คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 39 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 413 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมและใช้โฉนดที่ดินปลอม การรับคำสารภาพ และผลกระทบต่อการนับโทษและคำขอชดใช้ค่าเสียหาย
เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) เพราะโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่โจทก์ร่วมตกไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับคดีอาญาและการกระทบต่อคำขอทางแพ่ง การปลอมแปลงเอกสารและผลกระทบต่อการคืนเงิน
เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในข้อหาฉ้อโกงและยักยอกระงับไปแล้ว ย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ตกไปด้วย จึงต้องยกคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์เสียด้วย ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4126/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมความในคดีอาญาต้องเกิดขึ้นหลังการกระทำความผิด สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งไม่ระงับคดีอาญา
การยอมความในความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคสอง และมาตรา 39 (2) นั้น ต้องเป็นการยอมความที่กระทำภายหลังจากความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว มิใช่กระทำกันไว้ล่วงหน้าก่อนการกระทำความผิดเกิด เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครสวรรค์ โดยจำเลยตกลงผ่อนชำระหนี้ค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ หากจำเลยผิดนัด จำเลยตกลงส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ และศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาตามยอม ภายหลังจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจังหวัดนครสวรรค์ออกหมายบังคับคดี ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดรถยนต์ที่จำเลยเช่าซื้อจากโจทก์ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่น และไม่สามารถติดตามกลับคืนมาได้ เช่นนี้ การยอมความดังกล่าวข้างต้นจึงทำขึ้นก่อนที่จำเลยจะนำรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์ไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่นซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องคดีนี้ ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็ไม่ปรากฏข้อความว่าโจทก์จำเลยตกลงยอมความในคดีส่วนอาญา สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งจึงไม่มีผลทำให้คดีอาญาระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหมิ่นประมาททางออนไลน์ ค่าเสียหาย และความรับผิดทางแพ่ง จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
เดิมโจทก์ร่วมเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกอีกสองคนเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ในคดีหมายเลขดำที่ 481/2558 ซึ่งเป็นการกระทำเดียวกันกับคดีนี้ ต่อมาโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกอีกสองคน โดยระบุเหตุผลว่า "...โจทก์จึงมีความประสงค์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต่อศาล เพื่อจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อพนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีได้มีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้งสี่ต่อศาลนี้..." ต่อมาเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกอีกสองคนต่อศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมก็ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเพียง 1 เดือนเศษ และต่อมาเมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ พวกอีกสองคนให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยทั้งสองเข้ามาใหม่ และเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ หลังจากนั้นอีกเพียง 3 วัน โจทก์ร่วมก็ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ดังนี้แม้ขณะที่โจทก์ร่วมถอนฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกอีกสองคนในคดีก่อน ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าพนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนแล้วหรือไม่ และไม่ทราบว่าพนักงานอัยการจะใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่า โจทก์ร่วมมีเจตนาถอนฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นการเด็ดขาด เนื่องจากโจทก์ร่วมได้ระบุไว้ในคำร้องแล้วว่า ประสงค์ขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง เพื่อที่จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการทั้งสองคดีต่อเนื่องตลอดมา พฤติการณ์จึงหาใช่การถอนฟ้องเด็ดขาดตามความหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 36 ไม่ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องทั้งของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่ระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7384/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมความทางอาญา: การชำระเงินเยียวยาและการขอโทษไม่ใช่การยอมความโดยชัดแจ้ง
รายงานกระบวนพิจารณาของศาลระบุว่า จำเลยเตรียมเงินมาชำระให้แก่ผู้เสียหาย ศาลจึงให้จำเลยส่งมอบเงิน 300,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายและมารดาผู้เสียหายตรวจรับไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำเลยยกมือไหว้ขอโทษมารดาผู้เสียหายและผู้เสียหาย ไม่มีข้อตกลงโดยชัดแจ้งว่าผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยในทางอาญา จึงไม่ใช่การยอมความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8188/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ยอมความระหว่างจำเลยและผู้เสียหาย ทำให้สิทธิในการฟ้องอาญาของโจทก์ระงับ
จำเลยยื่นฎีกาและมีเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นสำเนาบันทึกการเจรจาตกลงกันระหว่าง บ. บุตรของจำเลยกับผู้เสียหาย และสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน มีข้อความทำนองเดียวกันระบุว่า บ. นำค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด 40,000 บาท ชำระให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวจาก บ. แล้วและไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยอีกต่อไปทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งมีความหมายว่าไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย ท้ายข้อความดังกล่าวมีผู้เสียหายลงลายมือชื่อไว้ ซึ่งโจทก์ได้รับสำเนาฎีกาแล้วมิได้แก้ฎีกาหรือแถลงคัดค้านว่าเอกสารดังกล่าวมิใช่เอกสารที่ผู้เสียหายทำมอบให้แก่ฝ่ายจำเลยแต่อย่างใด กรณีจึงต้องฟังว่าเป็นเอกสารที่ผู้เสียหายทำขึ้นจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้างและข้อความในเอกสารดังกล่าวก็ถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยได้ตกลงยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงและยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 341 และ 352 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความกันได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7054/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกง: การกระทำผิดสำเร็จแล้ว การขยายหนี้ไม่ใช่ความผิดฐานฉ้อโกงซ้ำ
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ด้วยการปลอมโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 ว่า เป็นของตนและนำสำเนาโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกันหนี้ โจทก์หลงเชื่อจึงให้จำเลยที่ 1 กู้เงินโดยทำสัญญากู้เงินและมอบเงิน 140,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จในวันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์อีกว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินและขอใช้โฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ต่อไป โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ไว้ให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์จึงหลงเชื่อยอมรับหลักประกันดังกล่าวและขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 สำเร็จไปแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าในการหลอกลวงครั้งหลังจำเลยทั้งสองได้รับทรัพย์สินจากโจทก์เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินกู้ 140,000 บาท ที่ได้รับไปแล้ว แม้ว่าโจทก์จะทำสัญญากู้เงินฉบับใหม่กับจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นเพียงขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น หาได้ทำให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิในสัญญากู้เงินฉบับเดิมแต่อย่างใดไม่ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้นำสัญญากู้เงินดังกล่าวไปฟ้องคดีแพ่งและศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จึงมิได้มีผลให้โจทก์หรือทำให้โจทก์ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4688/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้เช็ค การหักชำระหนี้ และขอบเขตการระงับคดีอาญาต่อคดีแพ่ง
ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่จำเลยอ้างว่าคดีนี้ย่อมระงับไปด้วยผลข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาเพราะโจทก์ได้รับเงินครบถ้วนแล้วนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ และคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินตามเช็คพิพาทจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ การที่จำเลยชำระเงินให้โจทก์ในคดีอาญาดังกล่าวคงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์แล้วเท่านั้น จำเลยยังมีหนี้ต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองอยู่ ไม่อาจจำหน่ายคดีตามคำร้องของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8921/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงถอนฟ้องคดีอาญาแผ่นดินเป็นโมฆะ แม้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรให้รอการลงโทษและปรับ
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่คดีความผิดอันยอมความได้ บันทึกข้อตกลงในส่วนที่จะถอนฟ้องจึงเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติครบถ้วนตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงด้วยการให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น จำเลยก็จะใช้สิทธิขอให้บังคับในคดีนี้ไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานข่มขืนใจ ทำร้ายร่างกาย และความผิดตาม พ.ร.บ.อาญา มาตรา 309 ไม่สามารถระงับได้ด้วยการยอมความ
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กลุ่มคนชมรม ค. กระทำความผิดในคดีนี้ โดยบรรยายครบองค์ประกอบความผิดในแต่ละข้อหา จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว โดยหาจำต้องระบุตัวบุคคลผู้ถูกใช้หรือลงมือกระทำความผิดไม่
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 ที่ได้กระทำโดยมีอาวุธและโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตามวรรคสอง ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 321 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 358 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้นั้น แม้จะได้ความว่าฝ่ายโจทก์ตกลงยอมความกับจำเลยที่ 2 แต่ไม่ปรากฏว่าฝ่ายโจทก์ได้ตกลงให้ความผิดของจำเลยที่ 1 ระงับไปด้วย ความผิดของจำเลยที่ 1 จึงหาระงับไปไม่
of 42