คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กฤษฎิ์จิรัฐ คุณาจิรภรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 137 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21908/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร้องทุกข์กล่าวหาฐานรับของโจรโดยสุจริต ไม่ถือเป็นการละเมิด
การที่จำเลยไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในความผิดฐานรับของโจร เป็นการกระทำเพื่อรักษาสิทธิและชื่อเสียงในทางการค้าของตนโดยสุจริตมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ส่วนขั้นตอนหลังจากจำเลยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วนั้น ตามกฎหมายก็เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนผู้รับการร้องทุกข์ที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานจากการสอบสวนและสรุปสำนวนเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการได้ตรวจสำนวนดังกล่าวเห็นว่า มีหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องได้ จึงฟ้องโจทก์ต่อศาล ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยในฐานะผู้เสียหายคดีอาญาได้อาศัยกระบวนการดังกล่าวจงใจกลั่นแกล้งโจทก์หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อ การที่จำเลยใช้สิทธิของตนในฐานะผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวหาโจทก์ในฐานะผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดตามที่ได้รับแจ้งจากพยานบุคคลที่อ้างว่าเห็นการกระทำของโจทก์ดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิแห่งตนโดยสุจริตไม่เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19673/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษจำเลยในคดียาเสพติดจากการให้ข้อมูลผู้กระทำผิดอื่น และอำนาจศาลในการวินิจฉัยนอกเหนือจากที่คู่ความยกขึ้น
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจลงโทษผู้กระทำความผิดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดนั้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้กระทำความผิดที่ถูกจับกุมให้ข้อมูลเครือข่ายผู้กระทำความผิดที่ตนเกี่ยวข้องรู้เห็นหรือติดต่ออยู่ เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดที่เหลืออยู่ในสังคมให้หมดสิ้น เพื่อความสงบสุขของสังคม ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นหรือไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกา แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบไว้แล้วในศาลชั้นต้น
คำเบิกความของดาบตำรวจ อ. ผู้จับกุมและคำให้การชั้นสอบสวนของสิบตำรวจโท ค. กล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ ว่าจำเลยให้ข้อมูลแก่เจ้าพนักงานตำรวจจนสามารถจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้อีก 2 ราย ไม่มีรายละเอียดของบุคคล วันเวลา สถานที่ที่จับกุมรวมทั้งยาเสพติดให้โทษหรือพยานหลักฐานในการจับกุมที่จะแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและผู้ถูกจับกุมให้ตรวจสอบได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลย และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลใด ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษที่จำเลยเกี่ยวข้อง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและมีการจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีอีก ๒ รายจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18955/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แก้ไขระเบียบสหกรณ์ชอบด้วยกฎหมาย สิทธิสมาชิกผูกพันตามมติที่ประชุมใหญ่
ข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลย จำกัด พ.ศ.2542 ข้อ 86 (1) กำหนดว่า กรณีเป็นระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงินต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้ หากเป็นระเบียบอื่น เมื่อคณะกรรมการดำเนินการกำหนดใช้แล้ว ให้ส่งสำเนาให้นายทะเบียนสหกรณ์รับทราบ เมื่อพิจารณาระเบียบว่าด้วยเงินฝากสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกโครงการ 1 พ.ศ.2539 (ส.ค.ส.1) แล้วจะเห็นได้ว่าระเบียบดังกล่าวระบุวัตถุประสงค์ของโครงการไว้ชัดเจนว่าเพื่อจัดสวัสดิการแก่สมาชิกหรือครอบครัวสมาชิกในกรณีที่ถึงแก่กรรมหรือมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพื่อให้สมาชิกและครอบครัวมีหลักประกันชีวิตที่มั่นคงรวมทั้งเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่สมาชิก ระเบียบดังกล่าวจึงเป็นระเบียบเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก ไม่ใช่เป็นเรื่องรับฝากเงินซึ่งผู้ฝากเงินส่งมอบเงินให้แก่ผู้รับฝากและผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาเงินไว้แล้วจะคืนให้ จึงไม่ใช่ระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงินตามข้อ 86 (1) ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ก่อนจึงจะมีผลบังคับได้ แต่เป็นระเบียบอื่นๆ ที่คณะกรรมการดำเนินการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งก่อนมีการแก้ไขระเบียบว่าด้วยเงินฝากสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกโครงการ 1 ฯ จำเลยที่ 1 แต่งตั้งคณะทำงานและรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกแล้ว ในที่สุดที่ประชุมใหญ่มีมติให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสงเคราะห์โดยให้งดจ่ายเงินสงเคราะห์แก่สมาชิกเมื่ออายุครบ 60 ปี จำนวน 50,000 บาท แต่ให้จ่ายเงินสงเคราะห์แก่ทายาทของสมาชิกเมื่อสมาชิกเสียชีวิตเพียงครั้งเดียว 100,000 บาท และมีการแจ้งเรื่องดังกล่าวให้นายทะเบียนสหกรณ์ทราบแล้ว ดังนั้นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสงเคราะห์ตามระเบียบว่าด้วยเงินฝากสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกโครงการ 1 ฯ จึงเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยชอบ มีผลผูกพันสมาชิกทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วย โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์เมื่ออายุครบ 60 ปี ภายหลังจากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ให้งดจ่ายเงินดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18531/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ค่าที่ดินและการยึดหน่วงทรัพย์สินของตัวแทน: สิทธิของตัวแทนในการยึดหน่วงจนกว่าจะได้รับชำระหนี้
จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนโจทก์ซื้อที่ดินจากธนาคาร น. โดยได้ออกเงินทดรองชำระราคาที่ดินพิพาทแทนโจทก์ไปและใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะเรียกเอาเงินชดใช้จากโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ค้างชำระค่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของโจทก์ชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินอย่างใดๆ ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครองของตนเพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 819 จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะได้ชำระค่าที่ดินพิพาทจนครบถ้วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18034/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำคุกโดยศาลอุทธรณ์เกินอำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแต่ละกระทงเพียงปรับสถานเดียวยังคลาดเคลื่อนนั้น เป็นการอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยโดยชัดแจ้ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 เดือน โดยไม่ปรับนั้นย่อมถือว่าเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 จึงเป็นการพิพากษาที่ไม่ชอบและถือว่าไม่มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17866/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ให้ผู้อื่นทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายสาหัส ผู้ใช้ต้องรับผิดอาญาตามบทกำหนดโทษที่สูงขึ้น
การที่จำเลยสั่งให้ ส. กับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ด้วยคำพูดของจำเลยที่ว่า "กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย" นั้น แม้ตามพฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธ และเพียงแต่มีเจตนาใช้ให้ทำร้ายร่างกายเพื่อสั่งสอนเท่านั้น แต่เมื่อการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่จำเลยใช้ให้กระทำความผิดเกิดผลให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสซึ่งผู้ถูกใช้จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้น จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดย่อมต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8), 84 ประกอบมาตรา 87 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17430/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายหนี้จากการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน: สัญญาที่สมบูรณ์และผลบังคับใช้ได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ ซึ่งรวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. ด้วย โดยรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขวิกฤตของบริษัทต่างๆ ดังกล่าว ด้วยการออก พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 จัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อดำเนินการแก้ไขฟื้นฟู ชำระบัญชีของบริษัทดังกล่าว ทั้งยังให้อำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในวัตถุประสงค์ขององค์การ ซึ่งรวมทั้งอำนาจถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักรโดยมีคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 16 (3) กำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการที่ไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ ดังนี้ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยคณะกรรมการดังกล่าวจึงมีอำนาจขายทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. ซึ่งรวมทั้งหนี้ของจำเลยทั้งสองได้
แม้โจทก์จะไม่ใช่ผู้ประมูลซื้อหนี้ดังกล่าวกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยตรง และขณะนั้นโจทก์ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่อำนาจการจัดการทรัพย์สินของบริษัทที่ถูกระงับกิจการเป็นอำนาจขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยตรงที่จะจัดการขาย โอนหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทที่ถูกระงับกิจการได้ตามมาตรา 8 (1) ดังนั้น การที่บริษัท ล. ซึ่งเป็นผู้ประมูลหนี้ดังกล่าวได้จากการขายขององค์กรเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โอนสิทธิการซื้อดังกล่าวให้แก่โจทก์ในขณะที่โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว โดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เป็นผู้กระทำการแทนผู้ขายคือสถาบันการเงินที่ถูกระงับ จึงเป็นอำนาจขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ที่จะกระทำเช่นนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17093/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องสัญญาซื้อขาย: ผู้รับโอนสิทธิไม่มีอำนาจฟ้องแทนคู่สัญญาเดิม
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในฐานะจำเลยเป็นผู้ขาย อันเป็นการฟ้องให้รับผิดตามสัญญาซื้อขาย เมื่อโจทก์โอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ทำไว้กับจำเลยให้แก่ ข. ต่อมา ข. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยและจดทะเบียนรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาแล้ว ข. จึงเป็นคู่สัญญากับจำเลย โจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลย แม้โจทก์จะได้รับการให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ข. ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะให้ ไม่มีบทบัญญัติว่าผู้รับต้องรับสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ของผู้ให้ไปด้วย ซึ่งต่างจากกรณีทายาทรับมรดกที่จะเป็นผู้สืบสิทธิได้ สิทธิที่จะฟ้องบังคับให้รับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตามสัญญาซื้อขายเป็นบุคคลสิทธิบังคับได้ระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16129/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงชำระหนี้ระหว่างผู้เสียหายและจำเลยต่อหน้าศาล ทำให้สิทธิฟ้องอาญาของโจทก์ระงับ
ข้อตกลงระหว่างผู้เสียหายและจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณา มีข้อตกลงว่าหากจำเลยชำระเงินตามฟ้องแก่ผู้เสียหายเรียบร้อยแล้ว ผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยและจะถอนคำร้องทุกข์ต่อไป แต่หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ผู้เสียหายจะแจ้งให้โจทก์ดำเนินคดีต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวนี้ ผู้เสียหายกับจำเลยแถลงต่อศาลร่วมกัน ศาลชั้นต้นจึงจำหน่ายคดีชั่วคราว ข้อตกลงดังกล่าวนี้กระทำต่อหน้าศาลและศาลอนุญาตให้เป็นไปตามข้อตกลง ย่อมผูกพันผู้เสียหายและจำเลยที่ต้องปฏิบัติตาม เมื่อจำเลยได้ชำระเงินแก่ผู้เสียหายครบถ้วนแล้วจึงต้องถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15663-15664/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกเช็คหลังถูกพิทักษ์ทรัพย์ และข้อยกเว้น พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ใช้บังคับแก่การเรียกดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินเท่านั้นไม่อาจจะนำมาใช้บังคับแก่หนี้เงินที่เกิดจากมูลหนี้ประเภทอื่นได้ การคิดดอกเบี้ยในมูลหนี้การซื้อขายเช่นคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตน ..." หมายความว่าบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเองหรือก่อหนี้สินขึ้นอีกในระหว่างพิทักษ์ทรัพย์อยู่ไม่ได้เท่านั้น หามีผลทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์ต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วยไม่ และมิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย คดีนี้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 จำเลยออกเช็คลงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 หนี้ที่จำเลยออกเช็คจึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์ แม้เช็คพิพาทดังกล่าวธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2546 หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยก็ตาม การกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยยังดำเนินต่อไปได้และไม่ทำให้จำเลยพ้นผิด จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
of 14