์แล้วฟังว่า ผู้กู้ไม่ได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ อายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง คดีโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายทรัพย์สินร่วมโดยไม่ได้รับความยินยอม และการโกงเจ้าหนี้หลังฟ้องคดีหย่า
โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11108/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาแจ้งความเท็จ และความรับผิดในละเมิดต่อชื่อเสียง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดโดยแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาแก่พนักงานสอบสวนว่า โจทก์กับพวกร่วมกันปลอมเอกสารราชการหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. และใช้เอกสารราชการปลอม อันเป็นความผิดและมีโทษตาม ป.อ. มาตรา 172 173 174 วรรคสอง และ 181 (1) ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งมีกำหนดอายุความทางอาญา 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญา ถือว่าความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จยังไม่เกิดขึ้น จึงต้องใช้อายุความละเมิดทั่วไปในทางแพ่ง 1 ปี โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้เหตุแห่งการทำละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ฟังไม่ขึ้น
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น นำข้อความอันเป็นเท็จแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม และจำเลยได้กล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาว่าโจทก์กระทำผิดวินัย โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ มีผลกระทบถึงความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว แม้จำเลยจะถอนคำร้องทุกข์ และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ ก็ไม่มีผลให้ความเสียหายของโจทก์ที่มีอยู่แล้วหมดสิ้นไปแต่อย่างใด จำเลยจึงคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10452/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจไม่เป็นพยานหลักฐานเท็จ แม้ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับบริษัท ศาลไม่ลงโทษฐานนำสืบพยานเท็จ
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อร่วมกันในช่องผู้มอบอำนาจโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่มีการจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับเรื่องจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทเป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองดังกล่าวเท่านั้น และจะมีผลต่อรูปคดีหรือไม่เพียงใดเป็นเรื่องที่ศาลในคดีดังกล่าวจะพิจารณาวินิจฉัย หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงไม่ใช่พยานหลักฐานอันเป็นเท็จเพราะเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อโดยไม่มีอำนาจและไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 การส่งหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานต่อศาลจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี
of 14