คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วีรวิทย์ สายสมบัติ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 49 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1471/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ที่เกิดหลังพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้ล้มละลายมีสิทธิทำสัญญาและถูกบังคับคดีได้
ขณะที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับโจทก์ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และประทับตราบริษัทจำเลยที่ 1 ในสัญญาก่อสร้าง เป็นการจัดการทรัพย์สินที่จำเลยที่ 3 ลูกหนี้จัดการทรัพย์สินแทนบุคคลอื่นหรือทำกิจการแทนผู้อื่น การที่จำเลยที่ 3 ทราบอยู่แล้วถึงฐานะการล้มละลายของตนเอง แต่ปกปิดข้อเท็จจริง เป็นเหตุให้โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 3 และเมื่อศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว โจทก์เพิ่งมาทราบภายหลังว่าจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลายในชั้นบังคับคดี พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 กระทำการโดยไม่สุจริตละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 3 ย่อมต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 3 ได้ก่อหนี้ดังกล่าวขึ้นภายหลังจากที่จำเลยที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย และไม่ใช่หนี้ที่ต้องบังคับกับกองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย จึงไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 โจทก์จึงสามารถนำหนี้ตามสัญญาก่อสร้างดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นได้โดยตรงและจำเลยที่ 3 มีอำนาจในการต่อสู้คดีและทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และเมื่อคดีล่วงพ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว คดีนี้จึงถึงที่สุด คำพิพากษาตามยอมจึงยังไม่สิ้นผล การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องจำเลยที่ 3 จำหน่ายคดีในส่วนจำเลยที่ 3 นั้นจึงไม่ชอบ ดังนั้น ต่อมาการที่จำเลยที่ 3 ได้รับการปลดจากล้มละลายเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ก็ไม่มีผลทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 และมาตรา 81/1 เมื่อจำเลยที่ 3 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ที่ได้มาภายหลังจากการปลดจากล้มละลายแล้วได้ อีกทั้งไม่ใช่ทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายจึงไม่ทำให้เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายได้รับความเสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินทั้ง 6 แปลง เป็นที่ดินที่จำเลยที่ 3 ได้มาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 อันเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยที่ 3 ปลดจากการล้มละลายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับเอากับทรัพย์สินดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 334/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นให้ใช้งานไม่ได้เพื่อบีบบังคับ ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
การที่จำเลยแก้ไขระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมให้เป็นรุ่นทดลองใช้ มีกำหนดอายุการใช้งาน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2559 เพื่อบีบบังคับให้โจทก์ร่วมว่าจ้างจำเลยให้ทำงานต่อไป เมื่อครบกำหนดระยะเวลาระบบโปรแกรมบัญชีและการเงินของโจทก์ร่วมไม่สามารถใช้งานได้อีก ถือได้ว่าจำเลยกระทำการด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 10 และเป็นความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่วันที่มีการแก้ไขระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมเป็นรุ่นทดลองใช้ ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์ร่วมไม่สามารถทำงานตามปกติจากโปรแกรมที่ไม่มีวันหมดอายุเป็นโปรแกรมรุ่นทดลองใช้นับแต่วันดังกล่าว มิใช่เป็นความผิดสำเร็จในวันที่หมดอายุ ดังนั้น การที่จำเลยมอบ External harddisk ให้ที่ปรึกษาของโจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 เพื่อใช้ปลดล็อกโปรแกรมรุ่นทดลองใช้ให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ จึงมิใช่กรณีการพยายามกระทำความผิดแล้วยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล เป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 82

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8595/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญา: ประจักษ์พยานสำคัญกว่าพยานบอกเล่า แม้มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับ
ผู้เสียหายเคยมาศาลแต่มีเหตุต้องเลื่อนการพิจารณา ต่อมาปรากฏตามหนังสือของสถานีตำรวจภูธร ท. แจ้งมายังโจทก์ว่าได้ส่งหมายเรียกให้ผู้เสียหายโดยมี ท. ตาของผู้เสียหายรับหมายเรียกพยานไว้แทนและ ท. แจ้งว่าบิดาของผู้เสียหายได้มารับตัวผู้เสียหายไปอยู่ด้วยที่กรุงเทพมหานคร แต่ไม่ทราบว่าไปพักอาศัยหรือทำงานอยู่ที่ใด ซึ่งเมื่อปรากฏตามสำเนาสูติบัตรของผู้เสียหายแนบท้ายคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าบิดาของผู้เสียหายชื่อ ด. พร้อมระบุหมายเลขประจำตัวประชาชนของ ด. แสดงว่าย่อมสามารถตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎรเพื่อหาที่อยู่ของ ด. และผู้เสียหายได้ เชื่อว่ายังอยู่ในวิสัยที่จะติดตามผู้เสียหายมาเบิกความได้ จึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) ส่วนบันทึกคำให้การของผู้เสียหายและบันทึกภาพและเสียงคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายซึ่งให้การต่อหน้าบุคคลในสหวิชาชีพและในเวลาหลังเกิดเหตุไม่นาน ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อม จึงน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ตามมาตรา 226/3 วรรคสอง (1)
สำหรับ ส. ซึ่งหลบหนีไปจากภูมิลำเนาไม่สามารถติดต่อได้ และจับกุมไม่ได้ตามหมายจับ จึงเป็นกรณีมีเหตุจำเป็น และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม มีเหตุผลสมควรที่จะรับฟังบันทึกคำให้การของ ส. ในชั้นสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4311/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำในความผิดเดียวกัน คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ข้อเท็จจริงในคดีนี้กับคดีอาญาเลขแดงที่ 3337/2561 ของศาลชั้นต้นปรากฏว่า ธ. ขับรถกระบะเพื่อไปพาคนต่างด้าวชาวกัมพูชาซึ่งเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายที่ป่าอ้อยรวม 58 คน โดย ธ. ได้แจ้งให้ ม. ขับรถกระบะเพื่อไปรับคนต่างด้าวดังกล่าวด้วย โดยอ้างว่าจำเลยใช้ให้ขับรถไปรับคนต่างด้าวจำนวนดังกล่าว ภายหลังบรรทุกคนต่างด้าวขึ้นรถกระบะทั้งสองคันแล้ว ธ. กับ ม. ก็ขับติดตามกันออกมาจากป่าอ้อยและแล่นไล่ตามกันไปจนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมตัวพร้อมรถกระบะและคนต่างด้าวรวม 58 คน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ธ. กับ ม. มีเจตนาที่จะร่วมกันไปรับคนต่างด้าวทั้ง 58 คน ซึ่งรวมอยู่ที่ป่าอ้อย แม้มีการใช้รถกระบะไปรับคนต่างด้าวดังกล่าว 2 คัน โดย ธ. กับ ม. ขับรถกันคนละคันก็ตาม แต่ก็เนื่องมาจากรถกระบะเพียงคันเดียวไม่สามารถบรรทุกคนต่างด้าวได้หมด และคนต่างด้าวที่ไปรับก็รวมตัวกันอยู่ที่แห่งเดียวกัน ภายหลังจากรับคนต่างด้าวแล้วยังขับรถกระบะตามกันเพื่อพาคนต่างด้าวไปเพื่อให้พ้นการจับกุมโดยปลายทางเป็นที่แห่งเดียวกันอีก อันเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน ต่อเนื่องกันไป เช่นนี้แล้วจึงต้องถือว่า ธ. กับ ม. มีเจตนาร่วมกันเพื่อพาคนต่างด้าวทั้ง 58 คน ไปเพื่อให้พ้นจากจากการจับกุมตามเจตนาที่มีมาแต่แรก การกระทำของ ธ. กับ ม. จึงเป็นการกระทำอันเดียวกัน และมีเจตนาอย่างเดียวกัน เกิดขึ้นในคราวเดียวกันต่อเนื่องกันไป เป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียว มิใช่หลายกรรมต่างกัน เมื่อโจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยร่วมกับ ม. ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3337/2561 ของศาลชั้นต้น ในการกระทำอันเดียวกันกับคดีนี้ไปแล้ว โดยศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย คดีถึงที่สุด การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยว่าร่วมกับ ธ. เป็นคดีนี้อีก ซึ่งเป็นการกระทำอันเดียวกันกับคดีก่อน จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค้ามนุษย์จากแรงงานต่างด้าว: การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กและแรงงานต่างด้าวที่ถูกบังคับใช้แรงงาน
"การอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 เป็นนิยามที่มุ่งหมายถึงการกระทำอย่างอื่นที่มีลักษณะของการบีบบังคับเพื่อหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นของการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม
ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กและเป็นลูกจ้างต้องทำงานตั้งแต่เวลา 2 หรือ 3 นาฬิกา จนถึง 18 นาฬิกา เฉลี่ยวันละ 15 ชั่วโมง ต่อวันทุกวัน และได้รับค่าจ้างเฉลี่ยแล้วไม่ถึง 200 บาท ต่อวัน ซึ่งเทียบกับเวลาทำงานแล้วถือว่าต่ำมาก ทั้งหากทำงานไม่ครบกำหนดเวลาก็จะไม่ได้ค่าจ้าง โดยไม่มีวันหยุดปกติและไม่ได้ค่าล่วงเวลาและค่าจ้างพิเศษ มีเวลาพักระหว่างทำงานในช่วงรับประทานอาหารเช้าและกลางวันครั้งละไม่เกิน 15 ถึง 30 นาที และต้องทำงานเหมือนผู้ใหญ่ แสดงให้เห็นถึงเจตนาเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมและเป็นการขูดรีดโดยจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์อันเป็นมูลค่าส่วนเกินจากการทำงานปกติของลูกจ้างโดยให้ทำงานเกินเวลาและเกินความคุ้มค่าการทำงานของลูกจ้างอย่างมาก แต่ลูกจ้างกลับได้รับค่าจ้างในอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าปริมาณงานที่ทำ โดยอาศัยเงื่อนไขว่าหากทำงานไม่ครบเวลาทำงานต่อวันจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันนั้นมาเป็นวิธีการบังคับให้ผู้เสียหายไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมทำงานให้ได้ค่าจ้างครบ อันเป็นการบีบบังคับเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมเข้าองค์ประกอบของเจตนาที่แสวงหาประโยชน์โดยวิธีการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานกระทำการค้ามนุษย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3888/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำเลยซ้ำในความผิดฐานฉ้อโกงและการลงโทษตามกฎหมายที่หนักที่สุด
คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ส่วนคดีนี้ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก (เดิม) ถึงแม้ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนอันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก (เดิม) ด้วย แต่ศาลลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองคนหางานโดยเฉพาะ มิได้ลงโทษและกำหนดโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด ฉะนั้น ในกรณีเช่นนี้จะเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งเพราะได้กระทำความผิดซ้ำในอนุมาตราเดียวกัน ตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) ไม่ได้ ต้องเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 และถึงแม้คดีนี้ โจทก์จะขอเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 93 ซึ่งเป็นบทหนักมาก็ตาม ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ซึ่งเป็นบทเบากว่าได้ ไม่เกินคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานประกอบกิจการ/ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดฐานประกอบวิชาชีพโดยมิได้มีคุณสมบัติ ถือเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
การที่จำเลยประกอบกิจการสถานพยาบาลและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตซึ่งตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดประกอบกิจการสถานพยาบาล เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง กรณีหนึ่ง และห้ามมิให้บุคคลใดดำเนินการสถานพยาบาล เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง อีกกรณีหนึ่ง โดยหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตทั้งสองกรณีแตกต่างกัน แสดงว่าในแต่ละฐานความผิดต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำประกอบด้วยเจตนาแตกต่างกัน สามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ แม้จะมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 57 ด้วยกัน หากมีการกระทำฝ่าฝืนก็จะต้องถูกลงโทษเป็นแต่ละกรณีไป การกระทำของจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และเป็นการกระทำที่ต่างจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์หรือประกอบโรคศิลปะโดยมิได้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ การกระทำของจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก็ดี หรือฐานดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก็ดี กับความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ฐานประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์และฐานประกอบโรคศิลปะโดยมิได้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีใช้หนี้ที่สิ้นผลเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาแก้: ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก
คดีแพ่งที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัท บ. ถูกศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง บริษัท บ. ไม่มีหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องชำระแก่โจทก์ สิทธิของโจทก์เหนือทรัพย์พิพาทที่จำเลยซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท บ. นำมาตีใช้หนี้ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในคดีดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลไปด้วย การที่จำเลยเอาทรัพย์พิพาทไปจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1799/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อโมฆะจากโฆษณาที่เป็นเท็จ ผู้บริโภคมีสิทธิคืนทรัพย์และเงิน
แผ่นป้ายโฆษณาของจำเลยข้อความว่า "ให้เงินกู้ค่ะ มีบ้านมีรถเงินสดทันใจ ไม่โอนเล่ม ไม่จดจำนอง" และ "ให้เงินกู้ จัด 2 แสน รถยนต์ไม่ต้องโอน ทะเบียนรถทุกชนิด รถไถ โฉนดบ้าน ที่ดิน คอนโด" แม้ป้ายโฆษณาจะระบุให้ติดต่อกับสาขาของจำเลยคนละสาขา แต่ก็เป็นการโฆษณากิจการให้เงินกู้ของจำเลย เมื่อโจทก์เข้าทำธุรกรรมทางการเงินกับจำเลยเนื่องมาจากการโฆษณาตามแผ่นป้ายดังกล่าว จึงถือว่าแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์ผู้บริโภคกับจำเลยผู้ประกอบธุรกิจ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 เมื่อรถที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยเป็นรถแทรกเตอร์ขุดตักประเภทเดียวกับที่ระบุในแผ่นป้ายโฆษณาว่าไม่โอนเล่ม การที่จำเลยให้โจทก์กู้เงินโดยทำสัญญาเช่าซื้อและมีการโอนกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์ให้แก่จำเลยจึงไม่เป็นไปตามที่โฆษณา การโฆษณาดังกล่าวของจำเลยถือได้ว่าเป็นข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการตามมาตรา 22 (2) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ถือเป็นโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมมีลักษณะเป็นการลวงผู้บริโภคซึ่งมีโทษทางอาญาตามมาตรา 47 อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเกิดจากการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างเป็นเหตุฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ และต้องคืนทรัพย์สินต่อกันตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ จำเลยจึงต้องส่งมอบรถแทรกเตอร์คันพิพาทคืนแก่โจทก์และโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่รับมาจากจำเลยทั้งหมดให้แก่จำเลย โดยต้องนำเงินที่โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยไปแล้ว มาหักออกจากจำนวนที่โจทก์ต้องรับผิด และเมื่อการคืนทรัพย์สินหรือเงินอันเกิดจากโมฆะกรรม ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ต้องใช้ดอกเบี้ย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องคืน แต่มีอำนาจเพิกถอนรายการจดทะเบียนอันเกิดจากนิติกรรมอันเป็นโมฆะนั้นเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 750/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหน้าที่เสนอราคาโดยมิชอบ การพิสูจน์เจตนาเอื้อประโยชน์ และความผิดตาม พ.ร.บ.เสนอราคา
ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 นั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการใด ๆ ต้องมีเจตนามุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ แต่การกระทำของจำเลยจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำการเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดโดยเฉพาะที่เข้าเสนอราคาด้วยให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ คงเป็นแต่เพียงอาจทำให้ผู้เข้าเสนอราคามีจำนวนลดน้อยลงเพราะมิได้มีการส่งเอกสารการประกวดราคาไปประกาศที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอาจเป็นความผิดทางวินัยเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12
of 5