พบผลลัพธ์ทั้งหมด 25 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ภูมิลำเนาหลายแห่ง: ฟ้องจำเลยได้ตามภูมิลำเนาใดก็ได้ แม้ภูมิลำเนาตามทะเบียนไม่ตรง
แม้จำเลยที่ 2 มีบ้านพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีและได้แจ้งย้ายออกจากบ้านหลังดังกล่าวแล้วโดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งย้ายเข้าที่ใด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ธ. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ที่ทำการบริษัทดังกล่าวจึงเป็นสำนักทำการงานที่สำคัญอันเป็นถิ่นที่อยู่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหลายแห่ง โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ยังภูมิลำเนาแห่งใดก็ได้ และถึงแม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีภูมิลำเนาและมูลคดีไม่ได้เกิดในเขตอำนาจศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมรับผิดต่อโจทก์และขณะยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ยังศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การชำระหนี้บางส่วนโดยผู้ค้ำประกัน ไม่ปลดหนี้ลูกหนี้ชั้นต้นและผู้ค้ำประกันรายอื่น
ป.พ.พ. บรรพ 2 หมวด 5 ความระงับแห่งหนี้ ส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 5 บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปต่อเมื่อได้มีการชำระหนี้ มีการปลดหนี้ มีการหักกลบลบหนี้ มีการแปลงหนี้ใหม่หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้เพียงบางส่วนจาก บ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์เฉพาะเท่าที่ปลดหนี้ให้ บ. เท่านั้น เมื่อการชำระหนี้นั้นยังไม่ครบจำนวน ทั้งไม่ปรากฏเหตุอื่นที่อาจทำให้หนี้ดังกล่าวทั้งหมดระงับสิ้นไป แต่ยังมีหนี้ที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระอีก การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจาก บ. เป็นเพียงโจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากผู้ค้ำประกัน เมื่อยังมีหนี้ส่วนที่เหลือ จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 685 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปกับ บ. ด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดียวกับ บ. เมื่อได้ความว่า ทั้งจำเลยที่ 2 และ บ. ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่มิได้ค้ำประกันร่วมกัน แต่ต้องรับผิดร่วมกันดังกล่าวไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229, 293 และ 296 แม้โจทก์จะยอมรับการชำระหนี้และปลดหนี้ให้ บ. คงเป็นประโยชน์แก่โจทก์เพียงเท่าส่วนของ บ. ชำระให้โจทก์และที่ปลดไป ซึ่งทำให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 ในส่วนที่ปลดไปได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือไม่ เมื่อได้ความว่า บ. ชำระหนี้ให้โจทก์ไปเพียง 4,050,000 บาท ยังไม่ครบตามภาระหนี้ที่จำเลยทั้งสองมีต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนยอดหนี้ที่ค้างชำระในต้นเงิน ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำร้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 กรณีพิพาทเรื่องการจัดการมรดกและพินัยกรรม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ย่อมเป็นการตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนทายาททั้งหมด การที่ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ป. เพียงผู้เดียว ขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน ประเด็นแห่งคดีระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งสองจึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าวหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ตายทำพินัยกรรม การที่ผู้ร้องคัดค้านมาร้องอ้างการสืบสิทธิผู้สืบสันดานในฐานะทายาทโดยธรรม ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องคัดค้านและผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก โดยอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมดังกล่าวอีก อันเป็นประเด็นข้อพิพาทโต้เถียงอย่างเดียวกัน แม้ผู้ร้องคัดค้านไม่เคยเข้าเป็นคู่ความในคดีส่วนที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา แต่เมื่อผู้ร้องคัดค้านร้องคัดค้านในประเด็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องได้ต่อสู้แทนผู้ร้องคัดค้านแล้ว จึงเป็นการรื้อร้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกัน คำร้องของผู้ร้องคัดค้านจึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ผู้ร้องเคยส่งสำเนาพินัยกรรมพิพาทไปตรวจพิสูจน์แล้วยื่นเสนอเป็นพยานหลักฐานขอให้ศาลฎีกาใช้ประกอบการพิจารณา แต่ศาลฎีกาไม่อนุญาต คำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องคัดค้าน ผู้ร้องคัดค้านจึงไม่อาจอ้างการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4316/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การตรวจค้นและจับกุมคดียาเสพติด: อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจในกรณีฉุกเฉินและการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม อ. ค. และ ธ. ในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน อ. ค. และ ธ. ให้การว่า รับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเช่าห้องพักอยู่ในรีสอร์ต ห้องเลขที่ 12 เจ้าพนักงานตำรวจประสานกับผู้ดูแลรีสอร์ต จนเป็นที่แน่ใจว่าข้อมูลที่ได้จาก อ. ค. และ ธ. ถูกต้องแล้ว จึงเข้าตรวจค้นห้องพักของจำเลยที่ 1 ทันที เพราะน่าเชื่อว่าจะพบเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ทั้งที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ตซึ่งจำเลยทั้งสองพักชั่วคราว หากเนิ่นช้าไปกว่าจะได้หมายค้น จำเลยทั้งสองอาจนำเมทแอมเฟตามีนออกไปจากรีสอร์ตเมื่อใดก็ได้ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจเข้าไปค้นในห้องพักโดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 96 (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ด ที่จำเลยที่ 2 และค้นพบเมทแอมเฟตามีน 554 เม็ด ภายในห้องซึ่งจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นของตนอันเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80 ประกอบ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3535/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลในการสืบพยานเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์พินัยกรรม และการไม่ชอบด้วยกฎหมายหากไม่เปิดโอกาสสืบพยาน
ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมและศาลยกคำร้องขอด้วยเหตุว่า ผู้ร้องมิใช่ทายาทโดยธรรมหรือผู้มีส่วนได้เสีย คดีถึงที่สุด ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้โดยอ้างว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้ผู้ร้อง กรณีมีเหตุอันสมควรสงสัยว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมหรือไม่ ศาลมีอำนาจเรียกคำขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และตัวอย่างลายมือชื่อของผู้ตายที่ธนาคาร ก. มาสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคท้าย ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลไม่ให้โอกาสผู้ร้องสืบพยานเพิ่มเติม ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องให้โอกาสผู้ร้องสืบพยานเพิ่มเติม และผู้ร้องมีโอกาสและระยะเวลาที่จะขอสืบพยานเพิ่มเติม แต่ผู้ร้องมิได้ขอก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบแล้ว