คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1629 (1) (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1028/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในทรัพย์มรดกจากการเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดิน กรณีผู้รับโอนได้มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ ซ. ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งเก้าแปลงที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ถึงที่ 11 เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มีอายุความห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามที่ต่อสู้ในคำให้การ ประเด็นที่ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฎีกาเรื่องอายุความ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 แก้ฎีกาเรื่องอายุความเช่นกัน จึงเป็นฎีกาและคำแก้ฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252
ซ. กับ ฟ. เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ซึ่งมิได้บัญญัติให้ใช้บังคับเฉพาะแก่บุคคลผู้มีสัญชาติไทย กฎหมายลักษณะผัวเมียมีผลใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดสัญชาติ และตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า "บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสซึ่งได้มีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ และทั้งสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสนั้น ๆ" ซึ่งมีความหมายว่าการสมรสที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายลักษณะผัวเมียอยู่อย่างไร ก็ยังคงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายอยู่อย่างนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 พุทธศักราช 2479 ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมียซึ่งคู่สมรสไม่จำต้องจดทะเบียนสมรส
ซ. เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของ จ. เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของ จ. ส่วนหนึ่งย่อมตกได้แก่ ซ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม แม้ ซ. ไม่ได้เรียกร้องก็ไม่มีผลทำให้เสียสิทธิในมรดกส่วนของตนแต่อย่างใด เพราะไม่ปรากฏว่า ซ. แสดงเจตนาสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 แต่ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมิได้จัดการทรัพย์มรดกของ จ. ซ. ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของ ซ. ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ที่ตกได้แก่ ซ. ส่วนหนึ่ง
เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่าง จ. กับ ค. ย่อมสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 การคิดส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่าง จ. กับ. ค. มีผลตั้งแต่การสมรสสิ้นไปด้วยเหตุความตาย และการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 ที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงจึงต้องแบ่งเป็นมรดกของ จ. และแบ่งให้ ค. คนละส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 ที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงกึ่งหนึ่งส่วนที่เป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 ผู้สืบสันดานของ จ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ซ. บิดาของ จ. ทายาทโดยธรรมลำดับที่ 2 มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร และ ค. คู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง, 1629 (1) (2), 1630 วรรคสอง และ 1635 (1) แต่ ซ. ถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการจัดการมรดกของ จ. มรดกในส่วนของ ซ. จึงตกได้แก่ผู้สืบสันดานของ ซ. ทั้งเก้าคน เมื่อ จ. ถึงแก่ความตายไปก่อน ผู้สืบสันดานของ จ. คือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 มีสิทธิรับมรดกแทนที่ จ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 ส่วน ย. ผู้สืบสันดานคนหนึ่งของ ซ. ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วนั้นแม้ไม่ปรากฏว่า ย. ถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ซ. ผู้สืบสันดานของ ย. ทั้งหกคนย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่หรือสืบมรดกของ ย. แล้วแต่กรณี