คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
น้ำเพชร ปานะถึก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 25 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3917/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนมรดกที่ดินในนิคมสร้างตนเอง โดยผู้รับโอนมีสิทธิเพียงผู้ถือแทนทายาทอื่น และการซื้อขายที่ดินที่ไม่ชอบ
ผู้ตายครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสร้างตนเอง เมื่อยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐ การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่ บ. มิใช่การตกทอดโดยมรดก เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ดังกล่าว ผู้ตายมีเพียงสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย เมื่อทายาททุกคนของผู้ตายตกลงให้ บ. เป็นผู้รับโอนสิทธิในที่ดินของผู้ตายตามที่พระราชกฤษฎีกานิคมสร้างตนเองกำหนดให้ทายาทเข้ารับสิทธิได้เพียงผู้เดียว บ. จึงเป็นแต่เพียงผู้มีชื่อในหนังสือแสดงการทำประโยชน์แทนบุตรทุกคนของผู้ตายเท่านั้น ต่อมา บ. ไปขอออกโฉนดที่ดินจนได้รับโฉนดที่ดินพิพาท ก็ยังต้องถือว่าเป็นการดำเนินการแทนทายาทอื่น ทายาททุกคนมีส่วนเท่า ๆ กันและเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท บ. ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 ขอรับโอนมรดกที่ดินใส่ชื่อของตนเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็ยังคงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนของผู้ตาย สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้รับโอนคงมีสิทธิในทำนองเดียวกันกับสิทธิของ บ. ผู้โอน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แบ่งแยกที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่หากการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองไม่อาจดำเนินการได้ ก็ต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หมดอายุความบังคับคดี: เจ้าหนี้ต้องดำเนินการตามขั้นตอนภายใน 10 ปีนับจากคำพิพากษาจึงจะใช้สิทธิบังคับคดีได้
หนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำบังคับ เป็นกรณีที่ต้องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (เดิม) และมาตรา 278 (เดิม) จะเห็นได้ว่า การร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ขั้นตอนต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดี และขั้นตอนสุดท้ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแม้คดีนี้โจทก์เดิมจะได้แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยไว้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 ก็ตาม แต่โจทก์นำเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยึดมายื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ครบจึงไม่สามารถยึดที่ดินของจำเลยได้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งในคำขอยึดทรัพย์ของโจทก์ว่า ให้โจทก์นำส่งต้นฉบับโฉนดที่ดิน สัญญาจำนองและสำเนาทะเบียนบ้านจำเลยก่อนนำยึด แต่โจทก์ก็ไม่ดำเนินการใด ๆ จนกระทั่งวันที่ 16 มิถุนายน 2560 โจทก์เพิ่งมาตั้งเรื่องบังคับคดีใหม่โดยยื่นคำขอยึดอสังหาริมทรัพย์ ณ ที่ทำการต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ดำเนินการต่าง ๆ ตามขั้นตอนครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาชั้นที่สุดอันจะถือว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม)แม้ทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์จำนองต่อไปได้ แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาชั้นที่สุดแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 939/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขาดแรงงานในครัวเรือนจากละเมิด: การชดใช้ค่าเสียหายแก่บิดามารดาผู้สูญเสียผู้เยาว์
ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 445 เป็นกรณีผู้ทำละเมิดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอก โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นบิดามารดาผู้ตายซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ภายใต้ปกครองของโจทก์ร่วมทั้งสองตามมาตรา 1566 ซึ่งตามมาตรา 1567 กำหนดให้บิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิมอบหมายให้บุตรผู้เยาว์ทำการงานในครัวเรือนตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป เมื่อโจทก์ร่วมทั้งสองมอบหมายให้ผู้ตายช่วยดูแลกิจการหอพักและกิจการฟาร์มเลี้ยงสุกรในเวลาเลิกเรียนและวันหยุด แต่ผู้ตายถูกจำเลยทำละเมิดจนถึงแก่ความตาย ย่อมทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองต้องขาดแรงงาน จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงานในครัวเรือนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7435/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของผู้เสียหายจากการลงทุน: การพิสูจน์ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยจากการถูกหลอกลวง
แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ชักชวนสมาชิกมาร่วมลงทุนกับจำเลยประมาณสิบกว่าคน โดยให้คำรับรองว่า บริษัท M. จะคืนเงินลงทุนให้ภายใน 3 เดือน หากบริษัทดังกล่าวไม่คืนเงินให้ โจทก์จะใช้เงินส่วนตัวคืนเงินลงทุนให้แก่ทุกคน อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีพฤติการณ์ในการชักชวนผู้อื่นให้มาลงทุนเช่นเดียวกับจำเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ในขณะที่โจทก์ชักชวนผู้อื่นมาร่วมลงทุนนั้น โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทดังกล่าวไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้ดังที่โฆษณา แล้วไปหลอกลวงให้ผู้อื่นมาร่วมลงทุนด้วย นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความอีกว่า หลังจากโจทก์ทราบว่าบริษัทดังกล่าวหลอกลวงไม่สามารถให้ผลตอบแทนดังที่โฆษณาแล้ว โจทก์ได้คืนเงินให้แก่บุคคลที่โจทก์ชักชวนให้มาร่วมลงทุนไปแล้ว รูปคดีจึงยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ซึ่งมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทนและหนังสือค้ำประกัน: ความรับผิดของคู่สัญญา, เบี้ยปรับ, และการชำระหนี้
ตามหนังสือค้ำประกันมีข้อตกลงว่าโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 179,447,022 บาท ในกรณีที่กิจการร่วมค้าซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง โดยโจทก์จะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งและผู้ว่าจ้างไม่จำต้องเรียกร้องผู้รับจ้างชำระหนี้นั้นก่อน การค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวไม่ใช่การผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ แต่เป็นการค้ำประกันที่โจทก์มีความผูกพันจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยเคร่งครัดอย่างลูกหนี้ชั้นต้นเมื่อมีการทวงถามตามเงื่อนไข โดยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าหรือจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับจ้างขึ้นปลดเปลื้องความรับผิดได้และความรับผิดของโจทก์ในกรณีนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความรับผิดของกิจการร่วมค้า สิทธิและหน้าที่ความรับผิดของผู้ว่าจ้างและโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นเอกเทศและต้องพิจารณาแยกต่างหากจากสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามวิธีทางธนาคาร ส่วนผลแห่งการบังคับตามสัญญาค้ำประกันจะกระทบถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างไร เป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้น ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ข้อตกลงตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นสัญญาที่กิจการร่วมค้าแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงมิใช่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนของกิจการร่วมค้าจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันด้วย เมื่อผู้ว่าจ้างมีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้าชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมงานก่อสร้างส่วนที่ชำรุดเสียหายและแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน โจทก์มีหนังสือแจ้งกิจการร่วมค้าให้ชำระเงินแก่ผู้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้าปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อโจทก์ชำระเงิน 179,447,022 บาท ให้แก่ผู้ว่าจ้างไปแล้ว กิจการร่วมค้าจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินเป็นต้นไป โจทก์นำเงินฝากมาหักชำระหนี้ดังกล่าว คงเหลือต้นเงินที่กิจการร่วมค้าต้องชำระแก่โจทก์ 141,358,355.91 บาท แต่ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี เป็นข้อตกลงการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ที่ศาลชั้นต้นปรับลดดอกเบี้ยลงเหลืออัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงเหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนในนามกิจการร่วมค้าจึงต้องร่วมกันรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2222/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คดีเรียกค่าเสียหายจากเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายเดิม ย่อมเป็นฟ้องซ้อนหากฟ้องคดีใหม่ระหว่างคดีเดิมยังพิจารณาอยู่
คดีสองสำนวนก่อนกับคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายฉบับเดียวกันในคราวเดียวกัน จึงมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นเดียวกัน แม้คดีนี้จะมีคำขอที่แตกต่างกันไปโดยอ้างข้อตกลงในสัญญาตัวแทนจำหน่ายว่าภายหลังเลิกสัญญากันแล้ว จำเลยมีหน้าที่รับคืนสินค้าแต่จำเลยไม่รับคืน ทำให้โจทก์เสียหาย ก็เป็นคำขอที่สามารถขอได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว เพราะการเรียกค่าเสียหายเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุที่จำเลยเลิกสัญญาฉบับเดียวกัน และจำเลยมีหนังสือแจ้งการไม่ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายไปยังโจทก์ พร้อมกับแจ้งสิทธิหน้าที่ตามสัญญาตัวแทนจำหน่ายให้โจทก์ส่งมอบสินค้าในคลังสินค้าคืนแก่จำเลยตามราคาที่สั่งซื้อไปถึงสองครั้งแต่โจทก์เพิกเฉยและกลับไปฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นสองคดีก่อน แสดงได้ชัดเจนว่ามีข้อโต้แย้งเรื่องคืนสินค้ากันก่อนฟ้องสองคดีก่อน และค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกในคดีนี้สามารถเรียกได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว หรือหากมีความเสียหายเพิ่งปรากฏภายหลังฟ้องสองคดีก่อน โจทก์ก็สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเรียกค่าเสียหายในสองคดีก่อนได้ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันใหม่เป็นคดีนี้ ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 220/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อ: ผลของการแจ้งหนี้เกิน 60 วัน และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 8 ระบุว่า "บรรดาหนังสือ จดหมาย คำบอกกล่าวใดๆ ของเจ้าของที่ส่งไปยังที่อยู่ของข้าพเจ้าตามสัญญานี้ โดยส่งเองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือไม่ลงทะเบียนไม่ว่าจะถึงตัวหรือไม่ถึงตัว และไม่ว่าจะมีผู้รับหรือไม่มีผู้ใดยอมรับไว้ หรือไม่ยอมมารับภายในกำหนดไปรษณีย์แจ้งให้มารับ ... ข้าพเจ้ายินยอมผูกพันให้ถือว่าหนังสือ จดหมาย หรือคำบอกกล่าวใดๆ นั้น ได้ส่งให้ข้าพเจ้าโดยชอบแล้ว" ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือขอให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่าโจทก์ได้ส่งไปตามที่อยู่ที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแจ้งไว้ในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแล้ว แม้ทางไปรษณีย์จะคืนหนังสือที่ส่งไปให้จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มารับภายในกำหนดก็ตาม ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 จึงพ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง สำหรับหนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อและหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนถือเป็นหนี้ประธาน แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 เกิน 60 วัน นับแต่ผิดนัดก็ตาม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมไม่หลุดพ้น ส่วนหนี้ค่าขาดประโยชน์ถือเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนด 60 วัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4574/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ยืมที่ไม่ติดอากรแสตมป์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อาจใช้เป็นหลักฐานในคดีแพ่งได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืม จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์นำสืบสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐานตามข้ออ้างของตน สัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมถือว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 มีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง และปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะฟังว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปจริงตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4055/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก: การคำนวณค่าสินไหมทดแทน, ข้อจำกัดความรับผิด, และการหักความเสียหายส่วนแรก
กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักพร้อมคำแปลมิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า การกำหนดค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ต้องคำนวณหาผลกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อตามกรมธรรม์มิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นรายได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายก่อน ดังนั้น กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักพิพาทจึงกำหนดเงื่อนไขการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อการสูญเสียรายได้ มิใช่การสูญเสียกำไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3276/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานในคดียาเสพติด: ดุลพินิจศาล, การไม่ยื่นบัญชีรายชื่อพยาน, และการสืบพยานนอกกรอบ
ในวันตรวจพยานหลักฐาน โจทก์ปฏิเสธการตรวจพยานหลักฐาน แล้วศาลมีคำสั่งให้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป เท่ากับศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นอันเนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173/2 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และเป็นการยกเลิกไม่กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน
กรณีที่ศาลไม่กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน จึงอยู่ในบังคับ ป.วิ.อ. มาตรา 240 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะอ้างเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของตน ต้องยื่นพยานเอกสารนั้นต่อศาลก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายตรวจและขอคัดสำเนาได้ก่อนที่จะนำสืบพยานเอกสารนั้น
of 3