คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กฤษณี เยพิทักษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 47 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5112/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดร่วมกันของนายจ้างในความผิดของลูกจ้างที่กระทำในทางการจ้าง และการรับข้อเท็จจริงของจำเลย
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น" แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวตกแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ให้การปฏิเสธในข้อที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นแล้ว และไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งถือว่าคู่ความรับกันแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนอำนาจปกครองเนื่องจากผู้ปกครองเดิมไม่ดูแลเอาใจใส่ และการแย่งชิงตัวเด็กส่งผลกระทบทางจิตใจ
การที่โจทก์ทั้งสองไม่มาดูแลเอาใจใส่ผู้เยาว์ ไม่ช่วยค่าอุปการะเลี้ยงดู และไม่มาเยี่ยมผู้เยาว์ตามสมควร ทำให้ผู้เยาว์แม้รู้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาแต่ไม่รู้สึกว่ามีความสัมพันธ์อบอุ่นใกล้ชิด ตรงกันข้ามกลับหวาดกลัวที่จะต้องไปอาศัยอยู่กับโจทก์ทั้งสอง ยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ที่ 2 ใช้กำลังหักหาญแย่งชิงตัวผู้เยาว์ ทำให้ผู้เยาว์ตกใจหวาดกลัว เครียดและวิตกหากจะต้องไปอยู่กับโจทก์ทั้งสอง อาการผิดปกติทางจิตใจแสดงออกให้เห็นได้ทางพฤติกรรม มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่โรคทางจิตเวช จำเป็นต้องจัดการแก้ไขให้สภาพการใช้ชีวิตของผู้เยาว์กลับสู่สภาวะปกติ โดยให้ผู้เยาว์ได้อยู่อาศัยในที่ที่เหมาะสมการกระทำดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้อำนาจปกครองเกี่ยวกับตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ แม้ญาติของผู้เยาว์หรืออัยการไม่ได้ร้องขอ ศาลมีอำนาจถอนอำนาจปกครองบางส่วนของโจทก์ทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงความผาสุกของผู้เยาว์แล้ว จึงเห็นสมควรให้ถอนอำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสองเฉพาะที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 (1) และตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10802/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราและพรากผู้เยาว์ จำเลยที่ 1 และ 3 ปฏิเสธความผิด มีพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ศาลฎีกายกฟ้อง
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับ ป. ขับรถพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปห้องพักที่เกิดเหตุ โดยโจทก์ร่วมที่ 1 เต็มใจไปกับ ป. ด้วย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชักชวนโจทก์ร่วมที่ 1 คงมีแต่คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 ว่า ป. ชวนโจทก์ร่วมที่ 1 ไปโดยบอกว่าจะไปส่งจำเลยที่ 2 กลับหอพักและจะส่งโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อนเพราะเป็นทางผ่าน แต่ ป. ไม่ทำตามที่พูดกลับพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปล่วงละเมิดทางเพศในห้องพักที่เกิดเหตุ ซึ่งโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด การกระทำของ ป. กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีความผิดฐานดังกล่าวนี้ แต่เนื่องจากเป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 3 ได้ สำหรับคดีในส่วนแพ่งนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10741/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลงข้อความเท็จในงบการเงิน, การช่วยเหลือกระทำผิด, และการปรับรายวันกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์
จำเลยที่ 22 ทำสัญญาเช่าถังแก๊สจำนวน 42 ฉบับ กับจำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 โดยไม่มีเจตนาให้มีผลผูกพันในทางการค้าอย่างแท้จริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 22 อ้างสัญญาเช่าถังแก๊สอันเป็นเท็จดังกล่าว เพื่อตกแต่งบัญชีโดยสั่งให้บันทึกรายได้ค่าเช่าถังแก๊สลงในบัญชีแยกประเภทของจำเลยที่ 22 แล้วนำรายได้นั้นจัดทำและส่งเป็นงบการเงินต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ให้หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 22 มีกำไรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของจำเลยที่ 22 สูงขึ้น จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 312 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 องค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าวข้อความที่ว่า เพื่อลวงบุคคลใด ๆ เป็นเจตนาพิเศษซึ่งโจทก์ได้นำสืบถึงมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วว่า สัญญาเช่าถังแก๊สดังกล่าวไม่ใช่สัญญาที่แท้จริง แต่ทำขึ้นเพื่อประสงค์ให้จำเลยที่ 22 อาศัยสัญญาเช่าไปบันทึกลงในบัญชีและงบการเงินว่าจำเลยที่ 22 มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าความเป็นจริง งบการเงินนั้นเมื่อยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว หลังจากนั้นจะปรากฏแก่สาธารณชน ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลประกอบการของจำเลยที่ 22 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีเจตนาเพื่อลวงบุคคลใด ๆ ครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 312 แล้ว และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. และจำเลยที่ 21 โดยไม่ได้มีการกู้ยืมเงินกันจริง จัดทำหรือยินยอมให้จัดทำบัญชีให้กู้ยืมและบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 22 ว่าที่ประชุมอนุมัติให้นิติบุคคลทั้ง 2 ราย กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นเท็จ แล้วจำเลยที่ 22 ส่งบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ให้หลงเชื่อว่ามีการให้กู้เงินจริง และการร่วมกันจัดทำบัญชีให้กู้ยืมและบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการโดยมีจุดประสงค์ให้บุคคลใดก็ตามที่เห็นบัญชีและรายงานการประชุมดังกล่าวหลงเชื่อว่ามีการให้กู้เงินจริง ครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 312 แล้วอีกกระทงหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 20 แม้ไม่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำบัญชีและการทำงบการเงินของจำเลยที่ 22 ด้วย แต่การทำสัญญาเช่าถังแก๊สที่ไม่จริงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้อาศัยสัญญาเช่าที่ไม่จริงหรือเป็นเท็จไปลงในบัญชีของจำเลยที่ 22 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ จำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 21 กู้ยืมเงินอันเป็นเท็จเพื่อลวงบุคคลใด ๆ ทั้งที่ไม่มีการกู้เงินกันจริง จำเลยที่ 10 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้แต่ไม่เคยได้รับเงินกู้เลยย่อมรู้ว่าไม่มีการกู้ยืมเงินกันจริง การกระทำของจำเลยที่ 10 และที่ 21 จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตาม มาตรา 312 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 9 ถึงที่ 21 จึงมีความผิดตาม มาตรา 315
ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 หมวด 12 การควบบริษัท บัญญัติถึงขั้นตอนและวิธีการในการควบบริษัท โดยในมาตรา 151 และ 152 กำหนดให้คณะกรรมการบริษัทที่ควบกันแล้วต้องขอจดทะเบียนการควบบริษัทต่อนายทะเบียนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนการควบบริษัทแล้ว ให้บริษัทเดิมหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล จึงไม่ได้มีลักษณะเหมือนกรณีจำเลยที่เป็นบุคคลธรรมดาตาย การควบบริษัทมีผลให้จำเลยที่ 22 หมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคลโดยผลของกฎหมายและตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) ที่กำหนดว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำผิดก็หาได้กำหนดถึงกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลควบบริษัทด้วยไม่ บริษัทที่ควบกันและจดทะเบียนแล้วย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมดตาม มาตรา 153 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 การที่จำเลยที่ 22 ได้ควบบริษัทกับบริษัท ว. และเกิดเป็นบริษัทใหม่ คือ บริษัท ด. ความรับผิดทางอาญาของจำเลยที่ 22 จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10289/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร: แก้ไขระยะเวลาจนบรรลุนิติภาวะ & ยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม
หน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นให้กระทำขณะเป็นผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 แสดงว่าการอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องกระทำจนถึงบุตรบรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจบรรลุนิติภาวะได้โดยการสมรสเมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์ หรือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ การที่ศาลล่างกำหนดให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นช่วงระยะเวลาจนบุตรผู้เยาว์อายุ 20 ปีนั้น ไม่ถูกต้อง เห็นควรแก้ไขให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจนกว่าบุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม จึงได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลและคดีไม่มีค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับไม่ชอบ และที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามานั้นจึงไม่ชอบเช่นกัน เห็นควรให้ยกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8823/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าพนักงานใช้อำนาจโดยทุจริต และมีส่วนได้เสียในหน้าที่ โครงการสาธิตในที่ดินภริยา
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 152 ไม่มีองค์ประกอบของความผิดหรือมูลเหตุชักจูงใจว่า อันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกส้มเขียวหวานปลอดโรค "การจัดทำแปลงสาธิตระบบการให้น้ำเหนือผิวดิน" โดยดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการตั้งแต่เริ่มจนแล้วเสร็จ ไม่ปรากฏว่ามีขั้นตอนใดที่กระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือมีระเบียบห้ามไว้ ในขั้นตอนของการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และขั้นตอนการตรวจรับและการติดตั้งก็ไม่ปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกิดขึ้น แต่พื้นที่แปลงสาธิตเป็นของ ส. ภริยาของจำเลย แม้การจัดหาที่ดินแปลงสาธิตจะเป็นดังที่จำเลยอ้างว่าเกษตรอำเภอแม่วงก์เป็นผู้จัดหาที่ดินและเกษตรกรได้รับประโยชน์จากแปลงสาธิตก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบของตนได้ เพราะเกิดมีความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของผู้มีตำแหน่งหน้าที่และมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด การนำที่ดินของ ส. มาดำเนินการโดยมีการนำวัสดุอุปกรณ์และกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานปลอดโรคมาลงในที่ดิน ที่ดินของ ส. ย่อมได้รับประโยชน์อยู่ในตัวโดยปริยาย เมื่อจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการโครงการดังกล่าว ถือว่าจำเลยเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับภริยาตนเนื่องด้วยกิจการนั้น จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 152

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8594/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้ทรัพย์สินหลังการสมรสสิ้นสุด และประเด็นสินสมรส
โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละแปลงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และโจทก์ไม่ทราบเรื่อง การที่จำเลยทั้งสามให้การต่อไปว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทเพราะโจทก์ทราบเรื่องและไม่คัดค้านถือว่าโจทก์ให้สัตยาบันแล้ว และนับถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่าสิบปี คดีโจทก์ขาดอายุความ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินทั้งสองแปลงหรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ หากทางพิจารณาฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก็วินิจฉัยประเด็นต่อไปว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว แต่หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้หรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ คำให้การของจำเลยทั้งสามจึงเป็นประเด็นต่อเนื่องและไม่ขัดแย้งกัน เป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำลงวันที่ 22 เมษายน 2542 โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 จึงเป็นการฟ้องหลังจากพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ย่อมขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8471/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเพิกถอนนิติกรรม: ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าอายุความสะดุดหยุดตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง
คดีเดิมศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องอายุความ แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง บัญญัติว่า การฟ้องเพิกถอนนิติกรรมตามมาตรา 1476 ที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งทำไปฝ่ายเดียว โดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีเดิมอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ครั้นศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องคดีเดิมโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมให้คู่ความฟังวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาศาลฎีกาคดีเดิมถึงที่สุด จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทเฉพาะมาใช้บังคับแก่อายุความ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8455/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศ, เหตุหย่า, สินสมรส, และค่าอุปการะเลี้ยงดู - การใช้กฎหมายที่ถูกต้อง
โจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน จำเลยเป็นคนสัญชาติไทย จดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน โดยในคดีนี้โจทก์นำสืบเพียงว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อติดตามจำเลยมาต่อสู้คดี โดยส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบัญญัติให้คู่สามีภริยาหย่ากันได้ 2 กรณีคือ 1. กรณีหย่าไม่มีผู้คัดค้าน หมายถึง คู่สมรสยินยอมที่จะหย่ากัน 2. กรณีหย่าโดยมีผู้คัดค้าน ส่วนคำพิพากษาศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียก็ไม่ได้ระบุถึงเหตุแห่งการหย่าไว้ว่าเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใด หรือเพราะเหตุใดระบุแต่เพียงว่าจำเลยขาดนัดแล้วพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยเท่านั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่ากฎหมายบัญญัติเหตุหย่าไว้ว่าอย่างไร นอกจากนี้พฤติการณ์ของโจทก์ที่ได้ยื่นฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นก่อน แต่ยังไม่ทันที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี โจทก์กลับไปแต่งงานกับหญิงอื่นแล้วอาศัยคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมาบังคับจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธินำคดีไปฟ้องยังศาลต่างประเทศโดยไม่สุจริตและยังขัดกับหลักเกณฑ์การยอมรับและบังคับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย กล่าวคือโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด แต่โจทก์กลับส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุให้ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยขาดนัด การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของโจทก์จึงไม่ได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรมและโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าเหตุแห่งการฟ้องหย่าไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของกฎหมายภายในของประเทศสยาม ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามมาใช้บังคับแก่คดี ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่ามีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 หรือไม่ เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้จงใจทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี และฎีกาของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างวินิจฉัยมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) คำพิพากษาศาลล่างชอบแล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เพราะการแบ่งสินสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการหย่าแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และ 1533 ส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ซึ่งต้องบังคับตามกฎหมายสัญชาติของโจทก์ แต่โจทก์มิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นจนเป็นที่พอใจแก่ศาล จึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามบังคับ ที่ศาลล่างพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยโดยใช้ ป.พ.พ. มาตรา 1461 และ 1598/38 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7032/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาจากการร่วมทำร้ายร่างกาย, การพิจารณาค่าสินไหมทดแทน และความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการส่งตัวจำเลยไปจำคุก
ผู้เสียหายทั้งสามไม่ได้ฎีกาขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่การพิพากษาในคดีส่วนแพ่ง ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ศาลฎีกาจึงต้องมีคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งด้วย และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี โดยวินิจฉัยว่าการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนในคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่จำเลย และให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ มีกำหนด 2 ปี นั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจกระทำได้จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื่องจากจำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียว ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษจำเลยให้สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษา เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย โดยที่โจทก์มิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
of 5