พบผลลัพธ์ทั้งหมด 47 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยผิดสัญญาได้ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายจากพยานหลักฐาน ชอบแล้วตามกฎหมาย
การกำหนดค่าเสียหายเป็นการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ต่างๆ สำหรับข้อวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญามาจากข้อเท็จจริงในสำนวนที่ว่าผู้ร้องไม่ส่งมอบงานงวดที่ 3 ไม่เข้าร่วมประชุมวันที่ 23 มีนาคม 2554 เพื่อปรับปรุงงานงวดที่ 3 ของกรมการค้าภายในและไม่เข้าร่วมประชุมวันที่ 24 มีนาคม 2554 กับคณะกรรมการตรวจรับงานงวดที่ 3 ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับงานมีมติให้ผู้รับจ้างแก้ไขงานงวดที่ 3 ให้เสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 หลังจากนั้นคณะกรรมการตรวจรับงานยังประชุมกับคณะทำงานของผู้คัดค้านอีกอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยผู้ร้องไม่เข้ามาดำเนินการใดในงวดที่ 3 ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยเห็นว่าข้อแก้ตัวต่างๆของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ดังนั้นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงชอบแล้ว การยอบรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำพิพากษาของศาลแพ่งไม่ได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจตรวจสอบการจับกุมเด็กเยาวชนเป็นของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้ว ไม่อุทธรณ์/ฎีกาได้
อำนาจในการตรวจสอบการจับกุมเป็นอำนาจเฉพาะของศาลชั้นต้นที่จะเป็นผู้ตรวจสอบว่าเด็กหรือเยาวชนที่พนักงานสอบสวนนำตัวมาอยู่ต่อหน้าศาลเพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับกุมนั้น เป็นเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ การจับและการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว ผู้ต้องหาจะอุทธรณ์หรือฎีกาไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15731/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดพ.ร.บ.ปุ๋ย: การผลิตปุ๋ยเคมีและอินทรีย์โดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดกรรมเดียว
ตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 30 (1) (5) ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีจะมีบทลงโทษตามมาตรา 63 และ 71 เป็นปุ๋ยอินทรีย์จะมีบทลงโทษตามมาตรา 72/4 ซึ่งมีโทษแตกต่างกัน บทบัญญัติดังกล่าวแยกการกระทำความผิดเกี่ยวกับปุ๋ยทั้งสองชนิดออกจากกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ปุ๋ยเคมีที่จำเลยผลิต แม้จะเป็นคนละตรากันแต่จำเลยมีเจตนาเดียว ทั้งจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบก็ไม่ได้ความชัดเจนว่า จำเลยผลิตปุ๋ยดังกล่าวต่างวาระกันอย่างไร การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15010/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การคัดค้านอนุญาโตตุลาการต้องยื่นต่อคณะอนุญาโตตุลาการตามกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามสิทธิในการขอให้ศาลเพิกถอนย่อมไม่มี
สัญญาประกันภัยระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านมีข้อกำหนดการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการว่า หากคู่ความมีข้อพิพาทใด ๆ เกี่ยวข้องกับสัญญานี้ ให้เสนอข้อพิพาทนั้นต่อคณะอนุญาโตตุลาการ (an arbitration tribunal) ซึ่งมาตรา 20 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 บัญญัติว่า ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะคัดค้านอนุญาโตตุลาการจะต้องยื่นหนังสือแสดงเหตุแห่งการคัดค้านต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตั้งอนุญาโตตุลาการหรือรู้ข้อเท็จจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรคสาม เมื่อผู้คัดค้านแจ้งการแต่งตั้ง จ. เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน ผู้ร้องแจ้งคัดค้านการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้ร้องแล้วร่วมกันตั้งอนุญาโตตุลาการเพิ่มอีกหนึ่งคนเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เพื่อประกอบกันเป็นคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงวิธีคัดค้านอนุญาโตตุลาการไว้เป็นอย่างอื่น จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องยังไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง คือไม่ได้ยื่นหนังสือแสดงเหตุแห่งการคัดค้านต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการแต่งตั้ง จ. เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15010/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การคัดค้านอนุญาโตตุลาการต้องยื่นต่อคณะอนุญาโตตุลาการก่อน หากไม่ปฏิบัติตาม ไม่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอน
สัญญาประกันภัยต่อระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านมีข้อกำหนดการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการว่า หากคู่ความมีข้อพิพาทใด ๆ เกี่ยวข้องกับสัญญานี้ ให้เสนอข้อพิพาทนั้นต่อคณะอนุญาโตตุลาการ (an arbitration tribunal) ตามสำเนาข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมาตรา 20 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 บัญญัติว่า ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะคัดค้านอนุญาโตตุลาการจะต้องยื่นหนังสือแสดงเหตุแห่งการคัดค้านต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตั้งอนุญาโตตุลาการหรือรู้ข้อเท็จจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรคสาม ที่กำหนดเหตุแห่งการคัดค้านไว้ตามคำร้องและคำคัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านแจ้งการแต่งตั้ง จ. เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน ผู้ร้องแจ้งคัดค้านการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้ร้องแล้วร่วมกันตั้งอนุญาโตตุลาการเพิ่มอีกหนึ่งคนเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เพื่อประกอบกันเป็นคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงวิธีคัดค้านอนุญาโตตุลาการไว้เป็นอย่างอื่น จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องยังไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง คือไม่ได้ยื่นหนังสือแสดงเหตุแห่งการคัดค้านต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการแต่งตั้ง จ. เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14496/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม รวมถึงความรับผิดฐานของทนายความในการรับรองเอกสาร
โจทก์กล่าวหาจำเลยที่ 1 ว่าปลอมรายงานการประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 3/2527 ของบริษัท ง. รายงานการประชุมระบุว่า ป. กับพวก ซื้อที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 169 มาจากบุคคลภายนอกในนามกิจการ โดยให้ ช. ถือกรรมสิทธิ์แทน ซึ่งเป็นความเท็จ ทั้งไม่มีการประชุมจริง แต่ในคำฟ้องมิได้บรรยายว่าเป็นการปลอมเอกสารสิทธิโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสาร รายงานการประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 3/2527 ตามเอกสารท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องซึ่งเป็นรายละเอียดที่แสดงให้เห็นว่าใครร่วมประชุมและประชุมเรื่องใดบ้าง ใครเป็นผู้ลงลายมือชื่อในรายงานการประชุม แต่ก็มิใช่องค์ประกอบความผิด และการนำไปเป็นหลักฐานเสนอต่อศาลชั้นต้นเพื่อประกอบ การฟ้องคดีแพ่ง ก็อาจมิได้มีมูลเหตุจูงใจที่จะให้ศาลหลงเชื่อว่ารายงานการประชุมเป็นเอกสารที่แท้จริงได้ เมื่อฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสาร จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตามมาตรา 161 ส่วนความผิดฐานทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นความเท็จนั้น จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนารายงานการประชุมวิสามัญฉบับดังกล่าว เป็นเพียงการให้คำรับรองว่าสำเนาเอกสารนี้มีข้อความถูกต้องตรงกับต้นฉบับหาได้มีความหมายเป็นการรับรองว่า บริษัท ง. ได้จัดให้มีการประชุมวิสามัญตามเนื้อความที่ระบุในสำเนารายงานการประชุมวิสามัญฉบับดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ แม้จะได้ความตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างว่าบริษัท ง. ไม่ได้จัดให้มีการประชุมวิสามัญ และรายงานการประชุมวิสามัญเป็นเอกสารเท็จ จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีความผิดฐานทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13964/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลังจดทะเบียนสมรส: การแบ่งสินสมรสและผลกระทบจากกฎหมายที่ดิน
ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) และ 1472 วรรคหนึ่ง หลังจากสมรสโจทก์ร่วมกับจำเลยปลูกสร้างรีสอร์ต ร้านอาหาร และต่อเติมบ้านเป็นร้านเสริมสวย สิ่งปลูกสร้างจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส แม้โจทก์จะเป็นผู้ออกเงินค่าก่อสร้างก็ตามแต่ก็ต้องได้รับการช่วยเหลือจากจำเลย ที่สำคัญสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโจทก์กับจำเลยใช้เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบธุรกิจร่วมกัน ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าโจทก์ยินยอมให้ใช้ที่ดินพิพาทปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว กรณีเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท สิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมบนที่ดินพิพาทไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน คงเป็นสินสมรสที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และจำเลยร่วมกัน จำเลยไม่ยอมเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกที่ดินพิพาทคืน ส่วนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส เมื่อโจทก์จำเลยยังมีสถานะเป็นสามีภริยาต่อกันตามกฎหมาย โจทก์จำเลยต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 กรณีนี้ต้องบังคับตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 คือให้โจทก์จำหน่ายเฉพาะที่ดินพิพาทภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น ส่วนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส จำเลยยังไม่ต้องคืนแก่โจทก์ แต่หากโจทก์ประสงค์จะขายสิ่งปลูกสร้างพร้อมที่ดินที่พิพาทโดยจำเลยยินยอมก็สามารถทำได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12768/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของนิติบุคคลอาคารชุดต่อความเสียหายจากทรัพย์ส่วนกลางที่ชำรุด และการรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันภัย
แม้บัญชีทรัพย์ส่วนกลางจะไม่ได้ระบุว่าอุปกรณ์การเชื่อมต่อสายไฟฟ้าที่ห้องควบคุมไฟฟ้าบริเวณชั้น 2 เป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมในการใช้ไฟฟ้าในชั้นนั้น ๆ ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติคำนิยามของ " ทรัพย์ส่วนกลาง " ว่า หมายถึงส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอันที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นทรัพย์ส่วนกลางตามนัยคำนิยามดังกล่าว อุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นต้นเหตุเกิดเพลิงไหม้เป็นทรัพย์ส่วนกลางซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 และไฟฟ้าเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถพิสูจน์ให้ได้ว่าการเสียหายเกิดขึ้นแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อ ศ. เจ้าของร่วม ผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคสอง และเมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ ศ. ไป โจทก์ชอบที่จะรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10060/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การตรวจค้นและจับกุมคดียาเสพติดโดยไม่มีหมายค้น: เหตุฉุกเฉินและความผิดซึ่งหน้า
ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในท้องที่ โดยจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ยี่ห้อนิสสันสีขาวของสถานีอนามัยมีตราของกระทรวงสาธารณสุขเป็นยานพาหนะประจำ ในคืนเกิดเหตุช่วงเวลาประมาณ 3 ถึง 4 นาฬิกา มีผู้แจ้งเบาะแสโดยส่งข้อความไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของดาบตำรวจ ส. รวม 6 ครั้ง 6 ข้อความ ว่ามีคนส่งยาบ้าที่พีพีรีสอร์ต ห้องที่ 14 ให้รีบไปเร็ว ๆ ก่อนเขาหนี เป็นรายใหญ่ ถ้าไม่ไปฉันจะไม่ส่งข่าวอีก เมื่อดาบตำรวจ ส. ไปที่รีสอร์ตพบรถดังกล่าวจอดอยู่ที่ห้องที่ 15 จำได้ว่าเป็นรถที่จำเลยที่ 1 ใช้อยู่ สอบถามพนักงานรีสอร์ตแจ้งว่าเจ้าของรถมากับผู้หญิงพักอยู่ห้องที่ 14 ดาบตำรวจ ส. จึงเชื่อในเบาะแสที่แจ้งมา ดาบตำรวจ ส. กับพวกให้พนักงานรีสอร์ตเคาะประตูห้องที่ 14 ว่าขอเช็กมิเตอร์ ปรากฏว่าคนในห้องเปิดประตูออกมา ขณะนั้นไฟในห้องยังเปิดอยู่ เมื่อดาบตำรวจ ส. แจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ คนในห้องดันประตูกลับคืนและปิดไฟ เป็นพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดตามที่ได้รับแจ้ง ทั้งที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ตซึ่งจำเลยทั้งสองไปพักชั่วคราว จำเลยทั้งสองจะออกไปจากรีสอร์ตเมื่อใดก็ได้ หากเนิ่นช้าไปกว่าจะเอาหมายค้นมาทำการตรวจค้นในวันรุ่งขึ้น จำเลยทั้งสองจะออกจากห้องพักเสียก่อนพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง เป็นเหตุให้พยานหลักฐานสำคัญสูญหาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งทำให้เจ้าพนักงานเข้าไปค้นในห้องพักโดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และ มาตรา 96 (2) และเมื่อเจ้าพนักงานพบอุปกรณ์การเสพและเมทแอมเฟตามีน 11 เม็ดในห้องพักดังกล่าว กับพบเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด ในรถยนต์ จึงเป็นความผิดซึ่งหน้าซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80 หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำรายงานการตรวจค้นและผลการตรวจค้นไว้ในบันทึกการจับกุมเสนอผู้บังคับบัญชา ดังนั้น การตรวจค้นและจับกุมในกรณีนี้จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8489/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน: การกระทำหลายกรรมต่างกัน การลงโทษปรับ
จำเลยที่ 2 จัดสร้างพระเครื่องและโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเช่าบูชาพระสมเด็จเหนือหัวตามสื่อต่างๆ ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ และป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ หลายวันหลายเวลาโดยอาศัยช่องทางที่แตกต่างกันทั้งสถานที่และวิธีการชำระเงิน ซึ่งโจทก์ได้นำสืบถึงผู้เสียหายทั้ง 921 รายที่หลงเชื่อตามโฆษณาดังกล่าวและเช่าพระสมเด็จเหนือหัวที่จำเลยที่ 2 จัดทำขึ้นแต่ละรายไป ผู้เสียหายแต่ละคนต่างถูกหลอกลวงคนละวันคนละเวลา จำนวนเงินที่ถูกหลอกแตกต่างกัน ความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละรายจึงเป็นการกระทำที่แยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน