คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 39 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 413 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5262/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุดทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ
คดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ แม้ปรากฏว่าผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก่อนจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา แต่ก็ยังอยู่ในระยะเวลายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา จึงเป็นการถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วจึงเห็นสมควรสั่งไปเสียเลย เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจถอนฟ้องของผู้นำเสียหายโดยตรงในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว
จำเลยยักยอกรถที่เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองใช้ประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยโดยตรง ดังนั้น แม้ผู้เช่าซื้อจะแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานยักยอกในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อก็ตาม ก็ถือได้ว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะเป็นผู้เสียหายเองด้วยเช่นกัน ผู้เช่าซื้อย่อมมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายด้วยคนหนึ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1825/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีอาญา: การกำหนดพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. และผลกระทบต่อการฟ้องคดี
ความผิดฐานกรรโชกและฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ที่ผู้เสียหายทั้งสองขอถอนคำร้องทุกข์ ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ โดยเฉพาะความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น เป็นความผิดซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย สิทธิฟ้องคดีของพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน รวมทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลประเวศและสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยถูกจับที่เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนกรณีจับผู้ต้องหาได้แล้วเช่นนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าคือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ก) การที่ น. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประเวศได้ทำการสอบสวนคดีนี้หลังจากจับจำเลยได้แล้ว น. คงเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น แต่ น. มิได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ทั้งมิใช่กรณีที่จับผู้ต้องหายังไม่ได้อันจะถือว่าพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข) ได้ เมื่อ น. มิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 140 แม้จะดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ ก็ถือไม่ได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9061/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด ทำให้สิทธิฟ้องระงับ
คดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ก็เป็นการถอนคำร้องทุกข์ก่อนคดีถึงที่สุด เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจสั่งได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นสั่ง และสั่งว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8577/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายในคดีอาญา ส่งผลให้สิทธิฟ้องระงับ แม้มีการเปลี่ยนแปลงคำแถลงภายหลัง
ตามคำร้องของโจทก์ร่วม ระบุว่า โจทก์ร่วมได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยแล้วเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท โจทก์ร่วมในฐานะผู้เสียหายในคดีนี้จึงไม่ติดใจเอาความใดๆ กับจำเลยอีก และประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์หรือขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษแก่จำเลย และท้ายคำร้องดังกล่าวจำเลยก็ได้ลงลายมือชื่อด้วย พอแปลความได้ว่าโจทก์ร่วมมีความประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์แล้วหรือหากศาลไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ ก็ขอให้ศาลลงโทษจำเลยในสถานเบาเท่านั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 อันเป็นความผิดต่อส่วนตัว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลสูงเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องถือว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ก่อนศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา เมื่อจำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งได้ แต่เมื่อคดีนี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งได้เช่นกัน เมื่อโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) แม้ต่อมาโจทก์ร่วมยื่นคำแถลงว่ายังไม่ได้รับชดใช้เงินอีก 15,000 บาท ก็เป็นการขัดแย้งกับคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์จึงไม่อาจทำให้คำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ที่มีผลแล้วสิ้นผลไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7640/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลฎีกาพิจารณาคำถอนฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัว และผลของการถอนฟ้อง
ในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องถอนคำร้องทุกข์ภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา โดยที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ย่อมเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง แต่เมื่อสำนวนคดีมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวได้ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสั่ง
ความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 91 ตรี ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ความผิดข้อหานี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้อง ส่วนความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้เมื่อโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2583/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจทนายในการถอนฟ้องคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว และผลของการยอมความ
คดีความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมจะถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความเมื่อใดก็ได้ โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ทนายโจทก์ร่วมมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสอง ถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและเจรจาทำความตกลงประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ร่วมได้ แม้โจทก์ร่วมมิได้มอบอำนาจให้ทนายโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ต่อศาล ทนายโจทก์ร่วมก็มีอำนาจยอมความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคสอง และมีผลผูกพันโจทก์ร่วม การที่ทนายโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์เนื่องจากจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมบางส่วน จึงมีผลเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6549/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งไม่กระทบสิทธิการฟ้องอาญา ยักยอกทรัพย์
การที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลแรงงานภาค 5 เป็นการฟ้องเนื่องจากจำเลยกับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างอันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยกับพวกจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งซึ่งไม่มีข้อตกลงว่าโจทก์ร่วมไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยในทางอาญา ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการ "ยอมความกัน" สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5387-5388/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงชำระหนี้ด้วยการก่อสร้างไม่ถือเป็นการยอมความ หรือแปลงหนี้ ทำให้สิทธิฟ้องอาญาไม่ระงับ
ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยมีเงื่อนไขในลักษณะที่โจทก์มีเจตนาจะให้จำเลยทำงานให้โจทก์แล้วเสร็จก่อน แล้วจึงหักหนี้ค่าก่อสร้างกับมูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทคดีนี้ภายหลัง เมื่อจำเลยก่อสร้างหรือชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วน โจทก์จึงจะถอนฟ้องคดีนี้ให้ ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทันทีแต่อย่างใด จึงมิใช่การยอมความเพื่อให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ฝ่ายเดียวผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยมิใช่ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไป แล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมความทำให้สิทธิฟ้องอาญาคดีทำให้เสียทรัพย์ระงับ และการยกฟ้องข้อหาลักทรัพย์จากการเข้าใจผิด
โจทก์ร่วมกับจำเลยทำบันทึกกันไว้ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานซึ่งมีข้อความว่า คู่กรณีตกลงกันแล้วต่างฝ่ายต่างไม่ติดใจเรียกร้องฟ้องกันทั้งทางแพ่งและอาญาต่อกัน โดยจำเลยได้ช่วยเหลือค่าเสียหายของกระบือที่ถูกยิงตายให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 7,000 บาท จะนำเงินมาจ่ายให้หมดในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 แล้วลงชื่อโจทก์ร่วมและจำเลย เช่นนี้ จึงเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358, 359 เป็นความผิดอันยอมความได้ จึงมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) แม้ต่อมาจำเลยจะไม่ชำระค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ หลังจากมีการยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วอีกได้ คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 42