คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ทัศนีย์ จั่นสัญจัย ธรรมเกณฑ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 185 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องในคดีฟื้นฟูกิจการ สิทธิเรียกร้องที่ได้รับการปลดหนี้แล้ว ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ใหม่ได้
หนี้ที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นสิทธิเรียกร้องที่บริษัทเงินทุน อ. เจ้าหนี้เดิม มีต่อลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.11/2542 ของศาลล้มละลายกลาง และสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีการแก้ไขแผนตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ครั้งที่ 3 ซึ่งศาลล้มละลายกลางให้ความเห็นชอบแล้วโดยกำหนดให้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เดิมดังกล่าวได้รับการปลดหนี้ทั้งจำนวนตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2547 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการอุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนครั้งที่ 3 ของศาลล้มละลายกลาง คำสั่งดังกล่าวย่อมผูกพันเจ้าหนี้เดิมตามแผนฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 90/63 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากเจ้าหนี้เดิม ผลของคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.11/2542 ของศาลล้มละลายกลาง ย่อมผูกพันเจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน เจ้าหนี้จึงไม่อาจนำหนี้ที่ได้รับการปลดหนี้แล้วมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้อีกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4175/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่มีค่าตอบแทนในคดีล้มละลาย: ทรัพย์สินนอกเหนือการบังคับคดี
การที่ผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนจำนวน 400,000 บาท กันแต่อย่างใด ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่กองทรัพย์สินของจำเลย และการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าวเป็นนิติกรรมการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยมิได้มีการกระทำของจำเลยเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 จึงเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มาภายหลังเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 (2) และมาตรา 62

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4172/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประนอมหนี้ก่อนล้มละลายที่ไม่สุจริต และการพิสูจน์ความสามารถในการชำระหนี้
คดีนี้มีเจ้าหนี้ 13 ราย จำนวนเงินทั้งสิ้น 1,579,969,429.28 บาท จำเลยยื่นคำขอประนอมหนี้ยอมชำระหนี้ที่ศาลมีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนร้อยละ 5 ของหนี้ที่ศาลมีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ ส่วนหนี้ของเจ้าหนี้มีประกันให้ได้รับชำระหนี้จำนวนร้อยละ 5 ของส่วนที่ขาดจากการบังคับชำระหนี้จากหลักประกันแล้ว โดยกำหนดผ่อนชำระทุก 6 เดือน ให้เสร็จสิ้นภายใน 5 ปี เมื่อพิจารณาทรัพย์สินและรายได้ของจำเลยดังกล่าวแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะมีเงินพอที่จะสามารถชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ได้เสร็จสิ้น ทั้งยังไม่พอที่จะรับฟังให้เป็นที่แน่นอนได้ว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้มีโทษทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เพราะเจ้าหนี้ยังคงโต้แย้งอยู่ว่าจำเลยกับเจ้าหนี้รายที่ 11 ซึ่งขอรับชำระหนี้จำนวนมากกว่าร้อยละ 82 ของหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ทั้งหมดร่วมกันก่อหนี้อันเป็นเท็จในลักษณะเป็นหนี้ที่สมยอมกันโดยไม่มีหนี้อยู่จริง และเจ้าหนี้รายที่ 11 ขอถอนคำขอรับชำระหนี้ภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยแล้ว พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงเชื่อว่าการประนอมหนี้ของจำเลยกระทำโดยไม่สุจริตเพื่อจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เพียงร้อยละ 5 และจะได้หลุดพ้นจากการล้มละลายทันทีเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ กรณีจึงมีเหตุไม่สมควรที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 53 (2) และมาตรา 54 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4166-4170/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้เกี่ยวกับการร้องขอฟื้นฟูกิจการซ้ำและซ้อน โดยศาลพิจารณาว่าการร้องขอซ้ำในมูลเหตุเดิมเป็นเหตุต้องห้าม
บทบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือการร้องขอซ้ำนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายล้มละลายส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาองค์กรทางธุรกิจไว้และเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรมซึ่งจะได้รับชำระหนี้จำนวนไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามมาตรา 90/4 นั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลาย การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีฟื้นฟูกิจการ โดยผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีหนึ่งถือเสมือนว่าเป็นการกระทำแทนบุคคลอื่นๆ ด้วย หากมีการร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างมูลเหตุเดิมหรือช่องทางในการฟื้นฟูกิจการเดียวกันก็ย่อมเป็นการร้องขอซ้ำได้เช่นกัน
ในการร้องขอฟื้นฟูกิจการคดีนี้ผู้ร้องได้อ้างเหตุในการร้องขอฟื้นฟูกิจการว่า ลูกหนี้ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวและการเปลี่ยนค่าเงินบาทในปี 2540 ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น มูลเหตุในการร้องขอฟื้นฟูกิจการคดีนี้เป็นเหตุที่มีการร้องขอฟื้นฟูกิจการมาแล้วในคดีแรก แม้ว่าผู้ร้องขอคดีนี้จะไม่ได้เป็นผู้ร้องขอเองก็ตาม แต่เมื่อคดีแรกศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ อันมีผลทำให้เจ้าหนี้ต้องถูกปรับยอดหนี้ลงมาและมีสิทธิเรียกร้องเฉพาะหนี้ที่ค้างอยู่ตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งหลังจากศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว ก็ไม่ปรากฏเหตุใหม่ในสาระสำคัญที่ทำให้ลูกหนี้หรือผู้ร้องขอมีสิทธิร้องขอฟื้นฟูกิจการได้อีก ทั้งศาลวินิจฉัยในคดีแรกมาแล้วว่าลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้และในคดีแรกมีการดำเนินกระบวนพิจารณาจนกระทั่งศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเช่นนี้ การที่เจ้าหนี้มายื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีนี้อีก จึงเป็นการร้องขอซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในการร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีที่สามนั้น ธนาคาร ส. ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการซึ่งเป็นผู้รับโอนจากห้าธนาคารในประเทศในขณะที่คดีแรกอยู่ระหว่างพิจารณาชั้นอุทธรณ์ การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีที่สามจึงเป็นการร้องขอซ้อนและดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแรกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 และมาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 และการที่ผู้ร้องขอมายื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีนี้โดยเหตุทำนองเดียวกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการคดีที่สามอีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีที่สาม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้มีประกันในการได้รับชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันขายทอดตลาด แม้จะยื่นคำร้องขอใช้สิทธิเหนือทรัพย์สิน
ผู้ร้องใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านนำทรัพย์หลักประกันออกขายทอดตลาดในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 95 จึงเป็นกรณีที่ผู้รับจำนองขอเอาบุริมสิทธิในทรัพย์ที่รับจำนองไว้ไม่เกินกว่าหนี้ที่รับจำนองเท่านั้น หากขายทอดตลาดได้เงินเกินกว่าหนี้จำนอง เงินส่วนที่เกินย่อมตกเข้าแก่กองทรัพย์สินของจำเลยผู้ล้มละลาย แต่ถ้าขายไม่ได้ถึงราคาทรัพย์จำนองหนี้ส่วนที่เหลือก็ตกเป็นพับแก่ผู้รับจำนองไป ฉะนั้นต้องคิดดอกเบี้ยให้ผู้ร้องจนถึงวันขายทอดตลาด เมื่อเป็นการยื่นคำร้องเพื่อขอใช้สิทธิเหนือทรัพย์อันเป็นหลักประกัน มิใช่การยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 ประกอบมาตรา 96 จึงไม่ต้องห้ามคิดดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 100

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3330/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำให้การหลังศาลวินิจฉัยคดีล้มละลายแล้ว ถือเป็นการประวิงคดี ศาลมีอำนาจเพิกถอนการรับคำให้การ
คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่รับคำให้การของจำเลยฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 มิใช่คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดที่ยกเว้นให้อุทธรณ์ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าคำสั่งดังกล่าวของศาลล้มละลายกลางไม่ชอบจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาพิจารณาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคสี่
โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายวันที่ 11 สิงหาคม 2553 ในวันนัดพิจารณา จำเลยมาศาลและแถลงต่อศาลว่า จำเลยไม่ติดใจถามค้านและไม่ติดใจสืบพยาน ทั้งยังแถลงว่าอยู่ระหว่างตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้ให้แก่โจทก์คาดว่าจะตกลงกันได้ ขอระยะเวลา 4 เดือน หากนัดหน้าไม่สามารถตกลงกันได้จะไม่ขอเลื่อนคดีอีกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า คดีเสร็จการพิจารณา ให้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 หลังจากนั้น จำเลยเป็นฝ่ายขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งรวม 5 ครั้ง เป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปีเศษ อ้างว่าอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทั้งจำเลยได้อ้างส่งเอกสารที่แสดงว่าตนเป็นหนี้โจทก์จริงและประสงค์จะผ่อนชำระหนี้นั้น นอกจากนี้ จำเลยแถลงรับในคำร้องขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของจำเลยฉบับลงวันที่ 8 ธันวาคม 2554 และฉบับลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 ว่า อยู่ในระหว่างการเจรจาหนี้กับโจทก์ เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยได้ชำระหนี้คืนโจทก์ ขอศาลได้โปรดเลื่อนคดี ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 จำเลยกลับยื่นคำร้องรวม 3 ฉบับ คือ คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพยานเอกสาร คำร้องขอนำส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น และคำร้องขออนุญาตต่อสู้คดีและยื่นคำให้การ ทั้งยังยื่นคำให้การคำแถลงระบุพยานจำเลย และบัญชีระบุพยานมาด้วย ศาลล้มละลายกลางจดรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ว่า ได้สอบโจทก์แล้วแถลงคัดค้านเนื่องจากจำเลยมีเจตนาประวิงคดี แล้ววินิจฉัยว่าการพิจารณาคดีล้มละลาย ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงเพื่อให้ได้ความว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อจำเลยแถลงว่า การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ แต่จำเลยมีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้ ไม่ใช่บุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดี กับมีคำสั่งให้เลื่อนไปถามค้านและสืบพยานจำเลยวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ทั้งที่การพิจารณาคดีล้มละลายต้องดำเนินการติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดีจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และเมื่อเสร็จการพิจารณาคดีให้ศาลล้มละลายรีบทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง การกำหนดแนวทางการดำเนินคดีเพื่อระงับข้อพิพาทโดยวิธีอื่นโดยการไกล่เกลี่ยเพื่อให้คดีเสร็จไป ตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2549 ข้อ 14 (1) จึงกำหนดให้กระทำได้เมื่อก่อนมีการสืบพยาน เมื่อคดีนี้ได้มีการสืบพยานแล้วเสร็จและคดีเสร็จการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 การให้โอกาสแก่จำเลยในการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งออกไปเป็นเวลานานกว่า 1 ปีเศษ ซึ่งจำเลยมีระยะเวลาพอสมควรที่จะเจรจาหนี้นอกศาลกับโจทก์ แต่ไม่ปรากฏผลว่าสามารถเจรจาระงับข้อพิพาทนอกศาลกันได้สำเร็จโดยเร็ว โดยจำเลยเป็นฝ่ายแถลงต่อศาลในวันคดีเสร็จการพิจารณาเองว่า หากการเจรจาหนี้กับโจทก์ไม่สามารถตกลงกันได้จะไม่ขอเลื่อนคดีอีก แต่จำเลยกลับยื่นคำร้องขออนุญาตต่อสู้คดีและยื่นคำให้การความว่า การเจรจาหนี้กับโจทก์ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งจำเลยใช้เวลานานเกินควรในการเจรจา และในคำร้องก็ระบุแต่เพียงว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งในคำร้องว่า หากศาลไม่อนุญาตให้ต่อสู้คดีและยื่นคำให้การแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรมอย่างไร พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยส่อไปในทางประวิงคดี และการที่จำเลยยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ภายหลังจากสืบพยานในคดีเสร็จสิ้นและคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว จึงเป็นการยื่นคำให้การล่วงเลยระยะเวลาตามกฎหมาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยมานั้น เป็นการมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3211/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินในคดีล้มละลาย: อายุความไม่ขาดเมื่อคดีเดิมอยู่ระหว่างพิจารณา
คดีก่อนเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรีขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรม การโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองอันเป็นการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ส่วนคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอันเป็นการฉ้อฉลตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 237 ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายล้มละลายให้อำนาจแก่ผู้ร้องไว้เป็นกรณีพิเศษในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิของเจ้าหนี้และเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเข้ามาในกองทรัพย์สินและนำมาแบ่งปันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย เมื่อผู้ร้องไม่ใช่โจทก์ในคดีก่อน การยื่นคำร้องคดีนี้จึงไม่เป็นการยื่นคำร้องซ้อนกับคดีก่อน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้อำนาจผู้ร้องในอันที่จะกระทำแทนเจ้าหนี้ได้เป็นกรณีพิเศษ โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลในคดีล้มละลายโดยไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่เท่านั้น อายุความที่จะใช้บังคับต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้เกี่ยวข้องในขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้นั้นจริงๆ เป็นเกณฑ์พิจารณา เมื่อโจทก์ซึ่งร้องขอให้ผู้ร้องเพิกถอนการฉ้อฉลที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 ทราบเหตุแห่งการเพิกถอนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 และโจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 ภายในกำหนดอายุความแล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลงอยู่จนกว่าคดีจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จสิ้นไปโดยประการอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง และเมื่อเหตุที่ให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง คดีนี้คู่ความนำสืบรับกันว่า ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งจำหน่ายคดีก่อนตามคำขอของผู้ร้อง ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 โจทก์อุทธรณ์ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เหตุที่ให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงยังไม่สิ้นสุด อายุความไม่เริ่มนับใหม่ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในขณะที่อายุความของโจทก์สะดุดหยุดลง คดีจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3210/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการ: เจ้าหนี้มีสิทธิรับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูเท่านั้น การชำระหนี้โดยวิธีอื่นเป็นโมฆะ
เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ก็แต่โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามมาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง และการที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ กล่าวคือ เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นจำนวนเท่าใดจะต้องนำหนี้ดังกล่าวมาปรับกับแผนฟื้นฟูกิจการก่อน เจ้าหนี้ไม่อาจที่จะได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากตามจำนวนและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้หรือผู้ทำแผนซึ่งได้นำเงินมาชำระหนี้หรือนำเงินมาวางไว้ที่ สำนักงานวางทรัพย์แต่อย่างใด และการที่ลูกหนี้นำเงินไปชำระหนี้ภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว หรือผู้ทำแผนนำเงินไปวางเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่สำนักงานวางทรัพย์อันมิใช่วิธีการที่กฎหมายกำหนดเพื่อชำระหนี้ซึ่งมูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจึงเป็นการกระทำที่ไม่อาจกระทำได้ ขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 วรรคท้าย หนี้จึงยังไม่ระงับ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เมื่อกฎหมายฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการในการขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระไว้โดยชัดแจ้งแล้ว ลูกหนี้หรือผู้ทำแผนจะดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการค้าตามปกตินั้นหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3158/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีล้มละลายซ้ำซ้อน: ห้ามฟ้องเรื่องเดียวกันในขณะที่คดีเดิมยังพิจารณาอยู่
การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่การฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายล้มละลายกำหนดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย อีกทั้งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 บัญญัติว่า "ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง" ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 4 ไว้ในคดีหมายเลขดำที่ 223/2555 ต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 4 ในคดีนี้อีก แม้โจทก์จะอาศัยมูลหนี้ที่รับโอนมาจากสถาบันการเงินคนละสถาบันและคนละมูลหนี้ในการฟ้องแต่ละคดีก็ตาม แต่ศาลก็ต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 เช่นเดียวกัน สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับก็เป็นอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันในขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 223/2555 อยู่ในระหว่างพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3155/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กระบวนการพิจารณาคดีล้มละลายต้องคุ้มครองสิทธิเจ้าหนี้โดยการแจ้งหมายนัดและเปิดโอกาสให้โต้แย้ง
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ค่าบริการ 23 ลำดับ รวมเป็นเงิน 213,167,728.24 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ 213,167,728.23 บาท โดยให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับ 6 ต้นเงิน 16,391,865 บาท และอันดับที่ 21 ต้นเงิน 686,153.71 บาท ผู้ทำแผนยื่นคำร้องว่า เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 6 และอันดับที่ 21 ทั้งเจ้าหนี้ยังต้องชำระค่าปรับให้แก่ลูกหนี้เนื่องจากเจ้าหนี้ผิดสัญญา กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของเจ้าหนี้โดยตรง การที่ศาลล้มละลายกลางตรวจคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้นัดพิจารณาคำร้องและให้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยที่มิได้มีคำสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าหนี้ หลังจากนั้นศาลล้มละลายกลางได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานเฉพาะระหว่างผู้ทำแผนและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น จึงเป็นการที่มิได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายในอันที่จะคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่เกี่ยวข้องให้มีโอกาสในการที่จะโต้แย้งดูแลและดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิของตน การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลางจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเที่ยงธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 มาตรา 247 (เดิม) และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 คดีมีเหตุอันสมควรที่จะยกคำสั่งศาลล้มละลายกลางและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาเสียให้ถูกต้อง
of 19