คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 3 วรรคหนึ่ง (7)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033-1034/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟอกเงินจากคดียาเสพติด: ศาลพิจารณาความเชื่อมโยงทรัพย์สินกับผู้กระทำผิดและผู้เกี่ยวข้อง
การตรวจสอบทรัพย์สินและการทำธุรกรรมของผู้คัดค้านที่ 5 เกิดจากความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติดเพียงแต่ในขณะตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดของผู้คัดค้านที่ 5 พบว่าผู้คัดค้านที่ 5 เคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบหนีภาษีศุลกากร จึงมีการขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 5 ตกเป็นของแผ่นดินด้วยเหตุความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (7) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ด้วย โดยผู้ร้องนำสืบแต่เพียงว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2546 ผู้คัดค้านที่ 5 ถูกจับกุมข้อหาร่วมกันนำสิ่งของที่ยังมิได้เสียภาษีเข้าในราชอาณาจักร แต่ปรากฏว่า ป. พยานผู้ร้องเบิกความตอบคำถามค้านทนายผู้คัดค้านที่ 5 ว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2547 ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ 5 แล้ว ตามคำพิพากษาตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2325/2547 และ 2326/2547 ของศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีดังกล่าวถึงที่สุด โดยผู้ร้องไม่ได้นำสืบให้เห็นพฤติการณ์อื่นของผู้คัดค้านที่ 5 อีกว่ามีการกระทำใดอันจะเป็นการลักลอบหนีศุลกากรภายหลังจากผู้คัดค้านที่ 5 ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับศุลกากรเมื่อปี 2546 และผู้คัดค้านที่ 5 ได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินใดจากการลักลอบหนีศุลกากรนั้น เมื่อมูลเหตุอันเป็นที่มาของการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 ในคดีนี้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดราย ส. อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 การที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 5 ตกเป็นของแผ่นดินตามความผิดมูลฐานอื่นรวมเข้ามาด้วย ผู้ร้องต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามีการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นและมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 5 ได้มาซึ่งทรัพย์สินใดอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้น ผู้ร้องจึงจะมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เพราะการร้องขอให้ทรัพย์สินของบุคคลตกเป็นของแผ่นดินเป็นการก้าวล่วงเข้าไปในแดนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การคุ้มครอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย เมื่อคดีนี้ศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีคำพิพากษาตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2325/2547 และ 2326/2547 ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 5 ในความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรและผู้ร้องไม่นำสืบให้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 5 มีพฤติการณ์อื่นใดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรและผู้คัดค้านที่ 5 ได้ทรัพย์สินใดไปจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับศุลกากร ผู้คัดค้านที่ 5 จึงมิได้เป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (7) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5118/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งออกเงินตราต่างประเทศหลังกฎหมายยกเลิกข้อจำกัด ไม่เป็นความผิดมูลฐานฟอกเงิน
กฎกระทรวง ฉบับที่ 20 (พ.ศ.2534) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 ข้อ 5 ได้ยกเลิกข้อ 11 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2497) เป็นผลให้ผู้เดินทางไปต่างประเทศสามารถนำเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศไทยได้โดยเสรี ไม่ถือเป็นการส่งหรือนำของต้องจำกัดออกไปนอกประเทศ อันจะเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรตาม พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 8 ทวิ ส่วนการซื้อเงินตราต่างประเทศและการไม่ขายเงินตราต่างประเทศให้แก่ผู้ได้รับอนุญาต แล้วนำเงินตราต่างประเทศออกไปนอกประเทศไทยนั้น เป็นปัญหาการฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 ซึ่งมีความผิดและต้องรับโทษตามมาตรา 8 ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับการส่งหรือนำของต้องจำกัดออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งหมายถึงของที่มีกฎหมายกำหนดว่า การส่งหรือนำของนั้นออกไปหรือเข้ามาในประเทศไทยจะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายนั้นกำหนดไว้ โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร อันจะเป็นความผิดมูลฐานตามบทนิยามของ "ความผิดมูลฐาน" ในมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (7) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงต้องคืนเงินตราต่างประเทศดังกล่าวแก่เจ้าของ