คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุริยง ลิ้มสถิรานันท์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 132 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12973/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิในที่ดินของผู้อื่นทำให้เกิดความเสียหาย การกลบร่องน้ำกีดขวางการใช้น้ำของผู้อื่น
โจทก์และเจ้าของที่ดินเดิมใช้น้ำจากคลองชลประทานผ่านร่องน้ำในที่ดินของจำเลยที่ 1 ในการทำนามาเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้วตั้งแต่ก่อนที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 รู้ดี แสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าถ้าจำเลยที่ 1 กลบร่องน้ำในที่ดินของจำเลยที่ 1 เสีย ผลเสียหายย่อมเกิดขึ้นแก่การทำนาและเลี้ยงปลาของโจทก์อย่างแน่นอน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 กลบร่องน้ำในที่ดินของจำเลยที่ 1 เพื่อ มิให้โจทก์ได้ใช้น้ำที่ไหลผ่านร่องน้ำนั้นในการทำนาและเลี้ยงปลาต่อไป ย่อมเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่น เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 เปิดร่องน้ำนั้นเพื่อโจทก์จะได้ใช้น้ำที่ผ่านมาทางร่องน้ำนี้ทำนาและเลี้ยงปลาตามเดิมต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12299/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานในคดีทำร้ายร่างกาย และการยกประโยชน์แห่งความสงสัย
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (1) (8) ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก โจทก์ร่วมทั้งสองมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือว่าปัญหาดังกล่าวสำหรับโจทก์ร่วมทั้งสองยุติลง โจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาโจทก์ร่วมทั้งสองมา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11332/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดทางการแพทย์: สถานพยาบาลมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน การปฏิเสธการรักษาส่งผลถึงความรับผิดชอบ
จำเลยเป็นผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล บุตรของโจทก์ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่นั่งซ้อนท้ายชนแผงเหล็กกั้นทางโค้งปากทางเข้าหมู่บ้านเมืองเอก และผู้ขับขี่ถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ บุตรของโจทก์มีอาการเจ็บปวด มีภาวะการบอบช้ำของสมองและโลหิตออกในสมอง จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แม้ไม่ปรากฏบาดแผลร้ายแรงที่มองเห็นจากภายนอก แต่พยาบาลเวรซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยกลับให้ผู้ช่วยพยาบาลตรวจค้นหลักฐานในตัวบุตรของโจทก์ว่ามีบัตรประกันสังคม บัตรประกันสุขภาพ 30 บาท หรือบัตรประกันชีวิตหรือไม่ เมื่อไม่พบหลักฐานใด จึงสอบถามเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิที่เป็นผู้นำส่งว่าใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เมื่อไม่มีคำตอบ จึงปฏิเสธที่จะรับบุตรของโจทก์ไว้รักษา โดยแนะนำให้ไปรักษายังโรงพยาบาลของรัฐ การที่พยาบาลเวรลูกจ้างของจำเลยปฏิเสธไม่รับบุตรของโจทก์เข้ารับการรักษาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้บุตรของโจทก์ถึงแก่ความตาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล มีหน้าที่ต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 แต่กลับไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของลูกจ้างดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10023/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมศาล: การวางเงินค่าธรรมเนียมครั้งแรกย่อมครอบคลุมการอุทธรณ์ครั้งหลัง ไม่จำเป็นต้องวางซ้ำ
โจทก์อุทธรณ์โดยนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่จำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางพร้อมกับอุทธรณ์ครบถ้วนแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ แต่โจทก์ยังไม่ได้ขอรับเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนจำเลยที่วางไว้ต่อศาลคืน ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางพร้อมอุทธรณ์เพิ่มเติมอีก ทั้งไม่จำต้องมีคำขอ ให้เอาเงินดังกล่าวมาวางพร้อมอุทธรณ์ครั้งที่สอง อุทธรณ์ของโจทก์ครั้งที่สองจึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 229 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9727/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. ม.216 วรรคหนึ่ง จำเลยคัดลอกคำพิพากษาเดิมโดยไม่โต้แย้งเหตุผลศาลอุทธรณ์
จำเลยฎีกาโดยคัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยตั้งแต่ต้นจนจบชนิดคำต่อคำ แล้วสรุปว่า แม้ ส. พ. และ บ. จะเบิกความแตกต่างจากคำให้การในชั้นสอบสวนของตนเองก็ตาม แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่า โดยลำพังไม่มีน้ำหนักลงโทษจำเลยได้ โดยจำเลยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงและเหตุผลขึ้นโต้แย้งว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของประจักษ์พยานโจทก์ไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงและไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างไร มีข้อเท็จจริงและเหตุผลใดที่หักล้างข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้รับฟังใหม่ได้ว่า คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์เป็นความจริงยิ่งกว่าคำให้การในชั้นสอบสวน ฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9632/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลอกลวงหางานต่างประเทศเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานฯ แม้ได้ค่าจ้างน้อยกว่าที่กล่าวอ้างก็ตาม
การหลอกลวงว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ย่อมรวมถึงการหลอกลวงในเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงานหรือค่าจ้าง ค่าตอบแทนในการทำงานด้วย หากจำเลยที่ 1 มีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองว่าสามารถหางานในไต้หวันโดยได้รับค่าจ้างสูง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้เสียหายทั้งสองก็เป็นความผิดสำเร็จตามบทบัญญัตินี้แล้ว แม้ภายหลังผู้เสียหายทั้งสองจะได้เดินทางไปทำงานที่ไต้หวันแต่เมื่อได้รับค่าจ้างน้อยกว่าที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 ก็ไม่พ้นความรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9568/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีอาญา เริ่มนับแต่วันกระทำความผิด ไม่ใช่วันรู้เรื่องความผิด แม้โจทก์จะรู้เรื่องช้ากว่า
ในความผิดฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรมกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 353 มีอายุความสิบปี ป.อ. มาตรา 95 (3) บัญญัติว่า หากมิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ หมายความว่า อายุความในการฟ้องคดีเริ่มนับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไป
จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาลร่วมกับ ห. โดยเจตนาทุจริตเบียดบังทรัพย์มรดกที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) จดทะเบียนโอนเป็นชื่อของตนในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกทั้งสามแปลงแก่ ห. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิด อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 มิใช่อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทั้งคู่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 อายุความตามมาตรา 96 เป็นอายุความร้องทุกข์ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 95 ด้วย การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 เกินกำหนดระยะเวลาสิบปีนับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 ที่จำเลยกระทำความผิด ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) สิทธินำคดีอาญาย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39 (6) และปัญหาว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยรับสารภาพและไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7773/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร แม้ไม่มีบทแก้ไขโทษ แต่ศาลอุทธรณ์แก้โทษจำคุกและปรับ ถือเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ไม่อาจฎีกาได้
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหก, 65 วรรคหนึ่ง, 70 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 69 ด้วย ซึ่งเป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ อันเป็นเหตุฉกรรจ์ หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพียงแต่แก้จำนวนโทษ โดยมิได้แก้บทลงโทษจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
บทบัญญัติมาตรา 52 วรรคหกของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีจุดมุ่งหมายห้ามมิให้ผู้อุทธรณ์หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นกระทำการใดแก่อาคารในระหว่างอุทธรณ์ในทันทีที่มีการยื่นอุทธรณ์เพื่อรอฟังผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ทั้งนี้เพื่อรักษาสภาพอาคารมิให้ถูกก่อสร้างเพิ่มเติม เพราะถ้าหากปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารต่อไปอาจทำให้อาคารมีสภาพเปลี่ยนแปลงยากแก่การแก้ไขให้ถูกต้อง ดังนั้นข้อห้ามกระทำการใดแก่อาคารจึงเริ่มตั้งแต่วันที่มีการยื่นอุทธรณ์ หาใช่นับแต่วันที่ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7595/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์การผิดสัญญาเช่าและการบังคับใช้ข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญา การนำสืบพยานหลักฐานสำคัญ
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาข้อ 4.1 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธว่า การเลิกสัญญาเช่ารถนี้มิได้เกิดจากการผิดสัญญาชำระค่าเช่าจากฝ่ายจำเลย โจทก์ต้องนำสืบพยานให้รับฟังได้ตามเงื่อนไขข้อ 4.1 ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระค่าเช่า โจทก์มีหนังสือเตือนให้ชำระแล้ว ก็ไม่ชำระภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเตือนจากโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเลิกสัญญาโดยโจทก์ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าได้ทันที แต่ตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าเช่างวดแรกวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 และอ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ชำระค่าเช่าเพียง 13 งวด 14 วัน ก็ติดตามรถคืนมาได้วันที่ 23 พฤษภาคม 2549 เมื่อกำหนดชำระค่าเช่างวดแรกวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 ย่อมครบกำหนดชำระงวดที่ 13 ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 และเมื่อชำระ 13 งวด ก็แสดงว่าชำระงวดที่ 13 ครบถ้วนแล้ว โดยไม่ได้ผิดนัดชำระค่าเช่า ส่วนวันที่ 23 พฤษภาคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ติดตามรถคืนมาได้ยังไม่ถึงกำหนดชำระงวดที่ 14 แต่อย่างใด ที่โจทก์ฟ้องว่าหลังจากชำระงวดที่ 13 แล้ว ก็ผิดนัดชำระค่าเช่าติดต่อกันมาโดยตลอดก็ดี ที่นำสืบว่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าให้ถูกต้องตามสัญญาก็ดี จึงรับฟังไม่ได้
บันทึกแนบท้ายสัญญาเช่ารถพร้อมอุปกรณ์เอกสารระบุว่า คู่สัญญาตกลงเปลี่ยนวิธีชำระค่าเช่าใหม่ว่าตั้งแต่งวดวันที่ 9 เมษายน 2549 เป็นต้นไป ผู้เช่าตกลงชำระเงินเป็นเช็คสั่งจ่ายล่วงหน้า ฉบับละ 30,400 บาท 12 ฉบับ ลงวันที่ 9 ของทุกเดือน หากเช็คไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้แม้แต่งวดเดียวให้ถือว่าผิดสัญญาเช่าทันที ผู้ให้เช่าสามารถขอรับรถยนต์ที่เช่าได้โดยพลัน และเรียกร้องค่าเช่าค่าเสียหายอื่น ๆ อันจะเกิดขึ้นจากการนี้ แต่ฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงข้อตกลงตามบันทึกแนบท้ายแต่อย่างใด ทั้งไม่ได้แนบมาท้ายฟ้องและไม่ได้ส่งสำเนาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามกฎหมาย บันทึกแนบท้ายจึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี ฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับบันทึกแนบท้ายเป็นฎีกานอกฟ้องนอกประเด็น กับทั้งเช็คและใบคืนเช็คท้ายฎีกามิใช่พยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดี เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดชำระค่าเช่า จำเลยทั้งสี่ไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7590/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการคิดดอกเบี้ยตามสิทธิหลังการซื้อขายทรัพย์สินภายใต้พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เสมือนดังเป็นตัวแทนโจทก์ น่าเชื่อว่าได้ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาตลอดจนตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีมาเป็นอย่างดีก่อนที่จะเบิกความ นับว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี และไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ตั้งผู้อื่นซึ่งมิใช่พนักงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ คำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้
โจทก์ฟ้องว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. ไม่มีความประสงค์ที่จะให้จำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระ จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม ตามสำเนาหนังสือทวงถามและใบตอบรับไปรษณีย์เอกสารท้ายฟ้อง เอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องและเป็นหลักฐานเบื้องต้นที่น่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามเอกสาร แม้ชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำเอกสารท้ายฟ้องมาสืบเป็นพยานโจทก์ก็ตาม แต่ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์เบิกความยืนยันว่า หลังจากโจทก์รับซื้อทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. แล้ว โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามการโอนไปยังฝ่ายจำเลย และยังได้ความจากผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์และหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและชำระดอกเบี้ยตลอดมา เมื่อทางการให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. ระงับการดำเนินกิจการ จำเลยที่ 1 กลับอ้างว่าไม่เคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินและจำเลยที่ 2 ไม่เคยค้ำประกัน เมื่อพิจารณาคำฟ้อง คำเบิกความ พยานหลักฐานของโจทก์และพฤติกรรมของฝ่ายจำเลย ประกอบเหตุผลว่าตามวิสัยของเจ้าหนี้ย่อมจะต้องบอกกล่าวทวงถามให้ลูกหนี้ที่มีหนี้จำนวนมากชำระหนี้แล้ว เชื่อว่าโจทก์บอกกล่าวทวงถามโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การซื้อขายทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกทางการสั่งระงับการดำเนินกิจการอย่างถาวร เป็นการซื้อขายกันตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวดที่ 4 เรื่องโอนสิทธิเรียกร้อง
ขณะที่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับสุดท้าย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามที่บริษัทประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังประกาศมอบอำนาจให้ไว้ตามความในมาตรา 30 (1) (2) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังมีอำนาจตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้
of 14