คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1733 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 44 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12093/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความมรดกและการครอบครองทรัพย์มรดกโดยผู้จัดการมรดก ศาลฎีกาพิจารณาอายุความจากวันที่จัดการมรดกเสร็จสิ้น
แม้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง แต่จำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งจะต้องฟ้องภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง การที่จำเลยระบุในคำให้การว่าโจทก์ฟ้องเกินสิบปี จึงขาดอายุความนั้น ถือได้ว่าอายุความที่จำเลยอ้างคือ อายุความมรดกตามมาตรา 1754 จึงไม่มีประเด็นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก ตามมาตรา 1733 วรรคสอง แม้จำเลยร่วมให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกก็ตาม แต่จำเลยและจำเลยร่วมไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ถือไม่ได้ว่าจำเลยยกอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกขึ้นต่อสู้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ แม้โจทก์ไม่ฎีกาข้อนี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8985/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีมรดก: ต้องฟังข้อเท็จจริงการจัดการมรดกเสร็จสิ้นก่อน
ในการวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง นั้น จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติเสียก่อนว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ และเสร็จสิ้นลงเมื่อใด เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การว่าได้เรียกประชุมทายาทเพื่อจัดการมรดกและทายาทตกลงกันว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้แก่บริษัท ท. ทั้งหมด โดยทายาทอื่นไม่ต้องรับผิดชอบ และต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากบริษัท ท. และจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกแล้ว อันเป็นการให้การต่อสู้ว่าโจทก์ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่โจทก์และทายาทอื่นได้ตกลงกันไว้ ซึ่งหากเป็นความจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ก็ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองทรัพย์มรดกและโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ยุติเสียก่อนว่า ได้มีการตกลงกันเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะหากไม่มีการตกลงกันดังกล่าวไว้ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินอันเป็นมรดกมาเป็นของตัวเองและจำเลยที่ 2 และโอนไปยังจำเลยที่ 3 นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบ การครอบครองที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกจึงถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นและถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นด่วนงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามกับจำเลยร่วมทั้งสิบเอ็ด และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดอายุความตามมาตรา 1754 และพิพากษายกฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7844/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องแบ่งมรดก: คดีจัดการมรดกใช้มาตรา 1733 วรรคสอง ไม่ใช่ 1754/1755
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ต่างเป็นทายาทโดยธรรมของ พ. เจ้ามรดกลำดับเดียวกัน ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากัน ทั้งมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกันจนกว่าจะแบ่งมรดกแล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวจากจำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกระทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวซึ่งไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่บังคับตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1755

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4264/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องแบ่งมรดก: การจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุด สิทธิเรียกร้องยังไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ปรากฏว่านับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 13 ปี จำเลยมิได้ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมและทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมรวมทั้งดอกผลของทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และทายาททั้งหมด โจทก์เคยบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามคำขอท้ายฟ้องให้โจทก์ จำเลยให้การว่า ที่ดินและตึกแถวอันเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โจทก์ จำเลย และทายาทของ ส. ทุกคนได้ประชุมตกลงทำสัญญาแบ่งปันมรดกกันเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2536 หลังทำสัญญาดังกล่าว โจทก์และทายาทคนอื่นไม่สนใจเข้าไปครอบครองดูแลทรัพย์มรดกในส่วนของตน จำเลยจึงเข้าครอบครองเพื่อตนเองต่อเนื่องตลอดมาถึงปัจจุบัน สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงตกแก่จำเลยโดยสมบูรณ์ โจทก์เสียสิทธิในการรับทรัพย์มรดกทั้งหมดของ ส. โดยอายุความแล้ว แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ยังมิได้ดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้รับมรดก ถือว่าการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13689/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการโอนที่ดินมรดกที่ไม่ชอบธรรม โดยอ้างอิงสิทธิในฐานะทายาทและหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายฟ้องขอให้เพิกถอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งกระทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้ตายและตกเป็นของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ไม่ใช่การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และไม่ใช่การฟ้องคดีละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นและโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะกรณีไม่ต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องแบ่งมรดก: คำให้การไม่ชัดเจนประเด็นอายุความถือว่ามิได้ยกขึ้นว่ากันในศาลล่าง และการพิพากษาเกินคำขอ
โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกให้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามส่วน จำเลยให้การต่อสู้คดีในเรื่องอายุความแต่เพียงว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการจัดการมรดกเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง จึงไม่อาจฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยได้เท่านั้น โดยจำเลยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งในคำให้การว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงเมื่อใด หรือต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อใด คำให้การของจำเลยจึงไม่ได้กล่าวแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น แม้ศาลล่างทั้งสองจะได้วินิจฉัยให้ ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาต่อมาได้ เพราะถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำสิทธิการเช่าบ้านและที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกอันดับที่ 7 ไปโอนขายแก่บุคคลภายนอก จึงขอแบ่งเงินจากการขายสิทธิและค่าเช่าบ้านดังกล่าวด้วย ไม่ได้ขอแบ่งทรัพย์มรดกอันดับที่ 7 สิทธิการเช่าบ้านและที่ดิน กับอาวุธ และสิทธิการเช่าโทรศัพท์ ทรัพย์มรดกอันดับที่ 5 และที่ 6 แต่จำเลยไม่ได้ขายสิทธิการเช่าบ้านและที่ดินดังกล่าว และไม่ได้นำออกให้บุคคลอื่นเช่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงเป็นการพิพากษาให้สิ่งใดๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2972/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนผู้จัดการมรดก: อำนาจฟ้องและกรอบเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727
คดีร้องขอถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีเหตุที่จะถอนและต้องร้องขอก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลงเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่จะต้องฟ้องภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิเรียกร้อง ประเด็นแห่งคดีร้องขอถอนผู้จัดการมรดกจึงมีเพียงว่า มีเหตุให้ถอนผู้จัดการมรดกและร้องขอถอนผู้จัดการมรดกได้ร้องก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้นหรือไม่ โดยไม่มีประเด็นเรื่องสิทธิเรียกร้องคดีขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ แม้ผู้ร้องจะกล่าวอ้างมาในคำคัดค้านการร้องขอถอนผู้จัดการมรดกก็เป็นเรื่องเกินเลยไม่เกี่ยวกับประเด็น การที่ศาลล่างหยิบยกเรื่องคดีขาดอายุความการจัดการมรดกตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบ
เมื่อการปันมรดกเสร็จสิ้นลงแล้ว การใช้สิทธิขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านจึงพ้นกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิร้องขอถอนผู้ร้องออกจากตำแหน่งผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6797/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีมรดก: การจัดการมรดกสิ้นสุดลงเมื่อใด และมีอายุความฟ้องคดีอย่างไร
ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกมีเพียงที่ดินสองแปลงที่พิพาทกันในคดีนี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 แล้ว ถือได้ว่าการจัดการมรดกได้สิ้นสุดลงแล้วนับแต่วันที่จดทะเบียนโอนให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 ว่าจัดการมรดกไม่ถูกต้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 จัดการมรดกเสร็จสิ้น คดีย่อมขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิจะรับมรดก เมื่อผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ย่อมมีความชอบธรรมที่จะรับไว้ด้วยสิทธิความเป็นทายาทและย่อมจะครอบครองทรัพย์มรดกได้ด้วยอำนาจของตน กรณีไม่เข้าข่ายการปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดก และไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เพื่อรับเอาทรัพย์มรดก จึงเป็นคดีมรดกมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 โจทก์ฟ้องเกินกว่า 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2752/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม: สิทธิทายาท, อายุความ, และการครอบครองทรัพย์สิน
โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยแบ่งที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โดยอ้างว่าเจ้ามรดกซึ่งเป็นคนต่างด้าวซื้อที่ดินดังกล่าวแล้วใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน จึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องถึงสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่ายินยอมให้เจ้ามรดกซึ่งเป็นคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยหรือไม่ เพราะเจ้ามรดกมิได้ถือกรรมสิทธิ์เอง ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
การที่เจ้ามรดกยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองขณะที่จำเลยยังเป็นผู้เยาว์ เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย และแม้เจ้ามรดกเป็นบุคคลต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วย ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่เจ้ามรดกยังมีสิทธิได้รับผลตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินนั้นได้ ตราบใดที่ยังมิได้จำหน่าย ที่ดินพิพาทและโรงงานก็ยังคงเป็นของเจ้ามรดก ซึ่งอาจทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้ทั้งสิ้น
จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทตามพินัยกรรม ตราบใดที่จำเลยยังมิได้แบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง ย่อมต้องถือว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น อายุความยังไม่เริ่มต้นนับ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1754/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเพิกถอนการโอนมรดก และการโอนทรัพย์โดยสุจริต
โจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้จัดการมรดกเป็นจำเลย คงฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งไม่ใช่ทายาท ขอให้กำจัดทายาทมิให้รับมรดกเนื่องจากปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดก และให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินมรดกที่กระทำโดยมิชอบเพื่อโอนที่ดินกลับมาเป็นของเจ้ามรดกตามเดิม กรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติอายุความ 5 ปี มาใช้บังคับแก่คดีได้
ในการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. เพื่อให้ลายพิมพ์นิ้วมือนั้นถือเสมือนกับการลงลายมือชื่อ และจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินโฉนดส่วนหนึ่งเนื่องจากได้ซื้อไว้จาก ส. นานแล้ว ไม่ใช่รับโอนที่ดินมาในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกซึ่งเป็นสามีของ ส. เมื่อจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินมาโดยมีค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์จึงเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 3 ไม่ได้
of 5