คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ไชยยศ วรนันท์ศิริ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 29 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2652/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า: ชื่อบุคคลธรรมดาไม่ต้องแสดงลักษณะพิเศษ
มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม) ของ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 บัญญัติว่า "เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ (1) ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง..." จากบทบัญญัติดังกล่าว ข้อความว่า "ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ" เป็นคำขยายของคำว่า "ชื่อในทางการค้า" เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ทั้งคำดังกล่าวก็มิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง ย่อมมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดส่วนบุคคลของกรรมการบริษัทในหนี้ซื้อขายสินค้า แม้ไม่มีการประทับตราบริษัท
โจทก์นำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของฝ่ายจำเลยในการติดต่อซื้อขายระหว่างประเทศครั้งนี้ไว้แล้ว โดยเฉพาะการกระทำตามอำเภอใจของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่การเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการเจรจากับโจทก์มาตลอด การไม่ยอมชำระค่าบริการสินค้าตั้งแต่แรกด้วยการอ้างว่าขาดสภาพคล่องทางการเงิน การทำสัญญาค้ำประกันโดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญทั้งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 การทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับลายนิ้วมือแต่ไม่ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 รวมทั้งการทำหลักฐานการโอนเงินให้แก่โจทก์ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการทำธุรกรรมดังกล่าวต่อธนาคารแต่อย่างใด การกระทำเหล่านี้นับเป็นข้อพิรุธหลายประการของจำเลยที่ 2 ที่ทำให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำการไม่สุจริตในลักษณะที่ตนเองเป็นบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนอกเหนือจากการเป็นเพียงผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น ทั้งเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงแบบพิธีของจำเลยที่ 1 ในการประทับตราสำคัญ หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงไม่ถือว่าได้ทำขึ้นโดยเจตนาให้มีลักษณะเป็นทางการอย่างเช่นหนังสือที่ออกโดยนิติบุคคลทั่วไป แต่มีลักษณะที่อาจเข้าใจไปได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำในนามส่วนตัวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่โจทก์และยอมปล่อยสินค้า จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่ค้าผู้สุจริตได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 ได้เข้าร่วมเป็นการส่วนตัวกับจำเลยที่ 1 เพื่อรับผิดในหนี้ค่าสินค้าที่ค้างชำระต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2611/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาท: การพิสูจน์ข้อเท็จจริงและหน้าที่รับผิดชอบของจำเลย
แม้คดีนี้ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเองและไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาในส่วนแพ่งก็ตาม แต่เมื่อคดีส่วนนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาในส่วนแพ่ง เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีความผิดตามฟ้อง จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2196/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาในศาลแขวง: การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตอัยการสูงสุดทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ขณะเกิดเหตุความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง แม้ภายหลังขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี มี พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ยกเลิก พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 แต่มาตรา 4 (1) ของกฎหมายใหม่ที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งสูงกว่าระวางโทษตามกฎหมายเก่าที่ใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุ จึงต้องใช้ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) ซึ่งเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ส่วนความผิดฐานยักยอกที่โจทก์ฟ้องรวมกันมา ก็มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงเช่นกัน แม้ศาลอาญากรุงเทพใต้ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรับพิจารณาคดีนี้จะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19/1 แต่การพิจารณาพิพากษาก็ต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของคดีนั้น ๆ เมื่อคดีนี้เป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง จึงต้องนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาใช้บังคับแก่คดี กล่าวคือ โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาผัดฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้ขอผัดฟ้อง ในการฟ้องคดีโจทก์จึงต้องได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด หรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 9 แต่ไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุด หรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายได้อนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1373/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาขาดอายุความเนื่องจากยื่นเกินกำหนด แม้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์
ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาฎีกาให้แก่จําเลย ครบกำหนดวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งตรงกับวันศุกร์อันเป็นวันทำงานปกติ โดยมิได้ถูกกําหนดให้เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษตามประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมและมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการกำหนดวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ในช่วงการประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 แต่จําเลยมิได้ยื่นฎีกาในวันครบกำหนดดังกล่าว ทั้งหากจําเลยประสงค์ยื่นฎีกาทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อกําหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการยื่น ส่ง และรับคําคู่ความและเอกสารทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560 ข้อ 7 วรรคสาม ก็ต้องยื่นภายในวันครบกำหนดได้รับอนุญาตให้ขยายฎีกาตามเวลาทำการปกติคือวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เวลา 16.30 นาฬิกา เช่นเดียวกัน เมื่อจําเลยยื่นฎีกาทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เวลา 19 : 39 : 09 นาฬิกา จึงเป็นฎีกาที่ยื่นเกินกําหนดเวลาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 674/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับการบังคับคดี: คำพิพากษาศาลฎีกาที่ขัดแย้งกัน และผลของการบังคับคดีที่ตกเป็นพ้นวิสัย
เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 4617 - 4618/2560 ซึ่งเป็นคดีสาขาในชั้นบังคับคดีของคดีตามคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 18548/2557 ได้พิพากษายืนตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นที่ระบุว่า หากผู้ร้องประสงค์จะบังคับคดีต่อไป ต้องเรียกให้จำเลยทั้งสองคืนเงินมัดจำกับเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 4566/2562 ซึ่งมีบริษัท ต. เป็นโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ชําระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แม้ทั้งสองเรื่องดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1083 แต่การปฏิบัติการชําระหนี้สามารถแบ่งแยกจากกันได้อย่างชัดเจน กรณีไม่เป็นคําพิพากษาของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันนั้นขัดกันอันจะตกอยู่ในบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง
เมื่อ จ. และ ส. จำเลยทั้งสองตามคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 18548/2557 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ยื่นคําร้องขอให้งดการโอนที่ดินพิพาทตามคําขอของผู้ร้องที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบึงกุ่ม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าการบังคับคดีในลำดับแรกโดยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นพ้นวิสัย ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าวและได้แต่รับมัดจำ รวมทั้งค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองเท่านั้น จะมาเรียกให้บังคับคดีในลำดับแรกอีกไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 670/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญางานเหมา vs. จ้างบริหาร: การคิดค่าเสียหายเมื่อผู้รับจ้างผิดสัญญา
การที่จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างมีหนังสือขอแจ้งผลการพิจารณาต่อรองราคาว่าจ้างวางท่อเหล็กไปยังโจทก์ผู้รับจ้าง โดยหนังสือดังกล่าวมีการแก้ไขราคาในลักษณะต่อรองคำเสนอของโจทก์ ดังนั้น คำสนองของจำเลยที่ 1 จึงไม่ตรงกับคำเสนอของโจทก์ ถือเป็นคำบอกปัดไม่รับคำเสนอของโจทก์และเป็นคำเสนอของจำเลยที่ 1 ขึ้นใหม่ในตัวตาม ป.พ.พ. มาตรา 359 วรรคสอง สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะเกิดขึ้นต่อเมื่อคำบอกกล่าวสนองของโจทก์ไปถึงจำเลยที่ 1 ผู้เสนอ เพราะเป็นสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 วรรคหนึ่ง และมาตรา 169 จำเลยที่ 1 ได้ส่งหนังสือดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่โจทก์ไม่ตอบตกลงราคาดังกล่าวมายังจำเลยที่ 1 ถือว่าโจทก์มิได้มีคำสนองไปถึงจำเลยที่ 1 ดังนั้นหนังสือขอแจ้งผลการพิจารณาต่อรองราคาดังกล่าวไม่ก่อเกิดเป็นสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์มิได้สนองรับคำเสนอของจำเลยที่ 1 ภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนอง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิถอนคำเสนอของตนได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ถอนคำเสนอแล้วคำเสนอเป็นอันสิ้นความผูกพัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 355 และมาตรา 357

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 666-667/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เอกสารสิทธิปลอมและราชการปลอม จำเลยต้องมีความรู้เห็นในการกระทำความผิดเพื่อรับโทษได้
แม้คดีจะฟังได้ตามที่โจทก์อ้างว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 6 ไม่ใช่คำซัดทอด แต่โจทก์ก็ยอมรับว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่า ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง ห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่จะมีเหตุผลตาม (1) และ (2) จึงต้องพิจารณาว่าพยานบอกเล่านี้เข้าข่ายข้อยกเว้นดังกล่าวหรือไม่ คดีนี้เหตุเกิดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2551 ถึงเดือนธันวาคม 2551 ภายหลังมีการตรวจสอบพบว่าเอกสารสิทธิของธนาคารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม โดยเจ้าหน้าที่เมืองพัทยาได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ในปี 2553 ตามคำเบิกความของพันตำรวจโท ภ. ส่วนการสอบปากคำของจำเลยที่ 6 เริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ในฐานะพยานเรื่อยมา จนสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 จำเลยที่ 6 ให้การในฐานะผู้ต้องหาจึงไม่ได้ใกล้ชิดกับช่วงเวลาที่มีการกระทำความผิด ประกอบกับจำเลยที่ 6 ให้การเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 ว่า จำเลยที่ 6 หลบหนีเพราะเกรงว่าจำเลยอื่นจะโกรธแค้นและทำร้าย เหตุที่รับสารภาพเพราะคิดว่าสักวันหนึ่งจำเลยอื่นจะต้องติดตามพบจำเลยที่ 6 จึงตัดสินใจเข้าพบพนักงานสอบสวน คำให้การของจำเลยที่ 6 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 6 มีข้อขัดแย้งกับจำเลยอื่นอยู่ คำให้การเช่นนี้ไม่แน่ว่าจะเป็นไปตามความเป็นจริง ทั้งจำเลยที่ 6 เข้าพบพนักงานสอบสวนเอง แต่โจทก์กลับไม่สามารถนำจำเลยที่ 6 มาเบิกความในชั้นพิจารณา ดังนั้น ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านี้น่าสงสัยว่าจะพิสูจน์ความจริงได้หรือไม่ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุใดโจทก์จึงไม่สามารถนำจำเลยที่ 6 มาเบิกความได้ คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 6 ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ถือเป็นพยานบอกเล่าที่มิให้ศาลรับฟัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รวมถึงฉ้อโกงโดยการแสดงเอกสารเท็จ
หนังสือรับรองสิทธิครอบครองและการทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิขององค์การบริหารส่วนตำบล ต้องมีการสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดินและมีผู้ปกครองท้องที่ยืนยัน อันเป็นกิจการที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเป็นกิจการที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ หนังสือรับรองดังกล่าวจึงเป็นเอกสารราชการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 67/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการฟ้องเพิกถอนอนุสิทธิบัตร: ผู้มีส่วนได้เสียต้องได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำตามสิทธิในอนุสิทธิบัตร
ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 นว วรรคสอง เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้สิทธิบุคคลใดจะกล่าวอ้างความไม่สมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตรก็ได้ ซึ่งอาจรวมถึงการยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่จะถึงขนาดเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้น กฎหมายบัญญัติให้สิทธิเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการเท่านั้น ดังนั้น ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิฟ้องคดีเช่นว่านี้ได้ย่อมต้องไม่ใช่บุคคลใดก็ได้ แต่ต้องเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากการมีอยู่ของอนุสิทธิบัตรโดยตรง เช่น บุคคลผู้ต้องเสื่อมเสียสิทธิในการแสวงหาประโยชน์อันเนื่องมาจากการที่มีบุคคลอื่นเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรนั้น ประกอบกับเมื่อพิจารณาในด้านสิทธิของผู้ทรงอนุสิทธิบัตรในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนําเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามอนุสิทธิบัตรแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาประโยชน์จากอนุสิทธิบัตรโดยจํากัดเพียงการกระทำดังที่บัญญัติในมาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1) แล้ว บุคคลอื่นที่ต้องเสื่อมเสียสิทธิในที่นี้คือ บุคคลที่จะกระทำการต่าง ๆ ดังกล่าวนั่นเอง กรณีหาใช่การตีความอย่างกว้างหรืออย่างแคบไม่ แม้โจทก์เป็นส่วนราชการมีภารกิจและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2552 ข้อ 2 และดำเนินการต่าง ๆ ตามที่กล่าวอ้างมา แต่การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นเพียงการดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาหาแนวทางปรับการทำงาน การจัดประชุม การจัดสัมมนา และการออกกฎกระทรวงและประกาศ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเลยว่าโจทก์เป็นผู้ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนําเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามอนุสิทธิบัตรพิพาทโดยตรง อันจะมีผลกระทบจากการมีอยู่ของอนุสิทธิบัตรพิพาทที่จะถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรพิพาทได้
of 3